พฤษภารำลึก (10) ปฏิรูปกองทัพในความฝัน!/ยุทธบทความ สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ

สุรชาติ บำรุงสุข

 

พฤษภารำลึก (10)

ปฏิรูปกองทัพในความฝัน!

 

“พวกสุดโต่งในประชาคมความมั่นคงกลัวว่าพวกเขาจะสูญเสียความเป็นอิสระ [ทางการเมือง] จึงทำสงครามรอบใหม่โดยชักชวนให้ ‘ทหารในความเป็นสถาบัน’ เห็นถึงภัยคุกคามของการก่อวินาศกรรมว่าเป็นเรื่องจริง และให้เชื่อว่าการตัดสินใจเปิดระบบการเมืองเป็นความผิดพลาดที่อันตราย”

Alfred Stepan (1988)

ผู้เชี่ยวชาญด้านทหารกับการเมืองในละตินอเมริกา

 

หากย้อนกลับไปสู่ “พฤษภาประชาธิปไตย” ในปี 2535 แล้ว คงไม่ผิดนักที่จะกล่าวว่า หนึ่งในความฝันใหญ่ของบรรดานักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในยุคนั้น คืออยากเห็น “การปฏิรูปกองทัพ” เกิดขึ้น

และเป็นความหวังว่า หากเกิดการปฏิรูปดังกล่าวได้จริงแล้ว รัฐประหารจะเป็น “วัตถุโบราณ” ในพิพิธภัณฑ์การเมืองไทย อันจะเป็นโอกาสให้เกิดการพัฒนาด้วยการ “ปฏิรูปการเมือง” ในอนาคต…

ความฝันสองชุดเดินคู่ขนานภายใต้เงื่อนไขจากการลุกขึ้นสู้ของประชาชนบนถนน

พวกเราในกระแส “ประชาธิปไตยใหม่” (The New Democracy คำในภาษาของเปลี่ยนผ่านวิทยา) ไม่ว่าจะเป็นนักเคลื่อนไหวจากองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) นักศึกษา ปัญญาชน สื่อ ตลอดรวมถึงบรรดาญาติวีรชนที่เสียชีวิตจากการต่อสู้ในวันนั้น คิดตรงกันว่าน่าจะถึงเวลาแล้วที่จะต้องปฏิรูปกองทัพไทย

และทหารจะต้องยุติบทบาทของการเป็น “ผู้ใช้กำลัง” ในการสลายฝูงชน เพราะด้วยเงื่อนไขของการเป็นกองทัพแห่งชาติ ที่เป็นผู้ครอบครองและใช้อาวุธสงคราม ที่รัฐเป็นผู้จัดหาให้นั้น ทหารไม่ควรมีภารกิจในลักษณะเช่นนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเอาขีดความสามารถในการรบกับกองทัพข้าศึก มาใช้ “ควบคุมฝูงชน” ด้วยอาวุธสงคราม เป็นความผิดพลาดอย่างร้ายแรง และเป็นความผิดพลาดที่ผู้นำทหารและผู้เกี่ยวข้องไม่สมควรได้รับการให้อภัยจากสังคม

เพราะไม่มีหลักวิชาทหารข้อใดสอนให้ทหารใช้อาวุธสงครามกับประชาชนผู้ชุมนุม เพียงเพราะมีความเห็นต่างทางการเมืองจากรัฐบาล

กองทัพไทยในปี 2535 จึงตกเป็น “จำเลยทางการเมือง” ตามมาด้วยผู้นำทหารรุ่น 5 บางคนที่เกี่ยวข้องถูกย้ายออกจากตำแหน่งหลัก แต่ทุกคนตั้งคำถามว่า ปฏิรูปทหารจะมีเพียงเท่านี้หรือ?

แนวร่วมมุมกลับ

ถ้าจะปฏิรูปกองทัพ นายทหารไทยอาจต้องเรียนใหม่ จุดเริ่มต้นอาจจะไม่ใช่เรียนเรื่องประชาธิปไตย แต่ต้องเรียนรู้ที่จะทำความเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับประชาชนในมิติทางทหาร ซึ่งไม่มีประเด็นใดที่จะเหมาะสมในการใช้สอนนายทหารในประเด็นนี้ได้ดีเท่ากับเรื่อง “สงครามก่อความไม่สงบ” ดังบทเรียนจากสงครามคอมมิวนิสต์ในชนบทไทย

แต่ผู้นำทหารไทยไม่เคยถูกอบรมสั่งสอนให้มีความรู้ในเรื่องของ “สงครามต่อต้านการก่อความไม่สงบ” อย่างจริงจัง (Counterinsurgency Warfare หรือ COIN) พวกเขาไม่สนใจและขาดความรู้ในหลักวิชาทหาร จึงไม่เคยตระหนักว่าการก่อ “สงครามภายใน” ด้วยจุดเริ่มต้นของการสังหารประชาชนบนถนนนั้น จะเป็น “ตราบาป” ของสถาบันทหารไปไม่รู้จบ เพราะประวัติศาสตร์ไม่เคยถูกลืม

ในอีกด้าน การปราบปรามเช่นนี้เป็นเงื่อนไขที่ดีของการขยายสงครามและยกระดับความขัดแย้ง ซึ่งในวิชา “ความรุนแรงการเมือง” การกระทำดังกล่าวของทหารจะถูกนำมาใช้เพื่อสร้างให้เกิด “กระบวนการบ่มเพาะความรุนแรง” (radicalization)

ซึ่งประเด็นนี้เป็นสิ่งที่ผู้นำทหารและชนชั้นนำฝ่ายขวาไม่มีความเข้าใจ เพราะถูก “อวิชาแห่งอำนาจ” บังตา จนมองเห็นประชาชนในประเทศเป็นข้าศึก…

ข้าศึกในความหมายของวิชาสงครามคือ เป้าหมายที่มีความชอบธรรมในการทำลาย ซึ่งกองทัพที่มีบทบาทสูงทางการเมืองในหลายประเทศ จึงใช้ “กระบวนการสร้างความเป็นข้าศึก” (making the enemy) เพื่อให้ทหารสามารถใช้กำลังกับประชาชนโดยไม่รู้สึกว่า การใช้อาวุธสงครามสังหารประชาชนเป็น “ความผิดทางศีลธรรม” ในใจ และสร้างให้เกิดผลในทางกลับกันว่า การกระทำดังกล่าวเป็น “ความกล้าหาญ” ที่น่าภาคภูมิใจ ทั้งที่เป็นการสังหารประชาชนของตนเอง

สิ่งที่นักเรียนรัฐศาสตร์ถูกสอนเรื่อง “สงครามกลางเมือง” คือเมื่อไหร่ที่ผู้นำทหารมองเห็นประชาชนเป็น “ข้าศึก” ในบริบทของสงครามแล้ว ย่อมจะตามมาด้วยการสังหารอย่างไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

นักทฤษฎีความรุนแรงการเมืองจึงพยายามเตือนว่า การกระทำของทหารอาจจะเป็น “การบ่มเพาะความรุนแรงโดยรัฐ” ที่พาคนไปกับกระแสต่อต้านรัฐ และส่งผลให้ประชาชนมองว่ารัฐเป็นข้าศึกของฝ่ายตัวเช่นกัน

ซึ่งปรากฏการณ์เช่นนี้คือ เงื่อนไขพื้นฐานที่ดีของสงครามกลางเมือง ซึ่งเงื่อนไขเช่นนี้ในยุค 66/23 ที่นำโดย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ และกลุ่มทหารประชาธิปไตย ถูกเรียกว่าเป็น “แนวร่วมมุมกลับ” ที่การดำเนินการของฝ่ายรัฐกลายเป็นปัจจัยที่ถูกใช้ในการแสวงหาสมาชิกใหม่ของฝ่ายตรงข้าม

ประเด็นการสังหารประชาชนเป็นเรื่องที่ไม่เพียงแต่ต้องเตือนผู้มีอำนาจในกองทัพเท่านั้น แต่ยังต้องปรามฝ่ายอำนวยการแบบ “โหนนาย” ด้วยข้อเสนอในการปราบปรามประชาชนเพื่อตอบสนองต่อการมีอำนาจของนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งเห็นได้จากการ “ล้อมปราบ” ในปี 2535 และ 2553 (กรณีการสังหารเสื้อแดง)…

นักการทหารไทยที่ “ทรยศ” ต่อหลักนิยมของสงครามต่อต้านการก่อความไม่สงบด้วยการปราบประชาชน เป็นเรื่องน่าหดหู่ใจ และทำให้กองทัพไทยติดอยู่ในวังวนทางการเมือง

 

เราจะปฏิรูปกองทัพได้หรือ?

นายทหารที่ทรยศต่อหลักวิชาชีพทหารเหล่านี้ ไม่สมควรมีตำแหน่งเป็นอาจารย์ในโรงเรียนเสนาธิการ หรือในวิทยาลัยการทัพ เพราะพวกเขาไม่เพียงเป็นอุปสรรคต่อ “กระบวนการสร้างทหารอาชีพ” ของกองทัพไทย (professionalization) ในระยะยาวเท่านั้น หากแต่ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างองค์ความรู้ที่บิดเบือนและผิดพลาดในวงวิชาการทหาร

ฉะนั้น ฝ่ายอำนวยการที่พา “กองทัพไปติดกับดัก” ทางการเมืองเช่นนี้ ไม่สมควรได้รับการยกย่อง ซึ่งการติดกับดักสงครามการก่อความไม่สงบในภาคใต้หลังปี 2547 เป็นภาพสะท้อนที่ดีของปัญหานี้

คณะนายทหารไทยในยุคหลังสงครามเย็นไม่คุ้นเคยกับแนวคิดของสงครามก่อความไม่สงบแล้ว และมองสงครามการเมืองด้วย “ความไร้เดียงสาทางความคิด” ในอีกด้านคือ นายทหารไทยไม่เข้าใจเรื่องสงครามการเมืองแล้ว

ในอีก 18 ปีถัดมา ปัญหาการใช้อาวุธสงครามกับประชาชนผู้เห็นต่างเกิดซ้ำอีกในปี 2553 ฝ่ายอำนวยการกล้าที่จะเสนอหลักการ “กวาดล้างประชาชน” ด้วยอาวุธสงครามดังที่ปรากฏในวารสารของกองทัพบก

แม้ผู้นำทหารประสบความสำเร็จในการคงอำนาจไว้ต่อไป แต่ก็ทำให้เกิดการถามหาความรับผิดชอบของฝ่ายอำนวยการที่เสนอการ “รุมยิงนกในกรง” ว่าเป็นชัยชนะ ทั้งที่สิ่งที่ผู้นำกองทัพจะต้องตระหนักคือ การสังหารประชาชนเป็นความล้มเหลวของทหาร ดังเช่นบทเรียนจากปี 2519

ดังจะเห็นได้ว่าการยิงนกในกรงทั้งในปี 2535 และ 2553 ยังคงเป็น “ชนักทางการเมือง” ของกองทัพบกมาจนถึงปัจจุบัน

(ชื่อ “ยุทธการรุมยิงนกในกรง” เป็นบทความของ พล.อ.อดุล อุบล ที่แสดงความไม่เห็นด้วยกับการใช้อาวุธสงครามปราบปรามประชาชนผู้เห็นต่างทางการเมือง ผู้เขียนขอยกย่องและรำลึกถึงพี่อดุลไว้ ณ โอกาสนี้ ที่กล้าหาญในการแสดงความเห็นสวนกระแสผู้นำกองทัพ เสียดายว่านายทหารท่านนี้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร ถ้าพี่เขายังมีชีวิตอยู่แล้ว เราคงได้เห็นความเห็นที่แหลมคมต่อปัญหาบทบาทของกองทัพในปัจจุบัน)

ดังนั้น หากมีการสอบสวน “คดีสังหารประชาชน” ในอนาคต จะต้องไม่เพียงดำเนินการกับผู้นำทหารและฝ่ายที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ฝ่ายอำนวยการที่เสนอข้อพิจารณา โดยเฉพาะถึงขนาดนำเสนอในวารสารของกองทัพนั้น ควรจะต้องมีความรับผิดชอบด้วย

หรือถ้าทำอะไรไม่ได้เลย เพราะไม่มีใครกล้าเข้าไปเป็นพนักงานสอบสวนในคดีนี้ แต่อย่างน้อย “คณะกรรมการอิสระค้นหาความจริง” (The Independent Truth Commission) จะต้องจัดตั้งขึ้น เพื่อเสนอข้อเท็จจริงให้สังคมได้รับรู้

เช่น กรณีบทความของนายทหารที่เสนอให้สังหารประชาชนใน “วารสารเสนาธิปัตย์”

และคงต้องตอกย้ำว่า ถ้านายทหารในกองทัพไทยถูกประกอบสร้างให้เกิดความ “ภูมิใจ” ว่า การสังหารประชาชนเป็นความสำเร็จทางยุทธการแล้ว กองทัพจะอยู่กับประชาชนอย่างไร

ว่าที่จริงแล้วบัญชีการสังหารประชาชนในปี 2516 2519 2535 และ 2553 จวบจนถึงการปราบปรามประชาชนด้วยรูปแบบต่างๆ ในปัจจุบันเป็นสัญญาณเตือนเสมอว่า กองทัพยังเป็นแกนกลางของฝ่ายอำนาจนิยมไทยไม่แตกต่างจากเดิม

การปฏิรูปกองทัพจึงเป็นความหวังประการหนึ่งที่จะสร้างเงื่อนไขใหม่ของการต้องอยู่ร่วมกันระหว่าง “กองทัพกับประชาชน” ถ้าผู้นำกองทัพและชนชั้นนำไม่ตระหนักถึงประเด็นเช่นนี้ และปล่อยให้ปัญหาและความขัดแย้งเดินไปถึงจุดพลิกผันแล้ว กองทัพจะเผชิญความท้าทายที่ประชาชนอาจเลือกยืนคนละฝ่ายกับทหาร

ดังเช่นการลุกขึ้นสู้ครั้งใหญ่ในปี 2516 และ 2535 อันเป็นการพ่ายแพ้ทางการเมืองครั้งใหญ่ของทหาร

ถ้าผู้นำทหารไทยที่ “หลงกลิ่นการเมือง” จะมีความเข้าใจในหลักสงครามก่อความไม่สงบอยู่บ้าง คำกล่าวของประธานเหมาเจ๋อตุง ยังใช้เตือนใจได้เสมอ คือ “ประชาชนเป็นน้ำ ทหารเป็นปลา”… จะเกิดอะไรขึ้นถ้า “น้ำไม่เอาปลา” เพราะชัยชนะของสงครามประชาชนในทุกภูมิภาคล้วนจบลงสุดท้ายด้วยเงื่อนไขดังกล่าว

กล่าวคือ “น้ำไม่มีปลา น้ำอยู่ได้ แต่ปลาไม่มีน้ำ ปลาตาย”!

 

จะฝันต่อไหม?

หลังชัยชนะของประชาชนในปี 2535 ผ่านไปพร้อมกับการเปลี่ยนผู้นำในกองทัพ จากรุ่น 5 กลุ่มหนึ่ง ไปเป็นรุ่น 5 อีกกลุ่มหนึ่ง แล้วทุกอย่างทำท่าจะจบลงเพียงเท่านี้

ถ้าทั้งหมดนี้ เป็นภาพยนตร์ชื่อ “ปฏิรูปกองทัพ 35” หนังเรื่องนี้คงจบแบบค้างใจคนดู หรือจะจบแบบต้องมีภาค 2 แต่ภาค 2 จะเกิดขึ้นเมื่อใด เพราะการเมืองไทยที่ดำเนินต่อมา จนดูเหมือนระบอบประชาธิปไตยใหม่ที่กรุงเทพฯ มีความเข้มแข็งนั้น แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว ยังคงมีความเปราะบางอยู่มาก

อีกทั้งชะตากรรมของประชาธิปไตยไทยยังแขวนอยู่กับการตัดสินใจของชนชั้นนำ ผู้นำทหาร และบรรดาผู้นำปีกขวาจัดเสมอ เพราะกลุ่มการเมืองสามส่วนนี้ยังคงกุมอำนาจในการขับเคลื่อนกองทัพ การปฏิรูปกองทัพจึงไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่เราฝัน แต่ก็ต้องยืนหยัดที่จะไม่สิ้นฝัน

เมื่อระยะผ่านไปมากขึ้น โมเมนตัมของการปฏิรูปกองทัพก็ค่อยๆ จางหายไป คำเตือน “ตีเหล็กเมื่อร้อน” ยังคงใช้ได้เสมอ แล้วโอกาสของการปฏิรูปกองทัพจากเงื่อนไขของการเมืองภายในในปี 2535 ก็เป็นเพียงเรื่องราวในอดีต แต่ในอีกด้านหนึ่ง แรงกดดันของการปฏิรูปกองทัพกลับเกิดจากเงื่อนไขของการเมืองภายนอก อันเป็นผลจากการสิ้นสุดของสงครามเย็นในปี 2534 ทำให้กองทัพหลายประเทศทั่วโลกต้องปฏิรูปเพื่อรองรับกับภูมิทัศน์ใหม่ของ “โลกหลังสงครามเย็น”

ถ้าเช่นนั้นแล้วการปฏิรูปกองทัพในทางทหารจะเกิดขึ้นได้ไหม หรือการปฏิรูปกองทัพไทยไม่ว่าจะในมิติทางการเมืองหรือการทหารล้วนเป็นเพียงความฝัน แต่กระนั้น เราก็จะไม่เลิกฝัน!