ประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องผีจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในพระราชนิพนธ์ เรื่องผีสั้นๆ… และ ผีพลอยประสม…

ในโลกนี้มีผีจริงไหม? ไม่ทราบ เพราะยังไม่เคยเจอด้วยตนเอง (แต่ก็ดีแล้วอย่าให้เจอเลยกันดีกว่า) ท่านอื่นๆ อาจจะมีประสบการณ์ทางตรงกับผีมาบ้าง และคงเคยอ่านหนังสือประเภทเรื่องผีมาบ้าง ไม่ว่าจะเป็นผลงานของ “เหม เวชกร” “หลวงเมือง” “ใบหนาด” “สรจักร” ซึ่งมาพร้อมกับความหลอนหลอก

แต่ก็มีเจ้านายมีประสบการณ์เจอผีเช่นเดียวกัน เช่น รัชกาลที่ 6 ทรงเคยเจอผี ซึ่งผีที่รัชกาลที่ 6 ทรงเจอนั้น ไม่ได้มาหลอกหลอน แต่มากราบถวายบังคมลาตายด้วยตนเอง รายละเอียดอ่านเพิ่มเติมได้ใน เรื่อง ผีมาเฝ้าและการประชวรจนสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดย พระยาบำรุงราชบริพาธ พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายสดสุข กาญจนาคม ท.ม. ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส 12 กันยายน 2515

ทีนี้เรามาอ่านประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องผีจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในพระราชนิพนธ์ 2 เรื่อง จัดพิมพ์โดย มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

เล่มแรก เรื่องผีสั้นๆ และประชุมพระราชนิพนธ์ แสดงในวันสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 26 มีนาคม พิมพ์เมื่อมิถุนายน 2564 ราคา 295 บาท ซึ่งขออัญเชิญคำนำจากพระราชนิพนธ์เล่มดังกล่าว มาดังนี้

“นอกจากเรื่องแปลจากภาษาจีนแล้ว ข้าพเจ้าไม่ได้เขียนอะไรมากนัก มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาก็ใช้วิธีพิมพ์หนังสือเรื่องเก่าๆ ข้าพเจ้าอยากจะเปลี่ยนแปลงเขียนอะไรใหม่ๆ ก็ไม่ทราบจะเขียนอะไรดี ความคิดฝืดเต็มที ในที่สุดก็ทดลองเขียนเรื่องผีไปได้ 7 เรื่อง ก็นึกไม่ออกแล้ว จึงหยุดไว้แค่นี้ก่อน

เรื่องผีเป็นเรื่องที่ใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็สุดแต่วิจารณญาณของท่านเอง จะพิมพ์เฉพาะเรื่องผีก็น้อยไปจึงเอาบทละครเพลงสั้นที่เขียนสำหรับแสดงในงานวันสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และงานวันมูลนิธิสิรินธรติดต่อกันหลายปี บทเพลงเหล่านี้ไม่เคยพิมพ์ที่ไหนนอกจากในสูจิบัตร ผู้ที่ไม่ได้ไปที่งานทั้งสองอาจจะเห็นว่าน่าสนใจบ้างเพราะใช้เพลงสำเนียงภาษาต่างๆ ไม่เหมือนกัน

ขณะนี้ยังป่วยอยู่จึงนั่งเขียนหนังสือได้ไม่สะดวก เมื่อสุขภาพดีขึ้น น่าจะเขียนเพิ่มเติมได้ ขอขอบคุณทุกท่านที่ดูแลข้าพเจ้าอย่างดี และให้กำลังใจอันเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยเป็นอย่างยิ่ง”

เรื่องผีสั้นๆ ที่อยู่ในพระราชนิพนธ์เล่มนี้ประกอบด้วย 1.ค้นหาปรัชญานฤมล 2.ผีดูดเลือด 3.ผีในภาพ 4.ผีในโรงพยาบาลและผีเด็ก 5.เจ้าบ้านเจ้าเรือนผู้พิทักษ์รักษาวังสระปทุม 6.ฝันว่าเป็นผี 7.อึ่งเจอผี

ลองอ่านแค่หนึ่งย่อหน้า ซึ่งมติชนสุดสัปดาห์ขออัญเชิญบางส่วนจากพระราชนิพนธ์เรื่อง เจ้าบ้านเจ้าเรือนผู้พิทักษ์รักษาวังสระปทุม มาให้อ่านกัน

เรื่องสมเด็จพระพันวัสสายังมีอีกเรื่อง คืออาจารย์ที่ช่วยดูแลซ่อมพระตำหนักใหญ่ ตั้งแต่ก่อนข้าพเจ้ามาอยู่ เล่าว่า คนงานที่มาซ่อมพระตำหนักไปตกปลาในบ่อ เห็นคนสวมผ้านุ่งและรองเท้าทอง บอกว่า “ปล่อยเขาไป” คนงานรีบปล่อย ต่อมาเห็นพระรูปที่ในพระตำหนัก แล้วบอกอาจารย์ว่า “คนนี้แหละที่มาห้ามจับปลา”

เล่มที่สอง ผีพลอยประสม พิมพ์เมื่อเมษายน 2565 ราคา 200 บาท โดยมูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เขียนถึงพระราชนิพนธ์เรื่องนี้ไว้ในบทถ้อยแถลง ซึ่งขอยกมาบางส่วน ดังนี้

“สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานพระราชนิพนธ์ ‘ผีพลอยประสม’ ให้แก่มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาเพื่อจัดพิมพ์เป็นหนังสือเล่มออกจำหน่าย นำเงินรายได้จัดสรรเป็นทุนช่วยการศึกษานักเรียนและนักศึกษา ที่มีความอุตสาหะในการศึกษา แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์

‘ผีพลอยประสม’ เป็นพระราชนิพนธ์สำหรับอ่านเพื่อความบันเทิงไม่เคร่งเครียด แบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ‘ผีพลอยประสม’ รวมเรื่องผีและเรื่องลึกลับ ขนาดสั้น 18 เรื่อง ทรงเรียบเรียงจากประสบการณ์ของพระองค์เองบ้างที่ทรงได้ยินมาบ้าง เรื่องราวสะท้อนความเชื่อเรื่องผีที่ยังคงแทรกอยู่ในสังคมไทยมาตลอด แม้ในยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีทันสมัย

‘ชวนชมรสชาติ’ รวมเรื่องอาหารและความรู้บางประการเกี่ยวกับอาหาร 3 เรื่อง

‘นิราศวิรัชภาค’ รวมเรื่องราวการเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่างๆ ในช่วงปี 2556-2561 ได้แก่ ศรีลังกา เยอรมนี (2 ครั้ง) อินเดีย และรัสเซีย ที่พิเศษคือ ทรงถ่ายทอดประสบการณ์ เหตุการณ์ และสถานที่ที่ได้ทอดพระเนตร ผ่านบทกลอน ที่ทรง ‘แต่งเร็ว’ ด้วยภาษาเรียบง่าย ระคนพระอารมณ์ขัน ผู้อ่านจะสามารถติดตามด้วยความสนุกเพลิดเพลิน เหมือนได้ตามเสด็จไปในที่นั้นๆ ด้วย”

เรื่องผีพลอยประสม ที่อยู่ในพระราชนิพนธ์เล่มนี้ประกอบด้วย 18 เรื่อง 1.คณิตคิดสนุก 2.บทสวดมนต์ คาถาป้าสง่า 3.ผีเข้า 4.ผีทางศาสนา 5.ผีที่วังไกลกังวล 6.ผีในห้องพัก 7.ผีไม่มีจริงในโลกนี้ 8.ผีสิงคโปร์ 9.ผีเสื้อสีแดง 10.ผีหมาก็มีนะ 11.ใส่เสื้อตะเข็บออก ผีหลอกกลางวัน 12.กลัวผีพี่ประพจน์ 13.ผีต้นไทร 14.ผีมูลนิธิชัยพัฒนา 15.อัศวินหัวขาดขี่ม้าสามขา 16.เรื่องลี้ลับในสภาพัฒน์ 17.เด็กหญิงติ๋วกับเพื่อน 18.ผีในโรงเรียน

มติชนสุดสัปดาห์ขออัญเชิญพระราชนิพนธ์เรื่อง “ผีที่วังไกลกังวล” มาเป็นออเดิร์ฟให้อ่านกันทั้งเรื่อง

ผีที่วังไกลกังวล

ว่ากันว่าวังไกลกังวลเป็นที่มีผีเยอะมากที่สุดแห่งหนึ่ง ข้าพเจ้าไม่เคยเจอมีแต่คนอื่นเล่า มีเรือนพักหลายเรือนอยู่ริมทะเลหรือลึกจากทะเลเข้ามา ญาติข้าพเจ้าคนหนึ่งตอนเล็กๆ มีหญิงชรามาเล่นด้วย อีกเรือนคุณหญิงอารยากำลังนอนเล่นกลางวันได้ยินเสียงเด็กเจี๊ยวจ๊าว มีผู้หญิงทาปากสีแดง หัวเราะคิกคัก คุยกันพักหนึ่งก็ไป ก๊วนเด็กผีก็อยู่ข้างนอกหัวเราะกันเสียงดัง

เขาว่ามีผีตั้งแต่สมัยก่อน เพราะว่าอยู่ริมทะเลมีคนตกน้ำตาย คลื่นซัดมาแถวนี้

ต้องมีศาลเจ้าแม่ทับทิมดูแลคนเดินเรือด้วย

อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องของผู้ดูแลวัง เดิมคุณพ่อของผู้ดูแลปัจจุบัน เป็นผู้ดูแลอยู่แล้วตายไป เลขาธิการสำนักพระราชวังตอนนั้นบอกว่าไม่ควรไปหาคนอื่นมาเป็น ควรให้ลูกสาวผู้ดูแลเป็น เพราะสมัยนี้ผู้หญิงเรียนหนังสือ จบปริญญา มีความสามารถ คนนี้เป็นคนซื่อสัตย์สุจริต รู้จักคนในวัง รู้จักปกครอง ปรากฏว่าเธอปฏิบัติงานได้ดี เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยทั้งรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10

ทุกคืนผู้ดูแลจะเดินไปรอบๆ วังตรวจดูความเรียบร้อย อยู่มาวันหนึ่งทหารยามทักว่า “คุณตรวจงานมีลูกน้องเดินตามตั้งสองคนเชียวหรือครับ”

“ฉันเดินคนเดียว” ผู้ดูแลประท้วง “ไหนเล่ามาซิ คนที่เดินตามลักษณะอย่างไร”

เมื่อทหารเล่าแล้ว ผู้ดูแลรู้ทันทีว่าคนหนึ่งคือพ่อ อีกคนหนึ่งเป็นลูกน้องของพ่อที่ตายไปแล้ว!

 

นี่แค่บางส่วนจากพระราชนิพนธ์ ถ้าอยากจะทราบว่าประสบการณ์เจ้านายเกี่ยวกับเรื่องผี จะเป็นอย่างไรนั้น ยังมีอีกหลายเรื่อง ติดตามได้ในพระราชนิพนธ์ทั้งสองเรื่องดังกล่าว และยังได้ร่วมการทำบุญกับมูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ซึ่งมอบทุนการศึกษาแก่นักเรียนและนักศึกษาไปแล้ว จำนวนกว่า 30,000 คน เป็นจำนวนเงินกว่า 500 ล้านบาท

สั่งซื้อได้ที่ กองงานในพระองค์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อาคารชัยพัฒนา สวนจิตรลดา กรุงเทพฯ 10303 โทรศัพท์ 0-2280-3581-9 ต่อ 671 โทรสาร 0-2280-1639 หรือหาซื้อได้ตามร้านหนังสือชั้นนำทั่วไป โดยรายได้จากการขายหนังสือจัดสรรเป็นทุนช่วยการศึกษานักเรียนและนักศึกษา ที่มีความอุตสาหะในการศึกษา แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์