บทเรียน การเมือง กรณี “สฤษดิ์” กรณี “ถนอม” บทเรียน รัฐประหาร

ประหนึ่งว่าการได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ พล.อ.ถนอม กิตติขจร เข้าดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีต่อจาก จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อเดือนธันวาคม 2506

sdhtkktt

จะหมายถึง “ชัยชนะ” จะหมายถึง “ความสำเร็จ”

เพราะในห้วงเวลาต่อจากนั้น พล.อ.ถนอม กิตติขจร ก็ดำรงตำแหน่งทางการทหารเป็นผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารสูงสุด

ขณะเดียวกัน ก็ขึ้นครองยศเป็น “จอมพล”

กระนั้น แรงกดดัน 1 ที่ จอมพลถนอม กิตติขจร ถูกบีบรัดก็คือ ความอื้อฉาวจากกรณีทรัพย์สินอันได้มาโดยไม่สุจริตของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ กระทั่ง จำเป็นต้องใช้อำนาจมาตรา 17 ของธรรมนูญการปกครองแห่งราชอาณาจักร พ.ศ.2502 ยึดทรัพย์

และแรงกดดัน 1 คือ ความเรียกร้องต้องการ “รัฐธรรมนูญ” อันยืดเยื้อเรื้อรังนับแต่มีการฉีกรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2475 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2495 ในรัฐประหารเมื่อเดือนตุลาคม 2501

รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2511 จึงถูกประกาศและบังคับใช้

รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2511 และการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนเมษายน 2512 นั่นเองที่นำ จอมพลถนอม กิตติขจร เข้าสู่การทดสอบทางการเมืองอันแหลมคมอย่างยิ่ง

กระทั่งบทสรุป “ชัยชนะ” เมื่อปี 2506 กลับกลายเป็น “ความพ่ายแพ้”

การเมือง เป็นจริง
การเมือง เข้มข้น

ความจริง จอมพลถนอม กิตติขจร เคยผ่านประสบการณ์การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาแล้วหน 1 ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนธันวาคม 2500

เป็นการดำรงตำแหน่งตาม “คำสั่ง” ของ “นาย”

เป็นการดำรงตำแหน่งโดยมีพรรคชาติสังคมซึ่ง จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นหัวหน้า พล.ท.ประภาส จารุเสถียร เป็นเลขาธิการ

แต่อยู่ถึงเดือนตุลาคม 2501 ก็เกิด “รัฐประหาร”

เป็นรัฐประหาร “ซ้ำ” โดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และด้วยความยินยอมพร้อมใจของ พล.อ.ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี

การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเดือนธันวาคม 2506 จึงมิได้เป็นประสบการณ์ “ใหม่”

การเป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนธันวาคม 2500 ต้องเผชิญกับแรงกระแทกจากพรรคการเมืองและนักการเมืองอย่างไร การเป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนเมษายน 2512 ก็ต้องเผชิญกับแรงกระแทกจากพรรคการเมืองและนักการเมืองอย่างนั้น

ทั้งจากพรรคประชาธิปัตย์และโดยเฉพาะจากพรรคสหประชาไทยอันเป็นพรรคการเมืองของ จอมพลถนอม กิตติขจร เอง

ในที่สุด จอมพลถนอม กิตติขจร ก็เลือกหนทางออกแบบเดียวกับเมื่อเดือนตุลาคม 2501

นั่นก็คือ จอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้ยึดอำนาจจาก จอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีในเดือนพฤศจิกายน 2514

อีก 2 ปีต่อมา จอมพลถนอม กิตติขจร ก็ประสบกับมรสุมแห่งเดือนตุลาคม 2516

สนาม การเลือกตั้ง
การเมือง เป็นจริง

จากนี้จึงเห็นได้ว่า การร่วมรัฐประหารโค่นล้ม จอมพล ป. พิบูลสงคราม กับ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อเดือนกันยายน 2500

ถือว่าเป็น “ชัยชนะ” 1 ในทาง “การเมือง”

ส่งผลให้ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ครองอำนาจและครองอำนาจกระชับมากยิ่งขึ้นจากรัฐประหารซ้ำในเดือนตุลาคม 2501

จากเดือนกันยายน 2500 ถึงเดือนธันวาคม 2506 ถือเป็นความรุ่งโรจน์ของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

แต่ภายหลังอสัญกรรม และภายหลังการเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ จอมพลถนอม กิตติขจร ในเวลาอีกไม่นาน จอมพลถนอม กิตติขจร ก็ใช้อำนาจตามมาตรา 17 ของธรรมนูญการปกครองยึดทรัพย์ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

ทรัพย์อันได้มาจากการฉ้อโกง เบียดบังเงินแผ่นดิน

จากเดือนธันวาคม 2506 เหมือนกับเป็นชัยชนะและเป็นยุคอันรุ่งโรจน์ของ จอมพลถนอม กิตตขจร แต่เมื่อผ่านการเลือกตั้งในปี 2512 แม้จะสามารถยื้อยุดอำนาจเอาไว้ได้โดยการรัฐประหารตัวเองในเดือนพฤศจิกายน 2514

กระนั้น ความมั่นคงและแข็งแกร่งของระบอบ “ถนอม-ประภาส” ก็เริ่มถูกทดสอบอย่างเข้มข้นจากการเมืองที่เป็นจริง

ในที่สุด ก็เกิดสถานการณ์เมื่อเดือนตุลาคม 2516

จากชัยชนะก็กลายเป็นความพ่ายแพ้ จากที่เคยครองอำนาจก็ถูกโค่นล้มและขับไล่กระทั่งต้องไปอยู่ต่างประเทศ

ต่อมา ก็ถูกยึดทรัพย์เช่นเดียวกับ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

ที่คิดว่าชัยชนะอาจใช่แต่ก็ดำเนินไปตามกฎแห่งอนิจจัง ไม่เที่ยงแท้ ไม่แน่นอน ในที่สุด สถานการณ์ที่เป็นจริงทางการเมืองก็ชี้ว่าเป็นชัยชนะจอมปลอม

สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็กลายเป็น “คนขี้โกง”

ถนอม กิตติขจร ก็กลายเป็น “ทรราช” ถูกผู้คนสาปแช่งด้วยความเกลียดชัง

ประตู การเมือง
ประตู ทดสอบ

บทเรียนจากกรณีของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ บทเรียนจากกรณีของ จอมพลถนอม กิตติขจร จึงทรงความหมายยิ่งในทางการเมือง

ชี้ให้เห็น “อำนาจ” อันมีรากฐานจาก “รัฐประหาร”

ชี้ให้เห็น “อำนาจ” ที่ดูเหมือนว่าแข็งแกร่ง มั่นคง แต่ก็กลายเป็นของไม่จริง พลันที่ถูกทดสอบจากสภาพการณ์ทางการเมืองที่เป็นจริง

ก็ดำรงอยู่เหมือน “น้ำแข็ง” ต้อง “ความร้อน” หลอมละลาย

ชัยชนะของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็กลายเป็นความพ่ายแพ้เมื่อถูกยึดทรัพย์ ชัยชนะของ จอมพลถนอม กิตติขจร ก็กลายเป็นความพ่ายแพ้เมื่อถูกขับไล่ โค่นล้ม และถูกยึดทรัพย์

เป็นบทเรียน “การเมือง” อันทรงคุณค่าและมีความหมาย

เป็นบทเรียน “การเมือง” อันมีรากฐานจากรัฐประหาร มิได้ยึดโยงอยู่กับ “ประชาชน”