แผ่นวงจรระงับปวดสมาร์ตกอเอี๊ยะ แนบชิดติดเส้นประสาท/ทะลุกรอบ ป๋วย อุ่นใจ

ดร. ป๋วย อุ่นใจ

ทะลุกรอบ

ป๋วย อุ่นใจ

 

แผ่นวงจรระงับปวดสมาร์ตกอเอี๊ยะ

แนบชิดติดเส้นประสาท

 

พิมพ์ๆ อยู่ หน้าจอก็ฟรีซซซซซซ…จนอยากจะกรี๊ดออกมาดังๆ เพราะยังไม่ได้เซฟ

เคยมั้ยครับ ที่กำลังพิมพ์งานอยู่เพลินๆ แล้วอยู่ๆ หน้าจอคอมพิวเตอร์ก็ฟรีซ ข้อความที่เพิ่งพิมพ์ไปนิ่งหาย กลายเป็นความตกตะลึงพรึงเพริด นัยว่าเกิดอะไรขึ้น

เหตุการณ์ทำนองนี้ เคยทำให้ผมเกือบ panic attack อยู่พักใหญ่ เพราะนึกว่าเอกสารที่พิมพ์ไปหลายชั่วโมงอาจจะอันตรธานหายไปเพราะไม่ได้เซฟ

ในตอนที่ผมอยู่ต่างประเทศนั้น องค์กรที่ทำงานจะมีกุศโลบายในการช่วยพิทักษ์ปกป้องสุขภาพของคนทำงาน และลดโอกาสในการเกิดอาการบาดเจ็บจากการทำอะไรซ้ำๆ ที่เรียกว่า repetitive stress injury อย่างเช่น ปวดตา นิ้วล็อก และอื่นๆ โดยการเชิญชวนแกมบังคับให้ลงโปรแกรมช่วยติดตามความเครียดจากการทำงานซ้ำๆ ในคอมพิวเตอร์ที่ใช้

โปรแกรมที่ว่าจะฟรีซหน้าจอในแทบจะทุกๆ ครึ่งชั่วโมง ก่อนจะมีหน้าต่างเด้งขึ้นมาบอกว่าได้เวลาพักสายตา และพักมือแล้ว…

ในหน้าต่างจะมีเจ๊ หรือไม่ก็คุณลุงสักคนทำท่าเอ็กเซอร์ไซส์ กายบริหารนิ้ว ไม่ก็ข้อต่อต่างๆ ให้เราทำตาม ซึ่งก็ดีกับสุขภาพของคนทำงาน แต่ส่วนใหญ่พอกายบริหารเสร็จ อารมณ์เขียน อารมณ์ทำงานมันค้างเติ่งจนต่อไม่ติดไปเสียแล้ว

ด้วยนิสัยที่ไม่ค่อยจะดี บางทีก็กดข้าม ไม่ยอมทำตามเจ๊และลุง และยิ่งนั่งทำงานหน้าคอมพ์ติดกันหลายๆ ชั่วโมงต่อวัน แบบไม่ค่อยได้ไปไหน ในช่วงเวิร์กฟรอมโฮม อาการออฟฟิศซินโดรมก็อาจจะมารอเตรียมเคาะประตูอยู่หน้าบ้าน

ปวดหัว ปวดตัว ปวดหลัง เป็นอาการที่พบเจอได้บ่อย …แต่ถ้าปวดเรื้อรัง อันนี้ต้องหาหมอ

แผ่นวงจรสมาร์ตกอเอี๊ยะที่พัฒนาโดยทีมวิจัยนอร์ธเวสเทิร์น (เครดิตภาพ : Northwestern University)

โดยทั่วไป เวลาเจ็บปวด ถ้าไม่หนักหนาสาหัส คนส่วนใหญ่ก็มักจะหาวิธีปฐมพยาบาลแบบง่ายๆ หาอะไรประคบ แปะกอเอี๊ยะ หรือไม่ก็จัดหายาแก้ปวด ลดไข้มากินให้พอกล้อมแกล้มหายปวด

แต่ถ้าปวดรวดร้าวเจ็บหนักลึกลงไปจนถึงเส้นประสาท ที่เกิดจากอุบัติเหตุ การผ่าตัด โรคร้ายบางอย่าง อย่างมะเร็ง หรือกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท หรือโรคอื่นๆ นั้น บางทียาแก้ปวดหรือแผ่นกอเอี๊ยะธรรมดาอาจจะเอาไม่อยู่

ยาอีกกลุ่มที่เป็นที่นิยมใช้ในการระงับปวดในกรณีหนักหนาสาหัส ก็คือกลุ่มโอปิออยด์ เช่น พวกมอร์ฟีน และอนุพันธ์ของมัน ยาพวกโอปิออยด์นี้ระงับปวดได้ชะงัด แต่จัดไม่ได้บ่อยๆ ต้องพยายามใช้ให้น้อยที่สุด เพราะเป็นสารเสพติดที่ติดได้ง่ายมาก เพราะยิ่งใช้มาก โอกาสเสพติดก็จะยิ่งมากตาม

แถมจะเลิกก็ยาก ถ้าให้จนติดไปแล้ว แล้วหักดิบ ไม่ให้ต่อ ผู้ป่วยก็อาจจะมีอาการข้างเคียงทุรนทุราย อยากยา บางคนอาจจะถึงขนาดลงแดงได้เลยทีเดียว

ปัญหาจึงมักจะเกิดกับผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บปวดเรื้อรังที่ต้องได้รับยาระงับปวดเป็นระยะเวลานาน ผู้ป่วยกลุ่มนี้บางคนได้รับยาโอปิออยด์จนถึงขั้นติด และเมื่อขาดยาจะไขว่คว้าหาเอามาใช้เอง จนท้ายที่สุดก็เป็นกลุ่มคนที่ใช้ยา บางคนอาจจะอยากยาจนคุมไม่อยู่ บางคนอาจจะโอเวอร์โดส จนถึงขั้นเสียชีวิตเลยก็มี

ข้อมูลจากศูนย์ควบคุมโรค สหรัฐอเมริกา (US Center for Diseases Control and Prevention, CDC) เผยว่าในช่วงปี 1999-2019 จำนวนผู้เสียชีวิตจากการเสพยาเกินขนาดหรือโอเวอร์โดส (overdose) นั่นมีมากถึง 5 แสนคนแค่ในสหรัฐอเมริกาประเทศเดียว และหนึ่งในต้นเหตุสำคัญก็คือการสั่งจ่ายยาระงับปวดพวกโอปิออยด์กันอย่างพร่ำเพรื่อในช่วงยุคเก้าศูนย์

การใช้งานแผ่นวงจรสมาร์ตกอเอี๊ยะของทีมนอร์ธเวสเทิร์น (เครดิตภาพ : Northwestern University)

จอห์น โรเจอร์ส (John Rogers) วิศวกรชีวการแพทย์จากมหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์น (Northwestern University) ในประเทศสหรัฐอเมริกา มองเห็นปัญหา และอยากหาวิธีแก้ไข เขาคือหนึ่งในผู้บุกเบิกเทคโนโลยีชีวอิเล็กทรอนิกส์ (bioelectronic) ที่เชี่ยวชาญมากในด้านการสร้างแผงวงจรที่สามารถละลายหายไปได้ในตัวผู้ป่วย โดยไม่ส่งผลกระทบอะไรต่อตัวผู้ป่วยเอง

“ในฐานะวิศวกร พวกเรานั้นมีแรงบันดาลใจที่จะหาหนทางในการรักษาอาการเจ็บปวดแบบไม่ต้องใช้ยา ที่ตัวผู้ใช้งานนั้นสามารถเปิดและปิดสวิตช์ในการควบคุมได้เองในทันที และสามารถปรับเลเวลได้ตามระดับของความเจ็บปวดที่เป็นอยู่” จอห์นกล่าว

ไอเดียนี้ของจอห์นน่าสนใจ เพราะหากแผ่นวงจรระงับปวดที่เขาออกแบบขึ้นมานั้นสามารถนำมาช่วยลดการใช้ยาระงับปวดพวกโอปิออยด์ได้จริง ปัญหาผู้ป่วยเสพติดยาก็จะลดลง จำนวนผู้เสียชีวิตจากการโอเวอร์โดสก็จะลดลง และยังจะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับกลุ่มผู้ป่วยที่ต้องทนทุกข์ทรมานจากอาการปวดเรื้อรังได้อีกต่อหนึ่งด้วย

ทีมของจอห์นเชื่อในการประคบเย็น…

 

“ถ้าคุณเคยออกไปกลางแจ้ง แล้วปล่อยให้มือหนาว ปลายนิ้วมือของคุณจะชาและจะไม่รู้สึกอะไรเลย” จอห์นเผยถึงไอเดีย

เขาได้ออกแบบแผงวงจรจิ๋วทำความเย็นยืดหยุ่นที่บางราวกับกระดาษ สามารถนำไปฝังติดหรือหุ้มเส้นประสาทรับสัมผัส และเมื่อแผงวงจรทำความเย็น เซลล์ประสาทในเส้นประสาทก็จะส่งกระแสประสาทได้ช้าลง ช้าลง หรืออาจจะชะงักไปเลย ซึ่งการระงับการส่งกระแสประสาทรับความรู้สึกเจ็บปวดแบบนี้จะช่วยอย่างมากในการรักษาความเจ็บปวด

แผงวงจรของจอห์นถูกออกแบบมาเป็นระบบไมโครฟลูอิดิก (microfluidic) ซึ่งจะมีท่อเล็กๆ สองท่อ ท่อแรกบรรจุตัวทำความเย็นเหลว ที่เรียกว่าเพอร์ฟลูออโรเพนเทน (perfluoropentane) ที่ได้รับการอนุมัติใช้ได้แล้วเป็นสารเพิ่มสัญญาณสำหรับเครื่องอัลตราซาวด์ และยาพ่นจมูก ส่วนท่อที่สอง จะบรรจุไปด้วยก๊าซไนโตรเจนอยู่เต็มท่อ และถ้าปล่อยให้สารเคมีจากทั้งสองท่อมาผสมกัน ตัวทำความเย็นจะระเหยกลายเป็นก๊าซและจะช่วยทำให้อุณหภูมิเย็นลงได้อย่างรวดเร็วด้วย

แต่ถ้าอุณหภูมิลดลงเร็วไปหรือลงไปเยอะเกินไป เนื้อเยื่อก็อาจจะถูกทำลายและเกิดการอักเสบได้ จอห์นและทีมก็เลยตัดสินใจติดตั้งวงจรเพื่อติดตามและให้ผู้ใช้สามารถปรับเลเวลของความเย็นได้ตามเหมาะสมและแม่นยำ เพื่อลดผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์

“คุณไม่ต้องการที่จะทำให้เส้นประสาทส่วนอื่นหรือว่าเนื้อยื่อที่ไม่เกี่ยวข้องกับการส่งกระแสประสาทตอบสนองสิ่งเร้าความเจ็บปวดนั้นเย็นลงแบบไม่ตั้งใจ” แมทธิว แม็กอีแวน (Matthew MacEwan) แพทย์ผู้ร่วมวิจัยในทีมจอห์นจากโรงเรียนแพทย์ มหาวิทยาลัยวอชิงตันเซนต์หลุยส์ (Washington Universtiy School of Medicine in St. Louis) กล่าว “เราแค่อยากจะบล๊อกสัญญาณแห่งความเจ็บปวดเท่านั้น ไม่ใช่เส้นประสาทที่ควบคุมการเคลื่อนไหวที่ทำให้คุณขยับมือได้”

ที่เด็ดที่สุดคือทุกชิ้นส่วนของแผ่นวงจรของจอห์นนั้นสามารถสลายได้เองตามธรรมชาติ แบบเดียวกับไหมละลาย!

นั่นหมายความว่าหลังจากที่ฝังเข้าไปช่วยในการบรรเทาอาการ ระงับปวดได้ผลสมบูรณ์แล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องผ่าอีกรอบเพื่อเอาแผ่นนี้ออก แผ่นวงจรจิ๋วนี่จะค่อยๆ ละลายไปเองในร่างกายโดยไม่ส่งผลกระทบอะไรกับร่างกายของผู้ป่วย

 

จอห์นมองว่าแผ่นวงจรของเขาสามารถเอาไปใช้ได้จริงแล้วในโรงพยาบาลเพื่อลดอาการเจ็บปวดแผลหลังการผ่าตัด ศัลยแพทย์สามารถใช้แผ่นวงจรของเขาลงไปในระหว่างช่วงท้ายของการผ่าตัด แต่ในอนาคต เขาวางแผนไว้ว่าจะทำให้ผู้ป่วยสามารถเอาไปใช้ได้เองที่บ้านได้เลย แต่อาจจะต้องออกแบบเพิ่มอีกสักหน่อย

“นี่เป็นเรื่องใหม่ และเป็นนวัตกรรมที่น่าสนใจ แต่ความเจ็บปวดนั้นหมีหลายแบบ และหลายกลไก ก็คงต้องมองในหลายมุมและแก้ปัญหาไปด้วยหลายๆ วิธี ยิ่งเรามีเครื่องมือที่ดีเราก็จะมีวิธีการบำบัดรักษาที่ดียิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ” ลอว์รา บอห์น (Laura Bohn) นักชีวิเคมีจากมหาวิทยาลัยฟลอริดากล่าว “ทุกคนพยายามหลีกเลี่ยงโอปิออยด์ แต่ฉันว่ามันยังมีที่ของมันอยู่ ถ้าจะเอามาใช้ให้ได้อย่างเหมาะสมจริงๆ ส่วนตัวคิดว่านี่น่าจะเป็นแค่อีกขั้นหนึ่งของการสร้างเครื่องมือที่จะเอามาใช้ได้จริงในอนาคต”

สำหรับลอว์รา “การบูรณาการน่าจะดีที่สุด”

สำหรับผม แค่ออกแบบแผ่นสมาร์ตกอเอี๊ยะจิ๋วสูตรเย็นสลายเองได้เอามารักษาแผลผ่าตัด หรือเจ็บเรื้อรัง แค่นี้ก็อลังการจนพูดไม่ออกแล้ว ต้องบอกว่าประทับใจกับไอเดียแสนประหลาดนี้ ก็คงต้องรอดูกันต่อไปละครับว่านวัตกรรมลดความเจ็บปวดชิ้นต่อไปของทีม bioelectronic นี้จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร

แค่คิดก็มันส์แล้ว