จากผู้นำญี่ปุ่นถึงผู้นำการเมืองไทย/ชกคาดเชือก วงค์ ตาวัน

วงค์ ตาวัน

ชกคาดเชือก

วงค์ ตาวัน

 

จากผู้นำญี่ปุ่นถึงผู้นำการเมืองไทย

 

หน่วยงานด้านความมั่นคง รวมทั้งตำรวจ มีความเคลื่อนไหวในทันที ปรับแผนการอารักขาผู้นำการเมืองบ้านเราเข้มข้นขึ้น หลังเกิดเหตุการณ์ลอบสังหารนายชินโสะ อาเบะ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น

คดีนายอาเบะนั้น ถือเป็นเหตุการณ์ช็อกโลกและช็อกคนทั่วทั้งญี่ปุ่น เพราะเป็นสังคมที่สามารถควบคุมอาชญากรรมรุนแรงได้ดี ควบคุมอาวุธได้อย่างดีเยี่ยม

อีกทั้งการเมืองญี่ปุ่นก็เป็นประชาธิปไตยที่เปิดกว้าง มีมาตรฐาน ไม่มีกลุ่มผูกขาดอำนาจ ที่ผ่านมาจึงไม่เคยเกิดความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรง ไม่เคยมีการลอบทำร้ายผู้นำทางการเมือง

แต่ลงเอยคดีอาเบะก็คลี่คลายได้เร็ว เนื่องจากผู้ก่อเหตุลงมือลำพัง ไม่ได้วางแผนซับซ้อน ใช้อาวุธปืนที่ประดิษฐ์เอง เนื่องจากเป็นอดีตทหาร

สุดท้ายสารภาพว่า ปมแค้นมาจากการที่ครอบครัวต้องล้มละลาย เนื่องจากแม่เป็นเหยื่อของกลุ่มศาสนา บริจาคเงิน แล้วคนร้ายก็เชื่อว่านายอาเบะเกี่ยวพันกับองค์กรศาสนาดังกล่าว

เป็นอันว่าไม่เกี่ยวกับปมทางการเมือง แต่เป็นปัญหาส่วนตัวของคนร้าย ที่มาลงกับนายอาเบะ

ขณะที่หน่วยความมั่นคงของไทยและตำรวจไทย ก็ต้องมาปรับแผนอารักขาผู้นำของเราเช่นกัน

เพราะเทียบกันแล้ว การเมืองบ้านเรามีปัญหาขัดแย้งแตกแยกรุนแรงมาหลายปี แถมผู้นำก็มีลักษณะผูกขาดอำนาจ มีกลไกกติกาที่ไม่เที่ยงธรรม เป็นเครื่องมือในการเข้าสู่อำนาจและสืบทอดอำนาจ

เพียงแต่อุปนิสัยใจคอของคนไทยนั้น ยังไม่ใช่สังคมที่พร้อมแตกหัก ยังเยือกเย็นพร้อมพูดคุยเจรจากันได้

แต่ก็อย่าไปทำให้การเมืองเกิดความอัดอั้นจนถึงจุดแตกหัก ซึ่งยังดีที่เรายังไม่ไปถึงจุดนั้น เพียงแต่กลุ่มผู้มีอำนาจก็อย่าทำให้ไปถึงจุดนั้นจะดีที่สุด

อีกทั้งหากทบทวนเหตุการณ์การเมืองในบ้านเรา เหตุการณ์พยายามลอบสังหารผู้นำการเมืองเคยเกิดขึ้นแล้วจริงๆ หลายครั้งหลายหน

ไม่ว่าจะเป็นในยุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกฯ ยุค พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก เป็นผู้นำกองทัพ และในยุคทักษิณ ชินวัตร

ทบทวนอดีตเหล่านี้แล้วก็ไม่ควรประมาท!

 

ในยุค พล.อ.เปรม เป็นนายกฯ ยาวนาน เป็นช่วงที่กองทัพมีบทบาทครอบงำการเมือง ควบคุมการเมือง และมีความขัดแย้งในหมู่ผู้ถืออาวุธอย่างรุนแรงเช่นเดียวกัน

พล.อ.เปรมเข้าสู่การเมืองโดยรัฐธรรมนูญยุคนั้นไม่มีการกำหนดว่านายกฯ ต้องมาจากไหน อีกทั้งเป็นช่วงที่กลุ่มนายทหารหนุ่มยังเติร์กขัดแย้งกับ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ มีการบีบให้ลาออกจากนายกฯ โดยอาศัยสถานการณ์ที่ประชาชนไม่พอใจนายกฯ เกรียงศักดิ์กรณีน้ำมันแพง เปิดทางให้ พล.อ.เปรมเข้ามาแทน

พล.อ.เปรมเป็นผู้นำการเมืองได้ปีเศษ สถานการณ์ขัดแย้งในกองทัพรุนแรง จนเกิดกบฏยังเติร์ก โดยก่อรัฐประหาร 1-3 เมษายน 2524 ซึ่งมีทีท่าจะชนะเมื่อเริ่มลงมือ

แต่เมื่อ พล.อ.เปรมไม่ร่วมมือด้วย เดินทางไปปักหลักที่นครราชสีมา ทำให้การรัฐประหารล้มเหลว กลายเป็นกบฏ แกนนำยังเติร์กถูกจับกุม และหลบหนีไปต่างประเทศ

ในปี 2525 จึงเกิดเหตุรุนแรงทางการเมือง เป็นผลพวงมาจากความแค้นของทหารกลุ่มยังเติร์กบางคน เช่น มีการลอบวางระเบิดกลางกรุง

รวมทั้งมีเหตุการณ์ที่เชื่อว่า พยายามลอบสังหาร พล.อ.เปรมหลายครั้ง เช่น ลอบยิงแต่พลาด ที่หน่วยทหารในลพบุรี

ไม่เท่านั้น มีเหตุคาร์บอมบ์ใกล้บ้านพัก พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก ซึ่งเป็นผู้นำกองทัพที่สนับสนุน พล.อ.เปรม แต่ระเบิดทำงานผิดเวลา คาดว่าต้องการระเบิดขณะรถของ พล.อ.อาทิตย์วิ่งผ่านจุดนั้น

ทั้งระเบิดไม่รุนแรงพอ ทำให้ทิ้งหลักฐานเกี่ยวกับตัวรถเอาไว้มากมาย ตรวจสอบได้ว่ามาจากทหารกลุ่มไหน

จึงกล่าวได้ว่า ในช่วง พล.อ.เปรมเป็นผู้นำการเมืองและ พล.อ.อาทิตย์เป็นผู้นำกองทัพ เป็นช่วงที่เกิดความแตกแยกในหมู่ทหาร จนเกิดเหตุพยายามลอบฆ่าผู้นำหลายครั้ง

แต่ก็มีบางเหตุการณ์ที่คลุมเครือว่า เป็นการสร้างประเด็นเพื่อนำไปสู่การกวาดล้างกลุ่มทหารยังเติร์กหรือไม่

จนเมื่อยุคป๋าเปรมผ่านไป โดยการวางมือทางการเมือง เริ่มเปลี่ยนไปสู่ยุคนักการเมืองที่ชนะเลือกตั้งได้เป็นนายกฯ ทำให้บทบาททหารเริ่มลดลง และลดความขัดแย้งในกองทัพลงไปด้วย

กระทั่งเมื่อมีรัฐธรรมนูญ 2540 ยกระดับความเข้มแข็งของพรรคการเมือง เป็นยุคที่ทักษิณชนะเลือกตั้งท่วมท้น พร้อมกับมีนโยบายที่พลิกโฉมสังคม สร้างความนิยมในหมู่ประชาชนอย่างสูงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

เครือข่ายอนุรักษนิยมการเมือง ขุนศึกขุนนางเริ่มหวาดผวา เริ่มเดินแผนบีบทักษิณให้พ้นจากการเมือง

จนเกิดเหตุคาร์บอมบ์ พยายามลอบฆ่าทักษิณ เมื่อ 24 สิงหาคม 2549 โดยตรวจพบรถเก๋งจอดอยู่ข้างสะพานข้ามแยกบางพลัด อันเป็นเส้นทางที่ทักษิณใช้เป็นประจำเมื่อออกจากบ้านพัก

ในการตรวจพบรถที่ติดตั้งระเบิดรุนแรงพร้อมทำงานนั้น ตำรวจจับกุมผู้ต้องหาในที่เกิดเหตุได้ 1 คน เป็นนายทหารยศร้อยโทในราชการ

การตรวจจับรถพร้อมระเบิดและมีตัวผู้ต้องหาเช่นนี้ บ่งบอกได้ว่าไม่ใช่การสร้างเรื่องจัดฉากแน่นอน

เพราะการจัดฉากสร้างเรื่อง จะต้องไม่มีตัวบุคคลให้จับกุม เนื่องจากสามารถตรวจสอบได้ว่าเป็นใครเชื่อมโยงถึงใคร ซึ่งกรณีนี้ก็โยงได้ว่ามาจากทหารกลุ่มไหน ซึ่งไม่ใช่คนของทักษิณ

ขณะนั้นมีการก่อม็อบการเมือง เพื่อสร้างกระแสโจมตีทักษิณอย่างหนัก จนถือได้ว่าเป็นช่วงขาลงของทักษิณ

มีการออกมาโจมตีว่าเหตุคาร์บอมบ์คือคาร์บ๊อง สร้างเรื่อง ซึ่งขัดกับความจริงของเหตุการณ์ ที่มีการจับกุมได้หลักฐานได้ของกลางและตัวบุคคล

อีกทั้งจากนั้นยังสืบสาวนำไปสู่การจับกุมทหารอีกหลายราย มีการยอมรับอย่างไม่เป็นทางการจากคนในขบวนการว่า มีใบสั่งให้สังหารทักษิณ

ระยะนั้นเริ่มมีแรงบีบทักษิณให้ถอยจากการเมือง อีกทั้งถัดจากเหตุคาร์บอมบ์อีกเพียง 3 สัปดาห์ก็เกิดรัฐประหารโค่นทักษิณ

 

คดีคาร์บอมบ์ที่ไม่ใช่คาร์บ๊อง มีการดำเนินคดีจนส่งฟ้องขึ้นศาล ทั้งที่หลังจากนั้นเกิดรัฐประหาร เป็นยุครัฐบาลทหารที่ตรงข้ามกับทักษิณ แต่คดีก็ไม่ล้มเพราะพยานหลักฐานชัดเจน

สุดท้ายมีการตัดสินลงโทษจำเลย เพียงแต่ไม่เอาผิดในข้อหาหลัก

ความพยายามลอบฆ่าทักษิณ ชินวัตร เป็นกรณีที่ยืนยันการลอบสังหารผู้นำการเมืองไทย

แม้ว่าจะมีอีกเหตุการณ์คือระเบิดเครื่องบินการบินไทย ก่อนที่ทักษิณจะไปขึ้นเครื่อง ซึ่งคลี่คลายในภายหลังว่าน่าจะเป็นเหตุระเบิดของเครื่องยนต์โบอิ้งเอง ไม่น่าจะเป็นแผนลอบฆ่า

โดยรวมแล้ว น่าจะสรุปได้ว่า เหตุพยายามลอบฆ่า พล.อ.เปรม และ พล.อ.อาทิตย์ในช่วงปี 2525 มาจากความขัดแย้งในกองทัพ เชื่อมโยงกับการมีบทบาททางการเมืองของทหาร

ส่วนกรณีพยายามสังหารทักษิณ เป็นการลงมือของกลุ่มทหารในเครือข่ายอนุรักษนิยมการเมือง ที่หวาดผวาผู้นำจากการเลือกตั้งที่มีกระแสความนิยมสูงในหมู่ประชาชนอย่างมาก

ด้านหนึ่งสังคมไทยไม่ใช่สังคมรุนแรงแตกหัก ซึ่งช่วยให้ไม่เกิดความรุนแรงทางการเมือง

แต่อีกด้าน การลอบสังหารผู้นำก็เกิดแล้วจริง ด้วยฝีมือคนถืออาวุธ ถือเป็นบทเรียนที่ไม่ควรประมาท

ผู้นำการเมืองยุคนี้ก็ต้องยอมรับว่า มีความขัดแย้งแตกแยกรุนแรง ทางที่ดีที่สุดคือ อย่าผูกขาดอำนาจ อย่าใช้กติกาที่เอารัดเอาเปรียบเพื่อรักษาอำนาจ

การเมืองที่เป็นประชาธิปไตย เปิดกว้าง เป็นธรรม จะช่วยลดความรุนแรงทางการเมือง สร้างความปลอดภัยให้ผู้นำการเมืองได้ดีที่สุด!