ธงทอง จันทรางศุ | วาระ

ธงทอง จันทรางศุ

ธรรมชาติของมนุษย์ทุกชาติทุกภาษาอย่างหนึ่งที่ผมสังเกตเห็นได้ คือนิสัยขี้เบื่อ

กล่าวโดยเฉพาะเจาะจงคือเรื่องของการเบื่อผู้บริหารที่อยู่ในตำแหน่งยาวนานเป็นพิเศษ

ทั้งนี้ อาจขยายความอีกหน่อยว่า ใครก็ตามที่อยู่ในตำแหน่งเป็นผู้บริหารระดับสูง ย่อมเป็นผู้ที่ให้คุณและให้โทษกับคนทั้งหลายมานานปี แน่นอนว่าย่อมมีทั้งความรักและความชังเกิดขึ้นเป็นธรรมดา

เพราะไม่มีเสียหรอกครับที่เป็นผู้บริหารระดับสูงแล้วจะมีแต่คนรักตลอดกาล

นี่ยังมิพักต้องพูดถึงเรื่องเบื่อเมียเบื่อผัว ที่เมื่อเบื่อถึงขนาดสุดขีดแล้วก็ต้องวางยาเบื่อให้ตายกันไปข้างหนึ่งนะครับ

คำว่าผู้บริหารระดับสูงที่ว่านี้ ขอยกตัวอย่างสักตำแหน่งหนึ่งที่ผมพบเห็นเป็นกรณีศึกษาอยู่เสมอ

เรื่องนั้นคือกรณีที่ผมทำหน้าที่เป็นกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาร่างกฎหมายเกี่ยวกับสถาบันอุดมศึกษาหลายฉบับ

เมื่อพูดถึงตำแหน่งอธิการบดี มีประเด็นต้องหารือร่วมอยู่เสมอว่าอธิการบดีควรอยู่ในตำแหน่งได้นานกี่ปี และจะอยู่ได้กี่วาระติดต่อกัน

ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักได้ข้อสรุปว่าวาระการดำรงตำแหน่งของอธิการบดีควรมีความยาวนานประมาณสามหรือสี่ปี และให้อยู่ในตำแหน่งได้สูงสุดเพียงสองวาระติดต่อกัน

เมื่อบวกลบคูณหารทั้งหมดแล้วจึงแปลว่าอธิการบดีส่วนใหญ่อยู่ในตำแหน่งได้ไม่นานเกินแปดปี

นานเกินนั้นโดยมากก็ไปไม่ไหวแล้วครับ ฝืนอยู่ต่อไปก็ถูกโห่ไล่เสียเปล่าๆ

 

สังเกตไหมครับว่า บรรดาตำแหน่งเลือกตั้งหรือแต่งตั้งทั้งหลายแหล่ ถ้าเป็นตำแหน่งที่มีวาระแล้วมักกำหนดให้มีวาระยาวประมาณสี่ปีโดยเฉลี่ย

เพราะเป็นที่เข้าใจตรงกันเป็นส่วนใหญ่ว่า เวลาสี่ปีนี้กำลังพอเหมาะพอสม กล่าวคือ ยาวนานพอที่จะทำอะไรได้เป็นชิ้นเป็นอัน ตั้งแต่เริ่มต้นคิดจนจบกระบวนการ ถ้าวาระการดำรงตำแหน่งสั้นกว่าสี่ปี แรกเข้ารับตำแหน่ง กว่าจะคิดอะไรอยู่ในลู่ทางที่ควรจะเป็นก็หมดเวลาไปพอสมควรแล้ว ยังไม่ทันจะนำความคิดนั้นไปปฏิบัติก็ครบวาระเสียก่อน วาระสี่ปีของการดำรงตำแหน่งต่างๆ จึงได้ยินกันอยู่เสมอ

ถ้าเก่งกล้าสามารถจริงๆ จะเป็นอีกวาระหนึ่งก็พอยอมพอหยวนกันได้ รวมทั้งสิ้นแปดปี ถ้าเกินไปจากนี้ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นที่เหม็นเบื่อของคนเสียแล้ว

แม้ในงานราชการประจำ ก็นำความคิดอย่างนี้ไปประยุกต์ใช้เหมือนกัน กล่าวคือ ตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงระดับอธิบดีหรือปลัดกระทรวงของกระทรวงทบวงกรมต่างๆ มีกติกากำกับว่า จะให้ใครก็ตามอยู่ในตำแหน่งใดได้ไม่เกินสี่ปี ถ้าเกินจากนี้ไปก็ต้องย้ายไปอยู่ตำแหน่งอื่นที่อยู่ในระดับหรือระนาบเดียวกัน

เว้นเสียแต่เป็นกรณีพิเศษ หรือมีฝีไม้ลายมือที่ไม่อาจหาคนทดแทนได้ทันเวลาจริงๆ คณะรัฐมนตรีอาจให้คนเดิมที่ดำรงตำแหน่งมาครบสี่ปีแล้วอยู่ในตำแหน่งได้ต่อไปอีกคราวละหนึ่งปี เป็นเวลาอย่างมากสองครั้ง

ใครจะอยู่ในตำแหน่งเดียวเกินกว่าหกปี หัวเด็ดตีนขาดไม่ได้ทั้งสิ้น

นอกจากกลัวคนเบื่อแล้ว ผมว่ายังมีข้อสำคัญอีกเหตุผลหนึ่งคือ เมื่อใครก็ตามอยู่ในตำแหน่งใดนานปีเข้า ความคิดอะไรที่เป็นของใหม่ของแปลก คิดให้ทะลุไปจากกรอบความคิดเดิมของตัวเอง มักจะไม่มีเสียแล้ว ทำอะไรก็จะย่ำรอยเท้าเดิมอยู่เสมอ ข้อนี้ก็เป็นอันตรายไปอีกแบบหนึ่ง

ผมจำได้ว่าเมื่อหลายปีก่อน สมัยเมื่อผมยังอยู่ในราชการ ผมย้ายจากกระทรวงยุติธรรมไปรับราชการในหน้าที่เลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งเทียบเท่าปลัดกระทรวง

เมื่อเวลาที่ผมไปรับหน้าที่ ผมคำนวณเวลาแล้วว่าผมเหลืออายุราชการอีกเจ็ดปี เพราะตอนนั้นผมเพิ่งอายุ 53 ปี

ผมจึงมั่นใจและกล่าวกับคนทั้งหลายรวมทั้งข้าราชการในสำนักงานแห่งนั้นว่า ตามกติกาของทางราชการเรื่องสี่ปีบวกหนึ่งปีบวกหนึ่งปี อย่างไรเสียผมก็จะไม่ได้เกษียณในตำแหน่งเลขาธิการสภาการศึกษาเป็นแน่

และในโลกแห่งความเป็นจริงผมก็อยู่ในตำแหน่งนั้นเพียงแค่สามปีก็ย้ายไปรับราชการที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และไปเกษียณอายุราชการที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

นี่กล่าวถึงฝ่ายข้าราชการประจำมาแล้ว คราวนี้ลองไปดูทางฝ่ายผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองบ้าง

ถ้าความทรงจำผมไม่ผิดพลาด รัฐบุรุษคนสำคัญของเมืองไทยคือ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ท่านได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่พุทธศักราช 2523 ถึงพุทธศักราช 2531 เป็นเวลาประมาณแปดปี ระหว่างระยะเวลาดังกล่าวท่านได้ทำหน้าที่กู้วิกฤตและประคับประคองราชการของเมืองไทยให้ผ่านเวลาที่ยากลำบากมาได้ด้วยความสามารถ

แต่ก็นั่นแหละครับ เมื่อท่านดำรงตำแหน่งมาจนถึงปลายยุคสมัย ความรู้สึกเบื่อหน่ายซึ่งเป็นปกติวิสัยของมนุษย์ก็เกิดขึ้นกับคนจำนวนไม่น้อย

ข้อนี้ท่านก็รู้ดี และเมื่อถึงเวลามีการเลือกตั้งหลังการยุบสภาผู้แทนราษฎร แม้เป็นการเลือกตั้งที่ท่านไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งด้วยตนเอง และตามกติการัฐธรรมนูญที่ใช้ในเวลานั้น พรรคการเมืองที่รวบรวมจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากหลายพรรคได้เกินกว่าครึ่งหนึ่งอาจจะมาเชิญท่านกลับไปเป็นนายกรัฐมนตรีได้อีกครั้งหนึ่ง

ท่านกลับเป็นคนออกปากเองว่า ท่านพอแล้วกับการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

อีกไม่กี่วันต่อมา พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรี

เป็นอันว่า พล.อ.เปรมได้เดินลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยความสง่างาม ในจังหวะเวลาที่พอเหมาะ และท่านก็ได้รับยกย่องเป็นรัฐบุรุษ เป็นองคมนตรี เป็นประธานคณะองคมนตรี และเกียรติยศสูงสุดคือได้เคยทำหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มีชื่อเสียงเกียรติคุณมาจนบัดนี้

ถ้าย้อนอดีตการเมืองถอยหลังกลับไปให้นานกว่านั้น นายกรัฐมนตรีที่เคยดำรงตำแหน่งนานปี ยิ่งกว่า พล.อ.เปรมมีอีกสองท่าน คนแรกคือจอมพล ป.พิบูลสงคราม รายนี้ท่านดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลายรอบ นับเวลารวมกันได้ประมาณ 11 ปี

อีกคนหนึ่งคือจอมพลถนอม กิตติขจร ผู้เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลายรอบเช่นเดียวกัน นับรวมเวลาแล้วได้ 10 ปีเศษ

สังเกตไหมครับว่า การพ้นจากตำแหน่งของจอมพลผู้เป็นนายกรัฐมนตรีทั้งสองท่านเป็นไปโดยฝืนความสมัครใจของท่าน ทั้งๆ ที่ท่านยังอยากเป็นต่อไปนะครับ

แต่จอมพล ป.ถูกจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำรัฐประหาร และต้องลี้ภัยการเมืองไปอยู่ที่ญี่ปุ่นจนถึงแก่อสัญกรรมที่นั่น

ข้างฝ่ายจอมพลถนอม ก็ต้องพบกับเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ต้องลี้ภัยการเมืองไปอยู่ที่สหรัฐอเมริกาหลายปีกว่าจะได้กลับมาอยู่บ้านที่เมืองไทย

นิทานการเมืองครั้งเก่าอย่างนี้ก็มีคติแฝงอยู่ไม่ใช่น้อย

จากประสบการณ์ทั้งในราชการประจำ ไม่ว่าจะเป็นงานกระทรวงทบวงกรมหรืองานมหาวิทยาลัยทั้งหลาย สมทบเข้ากับความจำอันยาวนานเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองไทย ผมจึงเข้าใจและเห็นด้วยกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ที่กำหนดให้นายกรัฐมนตรีจะอยู่ในตำแหน่งได้ไม่เกินแปดปี

หลักการข้อนี้ เขียนไว้ชัดในรัฐธรรมนูญ ฉบับที่อ้างกันอยู่เสมอว่าได้รับความเห็นชอบด้วยประชามติจากประชาชนนั่นแหละครับ

ส่วนการนับวาระเฉพาะกรณีของท่านนายกรัฐมนตรีปัจจุบัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเริ่มนับกันอย่างไร นับย้อนหลัง นับเดินหน้า นับด้วยเทคนิคทางกฎหมายจะครบแปดปีแล้วหรือยังไม่ครบแปดปีอย่างไร ผมขอไม่ออกความเห็นครับ

รอชื่นชมความเห็นของศาลรัฐธรรมนูญเห็นจะพอ

รู้แน่แก่ใจของตัวเองเพียงอย่างเดียวว่า ไม่มีใครที่โลกนี้ขาดไม่ได้

ทุกคนมี “วาระ” ของตัวเอง

ตั้งแต่เกิดจนตายนั่นแหละครับคือวาระของเรา ตอนอยู่ในวาระก็ทำหน้าที่ความเป็นมนุษย์ของเราให้ดีที่สุดก็แล้วกัน

วันนี้จบแบบธรรมะธัมโม สงสัยจะกินยาผิดสำแดงกระมัง ฮา!