‘โอลิมปิก-เอเชียนเกมส์ปลอม’ ใน ‘Twenty-Five Twenty-One’ / คนมองหนัง

คนมองหนัง

คนมองหนัง

 

‘โอลิมปิก-เอเชียนเกมส์ปลอม’

ใน ‘Twenty-Five Twenty-One’

 

แฟนซีรีส์เกาหลี-คอเน็ตฟลิกซ์ในไทยจำนวนมาก คงได้ดูซีรีส์ที่คว้าทั้งกระแสนิยมและรางวัลเรื่อง “Twenty-Five Twenty-One” จบไปแล้ว ตั้งแต่ 2-3 เดือนก่อน

เช่นเดียวกับบทวิจารณ์ต่างๆ ที่คงเขียน-วิเคราะห์ถึงประเด็นใหญ่ๆ เอาไว้อย่างค่อนข้างครอบคลุม ไล่ตั้งแต่การให้ความสำคัญกับวิกฤตเศรษฐกิจปี 1997 อันเป็นบริบทหรือท้องเรื่องของซีรีส์ ไปจนถึงการบอกเล่าเรื่องราวการเติบโต การสูญเสีย ความรัก และมิตรภาพของหนุ่มสาวกลุ่มหนึ่งได้อย่างซาบซึ้งกินใจ

ในฐานะคนมาช้า ที่เพิ่งได้ดูซีรีส์เรื่องนี้เอาเมื่อเดือนกรกฎาคม เลยอยากจะขออนุญาตหลบหลีกไปเขียนถึง “Twenty-Five Twenty-One” ในแง่มุมเล็กๆ และค่อนข้างมีความเฉพาะเจาะจง

นั่นก็คือประเด็นว่าด้วยเรื่อง “กีฬา” ที่ปรากฏในซีรีส์

นอกจากความรักและมิตรภาพที่รุนแรงและเอ่อล้นแล้ว หนึ่งในอารมณ์ความรู้สึก-ประสบการณ์สากลของคนวัยหนุ่มสาวส่วนใหญ่ ก็คือ การมุ่งพิสูจน์ตัวเองหรือเรียนรู้เปลี่ยนผ่าน ด้วย “การแข่งขัน” อะไรบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการแข่งกันในห้องสอบ การแข่งดนตรี และการแข่งกีฬา เป็นต้น

“Twenty-Five Twenty-One” เลือกจะสำรวจตรวจสอบอารมณ์ความรู้สึก-ประสบการณ์ดังกล่าว ผ่านภาพแทน เช่น “กีฬาฟันดาบ”

ตามความเห็นของผม การเลือกกีฬาฟันดาบมานำเสนอในซีรีส์ ถือเป็นตัวเลือกที่ทั้งเก๋ (นี่คือกีฬาสากลส่วนน้อยที่ใช้ภาษาฝรั่งเศสในการสื่อสารกฎกติกา จนส่งผลให้มันเป็นโลกเฉพาะใบเล็กๆ ที่มีเสน่ห์ และไม่ใช่สิ่งคุ้นเคยของผู้ชมทั่วไป) และจัดการได้ง่ายในกระบวนการถ่ายทำ (หากเทียบกับกีฬาประเภททีมหรือกีฬาที่มีคนดูเยอะๆ ในสนามขนาดใหญ่ เช่น ฟุตบอล)

ยิ่งกว่านั้น ทีมผู้สร้าง “Twenty-Five Twenty-One” ยังนำเสนอบรรยากาศการแข่งขันฟันดาบออกมาได้กลมกล่อมกำลังดี คือ ไม่ทำให้มันดูเนิร์ดไป หรือไม่ทำให้เรื่องราวกลายเป็นซีรีส์กีฬาเต็มตัว

(เห็นได้จากการที่ซีรีส์ไม่ยอมระบุชัดๆ ว่าตัวละครหลักนั้นเล่นกีฬาฟันดาบประเภทใด? ฟอยล์ เอเป้ หรือเซเบอร์? แต่ผู้ชมต้องไปค้นคว้าข้อมูลต่อกันเอาเอง จึงจะทราบได้ว่าพวกเธอเป็นนักฟันดาบประเภทหลังสุด)

“การแข่งขันฟันดาบ” ในซีรีส์เกาหลีเรื่องนี้ จึงทำหน้าที่ประหนึ่งกระจกสะท้อนภาวะความเป็นศัตรูที่ค่อยๆ แปรมาเป็นมิตร และขั้นตอนการเจริญเติบโตจากเด็กสู่ผู้ใหญ่ของ “นาฮีโด” และ “โกยูริม” มากกว่า

การเล่าสายสัมพันธ์ของตัวละครผ่าน “กีฬาฟันดาบ” ส่งผลให้ “Twenty-Five Twenty-One” จำเป็นต้องสร้างมหกรรมกีฬา “เอเชียนเกมส์-โอลิมปิกปลอม” ขึ้นมา

มหกรรมกีฬาที่เทียบเท่ากับ “โอลิมปิก” ในซีรีส์เกาหลีเรื่องนี้ จะถูกเรียกว่าการแข่งขันระดับ “นานาชาติ” ในซับไตเติลภาษาไทย (อย่างไรก็ตาม ผมได้ยินผ่านๆ ว่าตัวละครบางคนจะเอ่ยคำที่ออกเสียงคล้ายๆ “โอลิมปิก” ด้วยสำเนียงเกาหลีออกมาเป็นครั้งคราว)

โดย “โอลิมปิกปลอม-การแข่งขันกีฬานานาชาติ” ที่ตัวละคร “โกยูริม” คว้าเหรียญทองมาครองได้สำเร็จด้วยวัยเพียง 17 ปี นั้นจัดขึ้นในปี 1997 ที่ประเทศสิงคโปร์ ขณะที่ “โอลิมปิกจริง” ซึ่งจัดขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน คือ แอตแลนตาเกมส์ เมื่อปี 1996 ที่สหรัฐอเมริกา (ซึ่ง “สมรักษ์ คำสิงห์” ได้รับเหรียญทองประวัติศาสตร์จากกีฬามวยสากลสมัครเล่น)

“โอลิมปิกปลอม” ครั้งถัดมาในซีรีส์ เกิดขึ้นเมื่อปี 2001 ที่มาดริด ประเทศสเปน ซึ่ง “นาฮีโด” นางเอกของเรื่องคว้าเหรียญทองจากการเอาชนะเพื่อนซี้ผู้เป็นแรงบันดาลใจอย่าง “โกยูริม” (“โอลิมปิกจริง” ในปี 2000 จัดขึ้นที่ซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย)

ถัดจากนั้น “นาฮีโด” จะได้รับเหรียญทองจาก “โอลิมปิกปลอม” อีกสองสมัย ในปี 2005 ที่ปราก สาธารณรัฐเช็ก และปี 2009 ที่ซานฟรานซิสโก สหรัฐ ซึ่งเป็นการลงแข่งขันหนสุดท้ายของเธอ ก่อนประกาศ “แขวนดาบ” (ขณะที่ “โอลิมปิกจริง” ในปี 2004 และ 2008 จัดที่เอเธนส์ ประเทศกรีซ และปักกิ่ง ประเทศจีน ตามลำดับ)

ส่วนการแข่งขันแมตช์ใหญ่ระดับอินเตอร์เป็นครั้งแรกระหว่าง “นาฮีโด” กับ “โกยูริม” นั้นบังเกิดขึ้นใน “เอเชี่ยนเกมส์ปลอม” เมื่อปี 1999 ที่ควังจู ประเทศเกาหลีใต้ (“เอเชี่ยนเกมส์จริง” ในห้วงเวลาไม่ห่างกัน คือ เอเชี่ยนเกมส์ปี 1998 ที่กรุงเทพฯ ซึ่งการแข่งขันฟุตบอลชายรอบก่อนรองชนะเลิศ ที่ไทยเอาชนะเกาหลีใต้ 2-1 ยังอยู่ในความทรงจำของแฟนกีฬาบ้านเรา)

น่าจะมีคำถามหลักๆ เกิดขึ้นตามมาสองข้อ เกี่ยวกับ “มหกรรมกีฬาโอลิมปิก-เอเชี่ยนเกมส์ปลอม” ใน “Twenty-Five Twenty-One”

ข้อแรก ทำไมจึงต้องมีมหกรรมกีฬาระดับทวีปและโลกอย่าง “เอเชี่ยนเกมส์” และ (อะไรที่คล้ายๆ) “โอลิมปิก” ในซีรีส์เรื่องนี้?

หากลองคิดกลับกัน ถ้ามีซีรีส์/ละคร/หนังไทยเล่าเรื่อง “การแข่งขัน” ของคนหนุ่มสาวผ่านกีฬาบางชนิด ผู้กำกับฯ คนเขียนบท และโปรดิวเซอร์ คงยากจะจินตนาการว่าตัวละครนำในเรื่องเล่าของพวกเขา คือ นักกีฬาไทยผู้เก่งกาจจนสามารถคว้าเหรียญทองเอเชี่ยนเกมส์และโอลิมปิกมาได้

แต่สื่อบันเทิงเกาหลีกลับกล้าที่จะจินตนาการถึงเรื่องราวทำนองนี้แบบไม่ขัดเขิน อันเป็นการบ่งชี้ว่า (หนึ่ง) ในเชิงข้อเท็จจริงขั้นพื้นฐาน มาตรฐานของวงการกีฬาเกาหลีใต้นั้นอยู่สูงกว่าวงการกีฬาไทย (ประเด็นนี้แทบทุกคนทราบกันดี)

(สอง) อุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีและสังคมเกาหลีโดยรวม มีความใฝ่ฝัน-ทะเยอทะยานที่จะพุ่งผงาดขึ้นเป็น “ผู้เล่นเบอร์ต้นๆ” (ไม่ว่าด้านอะไรก็ตาม) ในระดับโลก นี่คือเงื่อนไขสำคัญที่ผลักดันให้ “ซอฟต์เพาเวอร์” ของบ้านเขารุดหน้าไปได้ไกลเหลือเกิน

คำถามข้อต่อมา คือ แล้วทำไมมหกรรมกีฬาในซีรีส์จึงต้องกลายสภาพเป็น “เอเชี่ยนเกมส์-โอลิมปิกปลอม”?

คำตอบเบื้องต้น คือ ทีมงานผู้สร้างน่าจะต้องการตัดปัญหาเรื่องสิทธิประโยชน์/ลิขสิทธิ์ต่างๆ

อย่างไรก็ดี อีกหนึ่งรายละเอียดที่ดูจะมีความสำคัญไม่แพ้กันนั้นมีอยู่ว่า มันคงเป็นเรื่องแปลกพอสมควร ถ้าซีรีส์เรื่องหนึ่งจะสร้าง “ตัวละครนักกีฬาสมมติ” ขึ้นมา 2 ราย แล้วบอกเล่าเป็นตุเป็นตะว่าพวกเธอเคยได้เหรียญทองจาก “โอลิมปิก-เอเชี่ยนเกมส์จริง” ครั้งนั้นครั้งนี้

ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง ประวัติศาสตร์ได้จดบันทึกไว้ชัดเจนว่า นักกีฬาที่ได้เหรียญทองจากการแข่งขันกีฬาประเภทนี้ ในมหกรรมกีฬาปีนั้น คือ “บุคคลที่มีตัวตนจริง” คนอื่นๆ

เงื่อนไขเช่นนี้นี่เองที่บีบให้ “Twenty-Five Twenty-One” ต้องเลือกสร้าง “ประวัติศาสตร์ของมหกรรมกีฬาปลอม” มารองรับ “ตัวละครนักกีฬาสมมุติ”

แทนที่จะสอดแทรก “ตัวละครสมมุติ” คู่นี้ ลงไปใน “ประวัติศาสตร์จริง” ที่ยากแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลง

ขณะเดียวกัน การสร้าง “โอลิมปิก-เอเชี่ยนเกมส์ปลอม” ยังเป็นการยืนกรานกับคนดูว่า “Twenty-Five Twenty-One” นั้นมิได้มุ่งโหยหาอดีต ผ่านการรำลึกถึงข้อเท็จจริงต่างๆ อย่างดิ่งลึก

แต่ซีรีส์กำลังต้องการทบทวนมวลรวมของอารมณ์ความรู้สึกและประสบการณ์ร่วมของคนหนุ่มสาวในยุคสมัยดังกล่าวมากกว่า

ประเด็นสุดท้าย ที่เป็นจุดพลิกผันสำคัญของ “โลกแห่งกีฬาฟันดาบ” ในซีรีส์เกาหลีเรื่องนี้ ก็คือ การโอนสัญชาติของ “โกยูริม”

สำหรับโลกแห่งความเป็นจริง การแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2002 ที่ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพร่วมกัน นั้นได้จุดกระแสฟีเวอร์เชิงชาตินิยมขึ้นในหมู่ประชาชนชาวเกาหลีใต้เป็นอย่างสูง (กระทั่ง “Twenty-Five Twenty-One” ก็ยังต้องอ้างอิง-นำเสนอปรากฏการณ์ดังกล่าวนิดหน่อย)

ความรู้สึกชาตินิยมข้างต้นได้ปรากฏผ่านภาพมวลชนชาวเกาหลีที่ทะลักล้นเข้าไปในสนามฟุตบอลประหนึ่งทะเลเพลิงสีแดง (สีชุดแข่งขันของทีมฟุตบอลเกาหลีใต้) ตลอดจนความสำเร็จที่ทีมชาติเกาหลีใต้สามารถทะลุเข้าไปถึงรอบรองชนะเลิศ แม้จะถูกครหาเรื่อง “การโกง” หรือการตัดสินอันมีท่าทีเอนเอียงของกรรมการก็ตาม

ทว่า ในโลกปี 2000 ของซีรีส์ ยอดนักกีฬาหญิงดีกรีเหรียญทองโอลิมปิกชาวเกาหลีอย่าง “โกยูริม” กลับตัดสินใจโอนสัญชาติไปเป็น “รัสเซีย” เพื่อลงแข่งขันกีฬา “โอลิมปิกปลอม” ในปี 2001

โดยเธอให้เหตุผลว่า สำหรับคนที่มาจากครอบครัวชนชั้นกลางระดับล่างเช่นตนเอง (พ่อทำอาชีพขับรถขนส่ง และเพิ่งประสบอุบัติเหตุ จนคู่กรณีมีอาการโคม่า ส่วนแม่เปิดร้านอาหารว่าง และเพิ่งสูญเงินไปกับวงแชร์-การค้ำประกัน) การเล่นกีฬานั้นมีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อช่วยเหลือพ่อแม่ที่ต้องหาเช้ากินค่ำ

เมื่อประเทศรัสเซียเสนอผลตอบแทนทางการเงินที่สูงกว่า เธอจึงจำใจต้องเปลี่ยนสัญชาติ

เท่ากับว่า “โกยูริม” ไม่ได้ฟันดาบเพื่อชาติหรือเพื่อประชาชนรายอื่นๆ ในนามเพื่อนร่วมชาติ เธอมองว่าคนเหล่านั้นไม่จำเป็นจะต้องมามีความรู้สึกทุกข์ร้อนร่วมกับตัวเอง และไม่มีสิทธิ์มาก่นด่า-ประณามว่าเธอ “ขายชาติ”

ดังนั้น การตัดสินใจไปลงแข่งขันในนามทีมชาติรัสเซียของ “โกยูริม” การยื่นมือมาช่วยเหลือให้กระบวนการโอนสัญชาติดำเนินไปด้วยดีโดย “โค้ชฟันดาบทีมชาติเกาหลีใต้” และการแสดงท่าทีต่อต้านจุดยืน “คลั่งชาติ” ซึ่งมีต่อนักกีฬาที่เปลี่ยนสัญชาติ ของพระเอก-นางเอก จึงนับเป็นประเด็นที่ “ก้าวหน้ามากๆ” ในซีรีส์เรื่องนี้

กระนั้นก็ดี “Twenty-Five Twenty-One” กลับหลีกหนีอารมณ์ความรู้สึกแบบ “ชาตินิยม” อันซุกซ่อนอยู่ลึกๆ ไปไม่พ้น

เมื่อสุดท้าย ซีรีส์ต้องยืนยันว่านักกีฬาที่จะประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องในระยะยาวมากกว่า คือ นักฟันดาบที่ไม่ได้สละสัญชาติเกาหลีและเป็นนางเอกของเรื่อง เช่น “นาฮีโด” •

 

Twenty-Five Twenty-One