ในประเทศ : เป็นเกียรติอันยิ่งใหญ่

ต้องยอมรับว่า นโยบาย America First ของ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา

ก่อประโยชน์ต่อการเดินทางไปเยือนกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อย่างยิ่ง

เพราะเมื่อนายทรัมป์ยึดประโยชน์ของสหรัฐมาก่อน

ทำให้สามารถมองข้าม “หลักการสำคัญสูงสุด” ที่สหรัฐเคยยึดถือได้ง่ายๆ

นั่นคือจะไม่คบค้ากับรัฐบาลจากการรัฐประหารโดยเด็ดขาด

แต่การเป็นเจ้าภาพต้อนรับ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ทำเนียบขาว

ถือเป็นการส่งสัญญาณยอมรับรัฐบาลทหารไทยอย่างชัดแจ้ง

นี่เอง ที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์อย่างปลาบปลื้ม

“ประธานาธิบดีสหรัฐและภริยาต้อนรับอย่างดียิ่ง ให้เกียรติ เต็มไปด้วยมิตรไมตรี และอบอุ่นเป็นกันเอง นับว่าการเยือนสหรัฐอเมริกาในครั้งนี้ซึ่งเป็นการเยือนในระดับนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการของไทยในรอบ 12 ปี ประสบผลสำเร็จน่าพอใจเป็นอย่างยิ่ง”

และยังเคลมด้วยว่า นโยบาย America First ของนายทรัมป์ สอดคล้องและเชื่อมโยงกับนโยบาย Thailand 4.0 ของไทย เพื่อชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน อย่างเท่าเทียมและครอบคลุม

โชว์ความเป็นหนึ่งเดียวกันของ 2 ประเทศ อย่างไม่ขัดเขิน

 

อย่างที่ทราบ สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องการสูงสุดคือ การยอมรับจากสหรัฐ จึงมีใจจดจ่อที่จะได้เดินทางไปทำเนียบขาวตลอดเวลา

เพราะไม่เพียงทำให้นานาชาติมองไทยในเชิงบวกแล้ว

สิ่งสำคัญที่ต้องการ คือแรงสะท้อนกลับมายัง “การเมือง” ภายในประเทศ ว่าในท่ามกลางกระแสไม่ยอมรับการรัฐประหารและเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งนั้น

นายทรัมป์ยังสามารถก้าวข้ามโดยไปคำนึงถึงประโยชน์ของชาติก่อน

จึงไม่ได้แสดงการกดดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ รัฐบาล และ คสช. กลับเข้าสู่การเลือกตั้งตามหลักการประชาธิปไตย อย่างเสรีและยุติธรรม และรวมถึงการคำนึงถึงให้สิทธิมนุษยชนแต่อย่างใด

เป็นเพียงการ “รับทราบ”

ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์เอ่ยปากขึ้นมาเองว่าจะเดินหน้าตามโรดแม็ป

“ในปีหน้าเราจะประกาศวันเลือกตั้งออกมา โดยไม่มีการเลื่อนใดๆ ทั้งสิ้น เมื่อประกาศแล้วก็จะมีกรรมวิธีของการเลือกตั้ง คือนับไปอีก 150 วันตามกฎหมายหลังจากประกาศ ยืนยันว่าจะประกาศเลือกตั้งปีหน้าแน่นอน” พล.อ.ประยุทธ์ ระบุ

และย้ำว่า

“ประธานาธิบดีสหรัฐไม่ได้ถามเรื่องการเลือกตั้ง แต่ผมได้แสดงความเชื่อมั่นออกไป เพราะไม่ได้ปกปิดใคร ไม่ได้บิดเบือนอย่างที่หลายคนกล่าวอ้าง”

 

นี่ย่อมสอดประสานกับการรายงานข่าวของสื่อต่างประเทศหลายสำนัก ที่ระบุในทำนองเดียวกันว่า

“ทรัมป์ไม่สนใจต่อการเปิดกว้าง ด้วยการพบกับผู้นำต่างชาติ ที่ขึ้นชื่อว่าเผด็จการ และไม่เคารพสิทธิมนุษยชน”

ตรงกันข้าม

ทรัมป์กล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่าต้องการที่จะลดตัวเลขการขาดดุลของสหรัฐกับไทย ในปี 2016 ซึ่งอยู่ที่ 18.9 พันล้านดอลลาร์ และไทยเป็นชาติลำดับที่ 11 ลงให้ได้มากกว่า

สอดคล้องกับที่รอยเตอร์รายงานว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ต้องการที่จะลดปริมาณการขาดดุลการค้ากับไทยและได้แจ้งเรื่องดังกล่าวต่อ พล.อ.ประยุทธ์ระหว่างการหารือกัน

ทั้งนี้ สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐระบุว่าสหรัฐขาดดุลการค้ากับไทย 18.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 642.6 แสนล้านบาทในปีที่ผ่านมา โดยไทยถือเป็นประเทศที่สหรัฐขาดดุลการค้ามากเป็นอันดับ 11

ซึ่งไทยก็ตอบสนองด้วยการเสนอซื้อถ่านหิน และเอาเงินไปลงทุนในธุรกิจปิโตรเคมี

และอาจรวมทั้งพร้อมจะเจรจาซื้ออาวุธและสินค้าเกษตรอย่าง “หมู” แม้จะมีเสียงติติงจากคนในไทยก็ตาม

แน่นอน นี่ย่อมทำให้สหรัฐพึงใจ อย่างที่สำนักข่าวเอเอพีชี้ว่า นายทรัมป์พยายามที่จะก้าวเข้าสู่ทิศทางความสัมพันธ์ในเชิงบวกหลังเหตุปฏิวัติรัฐประหาร ซึ่งไม่ใช่เรื่องการค้าเท่านั้น

หากแต่สหรัฐมีความวิตกกังวลที่เพิ่มมากขึ้นถึงความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างกองทัพไทยและจีน ทั้งการซื้ออาวุธจากจีนทั้งการเสียโอกาสในการเข้าถึงฐานทัพเรือของไทย รวมถึงมีความวิตกกังวลว่านายพลของไทยซึ่งเคยทำงานร่วมกับกองทัพสหรัฐในเวียดนามก็กำลังถูกแทนที่ด้วยคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสนใจกับจีนมากกว่า

นี่จึงทำให้สหรัฐยอมหรี่ตาในประเด็น “ประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง”

 

ซึ่งก็สอดคล้องกับถ้อยแถลงร่วมระหว่างสหรัฐอเมริกาและไทย จำนวน 12 ข้อ คือ

1. ย้ำถึงความสำคัญของการเป็นพันธมิตรที่ยืนยาวระหว่างกัน ส่งเสริมสันติภาพ ความมั่นคง และความมั่งคั่งในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกและภูมิภาคอื่นๆ

2. ประธานาธิบดีทรัมป์ได้แสดงความเสียใจต่อการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

3. ผู้นำทั้งสองได้ย้ำถึงการเป็นพันธมิตรที่เข้มแข็งและเจริญก้าวหน้า ผ่านการแบ่งปันผลประโยชน์และค่านิยมร่วมกัน

4. สนับสนุนสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ผ่านมาตรการต่างๆ รวมถึงการเพิ่มการเจรจาหารือ กระชับความร่วมมือให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น

5. ผู้นำทั้งสองยังยินดีต่อการส่งเสริมความร่วมมือทางทหารอย่างใกล้ชิด และการซ้อมรบร่วมกัน รวมถึงโครงการซ้อมรบร่วมคอบร้าโกลด์

6. ผู้นำทั้งสองตระหนักถึงบทบาทนำของไทยในการส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค

– ทะเลจีนใต้ ให้หาทางออกจากความขัดแย้งโดยสันติวิธี เคารพหลักกฎหมายที่สอดคล้องกับหลักกฎหมายระหว่างประเทศและอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล พ.ศ.2525 (อันคลอส) เห็นชอบกรอบดำเนินการตามแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (ซีโอซี) และเรียกร้องให้จัดทำข้อสรุปตามซีโอซีโดยเร็ว เพื่อเป็นหลักประกันในสันติ เสถียรภาพ อันยั่งยืนในทะเลจีนใต้

– คาบสมุทรเกาหลี ผู้นำทั้งสองแสดงความกังวลอย่างใหญ่หลวงเกี่ยวกับการทดลองระเบิดนิวเคลียร์และขีปนาวุธวิถีโค้งหลายครั้งอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี พร้อมกับเรียกร้องต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้ลงมือปฏิบัติตามมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติอย่างเคร่งครัด

– สถานการณ์ในรัฐยะไข่ ผู้นำทั้งสองหารือร่วมกันถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมา รวมถึงความจำเป็นต่อการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมโดยเร็ว และสนับสนุนให้อาเซียนมีบทบาทในการทำงานร่วมกับรัฐบาลเมียนมาเพื่อจัดหาความช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรมทั้งหลาย

7. ประธานาธิบดีทรัมป์สนับสนุนอย่างแข็งขันที่ไทยมีต่อการดำเนินความร่วมมือในฐานะหุ้นส่วนกับสหรัฐอเมริกาและอาเซียน ในทุกๆ มิติ อาทิ ด้านอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งรวมถึงการค้ามนุษย์, ยาเสพติดและสัตว์ป่า

ทั้งสองฝ่ายยังแสดงความมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกันใกล้ชิดมากขึ้นกว่าเดิมในด้านการแบ่งปันข้อมูลข่าวกรองและการฝึกอบรมการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงการใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากสถาบันฝึกอบรมระหว่างประเทศว่าด้วยการดําเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย (ไอแอลอีเอ)

8. ประธานาธิบดีทรัมป์ได้แสดงความยินดีที่ไทยยังคงยึดมั่นตามโรดแม็ป ซึ่งเมื่อมีการตรากฎหมายลูกตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว ก็จะนำไปสู่การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมในปี 2561 ผู้นำทั้งสองยังได้ตระหนักถึงความสำคัญในการให้ความคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพพื้นฐานทั้งหลาย

9. ผู้นำทั้งสองเน้นย้ำถึงความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจที่ก่อประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่ายที่ดำเนินมาอย่างยาวนานระหว่างสหรัฐอเมริกาและไทย

10. ย้ำถึงความสำคัญของการส่งเสริมการค้าทวิภาคี และการสร้างเงื่อนไขที่เอื้อต่อธุรกิจของทั้งสองฝ่าย

11. ผู้นำทั้งสองเห็นพ้องถึงความสำคัญในการส่งเสริมความสัมพันธ์ภาคประชาชนให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น

12. ในโอกาสใกล้ที่จะครบรอบ 200 ปีของความสัมพันธ์ระหว่างกันที่เริ่มต้นขึ้นในปี 2361 ยินดีสำหรับการเตรียมการต่างๆ ที่จะเฉลิมฉลองโอกาสอันมีความหมายสำคัญยิ่งนี้

 

ปรากฏว่ามีเพียงข้อเดียวคือในข้อ 8 ที่ระบุถึงการ “รับทราบ” ว่าจะมีการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมในปี 2561

ซึ่งสื่อต่างชาติและกลุ่มสิทธิมนุษยชน วิจารณ์ว่าประธานาธิบดีทรัมป์ควรจะแสดงความกดดันไทยมากกว่าแค่ “การรับทราบ”

เพราะเหมือนเป็นการให้รางวัลแก่ผู้นำรัฐประหารซึ่งกวาดล้างผู้คัดค้านและลดทอนเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยมากกว่า

ดังถ้อยแถลงของแอมเนสตี้ที่ระบุว่า นับตั้งแต่รัฐประหารเมื่อปี 2557 เป็นต้นมา รัฐบาลทหารของ พล.อ.ประยุทธ์ได้ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จในการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนหลากหลายรูปแบบ มีการออกคำสั่งห้ามชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคน ออกกฎหมายต่างๆ ที่จำกัดการทำงานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน คุกคามผู้ที่ออกมาใช้เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบ ใช้ศาลทหารในการพิจารณาคดีพลเรือนอย่างไม่เป็นธรรม และอื่นๆ อีกมากมาย ขณะที่เจ้าหน้าที่ทหารใช้อำนาจในการบังคับใช้กฎหมายและกักขังประชาชนโดยไม่มีหมายศาล ซึ่งทั้งหมดล้วนแล้วแต่ขัดต่อมาตรฐานสากลด้านสิทธิมนุษยชนและความยุติธรรม

แอมเนสตี้จึงมองว่าถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลสหรัฐจะแสดงจุดยืนที่ชัดเจนว่าสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทยตอนนี้ไม่มีความยั่งยืน

ขณะที่สื่อตะวันตกต่างแสดงออกไปในทิศทาง “ลบ” ผ่านการรายงานข่าว

เช่น “ผู้นำเผด็จการจากต่างชาติเยือนทำเนียบขาว” “ทรัมป์เป็นเจ้าภาพต้อนรับผู้นำรัฐบาลทหารไทย” “ทรัมป์เป็นเจ้าภาพต้อนรับผู้นำรัฐประหารไทยที่ทำเนียบขาว” “ประธานาธิบดีทรัมป์พบกับผู้นำกองทัพไทย เผด็จการที่โอบามาเคยปฏิเสธ”

ซึ่งสะท้อนถึงภาพที่ไม่ดีของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ นัก

แต่สหรัฐก็ดูจะเพิกเฉย

จึงทำให้ พล.อ.ประยุทธ์แสดงออกถึงความพอใจต่อการเยือนสหรัฐครั้งนี้อย่างยิ่ง

 

“เกียรติอันยิ่งใหญ่” ที่ได้รับจาก นายโดนัลด์ ทรัมป์ ครั้งนี้

คงสร้างความมั่นใจให้กับหัวหน้าคณะรัฐประหารมากขึ้น

โดยเฉพาะการกำหนดเกม “เลือกตั้ง”

ที่รัฐบาลและ คสช. ได้โอกาสเปิดกว้างที่จะเป็นผู้กำหนดเมื่อเห็นจังหวะที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองมากที่สุด

มิใช่ให้ใครมากำหนดหรือมากดดัน