Wohnzimmer ห้องนั่งเล่นแห่งความรู้สึกภายในของ สมบูรณ์ หอมเทียนทอง / อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

 

Wohnzimmer

ห้องนั่งเล่นแห่งความรู้สึกภายใน

ของ สมบูรณ์ หอมเทียนทอง

 

เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เรามีโอกาสไปชมนิทรรศการแสดงศิลปะของศิลปินคนสำคัญผู้หนึ่งมา เลยถือโอกาสเอามาเล่าสู่ให้อ่านกันตามเคย

ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า สมบูรณ์ หอมเทียนทอง

ศิลปินร่วมสมัยชาวไทยผู้ทำงานศิลปะในหลากหลายแนวทาง ไม่ว่าจะเป็นงานจิตรกรรม, ประติมากรรม, วาดเส้น, ศิลปะจัดวาง, สื่อผสม และศิลปะจากวัสดุสำเร็จรูป

ผลงานของเขามีลักษณะเด่นในการหลอมรวมแนวความคิดและปรัชญาแบบตะวันตกเข้ากับมิติทางจิตวิญญาณแบบตะวันออกอย่างกลมกลืน

หลังจากห่างหายจากการแสดงงานมาระยะหนึ่ง ในครานี้ สมบูรณ์กลับมาอีกครั้งกับนิทรรศการแสดงเดี่ยวครั้งล่าสุดของเขาที่มีชื่อว่า Wohnzimmer ที่นำเสนอผลงานเน้นหนักไปที่จิตรกรรมนามธรรมโทนสีเอกรงค์ (Monochrome) เส้นสายอิสระ เปี่ยมพลังความเคลื่อนไหว แต่ในขณะเดียวกันก็แสดงออกถึงอารมณ์ความรู้สึกอันหนักแน่นและสงบนิ่งอย่างน่าประหลาด

ผลงานในนิทรรศการถูกจัดแสดงในลักษณะเรียบง่ายสามัญ ให้ความรู้สึกอบอุ่นราวกับเข้าไปอยู่ในห้องนั่งเล่นในบ้านของศิลปินยังไงยังงั้น

ซึ่งพ้องกับความหมายของชื่อนิทรรศการครั้งนี้ที่ศิลปินเฉลยให้เราฟัง

“Wohnzimmer เป็นภาษาเยอรมัน แปลว่า ‘ห้องนั่งเล่น’ เป็นภาษาชาวบ้านๆ หมายถึงสถานที่เล็กๆ ส่วนตัว ไม่ใช่อะไรที่ใหญ่โต เหมือนเป็นมุมส่วนตัว เราชอบความเรียบง่ายของภาษา เวลาออกเสียงก็เพราะดี และเราเองก็ไม่ค่อยได้เห็นใครใช้คำนี้ตั้งเป็นชื่อนิทรรศการมาก่อน”

“งานในนิทรรศการนี้มีบริบทที่แตกต่างจากนิทรรศการครั้งก่อนหน้า โดยภาพรวมในเรื่องของสีสัน ที่ถูกกำหนดให้โทนสีดำเป็นตัวนำ หรือใช้โทนสีไม่กี่สีในแต่ละภาพ การทำงานที่ใช้โทนสีน้อยแบบนี้ จริงๆ เป็นนิสัยดั้งเดิมของเรา เพียงแต่พออายุเปลี่ยนไปวิธีการทำงานก็เปลี่ยนไป แล้วแต่ว่าเราอยากทำอะไร ไม่มีอะไรพิเศษ เป็นไปตามแนวคิดของแต่ละงาน”

ผลงานที่โดดเด่นอีกชิ้นในนิทรรศการนี้ คือผลงานจิตรกรรมสีเขียวขนาดใหญ่ที่ปะทะสายตาของผู้ชมทันทีที่ย่างเท้าเข้าภายในห้องแสดงงาน ร่องรอยฝีแปรงอันรุนแรง แต่แฝงความอ่อนโยนบนฝืนผ้าใบ ให้ความรู้สึกสดชื่นราวกับจะได้กลิ่นแมกไม้อวลอายออกมาจากภาพ

ดังเช่นที่ศิลปินกล่าวว่า เขาได้แรงบันดาลใจจากกลิ่นหอมหวนของดอกแก้วในยามที่สร้างผลงานชิ้นนี้ก็ไม่ปาน

ที่เก๋ไก๋จนน่าสนเท่ห์ก็คือ ใต้ผลงานรองรับไว้ด้วยม้วนกระสอบข้าวดูแปลกตาหากลงตัวอย่างน่าประหลาด

“ภาพเขียนดอกแก้วสีเขียวชิ้นนี้น่าสนใจตรงที่ พออยู่ที่สตูดิโอของเราก็แสดงออกแบบหนึ่ง แต่พอมาอยู่ในมุมมืดๆ ในหอศิลป์ก็แสดงออกอีกแบบหนึ่ง ซึ่งเราเห็นว่าเหมาะมาก การจัดวางทำให้เราหยุดมอง ด้วยการให้ภาพเขียนขนาดใหญ่ไปอยู่ในมุมแคบๆ มืดๆ ที่ถ้าใครมองเข้าไปเพื่อตั้งใจค้นหาความหมายอะไรก็คงจะไม่เจอ เราชอบบรรยากาศแบบนี้ของมุมนี้ ที่ลงตัวกับสิ่งที่เราคิด”

“นิทรรศการก่อนหน้านี้ก็ไม่รู้ว่ามีใครใช้มุมนี้แสดงงานอะไรบ้างไหม เราก็ไม่ทราบ แต่เราเห็นว่าเวลาคนเดินเข้ามาในหอศิลป์ พอผ่านมุมนี้ก็จะปะทะสายตาพอดี ส่วนการวางรองภาพเขียนด้วยกระสอบข้าว เพราะที่บ้านเรามีกระสอบข้าวเหลืออยู่ เราก็เอากระสอบนั้นมาใช้วางรองรับน้ำหนักภาพเพื่อไม่ให้เสียของ พอวางแล้วก็บังเอิญเหมาะเจาะพอดี แต่ไม่ได้มีความหมายอะไรเป็นพิเศษ เวลาเราทำอะไรเราไม่ค่อยใส่ความหมายอะไรให้ตีความเท่าไหร่ ก็แค่วัสดุเหมาะเจาะลงตัวพอดี ก็เท่านั้นเอง”

นอกจากเหล่าบรรดาผลงานจิตรกรรมนามธรรมอันหนักแน่น เปี่ยมอารมณ์ความรู้สึกแล้ว

สิ่งที่โดดเด่นอีกประการหนึ่งในนิทรรศการนี้ คือผลงานศิลปะจัดวางที่ประกอบขึ้นจากเครื่องเรือนอย่างโต๊ะเก้าอี้ไม้รูปทรงเรียบง่าย แต่เปี่ยมสไตล์ และลูกโลกทรงเก่าแก่ย้อนยุค

ทั้งหมดถูกจัดวางอย่างประณีต แต่ก็แฝงอารมณ์ขี้เล่น ล้อไปกับภาพเขียนสีสันเส้นสายสนุกสนานบนผนังเคียงข้าง และยั่วเย้าความเคร่งขรึมหนักแน่นของผลงานโดยรวมในนิทรรศการ ด้วยการยกเก้าอี้ตัวหนึ่งตั้งเอียงบนที่พักเท้าของโต๊ะ ราวกับมีเด็กน้อยกำลังโยกเก้าอี้เล่นอยู่ยังไงยังงั้น

“งานชุดนี้เราคิดไว้นานราว 8-10 ปีแล้ว เพียงแต่ว่ายังไม่เคยนำออกมาแสดงที่ไหน พอดีเราเห็นในหอศิลป์มีมุมหนึ่งที่คิดว่าน่าจะเหมาะกับการวางงานชุดนี้ พอเอามาวางแล้วก็เหมาะเจาะลงตัวพอดี และเข้ากันกับชื่อของงานที่แปลว่า ‘ห้องนั่งเล่น’ ด้วย งานชุดนี้ในแง่ของเทคนิคก็ไม่มีอะไรมาก เป็นการค้นคว้าทางความคิดของเรา, ระหว่างเฟอร์นิเจอร์กับภาพวาดนั้นใช้เครื่องมือคนละอย่าง เราทำงานชุดนี้ขึ้นมาเพื่อให้คนดูรับความรู้สึกผ่านวัตถุที่ไม่เหมือนกัน”

“อย่างเฟอร์นิเจอร์ที่จัดวางก็เป็นเหมือน Wohnzimmer (ห้องนั่งเล่น) ของที่นี่ หรือลูกโลกจำลองก็เป็นของเก่าแก่ที่ดูสวยมาก ตัวลูกโลกก็มีความหมายมาก มันบ่งบอกถึงการเดินทางของคน รูปทรงกับองศาก็ดูเหมาะเจาะลงตัว”

“โต๊ะกับเก้าอี้เหมือนกัน ของพวกนี้เราได้มาจากที่ต่างๆ แต่ละชิ้นก็มีประวัติของตัวเอง ตอนทดลองจัดวางงานเรารู้สึกว่าตรงไหนเหมาะสม เราก็วางตรงนั้น ทำด้วยความสนุก ไม่ได้นึกถึงเหตุผลอะไรมาก เวลาทำงานศิลปะไม่ควรนึกถึงเหตุผลมากเกินไป เราว่าไร้สาระมากที่จะไปหาความหมายกับงานศิลปะมากเกินไป มันไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าสุนทรียะหรือความรู้สึกที่แสดงออกมา”

“ถึงงานแต่ละชิ้นในนิทรรศการมีเอกภาพทางความคิดมาจากแหล่งเดียวกัน แต่ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นชิ้นเดียวกัน การจัดวางงานในนิทรรศการมาจากความบังเอิญง่ายๆ เราดูแล้วรู้สึกว่าลงตัวไหม เราไม่ต้องการให้คนดูเห็นรายละเอียดอะไรที่ชัดเจนเกินไป เราต้องการให้เขาแค่รู้สึกกับงาน”

ทุกครั้งที่เราชมงานของสมบูรณ์ หอมเทียนทอง นอกจากจะเหมือนเป็นการสำรวจวิถีแห่งการทำงานที่สั่งสมจากประสบการณ์อันเข้มข้นยาวนานของศิลปินผู้นี้แล้ว ในทางกลับกัน การชมงานของเขาก็ทำให้เรารู้สึกไม่ต่างอะไรกับการสำรวจลึกเข้าไปภายในตัวตนของเราเองเช่นเดียวกัน

“งานชิ้นหนึ่งก่อนที่จะเสร็จสมบูรณ์ออกมา เกิดจากกระบวนการทำงาน เกิดจากการแก้ไขปัญหา เขียนทับไปทับมาจนเกิดเป็นรายละเอียดในผลงาน เป็นองค์ประกอบของงานที่ลงตัว เป็นเสน่ห์ของตัวงาน งานของเราไม่ได้เน้นที่เทคนิค แต่เน้นการแสดงออกถึงความรู้สึก โดยไม่ต้องไปสนใจกับความหมายอะไรให้มากมาย ไม่ต้องคิดอะไรให้ฟุ้งซ่าน สิ่งสำคัญที่สุดคือให้ความรู้สึกแสดงออก แล้วให้งานเล่าเรื่องด้วยตัวของมันเอง”

“เวลาคนดูงานของเรา เราไม่ต้องการให้เขาเห็นตัวเรา แต่เราต้องการให้คนดูเดินทางเข้าไปเห็นตัวของเขาเอง แล้วให้เขาคุยกับตัวเอง เป็นไปตามธรรมชาติ โดยไม่ต้องจงใจสร้างขึ้นมา เหมือนเวลาเรามองดูต้นไม้สักต้น ต้นไม้ไม่เคยบอกว่าเขาสวยอย่างไร แต่เราต้องรู้สึกด้วยตัวเอง เราไม่จำเป็นต้องอธิบายอะไรให้มากความ ขึ้นอยู่กับความรู้สึกของคนที่มอง บางทีบางคนมองเข้าไปในต้นไม้แล้วเห็นความงาม แต่บางคนที่บรรลุธรรมแล้วก็อาจจะมองแล้วเห็นแต่ความว่างเปล่า”

“เช่นเดียวกับงานศิลปะ เราอยากให้คนดูงานศิลปะของเราได้เข้าไปดูส่วนลึกของตัวของเขาเอง เปิดทางให้เขาเข้าไปสัมผัสสุนทรียะภายในตัวเอง ผ่านการดูงานของเรา สิ่งนี้ถือเป็นการเรียนรู้ที่สำคัญมาก เพราะถ้าสิ่งนี้เติบโตในตัวเขาเมื่อไร ภายในของเขาจะยิ่งเดินทางได้กว้างไกลมากขึ้น เราสนใจสิ่งเหล่านี้ ถึงได้เป็นศิลปินมาตลอดชีวิต”

นิทรรศการ Wohnzimmer โดยสมบูรณ์ หอมเทียนทอง จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน-13 สิงหาคม 2022 ณ Nova Contemporary ถนนราชดำริ, BTS ราชดำริ (ทางออก 2), สอบถามรายละเอียดได้ที่ 09-0910-6863, อีเมล : [email protected]

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก Nova Contemporary •