“ดุสิตโมเดล” ความฝันใหม่ของ กทม. สร้างเครือข่าย – เชื่อมข้อมูล แก้ปัญหาความยุ่งเหยิงระบบสุขภาพเมืองหลวง/รายงานพิเศษ

รายงานพิเศษ

 

“ดุสิตโมเดล”

ความฝันใหม่ของ กทม. สร้างเครือข่าย – เชื่อมข้อมูล

แก้ปัญหาความยุ่งเหยิงระบบสุขภาพเมืองหลวง

ปัญหาระบบสาธารณสุขในกรุงเทพมหานคร ถือเป็นปัญหาเรื้อรังในระดับต้นๆ เป็นที่รู้มาช้านานว่ากรุงเทพฯ เมืองที่มีประชากรหลักและประชากรแฝงรวมกันนับ 10 ล้านคน มีปัญหาอย่างหนักในการดูแลระบบสาธารณสุขให้กับประชากร ในส่วนของการดูแลระบบปฐมภูมิ กรุงเทพฯ ไม่ได้มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือสถานีอนามัย คอยดูแลใกล้ชิด เหมือนกับอีก 77 จังหวัด

ในส่วนของระบบทุติยภูมิ กรุงเทพฯ ไม่ได้มีโรงพยาบาลอำเภอคอยประกบประชากรในระดับเขต และในระดับตติยภูมิ หรือโรงพยาบาลปลายทางไว้รับผู้ป่วยอาการหนัก ที่มีความซับซ้อนนั้น แม้จะมีโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ระดับโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยอยู่หลายแห่ง แต่โรงพยาบาลเหล่านี้ ก็ต้องทำหน้าที่รับผู้ป่วยจากทั่วประเทศ ไม่ได้รับดูแลผู้ป่วยในกรุงเทพฯ เพียงอย่างเดียว

นอกจากเรื่องของ ขนาด อัตราส่วน และจำนวน โรงพยาบาล จะมีปัญหาแล้ว เรื่องของการเข้าถึงระบบประกันสุขภาพยังมีปัญหาเช่นเดียวกัน ในอีก 77 จังหวัด สถานพยาบาลส่วนใหญ่มี “เจ้าของ” เพียงคนเดียว คือ “กระทรวงสาธารณสุข” ซึ่งทำให้ประชาชนสามารถเข้าใช้บริการได้อย่างง่ายดายด้วยบัตรทอง ทั้งยังมีลำดับขั้นที่ชัดเจน แต่ในกรุงเทพฯ นั้น สภาวะ “เบี้ยหัวแตก” ที่โรงพยาบาลส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกดูแลโดยกระทรวงสาธารณสุข จำนวนโรงพยาบาลส่วนใหญ่ในเขตกรุงเทพฯ เป็นโรงพยาบาลเอกชน เสริมด้วยโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลของกรุงเทพมหานคร (กทม.) โรงพยาบาลของกระทรวงกลาโหม และแม้จะมีความพยายามโดย สปสช. สร้างระบบสุขภาพปฐมภูมิ ก่อนส่งต่อไปยังโรงพยาบาลใหญ่อย่าง “คลินิกชุมชนอบอุ่น”

แต่แน่นอนว่าไม่เพียงพอกับจำนวนประชากร ซ้ำยังเกิดปัญหาการเบิกจ่ายซ้ำซ้อน จนต้องปิดไปหลายคลินิกเมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา

ประจักษ์พยานสำคัญของความล้มเหลวในระบบสาธารณสุขในกรุงเทพฯ สังเกตได้จากช่วงวิกฤตโควิด-19 ระบาดหนัก เมื่อปี 2564 การที่มีจำนวนประชากรไม่สมดุลกับจำนวนสถานพยาบาลส่งผลให้มีผู้ป่วยจำนวนมากเข้าไม่ถึงเตียงโรงพยาบาล และทำให้กรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองที่ได้รับความเสียหายจากวิกฤตโควิด-19 รุนแรงที่สุด

แน่นอนว่ามีความพยายามจากหน่วยงานหลักของเมืองอย่าง กรุงเทพมหานคร (กทม.) ในการพยายามอุดช่องโหว่เหล่านี้ตลอดเวลาที่ผ่านมา แต่น่าเสียดายว่าสิ่งที่ กทม. ทำมาตลอด คือการสร้าง “โรงพยาบาล” ขึ้นมาใหม่ ตามที่ดินที่ได้รับบริจาค และพยายามขยายอาณาจักรด้าน “สาธารณสุข” ของตัวเอง ซึ่งแน่นอนว่าสร้างปัญหาตามมา เพราะการขยายอาณาจักร ต้องอาศัยทั้งงบประมาณมหาศาล และจำนวนบุคลากร ที่ต้องงอกเงยตามไปด้วย โรงพยาบาลบางแห่งถูกสร้างอยู่กลางทุ่ง มีผู้ใช้บริการไม่มากนัก แต่ กทม. ก็ต้องจัดคน – เงิน – ของ ลงไปดูแล ขณะที่โรงพยาบาลของ กทม. กลางเมือง นั้น ก็มีจำนวนเตียง จำนวนบุคลากร ไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับจำนวนคนไข้

วันที่ 7 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา ในการชี้แจงแผนการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2566 ที่รัฐสภา ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ยอมรับต่อกรรมาธิการงบประมาณว่า สิ่งที่ กทม. ขาด ในเรื่องระบบสาธารณสุขคือขาดการจัดการแบบ Single Command ที่ดี และหากนับเตียงโรงพยาบาลที่ กทม. เป็นเจ้าของแล้ว ก็อยู่ราว 10% เท่านั้น ของเตียงทั้งหมดในกรุงเทพฯ

ด้วยเหตุนี้ นโยบายด้านสาธารณสุขแรกๆ ของชัชชาติ และทีมงาน อันนำโดย ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. ก็คือการสร้างระบบขึ้นมาใหม่ เชื่อมโยงตั้งแต่ระบบ ปฐมภูมิ – ตติยภูมิ ครอบคลุมไปถึงการประสานงาน ส่งต่อผู้ป่วย อย่างเป็นระบบ โดยมีการสั่งการที่จุดเดียว และอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายให้มากที่สุด ครอบคลุมที่สุด

พื้นที่นำร่องแรกของ กทม. คือที่ ‘เขตดุสิต’ ซึ่ง กทม. มีโรงพยาบาลใหญ่อย่าง วชิรพยาบาล โรงพยาบาลของกทม. เป็นแกนกลาง ภายใต้โครงการ “ดุสิตโมเดล” โดยใช้เครือข่ายเดิมที่มีอยู่แล้วอย่าง สปสช. และคลินิกชุมชนอบอุ่น เชื่อมโยงให้เป็นระบบมากขึ้น โดยเป็นพื้นที่ทดลอง หรือ แซนด์บ็อกซ์ สำหรับประชาชนใน 4 เขต ได้แก่ ดุสิต พระนคร บางซื่อ และ บางพลัด ก่อนขยายไปยังเขตอื่นๆ

ดุสิตโมเดล เริ่มต้นจากการสำรวจข้อมูล สิทธิการรักษา ของประชาชน และหาอัตราของแพทย์ พยาบาล บุคลากรในพื้นที่ว่าสัมพันธ์กับจำนวนประชากรหรือไม่ โดยสำรวจทั้งประชากรผู้มีทะเบียนบ้านจริง และประชากรแฝง รวมถึงพิจารณาสิทธิการรักษา ก่อนเริ่มเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 28 กรกฎาคม 2565

จุดแรกของระบบนี้ คือการใช้ระบบ Telemedicine เพื่อปรึกษาแพทย์ก่อนเข้าพบที่โรงพยาบาล โดยลดขั้นตอนการพบแพทย์ที่สถานพยาบาลปฐมภูมิ และลดความแออัดในแง่ “คิว” ของโรงพยาบาล โดย Telemedicine เป็นหนึ่งใน 216 นโยบายของชัชชาติ เพื่อลดความแออัดในสถานพยาบาลตั้งแต่ต้น

จากนั้น ในกรณีที่มี “ข้อมูล” ในมือ และมีหลักปฏิบัติชัดเจน เมื่อผ่านการคัดกรองด้วย Telemedicine แล้ว จึงส่งต่อเฉพาะผู้ที่มีความจำเป็นต้องพบแพทย์เท่านั้น ไปยังโรงพยาบาลขั้นต่างๆ ทั้งโรงพยาบาลทุติยภูมิ และโรงพยาบาลตติยภูมิ ทำให้โรงพยาบาลสามารถจัดกำลังบุคลากรที่เพียงพอรองรับจำนวนคนไข้ได้ ลดภาระงานของโรงพยาบาล และบุคลากร ไม่ให้เกิดปัญหา อย่างที่เห็นทุกวันนี้

ขณะเดียวกัน อีกความพยายามภายใต้แซนด์บ็อกซ์แห่งนี้ก็คือ เมื่อมีเอกสาร มีข้อมูลสิทธิการรักษาที่ชัดเจนขึ้น ทุกอย่างจะส่งไปยังแซนด์บ็อกซ์กลาง เพื่อประเมินว่าใครจะได้รับการรักษาที่ไหน และแบบใด เรื่องเอกสาร – สิทธิการรักษา ไม่ต้องเป็นภาระของทั้งคนไข้ และของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลอีกต่อไป

อีกทั้งในระยะยาว ยังมีแผนในการลดการใช้กำลังคน เป็นการปรับการทำงานโดยใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ลดปัญหาที่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการจ้างบุคลากรมาทำงานเอกสาร

หากดุสิตโมเดลทำได้จริงตามนี้ ก็ถือว่า กทม. เข้าใจ Pain Point ของระบบสาธารณสุขได้เป็นอย่างดี และทำให้ทั้งประชาชน ทั้งโรงพยาบาลนั้น สะดวกใจในการรับการบริการได้มากขึ้น เพราะหลายโรงพยาบาลที่เป็นเครือข่าย ไม่ว่าจะในระบบเอกชน หรือโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนั้นยินดีช่วย หากสิทธิการรักษา – ส่งต่อ เป็นไปอย่างชัดเจน

หากแซนด์บ็อกซ์แรกประสบความสำเร็จ กทม. ทวิดา ให้สัมภาษณ์ว่า กทม. เตรียมขยายแซนด์บ็อกซ์ต่อไป โดยใช้โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ โรงพยาบาลสังกัด กทม. อีกแห่ง ที่ตั้งอยู่ในเขตบางแค เป็นจุดศูนย์กลาง ดูแลโซนฝั่งธนบุรีเหนือ – ใต้ 5 เขต ในรูปแบบคล้ายกัน

หากรอบนี้ประสบความสำเร็จ ก็จะถือเป็นการปฏิรูประบบบริการสาธารณสุขในเขตกรุงเทพฯ ให้เป็นไปอย่างเชื่อมโยง – ครอบคลุมมากขึ้น และสามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ต้องแก้ปัญหาด้วยการใช้ “เงิน” สร้างโรงพยาบาลเพิ่ม จ้างบุคลากรเพิ่ม หากแต่เปลี่ยนด้วยวิธีการบริหารจัดการให้เป็นไปอย่างมืออาชีพ และเป็นระบบ

แน่นอนว่าคนกรุงเทพฯ เอาใจช่วยโครงการนี้ และหวังว่าจะเป็นทางออกสำคัญให้ระบบสาธารณสุขในเมืองหลวง มีรูหายใจเพิ่ม ไม่ใช่ให้คนไข้รายได้น้อย ต้องอาศัยโรงพยาบาลตามสิทธิรักษาพยาบาล ต้องรอคิวตามยถากรรม และไม่ใช่ให้คนไข้ที่มีรายได้มาก ต้องเสียเงินไปกับการจ่ายค่าประกันสุขภาพ เพื่อเข้ารับการรักษากับโรงพยาบาลเอกชน

แม้โครงการแซนด์บ็อกซ์จะไม่ใช่คำตอบทั้งหมดของระบบสาธารณสุขในกรุงเทพฯ ที่มีจำนวนประชากรล้นเกินระบบรองรับ แต่ก็ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี และมองจากปัญหาเป็นตัวตั้ง ซึ่งจะเป็นต้นแบบให้ ทั้ง 50 เขต ทั่วกรุงเทพฯ ได้รับการดูแลในรูปแบบเดียวกัน นำไปสู่เป้าหมายใหญ่คือประชากรทุกคนในเขตกรุงเทพฯ มีสถานพยาบาล และมีระบบบริการสุขภาพที่รองรับชัดเจน ในยามป่วยไข้

เป็นเป้าหมายที่ไม่ง่าย แต่ก็ทำให้คนกรุง มีความหวังในเรื่องที่ไม่กล้าฝัน และไม่เคยหวังมาก่อนเสียที….