สืบทอดอำนาจต่อไป ไทยจะคล้ายศรีลังกา/หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว มุกดา สุวรรณชาติ

มุกดา สุวรรณชาติ

หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว

มุกดา สุวรรณชาติ

 

สืบทอดอำนาจต่อไป

ไทยจะคล้ายศรีลังกา

 

22 มิถุนายน 2522 นายรานิล วิกรมสิงเห นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของศรีลังกา ออกมายอมรับว่า เศรษฐกิจของประเทศได้ “พังทลายลงโดยสมบูรณ์” แล้ว

รัฐบาลต้องตัดไฟนานนับสิบชั่วโมง ให้ข้าราชการมีวันหยุดเพิ่มเพื่อปลูกผักเอาไว้กินเองเพราะขาดแคลนอาหาร

เด็กนักเรียนหลายล้านคนที่ต้องเลื่อนสอบเพราะขาดแคลนกระดาษ

ระบบสาธารณสุขก็กำลังจะล่มสลาย เพราะขาดแคลนเวชภัณฑ์และยารักษาโรค

90% ของครอบครัวชาวบ้านต้องอดมื้อกินมื้อ อัตราเงินเฟ้อของประเทศพุ่งขึ้นเกิน 50 เปอร์เซ็นต์

9 กรกฎาคม กลุ่มผู้ประท้วงชาวศรีลังกาได้เคลื่อนขบวนบุกเข้าไปจุดไฟเผาบ้านพักส่วนตัวของนายรานิล วิกรมสิงเห นายกรัฐมนตรีศรีลังกา และได้บุกเข้าไปทำเนียบที่พักของประธานาธิบดีโคฐาภยะ ราชปักษา ในกรุงโคลอมโบ แต่เขาสามารถหลบหนีออกไปได้

 

เปรียบเทียบพื้นฐานประเทศ

ศรีลังกามีประชากรประมาณ 22 ล้านคน มีความคล้ายประเทศไทย คือประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ทำเลที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ดีเยี่ยม มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ มีเกษตร มีประมง

ไทยมีพลอยศรีลังกาก็มีพลอย เรามีทะเลศรีลังกาก็มีทะเล แต่ด้านอุตสาหกรรมของไทยน่าจะเจริญกว่าศรีลังกาเยอะ

ศรีลังกามีอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาคือมีการต่อสู้กับกบฏพยัคฆ์ทมิฬช่วงปี 2526-2552 ช่วงเวลานั้นประเทศไทยเศรษฐกิจโตค่อนข้างดี แต่มาสะดุดเมื่อมีการรัฐประหารในปี 2549 และก็มีความขัดแย้งทางการเมืองในไทยตั้งแต่นั้นมาจนมีการรัฐประหารซ้ำในปี 2557

ในขณะที่ศรีลังกาสงครามกลางเมืองกับกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬได้ยุติลงในปี 2552 หลังจากศรีลังกาได้รับชัยชนะในการปราบกบฏพยัคฆ์ทมิฬ ประเทศก็ได้มีการเติบโตทางเศรษฐกิจปีละ 8 เปอร์เซ็นต์

และเติบโตด้านท่องเที่ยวมากที่สุดในโลกในปี 2019 ช่วงเดียวกันไทยก็มีรายได้จากการท่องเที่ยวมากมาย

วันนี้ศรีลังกาตกอยู่ในสภาพของรัฐที่พังทลายได้อย่างไร

 

1 การสืบทอดอำนาจ และคณาธิปไตย

ปี 1994 (พ.ศ.2537) นายมหินทรา ราชปักษา ได้นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีแรงงาน ในรัฐบาลของประธานาธิบดีจันทริกา กุมาระตุงคะ สิบปีต่อมาก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อปี 2005 (พ.ศ.2548) และดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสองสมัย ระหว่างปี 2005-2015

นายมหินทราแพ้การเลือกตั้งในปี 2015 แต่ 4 ปีหลังจากนั้นพวกเขาส่งนายโคฐาภยะ ราชปักษา น้องชายเป็นตัวแทนลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี เนื่องจากกฎหมายห้ามเป็นประธานาธิบดีเกินสองสมัย และได้รับคะแนนเสียงท่วมท้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังเกิดเหตุก่อการร้ายโดยกลุ่มไอเอส ในเดือนเมษายน 2019 (พ.ศ.2562) คร่าชีวิตผู้คนไปถึง 300 กว่าราย เพราะนายโคฐาภยะเคยมีตำแหน่งระดับสูงในกระทรวงกลาโหมมาก่อน และมีบทบาทสำคัญในการช่วยพี่ชายปราบปรามกลุ่มกบฏพยัคฆ์ทมิฬ ในช่วงสงครามกลางเมือง

เมื่อได้เป็นประธานาธิบดี ก็ตั้งพี่ชาย มหินทรา ราชปักษา มาเป็นนายกรัฐมนตรี

นี่ไม่ได้มีเพียงแค่ 3 ป. ราชปักษา แต่มีทั้งพี่น้อง ลูกหลาน เมื่อมีอำนาจมาก ญาติพี่น้องและบริวารก็ขึ้นสู่อำนาจตามกัน เช่น นายชามาล พี่ชายของนายมหินทรา ได้รั้งตำแหน่งสูงในกระทรวงเกษตร การประมง และการชลประทาน

ด้านนายบาซิล ซึ่งเป็นน้องชายอีกคนนั้น นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีคลังและกำกับดูแลงานด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ ฯลฯ

ภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำถึงขีดสุด ทำให้ประชาชนที่เคยลงคะแนนเสียงเลือกนายโคฐาภยะเป็นผู้นำมาก่อน หันมาขับไล่ตระกูลออกจากตำแหน่ง เริ่มจากนายกฯ มหินทรา ที่ยอมลาออกตั้งแต่เดือนพฤษภาคม

แต่เอาไม่อยู่ วิกฤตเศรษฐกิจทำให้ประชาชนลุกฮือขับไล่รัฐบาลต่อเนื่อง จนประธานาธิบดีโคฐาภยะต้องมีการปรับคณะรัฐมนตรีใหม่ทั้งหมดให้ไร้คนนามสกุลราชปักษา ตามเสียงเรียกร้อง

อย่างไรก็ตาม “รานิล วิกรมสิงเห” นายกรัฐมนตรีคนใหม่ก็เป็นคนใกล้ชิดคนตระกูลราชปักษาอยู่ดี จึงถูกเผาบ้านไปด้วย ต้องลาออกจากนายกฯ จบด้วยการบุกทำเนียบประธานาธิบดี

 

2 การบริหารเศรษฐกิจที่ผิดพลาด

การบริหารเศรษฐกิจที่ผิดพลาดของรัฐบาลก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ศรีลังกามีสภาพอย่างในทุกวันนี้

ทุนสำรองสกุลเงินต่างประเทศของศรีลังกาลดลงเรื่อยๆ จาก 7,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในสิ้นปี 2019 ในเดือนมีนาคม 2020 ลดลงเหลือ 1,930 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และล่าสุดลดลงเหลือเพียง 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น ขอกู้ IMF ก็ยังไม่ได้

ศรีลังกายังมีหนี้สินล้นพ้นตัว จากการลงทุนในโครงการเมกะโปรเจ็กต์ ไม่ว่าจะเป็นท่าเรือ สนามบิน และการพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตร ซึ่งเมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขึ้นก็ทำให้หลายๆ โครงการไม่ก่อให้เกิดรายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “สนามบินนานาชาติมัตตาลา ราชปักษา” สนามบินขนาดใหญ่ที่เปิดให้บริการในปี 2013 แต่ใช้งานน้อยมาก

ท่าเรือก็ไม่มีเรือเข้าจนต้องให้จีนมาถือหุ้น 80% แทนหนี้เงินที่กู้จากจีน

เมื่อชนะเลือกตั้งในปี 2019 ก็ใช้ประชานิยม ประกาศลดภาษีครั้งใหญ่หลังเข้ารับตำแหน่งได้ไม่นาน ส่งผลให้ศรีลังกาสูญเสียรายได้ไปถึง 1,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทุกๆ ปี

เศรษฐกิจของศรีลังกาที่พึ่งพารายได้สกุลเงินต่างประเทศจากภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก จึงถูกซ้ำเติมด้วยวิกฤตโควิด-19 ในช่วงปี 2020 และตามด้วยสงครามของรัสเซียในยูเครนที่ทำให้เกิดวิกฤตอาหารและพลังงานไปทั่วโลก ส่งผลให้ราคาสินค้าโดยเฉพาะราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นดันให้อัตราเงินเฟ้อในประเทศเข้าขั้นวิกฤตอย่างหนัก และหมดความสามารถในการชำระหนี้ต่างประเทศ

 

3ประชาชนตาสว่าง

เพราะการพัฒนาด้านการสื่อสารทำให้เกิดการต่อต้าน และขยายตัวอย่างรวดเร็ว ผ่าน Internet มีการวิพากษ์วิจารณ์แบบออนไลน์ ในเรื่องการโกงกิน และขยายตัวเป็นความโกรธ แค้น เมื่อประชาชนขาดอาหาร น้ำมัน ยารักษาโรค จึงถึงจุดระเบิด ทำให้ประชาชนลุกฮือขับไล่รัฐบาลต่อเนื่อง จนประธานาธิบดีโคฐาภยะต้องมีการปรับคณะรัฐมนตรีใหม่ทั้งหมดให้ไร้คนนามสกุลราชปักษา ตามเสียงเรียกร้อง

อย่างไรก็ตาม “รานิล วิกรมสิงเห” นายกรัฐมนตรีคนใหม่ก็เป็นคนใกล้ชิดคนตระกูลราชปักษาอยู่ดี จึงถูกเผาบ้านไปด้วย ต้องลาออกจากนายกฯ

จบด้วยการบุกทำเนียบประธานาธิบดี

โคฐาภยะ ราชปักษา หนีหาย แต่ไม่ได้ไปกับเรือดำน้ำ

 

สถานการณ์ประเทศไทย

สภาพของไทยวันนี้คล้ายศรีลังกาก็คือ รายได้จากการท่องเที่ยวหายไปเกือบหมดหลังจากวิกฤตการณ์ covid-19 และนักลงทุนได้ย้ายฐานการลงทุนจากประเทศไทยไปยังประเทศอื่น ห่วงโซ่การผลิตและการบริการระดับ SME ก็ล้มตามไปด้วย

ประชาชนเป็นหนี้เป็นสินจำนวนมาก หนี้ครัวเรือนเกิน 10 ล้านล้าน คิดเป็นอัตราเปอร์เซ็นต์ที่สูงที่สุดที่เคยมีมา หนี้ในภาครัฐก็เช่นเดียวกัน ประชาชนต้องใช้น้ำมันแพง รัฐบาลเก็บภาษีน้ำมันในอัตราสูงมาตลอดเป็นการหารายได้เข้ารัฐ เมื่อเจอวิกฤตพลังงานเข้าประชาชนจึงรับกรรมอย่างแสนสาหัส

ที่มาของรัฐบาลชุดนี้มาจากการรัฐประหารและการสืบทอดอำนาจจึงไม่สามารถคัดเลือกคนที่มีความสามารถเข้ามาบริหารประเทศได้ เพราะการตั้งรัฐบาลและฝ่ายบริหาร มาจากคนของคณะรัฐประหารและพรรคการเมืองพวกพ้องที่ร่วมกัน จึงคิดทำเพื่อความอยู่รอดของตัวเองและผลประโยชน์ของกลุ่มพวก

ความสามารถในการบริหารระดับนี้แม้ในสภาพการณ์ธรรมดาก็ยังยากลำบาก ดังนั้น เมื่อเจอวิกฤตทั้ง covid-19 และเศรษฐกิจจึงไม่สามารถฝ่าฟันไปได้อย่างแน่นอน และเมื่อเกิดสงครามของรัสเซีย-ยูเครน ก็เกิดวิกฤตอาหารและพลังงานไปทั่วโลก ส่งผลให้ราคาสินค้าและน้ำมันพุ่งสูงขึ้น

สภาพที่เห็นจากนี้ก็คือ ชาวบ้านจะยากจนลงอย่างมาก คนจนมีแต่จะเพิ่มจะไม่มีทางหมดไป เรื่องหนี้สินครัวเรือนที่แม้จะพยายามยืดระยะเวลาออกไปแต่หนี้ไม่ได้หมดไป ดังนั้น การล้มละลายของชาวบ้านจำนวนนับล้านคนก็จะเกิดขึ้นตามมา

สภาพสังคม จะมีโจรขโมยชุกชุม มีการทำผิดกฎหมายทุกรูปแบบ เพื่อจะได้ยังชีพและแก้ปัญหาหนี้สิน อาชญากรรมจะมีอัตราเพิ่มสูงอย่างมาก

แต่สิ่งที่รัฐบาลกำลังคิดขณะนี้ก็คือ ทำอย่างไรจึงจะยืดอายุรัฐบาลไปจนครบวาระ และจะเขียนกฎหมายอย่างไรให้ตัวเองได้เปรียบในการเลือกตั้ง เพื่อจะได้เป็นรัฐบาลสืบทอดอำนาจต่อไป ซึ่งอาจจะต้องใช้ทั้งเสียงในสภา องค์กรอิสระ และศาล อย่าไปคิดว่าผิดหลักการ ขัดรัฐธรรมนูญแล้วคนพวกนี้ไม่ทำ ซึ่งถ้าพวกเขาทำได้ ประชาชนต้องลำบากแน่นอน