บางอย่างในความรักของเรา (18) / ท่าอากาศยานต่างความคิด : อนุสรณ์ ติปยานนท์

ท่าอากาศยานต่างความคิด

อนุสรณ์ ติปยานนท์

[email protected]

 

บางอย่างในความรักของเรา (18)

 

ผมเดินเข้าไปในสำนักงานของสำนักพิมพ์ จากปริมาณหนังสือของสำนักพิมพ์ผมคิดว่าพื้นที่ของสำนักพิมพ์น่าจะมีขนาดใหญ่กว่านี้ แต่จากตำแหน่งของที่ตั้งที่ปรากฏในหนังสือของสำนักพิมพ์ ตัวอาคารสำนักพิมพ์เป็นอาคารตึกแถวขนาดสามชั้น เมื่อเดินผ่านประตูกระจกที่เลื่อนออกผมพบกับเลขาฯ สำนักพิมพ์ ฝ่ายขายและฝ่ายการตลาด พวกเขานั่งเคาะพิมพ์ดีด โทรศัพท์ และสนทนา เด็กหนุ่มที่เดินหลงเข้ามาคนหนึ่งดูเป็นสิ่งแปลกปลอมในบริเวณนั้น เป็นสิ่งแปลกปลอมที่ผิดที่ผิดทางเต็มที

ในที่สุดท่าทีเก้ๆ กังๆ นานนับสิบนาทีของผมเรียกสายตาของพนักงานผู้หญิงคนหนึ่ง เธอเงยหน้าขึ้นจากกองเอกสาร จ้องมองผมด้วยท่าทีสงสัย ก่อนจะเอ่ยขึ้นว่า

“มาส่งพัสดุอะไรหรือเปล่า?”

ผมกำแฟ้มเอกสารที่ถือแนบตัวไว้แน่น มันเป็นดังสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่กำลังคุ้มครองผมจากความไม่แน่นอนทั้งปวง

“ไม่ครับ ผมเอาต้นฉบับหนังสือมาเสนอสำนักพิมพ์” ผมตอบพนักงานคนนั้นไปด้วยน้ำเสียงที่ประหม่า

“ต้นฉบับ?” น้ำเสียงของเธอแสดงถึงความสงสัย “จากไหนล่ะ?”

“ของผมเอง เป็นต้นฉบับงานแปลบทกวี”

“ต้นฉบับงานแปล? ได้นัดกับบรรณาธิการไว้ไหม?”

“ไม่ครับ” ผมส่ายหน้า เป็นครั้งแรกที่ผมตระหนักได้ว่ามีขั้นตอนในการนำเสนอต้นฉบับที่ผมไม่ล่วงรู้อีกมาก ผมยืนนิ่งด้วยความรู้สึกอับอาย เหมือนดังคนที่เดินเข้าไปในร้านอาหารแล้วพบว่าเขาไม่รู้จักอาหารในร้านอาหารนั้นแม้แต่รายการเดียว

“ผมกลับก่อนได้ครับ ไว้ผมมาอีกที” น้ำเสียงสิ้นหวังของผมคงทำให้พนักงานคนนั้นเห็นใจ เธอยกหูโทรศัพท์ที่เป็นสายภายใน ปลายสายสนทนากับเธอชั่วครู่ ก่อนที่เธอจะหันมาบอกผม

“รอสักสิบนาที ขึ้นบันไดไปชั้นสองประตูด้านขวา บรรณาธิการจะรอคุณอยู่”

 

ผมทำตามคำแนะนำดังกล่าวด้วยความรู้สึกตื่นเต้นจนลืมขอบคุณพนักงานผู้อารีคนนั้น บันไดขึ้นชั้นบนนั้นเป็นบันไดไม้แคบที่ถูกต่อเติมเข้ามากับอาคารปูน เข้าใจว่าเป็นการออกแบบเพื่อลดความแข็งกระด้างของตัวอาคาร ผมเดินถือต้นฉบับขึ้นไปถึงชั้นสอง หยุดยืนหน้าห้องพักของบรรณาธิการที่อยู่ทางขวามือชั่วครู่ ก่อนจะตัดสินใจเคาะไปที่บานประตูไม้บานนั้น

“เข้ามา” น้ำเสียงขึงขังดังออกมาจากหลังประตูบานนั้น

ผมบิดลูกบิดประตู เดินตรงเข้าไปในห้อง มันเป็นห้องที่มีขนาดไม่ใหญ่มากนัก มีโต๊ะทำงานแบบเก่าที่มีลิ้นชักซ่อนอยู่ในตัวจำนวนสองโต๊ะ ทุกโต๊ะกองเรียงไปด้วยแฟ้มเอกสาร และหนึ่งในโต๊ะนั้นมีชายวัยกลางคนผู้หนึ่งนั่งอยู่

ชายผู้นั้นถอนสายตาจากแฟ้มที่เขากำลังอ่านอยู่อย่างใจจดใจจ่อ เขาดึงแว่นตาที่ติดอยู่ที่ปลายจมูกออก วางลงข้างตัวแล้วเงยหน้าขึ้นมองผม เส้นผมที่ยาวเกินปกติของผู้ชายทั่วไป ตกมาปิดหน้า เขากวาดมันให้พ้นอาการรบกวนแล้วเอนหลังกับพนักเก้าอี้

“นั่งสิ”

ผมทำตามคำกล่าวนั้นที่ดูออกจะเป็นคำสั่งอยู่ในที พลางวางแฟ้มสีน้ำเงินที่นำติดตัวมาลงบนพื้นที่ว่างบนโต๊ะนั้น ในทางหนึ่งผมทำเหมือนกับอวดงานต้นฉบับของตนเองอย่างกลายๆ

“มีธุระอะไรหรือ มาสมัครงานหรือว่า…อ้อ ไม่สิ ข้างล่างเขาบอกว่าเธอเอาต้นฉบับมานำเสนอหรือ?”

“ใช่ครับ” ผมตอบ น้ำเสียงของผมแห้งผาก ส่วนหนึ่งเกิดจากความร้อนจากการเดินทาง อีกส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ผมไม่ได้มีอะไรตกถึงท้องตั้งแต่เช้า ความตื่นเต้นทำให้ผมลืมอาหารและน้ำในวันนี้ไปเสียสิ้น

“งานอะไร แบบไหน แต่เราคุยกันก่อนดีกว่า ดูเธอยังเด็กอยู่เลย เรียนอยู่ที่ไหน ชั้นปีอะไร?”

ผมบอกชื่อมหาวิทยาลัยเก่าแก่ริมน้ำ ก่อนจะตอบต่อสั้นๆ ว่า “เพิ่งจบชั้นปีหนึ่งกำลังขึ้นปีสองครับ”

“ยังเด็กอยู่มาก” ชายผู้เป็นบรรณาธิการขยับแฟ้มที่อยู่ตรงหน้าเขาไปข้างตัว “กำลังตรวจนวนิยายว่าจะพิมพ์ใหม่ อ้ายเหลือบ นวนิยายแปลรัสเซีย เคยอ่านไหม ขาดตลาดมาสองสามปีแล้ว เลยว่าจะเปลี่ยนปกพิมพ์ใหม่เสียที เล่มนี้หนานะ แต่เธอควรอ่าน ปลุกปลอบใจดีมาก”

ผมพยักหน้ารับคำแนะนำนั้น

“ไหนขอดูงานของเธอหน่อยสิ เป็นงานแปลของอะไร”

“บทกวีไฮกุครับ ของบาโชและอิสซา ทั้งคู่เป็นพระในนิกายเซน เป็นบทกวีที่รวบรวมมาจากหลายที่ของมัตซึโอะ บาโช นั้นว่าด้วยการเดินทางของท่านจากเหนือสู่ใต้ในประเทศญี่ปุ่น ของอิสซาเป็นบทกวีที่ได้จากการสังเกตธรรมชาติรอบตัว”

 

บรรณาธิการผู้นั้นหยิบแฟ้มสีฟ้าของผมขึ้นพลิกไปมา ในแต่ละหน้ากระดาษ ผมพิมพ์บทกวีที่แปล พร้อมด้วยการเขียนคำบรรยายเป็นความรู้สึกส่วนตนเพิ่มเติมต่อท้าย วิธีเขียนเช่นนี้ผมได้รับอิทธิพลมาจากหนังสือ “ขลุ่ยไม้ไผ่” ของพี่พจนา

“ข้อความด้านล่างที่เป็นบทบรรยายนี่แปลมาจากบทกวีด้วยหรือ ไฮกุน่าจะมีเพียงสามบรรทัดกระมัง” ผู้เป็นบรรณาธิการหยิบแว่นตาขึ้นสวมอีกครั้ง ในวัยขนาดเขาการมีสายตายาวก่อนเวลาอันควรบ่งบอกถึงการทำงานกับตัวอักษรอย่างหนักโดยแท้จริง

“เป็นข้อความที่ผมเขียนจากความรู้สึกของตนเองที่มีต่อบทกวีนั้นๆ ครับ เป็นข้อความสั้นๆ ที่เกิดขึ้นหลังการแปลเสร็จที่ผมอยากบันทึกไว้”

“อ้อ” บรรณาธิการทำท่าทางเข้าใจ เขาเสยผมที่ตกมาปรกหน้าอีกครั้งเผยให้เห็นรอยแผลเป็นตรงคิ้วข้างขวา

“น่าสนใจดี ไฮกุ พร้อมด้วยบทบรรยายส่วนตน แต่ว่า…” เขาละคำพูดไว้ตรงนั้น

“บทกวีเป็นงานเขียนที่ขายยากที่สุดในจำนวนหนังสือที่พิมพ์ออกวางจำหน่ายของสำนักพิมพ์เรา ถ้าไม่นับงานที่แปลโดยนักแปลมีชื่อ อย่าง ‘มนุษย์ที่แท้’ ของอาจารย์สุลักษณ์ที่แปลงานของจางจื๊อ เธอคงอ่านแล้วกระมัง”

ผมพยักหน้ารับอีกครา หนังสือเล่มนี้ผมซื้อจากแผงหนังสือหน้ามหาวิทยาลัยที่มีหนังสือด้านจิตวิญญาณจำหน่ายอยู่เสมอ

“นั่นสิ เธอคงอ่านแล้ว เอาอย่างไรดี ฉันเองคงต้องขอเวลาอ่านมันสักระยะ และนี่เธอเอาต้นฉบับภาษาอังกฤษติดตัวมาด้วยหรือไม่?”

ผมใจหายในทันทีนั้น ผมลืมเรื่องนี้ไปเสียสนิท ผมควรถ่ายสำเนาต้นฉบับติดตัวมาด้วยเพื่อที่บรรณาธิการจะได้ตรวจทานมันไปพร้อมๆ กัน นี่คือโลกใหม่ของผมที่ยังต้องเรียนรู้อีกมาก และนี่คือความผิดพลาดที่สำคัญ

“ฉันเองก็ไม่ถนัดเรื่องบทกวี คงอ่านรอบแรกและส่งให้พระประชาฯ ท่านตรวจ เธอคงรู้จักพระประชาฯ หนังสือด้านในแห่งความคิดฝันของท่านก็เป็นบทกวี ฉันและพระประชาฯ เรียนด้วยกันที่มหาวิทยาลัย ท่านเรียนจบ แต่ฉันสิ อุตริเข้าป่าไปเสียก่อน แต่ว่าเรื่องนั้นมันไม่เกี่ยวกับงาน เอาเป็นว่าฉันจะรับงานของเธอไว้อ่านก่อน ถ้าดีก็อาจจะพิมพ์ แต่ไม่แน่ใจว่าเมื่อไหร่ งานที่รอเข้าคิวมันมากเหลือเกิน”

 

คําว่าไม่แน่ใจว่าเมื่อไหร่ทำเอาผมใจเสีย ถ้าไม่มีรายได้จากตรงนี้ งานที่ผมตั้งใจทำมานานนับเดือนก็ดูจะสูญเปล่า

“ประมาณกี่เดือนครับที่ผมจะได้รับคำตอบ?” ผมอดถามสิ่งที่อยู่ในใจไม่ได้

“หกเดือนอย่างต่ำหรือนานกว่านั้น เธอรีบร้อนมีธุระอะไรหรือ?”

“ผมคิดว่าอาจจะได้รายได้จากหนังสือเล่มนี้มาช่วยเรื่องการเรียน…” น้ำเสียงผมสลดจนผู้เป็นบรรณาธิการสังเกตได้

“อ้อ เธออยากหารายได้พิเศษ อืมม์ ฉันคิดว่าจะพอมีทางอื่นไหม” ชายผู้นั้นนั่งนิ่งไปชั่วครู่ก่อนจะหยิบหูโทรศัพท์แล้วพูดกับปลายสาย หลังจากนั้นเขาวางสายแล้วพูดกับผม

“ลงไปข้างล่างนะ ที่เดิม ฉันให้พนักงานเขาเตรียมหนังสือเล่มหนึ่งให้เธอ เรากำลังหาคนแปลหนังสือเล่มนี้อยู่ ถ้าเธอสนใจทำก็ลองเอาไปแปล สักเดือนหนึ่งเอาที่ทำได้มาให้ฉันดู ถ้าผ่านฉันอาจเบิกเงินเล็กๆ น้อยๆ ให้เธอได้เลย ขอให้โชคดี” •