ปรับแต่งโลกาภิวัตน์ แก้วิกฤตเศรษฐกิจการเมืองโลก (จบ)/การเมืองวัฒนธรรม เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม

เกษียร เตชะพีระ

 

ปรับแต่งโลกาภิวัตน์

แก้วิกฤตเศรษฐกิจการเมืองโลก (จบ)

 

แดนี รอดริก ศาสตราจารย์เศรษฐศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐ ได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว น.ส.พ. Le Monde ของฝรั่งเศสถึงสถานการณ์เศรษฐกิจการเมืองโลกจากอดีตระยะใกล้ถึงปัจจุบัน และนำเสนอวิสัยทัศน์การค้าเสรีที่แตกต่างออกไปเพื่อเป็นทางออกจากวิกฤตเศรษฐกิจและวิกฤตประชาธิปไตยที่โลกเผชิญอยู่ ซึ่งผมขอเรียบเรียงมานำเสนอต่อจากตอนที่แล้วดังนี้ :

(“L’essor du populisme autoritaire est li? ? la disparition des emplois de qualit? dans la classe moyenne”, Le Monde, 19 Mai 2022)

เลอมงด์ : งั้นเราก็ควรเปลี่ยนกฎกติกาของโลกาภิวัตน์ใช่ไหมครับ?

รอดริก : มีบางเรื่องที่เราต้องโลกาภิวัตน์ให้มากขึ้นครับ ในนัยที่ว่าเราจำต้องมีการร่วมไม้ร่วมมือและกฎเกณฑ์ระดับโลกมากกว่านี้ ผมกำลังนึกถึงเรื่องอย่างการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเอย สาธารณสุขเอย การจัดการกระแสไหลเวียนของแรงงานและผู้ลี้ภัยเอย เป็นต้น

เอาเข้าจริง ผมไม่ห่วงกังวลเท่าไหร่ถ้าหากการเจรจาองค์การการค้าโลกรอบหน้าจะตกลงกันไม่สำเร็จ หรือถ้าโลกาภิวัตน์ทางการเงินจะเริ่มถอดรื้อพังทลายลงนะครับ

ผมคิดว่าถึงไงการค้าการลงทุนจะยังคงเติบโตขึ้นในโลกอยู่ดีแหละครับ ต่อให้พวกผู้วางนโยบายตกลงกันไม่ได้เรื่องข้อตกลงทางการค้าฉบับหน้าหรือเรื่องกฎเกณฑ์ร่วมกันที่องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ก็ตาม แล้วก็เหมือนอย่างที่การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศคุกคามสิ่งแวดล้อมของเรา สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในตลาดแรงงานบัดเดี๋ยวนี้ กล่าวคือการสูญหายไปของการงานอาชีพที่ดีและการหดตัวของคนชั้นกลางน่ะ

นั่นคือสิ่งที่คุกคามสิ่งแวดล้อมทางสังคมและการเมืองของเรามากที่สุดครับ

แดนี รอดริก บรรยายในการประชุมที่เม็กซิโกปี 2019

เลอมงด์ : แต่ถึงไงการเปิดเสรีทางการค้าที่ว่านี้ก็ได้ช่วยยกระดับคนจีนหลายร้อยล้านให้พ้นจากปลักความยากจนนี่ครับ…

รอดริก : จริงครับ จีนเป็นประเทศที่ได้ประโยชน์ใหญ่โตที่สุดจากไฮเปอร์โลกาภิวัตน์ คนจีนหนึ่งพันล้านคนได้รับการยกระดับพ้นปลักความยากจนสิ้นไร้ไม้ตอกสุดโต่งขึ้นมา ทว่า ข้อที่เป็นปฏิทรรศน์ก็คือจีนไม่ได้ยอมเล่นเกมไฮเปอร์โลกาภิวัตน์นะครับ จีนได้ประโยชน์จากการที่เศรษฐกิจประเทศอื่นๆ เปิดออกขณะเดียวกับที่จีนเองยังให้เงินอุดหนุนบริษัทต่างๆ ของตัว ควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราและการเคลื่อนย้ายเงินทุนอยู่ อีกทั้งละเมิดสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาด้วย

พูดสั้นๆ ก็คือจีนดำเนินบรรดานโยบายที่สวนทวนกฎเกณฑ์ของไฮเปอร์โลกาภิวัตน์หน้าตาเฉยนั่นเอง ท้ายที่สุดแล้วเหล่าประเทศที่ได้ประโยชน์มากที่สุดจากไฮเปอร์โลกาภิวัตน์ได้แก่พวกที่ไม่เคารพทำตามกฎเกณฑ์ของไฮเปอร์โลกาภิวัตน์แบบจีนนั่นแหละครับ

โดยเปรียบตัดต่างกัน ประเทศอย่างเม็กซิโกได้พึ่งพาอาศัยการลงทุนต่างชาติและการค้าเพื่อพัฒนาขึ้นมา แต่ประโยชน์จากการพัฒนานี้ตกอยู่แก่บางส่วนของประเทศเท่านั้นขณะที่ประเทศเม็กซิโกโดยรวมกลับถดถอยล้าหลังอเมริกาในแง่ระดับรายได้ ในทางกลับกัน บรรดาประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายที่เดินตามรอยตัวแบบจีนกลับพากันเจริญรุ่งเรืองไม่ว่าเกาหลีใต้ ไต้หวัน สิงคโปร์ เอเชียตะวันออกและเอเชียอาคเนย์ ประเทศเหล่านี้ได้เติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญนะครับทั้งที่ให้ความสำคัญแก่เศรษฐกิจในประเทศก่อนอื่น

ฉะนั้น สิ่งที่ต้องเลือกจึงไม่ใช่ระหว่างระบอบอำนาจนิยมและไม่ทำมาค้าขายกับใครเลยทางหนึ่ง กับประโยชน์โภชผลจากโลกาภิวัตน์ในอีกทางหนึ่ง แต่มันเป็นปัญหาเรื่องความสมดุลต่างหากครับ มันไม่ใช่ปัญหาของการหวนกลับไปสู่ระบบเบรตตัน วูดส์ (หมายถึงระเบียบกฎเกณฑ์เกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางการค้าและการเงินที่สถาปนาขึ้นในหมู่ประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา นานาประเทศยุโรปตะวันตก ออสเตรเลียและญี่ปุ่นหลังข้อตกลงเบรตตัน วูดส์ ปี 1944 ดูเพิ่มเติมในเกษียร เตชะพีระ, เศรษฐกิจโลกถดถอยครั้งใหญ่ : ความรุ่งเรืองและความล่มจมของเสรีนิยมใหม่/โลกาภิวัตน์, openbooks, 2555, ภาค 2 ระเบียบการเงินโลก เบรตตัน วูดส์ หลังสงครามโลกครั้งที่สอง, น.92-107) พร้อมกับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราคงที่ เป็นต้น

แต่มันเป็นเรื่องของการค้นพบใหม่ซึ่งจิตวิญญาณของระเบียบกฎเกณฑ์ดังกล่าวเหล่านั้นอีกครั้ง เพื่อให้ประเทศต่างๆ มีช่องทางพอจะเคลื่อนขยับปรับทิศทางสำหรับดำเนินเหล่านโยบายที่เหมาะสมสอดคล้องกับตนได้ ในที่สุดแล้วก็ไม่มีอะไรที่ดีกับความเจริญรุ่งเรืองของโลกยิ่งไปกว่าเศรษฐกิจชาติทั้งหลายที่แข็งแรงและโอบรับนับรวมผู้คนในชาติเข้ามาหรอกครับ

 

เลอมงด์ : ทุกวันนี้ประเทศตลาดเกิดใหม่ทั้งหลายกำลังต้องดิ้นรนกระเสือกกระสนกันอยู่ การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ตกอยู่ในภาวะล่อแหลมหรือเปล่าครับ?

รอดริก : การท้าทายประดามีที่ประเทศเหล่านี้เผชิญมันมหึมาครับ สำหรับประเทศตลาดเกิดใหม่ การสร้างอุตสาหกรรมเคยเป็นพาหะหลักสำหรับเปลี่ยนโฉมเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ยุคสมัยแบบนั้นมันจบสิ้นไปแล้ว ไม่ใช่เพราะโลกาภิวัตน์ชะลอช้าลงนะครับ แต่เป็นเพราะอุตสาหกรรมน่ะไม่สร้างงานมากมายแบบที่มันเคยทำแต่ก่อนสมัยที่ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวันและจีนพัฒนากันขึ้นมา

ทุกวันนี้ กิจการหัตถอุตสาหรรมต้องการทุนและทักษะเป็นส่วนใหญ่ มันไม่ได้สร้างการงานอาชีพคุณภาพดีสำหรับคนชั้นกลางในบรรดาประเทศกำลังพัฒนามากไปกว่าที่มันสร้างให้ในเหล่าประเทศร่ำรวยหรอกครับ การเติบโตของอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกซึ่งเคยเปิดปล่อยให้เศรษฐกิจหลายต่อหลายประเทศได้พัฒนานั้นไม่ใช่ยุทธศาสตร์ที่ใช้การได้สำหรับประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางทั้งหลายอีกต่อไป ในเมื่อมีลู่ทางการเติบโตน้อยเส้นลง จึงสอดคล้องกับผลประโยชน์ของประเทศเหล่านี้ที่สุดที่จะเพ่งเล็งรวมศูนย์ไปที่วิสาหกิจขนาดเล็กและภาคเศรษฐกิจนอกระบบ/ไม่เป็นทางการ เพื่อเพิ่มผลิตภาพของตนให้สูงขึ้น ทั้งนี้เพราะไม่ว่าจะชอบหรือชังก็ตามที นี่คือที่ที่มีการสร้างงานขึ้นมา

จริงอยู่ศักยภาพในการเติบโตของประเทศตลาดเกิดใหม่นั้นลดทอนลง แต่นี่ไม่เกี่ยวอะไรกับโลกาภิวัตน์เลย หากเกี่ยวกับการเปลี่ยนโฉมหัตถอุตสาหกรรมในช่วง 40 ปีหลังมานี้ครับ

 

เลอมงด์ : ในหนังสือเล่มล่าสุดของคุณเล่มหนึ่ง คุณเรียกร้องให้มี “จินตนาการเชิงสถาบันแบบขุดรากถอนโคน” นี่หมายความว่าอะไรหรือครับ?

รอดริก : ข้อวินิจฉัยของผมก็คือรากเหง้าของวิกฤตเศรษฐกิจกับวิกฤตประชาธิปไตยนั้นจะหาพบได้ในตลาดแรงงาน ความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ ภาวะเสี่ยงในการดำรงชีวิต การสูญหายไปของอาชีพการงานคุณภาพดีและการเลื่อนชั้นทางสังคมสู่คนชั้นกลางที่ลดน้อยถอยลงครับ ความข้อนี้เป็นจริงในประเทศฝรั่งเศสของคุณพอๆ กับในสหรัฐอเมริกา แม้ว่าในฝรั่งเศสคุณจะไม่ต้องประสบกับภาวะค่าจ้างแรงงานเหลื่อมล้ำเลวร้ายลงแบบเดียวกับอเมริกา ค่าที่คุณมีระบบประกันสังคมและอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรวมทั้งอะไรต่อมิอะไรอื่นๆ ก็ตาม

แต่ถึงอย่างนั้นปัญหามูลฐานทั้งหลายในสองประเทศยังคงเป็นแบบเดียวกันครับ คนมากหลายรู้สึกว่าพวกเขาไม่สามารถเข้าสังคมในลักษณะที่สร้างผลผลิตและมีศักดิ์ศรีอีกต่อไป ทางแก้ไขไม่ใช่แค่เพิ่มการกระจายรายได้ทรัพย์สินและเงินโอนอีกแล้ว เราจำต้องมีนโยบายที่มุ่งสร้างอาชีพการงานที่มั่นคง มีลู่ทางเติบโตไปข้างหน้าและอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้นมา

ผมเรียกทั้งหมดนี้ว่าเศรษฐกิจอาชีพการงานดี (good jobs economy) เราต้องทำงานกับภาคธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เพื่อจัดหาบริการต่างๆ ที่จำเป็นในอันที่พวกเขาจะปรับปรุงผลิตภาพและเพิ่มการจ้างงานขึ้นครับ

นี่ก็คล้ายกับนโยบายอุตสาหกรรมทั้งหลายแหล่ในคริสต์ทศวรรษที่ 1960 และ 1970 นั่นแหละครับ เว้นแต่ว่าคราวนี้เราไม่เล็งเป้าใส่บรรดาบริษัทที่ครองแชมป์หัตถอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกระดับชาติเหมือนแต่ก่อน

หากเล็งเป้าไปที่บรรดาบริษัทขนาดกลางที่สนองการจ้างงานอย่างมีนัยสำคัญให้แก่ภูมิภาคต่างๆ ซึ่งถูกทอดทิ้ง

เราไม่เพียงแค่ต้องการสร้างงานขึ้นมานะครับ แต่มันต้องเป็นการงานอาชีพที่มีผลิตภาพซึ่งเปิดช่องให้ผู้คนยกระดับทักษะของพวกเขาสูงขึ้นด้วย

ใต้ภาพ

แดนี รอดริก บรรยายในการประชุมที่เม็กซิโกปี 2019