ประเทศดองศพ ‘กลิ่น’ การเมืองที่คุ้นเคย/รายงานพิเศษ มีเกียรติ แซ่จิว

รายงานพิเศษ

มีเกียรติ แซ่จิว

 

ประเทศดองศพ

‘กลิ่น’ การเมืองที่คุ้นเคย

 

‘ประชาชนในประเทศนี้ถูกดองมานานแค่ไหนแล้ว’

อาจเหมือน ‘กลิ่น’ ที่เราคุ้นเคยกันดีบนหน้าฉากการเมืองในประเทศใกล้ ๆ ตัวเรานี่เอง กลิ่นที่ตลบอบอวลอยู่ตลอดเวลาขณะอ่านเรื่องสั้น ‘ประเทศดองศพ‘ ของฉมังฉาย ที่เข้ารอบการประกวดเรื่องสั้นมติชนอวอร์ด

เราจึงรู้สึกว่าไม่เห็นอะไรแปลกใหม่ นอกจากการสมมุติในสิ่งที่เราต่างก็รู้ๆ กันอยู่แล้วว่าตัวละครทางการเมืองนั้นหมายถึงใคร ฉาก/สถานการณ์ในประเทศใด อีกอย่างการกำหนดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 1984 ก็สอดคล้องสัมพันธ์ไปถึงการเฝ้าจับตาของ ‘พี่เบิ้ม’ หรือ Big Brother ในผลงานคลาสสิคตลอดกาล 1984 ของจอร์จ ออร์เวลล์

ซึ่งในส่วนของเรื่องสั้นเอง ผู้กุมอำนาจอยู่เบื้องหลังก็ใช้ชื่อ บิ๊ก เหมือนกัน และ ‘ผม’ ชายชราผู้เล่าเรื่อง ก็อาจอนุมานเอาได้ว่าเป็นด้านที่ ‘สว่างไสว’ ของ ‘วินสตัน สมิธ’ แห่งประเทศโอเชียนา ก็เป็นได้เช่นเดียวกัน (ในส่วนนี้เราจะมาพูดถึงในภายหลัง) และฉากเปิดเรื่องก็ระบุไว้แน่ชัดว่า เป็นสิ่งที่พ้นผ่านมาเนิ่นนานแล้ว

ผมไม่แปลกใจอะไร คุณอาจเหมือนกับคนทั่วไปคือคงไม่เชื่อหากบอกว่าผมเคยเป็นนายกรัฐมนตรีมาก่อน แต่ช่างมันเถิดนะ ปัดเรื่องนายกฯ ออกไปซะ ถ้าจะมีอะไรน่าสนใจอยู่หน่อย มันก็จะเป็นเรื่องของความจริงที่อยู่เบื้องหลังตำแหน่งนั้นต่างหาก อยากรู้ไหมเล่า ถ้าอยากรู้เข้ามาใกล้ๆ นี่ อย่าต้องให้คนแก่อายุเฉียดแปดสิบใช้เสียงมากเลย

 

โดยย่นย่อของประเทศดองศพ ว่าด้วยเรื่องราวการยึดอำนาจของท่านนายพล ABCD ซึ่งต่อมาได้ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำประเทศ OTPA โดยมีพี่บิ๊ก EFG เป็นผู้คอยสนับสนุนอยู่เบื้องหลังและดำรงตำแหน่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง แต่เพียงสี่ปีเศษที่ดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศ ท่านนายพลก็เสียชีวิตกะทันหัน และเพื่อรักษาเสถียรภาพความมั่นคงยึดตำแหน่งเก้าอี้ไว้อย่างเหนียวแน่น ขั้นแรกพี่บิ๊ก จึงสั่งลูกน้องให้ควานหานักวิทยาศาสตร์เก่งๆ มาทำการดองศพท่านผู้นำเอาไว้ แต่เนื่องจากเกิดความผิดพลาดศพของท่านนายพลจึงเปื่อยสลาย พี่บิ๊กจึงวางแผนใหม่โดยหา ‘ตัวตายตัวแทน’ ขึ้นมาแทนที่ และ ‘ผม’ ซึ่งดันบังเอิญหน้าเหมือนท่านนายพลก็ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน

ความหมายหนึ่งนอกจากการ ‘ดองศพ’ ท่านผู้นำที่ไม่สามารถทำได้แล้ว (อุปมาคือไม่มีอะไรจีรัง) ความหมายใหญ่ที่ครอบคลุมยิ่งกว่านั้นคือ ประชาชนตาดำๆ ในประเทศที่ถูกดองเอาไว้ตลอดหลายปีที่ผ่าน โดยไม่มีการเลือกตั้งให้ประชาชนได้ใช้สิทธิ์หยั่งเสียงเลือกผู้นำคนใหม่ๆ เข้ามาทำหน้าที่บริหารบ้านเมืองนั้น จะจีรังยั่งยืนได้นานเท่าไร

เรื่องเหล่านี้จึงเป็นสิ่งสะทกสะท้อนอยู่ในประเทศที่มีผู้นำเป็นเผด็จการ วนเวียนเป็นลูปซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่ในประเทศดองศพแห่งนี้ ซึ่งหากเรานำเรื่องสั้นดังกล่าวไปส่องกระจกแล้วชะโงกดูเงา ก็อาจสะท้อนออกมาให้เห็น ‘ภาพใหญ่’ ทั้งหมดที่เกิดขึ้นอยู่ใกล้ตัวเรากว่าที่คิด!

‘จากการไปนั่นไปนี่บ่อยของผม พบความจริงว่าประเทศนี้มีสีซีดๆ อย่างไงๆ พิกลอยู่ เพราะมองไปทางใดเห็นความหม่นหมอง ซ้ำร้ายเห็นโลกแต่เพียงด้านเดียวหรือมิติเดียวด้วย พวกผู้คนที่ (ถูกต้อน) มาต้อนรับผมก็มีสภาพไร้จิตวิญญาณ ไอ้พวกที่คอยเย้วๆ คำรามประท้วงใส่ผมนอกงานโน่น-เริ่มมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ-ต่างหากที่ผมเห็นว่ามีชีวิตชีวามีเลือดลมแล่นในกาย’

เราจึงสัมผัสได้แต่แรกอ่านว่ากลิ่นตุๆ มันคุ้นๆ และภาพที่คุ้นตาเหล่านี้ เหมือนเราเห็นๆ กันอยู่ทุกวัน

 

แม้เส้นเรื่องของผู้เขียนจะลากยาวพอให้เห็น ‘เค้าลาง’ หายนะทำนองว่า ‘ไม่นานเกินรอ’ การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองครั้งใหม่ เรื่องแบบนี้จะต้องเกิดขึ้นไม่วันใดวันหนึ่ง แต่ทว่า นั่นก็เต็มเปี่ยมไปด้วยจินตนาการพอจะทำให้เห็นว่า ไม่มีใครอดทนต่อการปกครองที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ยาวนานหรอก

และปฏิเสธไม่ได้เลยว่าหนึ่งในนั้นก็คือตัวนักเขียนเอง ที่แสดงวิสัยทัศน์ออกมาอย่างล้นทะลักผ่านภาษาและถ้อยคำที่อ่านแล้วสัมผัสได้ทันทีถึงกลิ่นการเมืองที่ว่ายเวียนอยู่ใกล้ตัว ซึ่งเอาเข้าจริงก็ยังไม่รู้ว่าอีกนานเท่าไร กลิ่นดังกล่าวจะเจือจางหายไป

เราจึงได้เห็นว่า ‘ผม’ ในเรื่องสั้นยังมีโอกาส ‘หลุดพ้น’ ออกมาเล่าเรื่องราวในวัยชราแก่ชนรุ่นหลัง

แต่สำหรับ ‘วินสตัน สมิธ’ กลับไร้สิ้นหนทางออกจากประเทศโอเชียนา แม้เขาจะมีแนวคิดกบฏ ต่อต้าน อยากรวมกลุ่มกับองค์การใต้ดิน แต่การณ์กลับถูกหักหลังจากคนที่ไว้เนื้อเชื่อใจ ที่สุดท้ายแล้วก็เป็นสมาชิกตำรวจความคิด เขาจึงติดกับดัก ดิ้นไม่หลุด ไม่สามารถรอดพ้นจากสายตาผู้นำสูงสุดอย่างบิ๊ก บราเธอร์ไปได้

วินสตันถูกลงทัณฑ์ทรมานในห้อง 101 ความคิดปฏิวัติแตกดับ และสุดท้ายหลังถูกปล่อยตัวออกมา เขาละม้ายคล้ายคนสิ้นหวัง แม้แต่ ‘เสียง’ ก็ยังไม่อยากเปล่งออกมา เขาจึงได้แต่คิดถึงสิ่งเลวร้ายที่สุดที่จะเกิดขึ้นในประเทศแห่งนี้และผู้นำที่ชั่วช้าสามานย์ แต่เพียงชั่วแวบความคิดนั้นก็ปลาสนาการไป

โอเชียนายังคงถูกจองจำหรือ ‘ดองไว้’ จากอำนาจรัฐที่ไม่อาจต้านทาน

โดยทั้งนี้ หากอ่านอย่างประเมินคุณค่า กลิ่นการเมืองจาก 1984 ของจอร์จ ออร์เวลล์ ซึ่งตีพิมพ์ในปี 1949 ได้โชยชายมาไกลถึงประเทศดองศพ ของฉมังฉาย ในปี 2022

ราวกับว่า ‘กลิ่นที่คุ้นเคย’ เหล่านี้จะยังคงโชยฟุ้งล่องลอยต่อเนื่อง

และเอาเข้าจริง เหมือนไม่เคยมีอะไรเปลี่ยนแปลงตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา!