คุยกับทูต : เดวิด เดลี อียูสานสัมพันธ์ไทยอย่างสร้างสรรค์ สมดุล เป็นรูปธรรม (1)

รายงานพิเศษ

ชนัดดา ชินะโยธิน

 

คุยกับทูต : เดวิด เดลี

อียูสานสัมพันธ์ไทย

อย่างสร้างสรรค์ สมดุล เป็นรูปธรรม (1)

 

จากหมู่บ้านเล็กๆ ริมทะเล มีทั้งภูเขา และทะเลสาบในแคว้นสลิโก (Sligo) ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศไอร์แลนด์

วัยเด็กของเดวิด เดลี จึงแวดล้อมไปด้วยธรรมชาติอันงดงาม

เที่ยวทะเลได้ทุกวันเพราะจากบ้านก็สามารถเดินลงทะเลหรือปั่นจักรยานขึ้นภูเขาก็ได้ภายในไม่กี่นาที

นายเดวิด เดลี (H.E. Mr. David Daly) ปัจจุบันคือเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสหภาพยุโรป (อียู-EU) ประจำประเทศไทย

นายเดวิด เดลี (H.E. Mr. David Daly) เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสหภาพยุโรป (อียู-EU) ประจำประเทศไทย /เครดิตภาพ : สำนักงานคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย

ความเป็นมา

เริ่มอาชีพนักการทูตในปี 1986 หลังสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขารัฐประศาสนศาสตร์และปริญญาโทสาขาเศรษฐศาสตร์ด้านยุโรปศึกษาในกรุงดับลิน

ดำรงตำแหน่งทางการทูตครั้งแรกที่สถานทูตไอร์แลนด์ประจำกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดียในปี 1987 เป็นการผจญภัยและการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิตเพราะเป็นครั้งแรกที่ได้เดินทางออกจากยุโรป สู่ดินแดนที่มีสภาพอากาศร้อนอบอ้าวและห่างไกลจากทะเล แต่ก็เต็มไปด้วยสีสัน ความมีชีวิตชีวา และความแปลกใหม่อย่างมากมาย

ท่านทูตเล่าถึงความเป็นมาว่า มาจากครอบครัว ‘ปกติ’ ซึ่งบิดาเป็นอาจารย์ประจำโรงเรียน มารดาเป็นนักออกแบบเกี่ยวกับผ้าลินิน ส่วนภริยาคือนางไอดิน (Aideen) ก็ไม่ใช่คนห่างไกล รู้จักกันตั้งแต่เด็กๆ ที่เติบโตมาจากเมืองเดียวกันด้วย

นายเดวิด เดลี และนางไอดิน ภรรยา

“ก่อนหน้าเข้าร่วมงานกับอียู ผมทำงานที่กระทรวงเกษตรไอร์แลนด์ มีความคิดว่าการได้ไปทำงานในต่างประเทศ ได้ออกไปดูโลกและรับใช้ประเทศชาติในเวลาเดียวกันเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก เมื่อได้เห็นโฆษณางานระดับชาติเป็นนักการทูตในหนังสือพิมพ์ ก็เลยตัดสินใจสมัคร เพราะไม่ใช่ทุกปีที่จะมีตำแหน่งว่างและเปิดรับสมัคร ดังนั้น ผมจึงสมัครในปีแรก และก็นับว่าโชคดีที่การสมัครในปีที่สองของผมประสบความสำเร็จ”

“หลังไปประจำที่อินเดีย ผมเป็นหัวหน้าฝ่ายการเมืองและเศรษฐกิจ คณะผู้แทนคณะกรรมาธิการยุโรป ประจำกรุงบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี จากนั้น ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตครั้งแรก ในฐานะเอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ต่อมาเป็นเอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำศรีลังกา และมัลดีฟส์ มาถึงวันนี้ คือ เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย โดยมีวาระในแต่ละประเทศราว 4 ปี-4 ปีครึ่ง”

“ผมปฏิบัติหน้าที่ในสำนักงานต่างๆ ของสหภาพยุโรปมามากกว่า 30 ปี แน่นอน แต่ละประเทศมีความท้าทายที่แตกต่างกันออกไป และรู้สึกโชคดีในทุกประเทศที่ได้ไปประจำการ ล้วนแล้วแต่มีความหมายสำหรับผมซึ่งรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เป็นตัวแทนของสหภาพยุโรป”

สหภาพยุโรป (EU) เป็นสหภาพทางเศรษฐกิจและการเมือง ประกอบด้วยรัฐสมาชิก 27 ประเทศซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในทวีปยุโรป เป็นการรวมกลุ่มระดับเหนือรัฐที่ใหญ่ที่สุดและก้าวหน้าที่สุดในโลก (supranational cooperation) และมีบทบาทสำคัญต่อทิศทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมระดับโลก

ในด้านเศรษฐกิจ สหภาพยุโรปมี GDP สูงที่สุดในโลก เป็นตลาดสินค้าและบริการ ตลาดการเงิน และผู้ลงทุนในต่างประเทศที่สำคัญ รวมทั้งมีบรรษัทข้ามชาติระดับโลกเป็นจำนวนมากที่สุด

บูรณาการของสหภาพยุโรปมีความเข้มแข็งยิ่งขึ้นภายหลังสนธิสัญญาลิสบอนมีผลใช้บังคับ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ.2009 ซึ่งทำให้สหภาพยุโรปมีสถานะทางกฎหมายอย่างสมบูรณ์ สามารถจัดทำความตกลงกับต่างประเทศ เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศ และเป็นสมาชิกองค์การระหว่างประเทศได้

สำนักงานใหญ่ ณ กรุง บรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม Cr-Wikimedia Commons

การดำรงตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูตสหภาพยุโรป

“ต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต มีประสบการณ์มากในประเด็นนโยบายต่างประเทศ ไม่มีหลักสูตร เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปนั้นมาจาก 3 แหล่งหลัก อันดับแรก จากหน่วยงานทางการทูตของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป แหล่งที่สอง มาจากคณะกรรมาธิการยุโรป และแหล่งที่สาม จากสถาบันภายนอกของสหภาพยุโรปและจากสำนักเลขาธิการสหภาพยุโรป”

“มีหลายคนที่สมัครตำแหน่งนี้ และสุดท้ายได้เพียงคนเดียวเท่านั้น ยังมีคนเก่งๆ อีกหลายคนที่ไม่ได้รับการแต่งตั้งเพราะคนอื่นก็เก่งด้วย นับเป็นกระบวนการที่มีการแข่งขันที่สูงมาก”

ความสัมพันธ์ไทยกับสหภาพยุโรป

มีความสัมพันธ์ทางการทูตมายาวนานกว่า 40 ปี ได้มีการจัดตั้งคณะผู้แทนของสำนักงานคณะกรรมาธิการประชาคมยุโรปที่กรุงเทพฯ เมื่อปี 1978 ซึ่งถือเป็นคณะผู้แทนแห่งแรกของประชาคมยุโรปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย” สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ มีฐานะเป็นคณะผู้แทนไทยประจำสหภาพยุโรปด้วย

“สหภาพยุโรปมีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศไทยตั้งแต่ปี 1979 เป็นความสัมพันธ์ที่มีความก้าวหน้าและพัฒนาขึ้นอย่างมากตั้งแต่เริ่มต้น แม้บางครั้งความสัมพันธ์อาจมีขึ้นมีลงเล็กน้อย เมื่อเกิดการรัฐประหารในปี 2014 สหภาพยุโรปได้ลดระดับความสัมพันธ์ทางการเมืองกับประเทศไทย และระงับการเจรจาข้อตกลงการค้าเป็นเวลาหลายปี” เอกอัครราชทูตเดลีชี้แจง

“หลังการเลือกตั้งในปี 2019 สหภาพยุโรปได้ตัดสินใจเดินหน้าขยายการมีส่วนร่วมกับประเทศไทย ซึ่งรวมถึงประเด็นสิทธิมนุษยชน เสรีภาพขั้นพื้นฐาน และพหุนิยมประชาธิปไตย ผมจะไม่พูดว่า ความสัมพันธ์กลับเป็นปกติ แต่ยังคงเป็นการเดินหน้าดำเนินงานต่อไปอย่างรอบคอบในช่วงที่ผ่านมา สืบเนื่องจากยังคงมีประเด็นอื่นๆ ที่มีความสำคัญมากได้แก่ สิทธิมนุษยชน”

ประเด็นที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน

ในปี 1948 หลังเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง องค์การสหประชาชาติได้กำหนดปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนขึ้นเพื่อเป็นกรอบในการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนได้ถูกใช้เป็นรากฐานของกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศทุกฉบับ

“ศักยภาพของสิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับพวกเราทุกคนในทุกๆ วัน ไม่ใช่แค่มีความท้าทายในบางประเทศ หากแต่มีในทุกๆ ประเทศในโลก ตอนนี้คำถามคือ เราจะทำอย่างไร จึงจะสามารถช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการรับมือกับความท้าทายนี้ มีความคิดว่า เราสามารถมีการเจรจาอย่างสร้างสรรค์กับประเทศไทยในประเด็นสิทธิมนุษยชน เช่นเดียวกับที่เราเจรจากับประเทศอื่นๆ”

“จำเป็นต้องจัดการเสวนา อภิปรายกันอย่างจริงจัง โดยให้ความเคารพซึ่งกันและกัน ทุกคนมีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์โดยเท่าเทียมกัน ยุโรปได้เรียนรู้ด้วยตนเองเพราะยุโรปมียุดที่มืดมนมากมายในประวัติศาสตร์ หลายประเทศตกอยู่ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการ หรือในลัทธิคอมมิวนิสต์ หลายประเทศถูกทำลายล้างและต้องสร้างขึ้นใหม่ เราได้รับความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและสงครามโลกครั้งที่สอง”

“ยุคที่มืดมิดที่สุดกำลังเกิดขึ้นในยุโรปขณะนี้ มาจากการรุกรานของรัสเซียในยูเครน”

“ดังนั้น ประสบการณ์อันเกิดจากประวัติศาสตร์ดังที่กล่าวมาของเรา อาจจะเป็นประโยชน์และน่าสนใจสำหรับประเทศอื่นๆ เช่น ประเทศไทย”

“สิ่งหนึ่งที่เราได้เรียนรู้คือ ประโยชน์ในแง่ของการปรึกษาหารือด้านสิทธิมนุษยชน การมีกรอบของกฎหมายที่เข้มแข็งจะช่วยให้การบังคับใช้กฎหมายตรงตามมาตรฐานที่กำหนด มีประโยชน์ในการตรวจสอบและบันทึกกรอบของกฎหมายระหว่างประเทศ เพราะในภาพรวมในฐานะประชาคมระหว่างประเทศ เราได้ตกลงร่วมกันในอนุสัญญาต่างๆ”

“ดังนั้น กรอบของกฎหมายระหว่างประเทศจึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้เรารับมือกับความท้าทายในการเคารพสิทธิมนุษยชน อาจเห็นว่าซับซ้อนเล็กน้อย แต่เป็นการกำหนดวิธีแก้ปัญหาที่สำคัญ เราทุกคนเชื่อมั่นในการทำให้สิทธิมนุษยชนได้รับการปฏิบัติโดยสากล เพราะเราอยู่ในฐานะประเทศในเวทีระหว่างประเทศซึ่งมีแนวคิดว่าด้วยหลักสากลทางกฎหมาย”

“เราดำเนินการตามข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้าน (PCA) ซึ่งจะช่วยยกระดับและกระชับความร่วมมือระหว่างสหภาพยุโรปและประเทศไทย อันแสดงให้เห็นว่าความสัมพันธ์เติบโตขึ้นมากเพียงใดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา”

“อีกทั้งดำเนินการตามขั้นตอน สู่การเริ่มต้นใหม่อย่างแข็งขัน ในการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) โดยสหภาพยุโรปมองว่าไทยเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญทั้งในระดับทวิภาคีและระดับภูมิภาค”

“สหภาพยุโรปยังคงสานต่อความสัมพันธ์ที่ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปได้ก่อตั้งและมีความสัมพันธ์กับประเทศไทย บนพื้นฐานของการเคารพและการถือปฏิบัติโดยสากลต่อสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน มีส่วนได้ส่วนเสียในการรักษาสันติภาพ เคารพอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน เราทำงานร่วมกันในประเด็นต่างๆ มากมายและสนใจที่จะให้ความร่วมมือในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การฟื้นตัวจากการระบาดใหญ่ของ COVID-19 การเสริมสร้างสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย การแปลงเป็นดิจิตอล (Digitization) การอพยพ สันติภาพและความมั่นคง”

ขณะเดียวกัน สหภาพยุโรปเห็นว่าไทยเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญและเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นประเทศสายกลางที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกประเทศและสามารถเป็นหุ้นส่วนของสหภาพยุโรปได้ โดยไม่ได้มองว่าไทยเป็นประเทศผู้รับความช่วยเหลือดังเช่นในอดีต

สิ่งที่สหภาพยุโรปต้องการจากไทย คือเสถียรภาพทางการเมือง ความเป็นประชาธิปไตย การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นค่านิยมที่สหภาพยุโรปยึดถือ การมีเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นฐานการลงทุนและตลาดส่งออก และการมีมาตรฐานสินค้าและบริการตามกฎเกณฑ์ของสหภาพยุโรป ตลอดจนให้ไทยเป็นสะพานเชื่อมระหว่างสหภาพยุโรปกับอาเซียน

นอกจากนี้ ในระดับภูมิภาค ไทยเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญของสหภาพยุโรปในการผลักดันบทบาทของสหภาพยุโรปในอาเซียนและภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก โดยเฉพาะในกรอบการหารือด้านความมั่นคงของอาเซียน ได้แก่ ความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ARF) •