จดหมาย

จดหมาย

ประจำวันที่ 15-21 กรกฏาคม 2565 ฉบับที่ 2187

 

จดหมาย

 

• คนจาก “เลือกตั้ง”

ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.

ผมถามเพื่อนๆ ในกลุ่มไลน์ ว่ามีความเห็นอย่างไร

ทุกคนตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า มีแต่ข้อความถล่มผู้สมัครรายหนึ่ง ว่าเป็นสมุนอดีตนายกฯ ทักษิณ ไม่ควรเลือก

ยิ่งมีนักการเมืองเก่าแก่ออกมาจับมือถือแขนกันชี้นำ

ยิ่งทำให้ข้ออ้างมีน้ำหนักมากขึ้น

ดีที่ไม่มีการปลุกระดมกันว่าจะ “เสียกรุง” เหมือนวาทะของนักเขียนใหญ่คนหนึ่งที่ลาโลกไปแล้ว

เมื่อเขาย้อนถาม จะเป็นอย่างไร

ผมก็ให้คำตอบไปว่าให้ระวัง “เสียงเงียบ”

ในที่สุด ผู้ที่ได้รับการเลือกตั้ง ก็ได้คะแนนนำผู้สมัครคนอื่น พรรคอื่น อย่างถล่มทลาย

จนผมต้องนำเหตุการณ์ในอดีตมาทบทวนว่า การที่มีคณะบุคคลรวมกลุ่มกันขัดขวางการเลือกตั้ง

การใช้สีเสื้อแบ่งแยกเป็นฝักฝ่าย

การปลุกเสกเหรียญหลวงพ่อทวดโดยอีกด้านหนึ่งมีภาพเหมือนของผู้นำการเป่านกหวีดและเดินขบวนป่าวร้องให้ขับไล่รัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งโดยชอบ

จนปัญหาไม่หุบปลาย และที่สุดมีการปฏิวัติรัฐประหารตามมา

ที่ว่ามานี้ เพราะผมเป็นห่วง ที่มีข่าวว่าอดีตผู้นำการสร้างสถานการณ์ดังกล่าว จะนำคนเดินขบวนขับไล่ผู้ว่าฯ กทม.ที่มาจากการเลือกตั้ง

ลองคิดดูว่าเกือบหนึ่งล้านสี่แสนคน เกิดไม่ใช้หัวคิด แต่ใช้อย่างอื่นแสดงความเห็นจะมีผลร้ายระยะสั้น และระยะยาวเกิดขึ้นกับประชาชน ประเทศชาติ ตัวท่าน และรัฐบาลที่ท่านเคยว่า จะได้เสียงข้างมากในการเลือกตั้งอย่างไรบ้าง

นายหัวฝ่อ

 

สิ่งที่ “นายหัวฝ่อ” เป็นกังวลว่าจะมีการต้านผู้ว่าฯ กทม.นั้น

ชัดเจนว่า ตอนนี้ แทบจะ “ฝ่อ” ไปเรียบร้อย

เพราะผู้ว่าฯ กทม.ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นสมุนใครนั้น

ได้โชว์ความเป็นคนของทุกฝ่าย

โดยเฉพาะประชาชน

และเดินหน้า ทำงาน ทำงาน ทำงาน

พิสูจน์ว่า คนที่มาจากการเลือกตั้งนั้น ดีกว่าคนจากการ “ลากตั้ง” เพียงใด

ทำให้คนจะต้าน หายจ้อย

• คนจาก “ลากตั้ง”

โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือไอลอว์

ได้ตรวจสอบการทำงานของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โดยตำแหน่ง ที่มาจากผู้นำเหล่าทัพ

ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ

จากบันทึกการออกเสียงลงคะแนนการประชุมวุฒิสภา ปีที่ 3 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 ถึงกุมภาพันธ์ 2565 ระบุผลการทำหน้าที่ดังนี้

พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

ส.ว. หมายเลข 019 มาประชุมอย่างน้อย 0 ครั้ง มาร่วมลงมติอย่างน้อย 0 ครั้ง จาก 161 ครั้ง

หรือมีสัดส่วนการเข้าร่วมการลงมติ 0%

พล.อ.อ.นภาเดช ธูปะเตมีย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ส.ว. หมายเลข 40

มาประชุมอย่างน้อย 2 ครั้ง มาร่วมลงมติอย่างน้อย 10 ครั้ง จาก 155 ครั้ง

หรือมีสัดส่วนการเข้าร่วมการลงมติ 6.5%

พล.อ.วรเกียรติ รัตนานนท์ ปลัดกระทรวงกลาโหม ส.ว. หมายเลข 055

มาประชุมอย่างน้อย 5 ครั้ง มาร่วมลงมติอย่างน้อย 10 ครั้ง จาก 161 ครั้ง

หรือมีสัดส่วนการเข้าร่วมการลงมติ 6.2%

พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ส.ว. หมายเลข 118

มาประชุมอย่างน้อย 2 ครั้ง มาร่วมลงมติอย่างน้อย 11 ครั้ง จาก 161 ครั้ง

หรือมีสัดส่วนการเข้าร่วมการลงมติ 6.8%

พล.ร.อ.สมประสงค์ นิลสมัย ผู้บัญชาการทหารเรือ ส.ว. หมายเลข 149

มาประชุมอย่างน้อย 2 ครั้ง มาร่วมลงมติอย่างน้อย 8 ครั้ง จาก 155 ครั้ง

หรือมีสัดส่วนการเข้าร่วมการลงมติ 5.1%

พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก ส.ว. หมายเลข 236

มาประชุมอย่างน้อย 2 ครั้ง มาร่วมลงมติอย่างน้อย 0 ครั้ง จาก 161 ครั้ง

หรือมีสัดส่วนการเข้าร่วมการลงมติ 0%

หมายเหตุ : พล.อ.อ.นภาเดช และ พล.ร.อ.สมประสงค์ เข้ารับตำแหน่งวันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 จึงมียอดรวมการลงมติน้อยกว่าผู้นำเหล่าทัพคนอื่น และในการประชุมหนึ่งครั้งอาจมีการลงมติมากกว่าหนึ่งครั้ง

ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 กำหนดให้การเข้าประชุมและการลงมติในที่ประชุมถือเป็นหน้าที่หลักของ ส.ว. ในมาตรา 115(5) ที่ระบุว่า ให้สมาชิกภาพของ ส.ว.สิ้นสุดลงเมื่อขาดประชุมเกิน 1 ใน 4 ของจํานวนวันประชุมในสมัยประชุมที่มีกําหนดเวลาไม่น้อยกว่า 120 วัน โดยไม่ได้รับอนุญาตจากประธานวุฒิสภา หรือหมายความว่าภายใน 120 วันนั้น ส.ว.ต้องเข้าประชุมมากถึง 75% เว้นแต่ประธานวุฒิสภาอนุญาตให้ขาดประชุม

มาตรา 82 กำหนดให้ ส.ส. หรือ ส.ว. จํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา มีสิทธิเข้าชื่อร้องต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิก ว่าสมาชิกภาพของสมาชิกคนใดคนหนึ่งแห่งสภานั้นสิ้นสุดลงตามมาตรา 111(5) และให้ประธานแห่งสภา ที่ได้รับคําร้อง ส่งคําร้องนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของสมาชิกผู้นั้นสิ้นสุดลงหรือไม่

โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์)

http://ilaw.or.th

 

ข้อมูลนี้

ไอลอว์เผยแพร่เป็นข้อมูลสาธารณะ

และส่งอีเมลมายังมติชนสุดสัปดาห์

เพื่อเป็นข้อมูลพิจารณาบทบาทของ ส.ว.

ที่มาจากการ “แต่งตั้ง”

แตกต่างอย่างไรกับผู้ที่มาจากการ “เลือกตั้ง”

จึงขอนำเสนอเพื่อพิจารณา •