2503 สงครามลับ สงครามลาว (90)/บทความพิเศษ พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

บทความพิเศษ

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

 

2503 สงครามลับ

สงครามลาว (90)

 

มกราคม-กุมภาพันธ์ พ.ศ.2516

การเจรจา

27 มกราคม พ.ศ.2516 สหรัฐ เวียดนามเหนือ เวียดนามใต้ และรัฐบาลปฏิวัติชั่วคราว (เวียดกง) ลงนามข้อตกลงหยุดยิงในเวียดนามที่กรุงปารีส

ทันทีหลังการลงนาม เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำกรุงเวียงจันทน์ ก็เดินทางมากรุงเวียงจันทน์พร้อมร่างข้อตกลงหยุดยิงในลาว

แต่เจ้าสุวรรณภูมา นายกรัฐมนตรีไม่ยอมลงนาม และถามถึงมาตรการรับประกันว่าทหารเวียดนามเหนือจะถอนกำลังออกจากลาว เพราะที่ผ่านมาเวียดนามเหนือไม่เคยปฏิบัติตามข้อตกลงลักษณะนี้อย่างจริงจัง ซึ่งเอกอัครราชทูตสหรัฐก็ไม่สามารถให้หลักประกันได้

เจ้าสุวรรณภูมาจึงเสนอให้นานาชาติเข้ามาดูแลการถอนตัวของกองกำลังทุกฝ่าย สหรัฐก็ไม่เห็นด้วยและแจ้งให้เจ้าสุวรรณภูมาทราบว่า การสนับสนุนทางอากาศในลาวจะมีต่อไปอีกไม่เกิน 2-3 อาทิตย์ ซึ่งจะส่งผลให้กองทัพฝ่ายรัฐบาลไม่มีทางอยู่รอด

เจ้าสุวรรณภูมายังไม่ยอมลงนามในข้อตกลงหยุดยิง

9 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2516 คิสซินเจอร์เดินทางมาลาวด้วยตนเองเพื่อเร่งรัดให้เจ้าสุวรรณภูมาลงนามในข้อตกลงหยุดยิงโดยเร็ว แม้จะทราบแน่ชัดว่า ฝ่ายเวียดนามเหนือเพิ่งส่งทหารเข้ามาทางตอนใต้ของลาวเพิ่มขึ้นอีก 1 กองพลก็ตาม

เจ้าสุวรรณภูมายังคงยืนยันไม่ยอมลงนาม คิสซินเจอร์บันทึกไว้ในหนังสือความทรงจำของเขาเกี่ยวกับท่าทีของเจ้าสุวรรณภูมาว่าเป็น “การตั้งความหวังอย่างลมๆ แล้งๆ”

10 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2516 คิสซินเจอร์เดินทางจากเวียงจันทน์ต่อไปฮานอยและพบว่าเวียดนามเหนือได้ละเมิดข้อตกลงมากกว่าที่คิด ยิ่งไปกว่านั้น เวียดนามเหนือยังยืนยันว่าจะไม่มีการถอนทหารออกจากทั้งลาวและกัมพูชาหลังการประกาศหยุดยิง แต่จะถอนก็ต่อเมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่เรียบร้อยแล้วเท่านั้น แต่กองกำลังชาติอื่นจะต้องถอนออกจากลาวให้หมดทันทีเพื่อให้มั่นใจว่าการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

ขณะนั้นอำนาจการต่อรองของสหรัฐแทบไม่มีเหลือแล้ว กำลังทหารสหรัฐในเวียดนามใต้มีเหลือเพียงประมาณ 27,000 นาย รวมทั้งยังต้องหยุดการโจมตีทางอากาศตามข้อตกลงที่ร่วมลงนามไว้ที่ปารีส คิสซินเจอร์มีความมุ่งหมายเพียงประการเดียวเท่านั้นคือ ให้มีการส่งคืนเชลยศึกอเมริกันโดยเร็ว สำหรับสงครามในลาวก็ต้องการให้จบลงโดยเร็วเช่นกัน

ขณะที่ฝ่ายเวียดนามเหนือแสดงความเห็นด้วยว่าลาวควรกลับเป็นกลางตามข้อตกลงเจนีวาเดิม

แต่ยังคงยืนกรานไม่ยอมถอนทหารเวียดนามเหนือออกจากลาวก่อนจัดตั้งรัฐบาลใหม่อย่างเด็ดขาด

 

ลงนามหยุดยิง

21 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2516 เจ้าสุวรรณภูมาหมดทางเลือก จำต้องร่วมลงนามในข้อตกลงหยุดยิงเพื่อฟื้นฟูสันติภาพและความปรองดองในลาว

รัฐบาลเวียงจันทน์และตัวแทนฝ่ายขบวนการประเทศลาวร่วมลงนามในข้อตกลงหยุดยิงเพื่อฟื้นฟูสันติภาพและความปรองดองในลาว

โดยที่สหรัฐและเวียดนามเหนือไม่ได้ร่วมลงนามด้วยเพราะทั้งสองประเทศปฏิเสธมาโดยตลอดว่าไม่เคยเข้าไปเกี่ยวข้องกับการสู้รบในลาว

เครื่องบิน B-52 ได้ทิ้งระเบิดครั้งสุดท้ายในลาวเพียงครึ่งชั่วโมงหลังการลงนาม ขณะที่ทหารเวียดนามเหนือได้เข้ายึดเมืองปากซองบนที่ราบสูงโบโลเวน และรุกคืบหน้าต่อไปในลาวตอนใต้รวมทั้งยังสามารถเข้ายึดครองเกือบทุกพื้นที่ในลาว

เว้นล่องแจ้งและบางพื้นที่อีกไม่มากนักที่ทหารเสือพรานไทยร่วมกับกำลังของนายพลวังเปายังคงปักหลักป้องกัน

 

นักรบนิรนามกลับบ้าน

กําหนดเส้นตายที่ทหารต่างชาติจะต้องถอนกำลังออกจากดินแดนลาวตามข้อตกลงหยุดยิงนี้คือวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ.2516 ขณะที่ก่อนหน้านั้น ฝ่ายไทยได้ทยอยถอนกำลังบางส่วนออกแล้วตั้งแต่มีการลงนามในข้อตกลงหยุดยิงเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ เดือนมิถุนายนจึงยังเหลือกำลังเพียง 15 กองพันทหารราบ และ 2 กองพันทหารปืนใหญ่

ระหว่างที่กำลังพลอาสาสมัครทหารเสือพรานทยอยกันเดินทางกลับไทยและมีแผนจะปิดโครงการเอกภาพในเดือนตุลาคม พ.ศ.2516 ได้เกิดเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคมขึ้น และมีการโยกย้าย พล.ท.วิฑูรย์ ยะสวัสดิ์ ไปเป็นผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ

ทำให้เกิดข่าวลือว่ากองกำลังจาก บก.ผสม 333 ซึ่งอยู่ในเครื่องแบบชุดพรางต่างจากทหารประจำการทั่วไป “หนวดเครารุงรัง” เตรียมเข้าร่วมควบคุมสถานการณ์ในกรุงเทพฯ

แม้ข่าวลือนี้จะไม่มีมูลความจริง แต่ซีไอเอก็ไม่ประมาทด้วยการควบคุมอย่างเข้มงวดไม่ให้มีการใช้อุปกรณ์ของซีไอเอเข้าไปเกี่ยวข้องกับความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งนี้อย่างเด็ดขาด

เมื่อเหตุการณ์ในกรุงเทพฯ กลับคืนสู่ปกติ แผนการยกเลิกโครงการเอกภาพก็ดำเนินการต่อไป

เดือนเมษายน พ.ศ.2517 มีการถอนกำลัง 10 กองพันทหารราบ และ 1 กองร้อยทหารปืนใหญ่ในเขตทหารภาคที่ 4 และปิด ฉก.ผาสุก ทางตอนใต้ของลาว ในเวลาเดียวกันนี้ 2 กองพันทหารราบเสือพรานสุดท้ายก็ถอนตัวจากเชียงลม ปิดฉาก ฉก.ราทิกุล ทางด้านเหนือ ส่วนอีก 1 กองพันซึ่งส่งไปปฏิบัติงานในเขตภาคทหารที่ 2 บริเวณทุ่งไหหินก็ถอนตัวเช่นเดียวกัน

22 พฤษภาคม พ.ศ.2517 เวลา 17.24 น. กองพันทหารราบเสือพรานจำนวน 3 กองพันสุดท้ายเคลื่อนย้ายจากสกายไลน์และเนินซีบร้าเข้าร่วมพิธีสวนสนามอำลาล่องแจ้งซึ่งจัดขึ้นอย่างเรียบง่ายที่ล่องแจ้ง แล้วเคลื่อนย้ายด้วยเครื่องบินขนส่ง C-123 กลับประเทศไทย

ปิดฉากบทบาทของทหารไทยในราชอาณาจักรลาวอย่างสิ้นเชิงตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

ตลอด 3 ปีครึ่งที่เข้ารับผิดชอบพื้นที่การรบในลาวของกองกำลังอาสาสมัครทหารเสือพรานตามโครงการเอกภาพ มีการสูญเสียกำลังทั้งทหารประจำการและอาสาสมัครพลเรือนไปรวมทั้งสิ้น 1,944 นาย ขณะที่ยังคงมีรายชื่อกำลังพลจำนวน 758 นายที่สูญหายไปในสนามรบ

 

แลกเปลี่ยนเชลยศึก

19 กันยายน พ.ศ.2517 ขบวนรถบรรทุกเวียดนามเหนือนำเชลยศึกทหารไทยจำนวน 150 นายเดินทางจากค่ายกักกันมายังสนามบินโพนสะวัน ทุ่งไหหิน

ในจำนวนนี้มี ส.อ.ชัยชาญ หาญนาวี ซึ่งตกเป็นเชลยตั้งแต่ พ.ศ.2508 รวมอยู่ด้วย

ขณะเดียวกันเครื่องบิน C-123 จำนวน 2 ลำของกองทัพอากาศลาวก็นำเชลยศึกทหารเวียดนามเหนือจำนวน 173 นายและกองทัพขบวนการประเทศลาว 7 นายจากค่ายกักกันกรุงเวียงจันทน์ มายังสนามบินโพนสะวันแห่งนี้ เพื่อส่งมอบให้ขบวนการประเทศลาวและเวียดนามเหนือ ตามข้อตกลงแลกเปลี่ยนเชลยศึก

จากนั้นเชลยศึกทหารไทยทั้งหมดก็ขึ้นเครื่องบินขนส่งของกองทัพอากาศลาวทั้ง 2 ลำนี้เดินทางต่อไปยังสนามบินน้ำพอง ขอนแก่น

เชลยศึกทหารไทยทั้งหมดเมื่อลงสู่สนามบินน้ำพองก็พากันถอดเสื้อผ้าที่รับแจกจากฝ่ายเวียดนามเหนือออกทิ้งจนหมดเหลือเพียงชุดชั้นใน ก่อนจะเปลี่ยนเป็นเครื่องแต่งกายพลเรือนที่ฝ่ายไทยเตรียมไว้ให้

อีก 2 สัปดาห์ต่อมา เชลยศึกทหารไทยที่เหลืออีก 65 นายก็เดินทางติดตามมาจากราชอาณาจักรลาว นับเป็นเรื่องแปลกที่เชลยศึกทหารไทยทั้งหมดนี้ ไม่มีนายทหารชั้นสัญญาบัตรเลยแม้แต่คนเดียว

จึงทำให้คงเหลือกำลังพลอีก 543 นายที่ยังหายสาบสูญมาจนบัดนี้ ซึ่งเชื่อว่าคงจะเสียชีวิตในการรบทั้งหมด

หลังเสร็จสิ้นการแลกเปลี่ยนเชลยศึก กองบัญชาการผสม 333 ถูกลดบทบาทให้เหลือเพียงด้านการข่าว แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น “บก.917”

ปิดตำนาน “บก.ผสม 333” และสงครามลับในลาวอย่างถาวรตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

 

SUMMARY

ปฐมเหตุในการส่งกำลังติดอาวุธของไทยเข้าไปร่วมรบกับกองกำลังแห่งราชอาณาจักรลาวสืบเนื่องมาจากการเผชิญหน้าระหว่างโลกเสรีกับโลกสังคมนิยมในยุคสงครามเย็น ซึ่งมีปัจจัยสำคัญเนื่องมาจากลักษณะที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของประเทศไทยจึงทำให้ยากที่จะหลีกเลี่ยงจากการถูกผลักดันให้เข้าไปเกี่ยวข้อง

การรัฐประหารของ ร.อ.กองแล เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.2503 นอกจากจะเป็นจุดเริ่มแห่งความรุนแรงในความขัดแย้งอันยาวนานของการแบ่งฝักฝ่ายในราชอาณาจักรลาวแล้ว ยังเป็นจุดเริ่มต้นที่มหาอำนาจทั้งสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตได้เข้ามาหนุนหลังแต่ละฝ่ายมากยิ่งขึ้น จนนำไปสู่การส่งกำลังติดอาวุธทางลับในรูปแบบต่างๆ จากประเทศไทยเข้าไปปฏิบัติการในที่สุด เช่นเดียวกับฝ่ายเวียดนามเหนือ

การส่งกำลังติดอาวุธจากประเทศไทยเข้าไปในราชอาณาจักรลาวอาจแบ่งได้เป็น 2 ยุคดังนี้

 

ยุคที่ 1

: “ตำรวจพลร่ม-พารู” ธันวาคม พ.ศ.2503

เป็นยุครอยต่อระหว่างประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์กับประธานาธิบดีเคนเนดี้แห่งสหรัฐ ขณะที่สหรัฐยังมิได้ส่งกำลังทหารประจำการเข้าสู้รบโดยตรงในเวียดนามใต้ แต่ก็ให้ความสำคัญต่อราชอาณาจักรลาวเพื่อปิดล้อมจีนทางด้านใต้

เมื่อ ร.อ.กองแลทำการรัฐประหารในราชอาณาจักรลาวในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2503 และนำประเทศเข้าสู่ใต้อิทธิพลของฝ่ายนิยมคอมมิวนิสต์ โดยคำร้องขอจากรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรลาวที่ถูกโค่นล้มซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสหรัฐ

รัฐบาลไทยซึ่งมีจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี จึงจัดส่งกำลังตำรวจพลร่ม “พารู” เข้าไปปฏิบัติการอย่างไม่เปิดเผยในราชอาณาจักรลาวเป็นครั้งแรก เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.2503

ด้วยภารกิจเริ่มแรกเป็นที่ปรึกษากองทัพแห่งราชอาณาจักรลาวขับไล่กองกำลังปฏิวัติของ ร.อ.กองแลออกจากนครเวียงจันทน์

แล้วขยายผลด้วยการทำหน้าที่เป็น “พี่เลี้ยง” จัดตั้งกองกำลังรบนอกแบบจากชาวพื้นเมืองซึ่งมีชาวม้งภายใต้การนำของนายพลวังเปาเป็นหลัก ภายใต้โครงการ “โมเมนตัม” ซึ่งรัฐบาลสหรัฐโดยซีไอเอให้การสนับสนุนทั้งงบประมาณและอาวุธยุทโธปกรณ์อย่างเต็มที่

โดยมีความมุ่งหมายทางยุทธศาสตร์เพื่อสร้างกองกำลังพื้นเมืองที่ใช้การรบแบบกองโจรเสริมกำลังรบประจำการของกองทัพบกในการต่อต้านขบวนการประเทศลาวฝ่ายซ้ายซึ่งมีเวียดนามเหนือให้ความช่วยเหลือ

ซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพึงพอใจ

 

ยุคที่ 2

: “หน่วยบินและกองร้อยทหารปืนใหญ่สนาม”

พ.ศ.2507-2512

หลังประธานาธิบดีเคนเนดี้ถูกลอบสังหาร ประธานาธิบดีลินดอน บี. จอห์นสัน เข้ารับหน้าที่ต่อ และขยายบทบาททางการทหารของสหรัฐในเวียดนามอย่างเต็มรูปแบบ ทำให้ราชอาณาจักรลาวซึ่งมีเส้นทางโฮจิมินห์พาดผ่านมีความสำคัญต่อฝ่ายเวียดนามเหนือมากยิ่งขึ้นต่อการปลดปล่อยเวียดนามใต้

ฝ่ายเวียดนามเหนือจึงยกระดับการส่งทั้งกำลังและอาวุธยุทโธปกรณ์เข้าสู่พื้นที่การรบในลาวมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ทุ่งไหหินและลาวตอนใต้ซึ่งมีเส้นทางโฮจิมินห์พาดผ่าน

การสู้รบในลาวจึงทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นตามลำดับ

กองทัพของขบวนการประเทศลาวและเวียดนามเหนือสามารถยึดครองพื้นที่ในลาวได้เป็นจำนวนมาก ทหารฝ่ายรัฐบาลตกอยู่ในความเสียเปรียบ โดยเฉพาะในเรื่องอำนาจการยิงจากอาวุธหนักซึ่งเป็นอาวุธที่เวียดนามเหนือได้รับการสนับสนุนจากโซเวียต

รัฐบาลลาวจึงร้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลไทยอีกครั้งหนึ่ง นำไปสู่การจัดตั้งหน่วยบินโจมตี “ไฟร์ฟลาย” และกองร้อยทหารปืนใหญ่สนาม “เอสอาร์” เข้าไปปฏิบัติการในทางลับ ตั้งแต่ พ.ศ.2507 ซึ่งช่วยให้ฝ่ายรัฐบาลสามารถรักษาสถานการณ์ไว้ได้ตามลำดับ

แต่ต่อมาฝ่ายเวียดนามเหนือได้ยกระดับการสนับสนุนขบวนการประเทศลาวมากยิ่งขึ้นไปอีก โดยเฉพาะอาวุธหนักปืนใหญ่สนามและรถถัง รวมทั้งส่งกองทัพประจำการของเวียดนามเหนือเข้าร่วมปฏิบัติการรบโดยตรง จนกองร้อยทหารปืนใหญ่เอสอาร์ต้องถอนตัวออกจากพื้นที่การรบกลับประเทศไทย และปิดโครงการ “ไฟร์ฟลาย” ในที่สุด

จากนั้นการสู้รบในลาวก็ได้ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นจนมีลักษณะใกล้เคียงการรบแบบประจำการ ทำให้ปฏิบัติการในลักษณะสงครามกองโจรตามโครงการ “โมเมนตัม” ถูกเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับการรบแบบกองทัพประจำการไปด้วย บทบาทของ “พารู” จึงค่อยๆ ลดลง จนยกเลิกโครงการ “โมเมนตัม” และปฏิบัติการลับของตำรวจพลร่มไทยในที่สุด

พ.ศ.2513 ขบวนการประเทศลาวฝ่ายซ้ายจึงเป็นฝ่ายได้เปรียบและสามารถขยายพื้นที่ยึดครองได้มากยิ่งขึ้นตามลำดับ