ชินโสะ อาเบะ : จากแนวคิด 3 ลูกศร สู่ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก/บทความพิเศษ

บทความพิเศษ

อิสราชัย จงภัทรนิชพันธ์

 

ชินโสะ อาเบะ

: จากแนวคิด 3 ลูกศร

สู่ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก

การถึงแก่อสัญกรรมอย่างกะทันหันของชินโสะ อาเบะ อดีตนายกรัฐมนตรี จากการถูกบุกสังหารกลางพื้นที่หาเสียงในเมืองนารา ช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้งสมาชิกสภาสูง เป็นเรื่องสั่นสะเทือนทั้งในญี่ปุ่นที่ถูกกล่าวถึงว่าเป็นสังคมสงบสุข ไร้เหตุอาชญากรรมแบบอุกอาจต่อหน้าสาธารณชนมากว่า 6 ทศวรรษ

หรือแม้แต่ระดับโลก เพราะช่วงการดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี นอกจากถูกยกให้เป็นบุคคลที่นั่งนายกรัฐมนตรีนานที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น (2 ครั้ง ในปี 2549-2550 และอีกครั้งในปี 2555-2563)

อาเบะพาญี่ปุ่นจากประเทศชั้นนำทางเศรษฐกิจหลังสงคราม มาเป็นประเทศที่กลับมาฟื้นตัวหลังวิกฤตเศรษฐกิจและพาญี่ปุ่นมีบทบาทในการเมืองระหว่างประเทศด้วย ก่อนความนิยมจะร่วงลงทั้งจากสาธารณชนและภายในพรรคเสรีประชาธิปไตยหรือแอลดีพี ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายขวาที่ครองญี่ปุ่นมายาวนาน ในช่วงปีสุดท้ายของตำแหน่ง

นโยบายของอาเบะที่ทำออกมา ไม่ว่าจะมีคนชอบหรือไม่ ญี่ปุ่นก็ได้เปลี่ยนโฉมอีกขั้นภายใต้การนำของชายคนนี้ และโลกอาจเปลี่ยนไปจากสิ่งที่เขาได้จุดประกาย แม้ต้องจากโลกไปก่อนจะได้เห็นก็ตาม

‘อาเบะโนมิกส์’

พลิกฟื้นเศรษฐกิจจากวิกฤต

นับเป็นนโยบายที่คนจะจดจำอาเบะมากที่สุด สำหรับแนวคิด 3 ลูกศร หรือชื่อเล่นที่เรียกกันคือ “อาเบะโนมิกส์” โดยเป็นนโยบายที่ทำขึ้นในช่วงที่อาเบะนั่งเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 ในช่วงปี 2555 ญี่ปุ่นเผชิญภาวะเงินฝืดยาวนาน บวกกับอุตสาหกรรมยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่พาญี่ปุ่นเป็นชาติยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจ กำลังเจอความท้าทายใหม่ และญี่ปุ่นกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยพร้อมกับเพิ่มค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการมากขึ้น ทำให้อาเบะดำเนินนโยบายเพื่อป้องกันไม่ให้ญี่ปุ่นกลับไปสู่ภาวะนั้นอีก จนเกิดเป็นแนวคิด 3 ลูกศรเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นคือ

1) นโยบายการเงิน 2) นโยบายการคลัง และ 3) นโยบายปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศ

โดยนโยบายการเงินและการคลัง จะเน้นส่งเสริมการลงทุนให้กับเอกชน การออกมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ การให้แบงก์ชาติญี่ปุ่นรับซื้อพันธบัตรรัฐบาลคืนจากตลาด โดยเฉพาะการผ่อนคลายเชิงปริมาณ ที่ทำควบคู่ไปกับสหรัฐ ได้ก่อให้เกิดเงินมหาศาลในระบบ

แม้มีนักเศรษฐศาสตร์บางส่วนกังวลถึงภาวะฟองสบู่ในอนาคตก็ตาม รวมถึงการปฏิรูปโครงสร้างนำผู้หญิงเข้าสู่แรงงานมากขึ้น เพิ่มการคุ้มครองแรงงานชั่วคราว และผ่อนคลายกฎเกณฑ์ที่จำกัดแรงงานข้ามชาติเป็นส่วนใหญ่

โคอิจิ ฮามาดะ อดีตที่ปรึกษาเศรษฐกิจของอาเบะซึ่งถูกยกให้เป็นสถาปนิกของนโยบายอาเบะโนมิกส์ ปัจจุบันเป็นอาจารย์เศรษฐศาสตร์อยู่ที่มหาวิทยาลัยเยล กล่าวกับนิตยสารไทม์ว่า “เขาเติมความหวังให้กับเศรษฐกิจญี่ปุ่น หมู่บ้านที่ยากจนหายไป อาจารย์มหาวิทยาลัยไม่กังวลเกี่ยวกับโอกาสในการจ้างงานของนักเรียน และอื่นๆ จากอาเบะโนมิกส์”

อย่างไรก็ตาม อาเบะโนมิกส์ก็ถูกท้วงติงจากนักวิจารณ์ว่า นโยบายของอาเบะล้มเหลวในการสร้างเศรษฐกิจที่มีความแข็งแกร่งอย่างยั่งยืนและช่วยสนับสนุนความไม่เท่าเทียมกันของค่าจ้างที่กว้างขึ้น เนื่องจากจำนวนคนงานในงานที่มีความมั่นคงน้อยกว่าและได้ค่าจ้างต่ำเพิ่มขึ้น แต่ฮามาดะก็ตอบโต้ว่า แนวทางดังกล่าว “ประสบความสำเร็จอย่างมาก” ในการสร้างงานและส่งเสริมความเท่าเทียมกันระหว่างคนทำงานประจำและพนักงานชั่วคราว

ธนาคารโลกซึ่งศึกษาเรื่องนี้ ก็สะท้อนนโยบายอาเบะโนมิกส์ว่า นโยบายดังกล่าวทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นเป็นตัวกลางทางการเงินรูปแบบใหม่ เพื่อส่งเสริมการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน พาประเทศฟื้นตัวให้เติบโตจากภาวะเศรษฐกิจซบเซา

 

หลักการอาเบะ

: จากวาทะเชื่อม 2 มหาสมุทร

สู่ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก

นอกจากนโยบายเศรษฐกิจที่ถูกจดจำแล้ว อาเบะยังถูกกล่าวขานเป็นผู้ริเริ่มนโยบายต่างประเทศที่จะกลายเป็นยุทธศาสตร์ใหญ่ในหลายชาติโดยเฉพาะชาติตะวันตกใช้ในอนาคตคือ ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก

และอาเบะได้พลิกโฉมจากประเทศสันติหลังสงคราม เป็นประเทศที่ยกระดับป้องกันตัวเองให้สูงขึ้นและกว้างขึ้น จากความท้าทายเมื่อเข้าสู่สหัสวรรษใหม่นั้นคือ การก้าวสู่ความเป็นมหาอำนาจของจีน

ญี่ปุ่นดำเนินนโยบายต่างประเทศควบคู่กับเศรษฐกิจหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อถูกจำกัดบทบาททางทหารภายใต้มาตรา 9 ของรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น ที่ระบุว่า รัฐสละสิทธิอธิปไตยในสงครามและห้ามการระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศผ่านการใช้กำลัง ทำให้ญี่ปุ่นไม่สามารถมีกองกำลังเพื่อทำสงครามระหว่างประเทศได้ ยกเว้นเพื่อป้องกันตนเอง ทำให้กองทัพญี่ปุ่นถูกลดขนาดลงกลายเป็นกองกำลังป้องกันตนเอง และรัฐบาลญี่ปุ่นหลังสงครามก็เน้นไปในเรื่องเศรษฐกิจเป็นหลัก

โยชิดะ ชิเงรุ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นคนแรกหลังสงครามโลก ได้ดำเนินนโยบายแบบสันติไม่มีข้อพิพาทขัดแย้งด้วยกำลัง และผลักดันญี่ปุ่นเป็นชาติชั้นนำด้วยเศรษฐกิจ ทำให้เกิดแนวคิดที่ถูกเรียกต่อมาว่า “หลักการโยชิดะ” (Yoshida Doctrine)

แม้พรรครัฐบาลญี่ปุ่นจะเป็นพรรคฝ่ายขวาชาตินิยม และผ่านมือนายกรัฐมนตรีหลายคน แต่นโยบายต่างประเทศก็ยังคงรักษาสันติและไม่เคยพยายามจริงจังในการแก้ไขมาตรา 9 ของรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น

จนกระทั่งอาเบะรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจากโคอิซุมิ จุนอิจิโร เลือกที่จะดำเนินนโยบายที่ต่างจากหลักการโยชิดะ ด้วยดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและต่างประเทศ เพื่อให้ญี่ปุ่นก้าวเป็นชาติในเวทีการเมืองโลก

 

การแผ่ขยายอิทธิพลของจีนมายังทะเลจีนใต้และชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถือเป็นปัจจัยหลักของนโยบายต่างประเทศของอาเบะ ซึ่งหลายชาติในอาเซียนเคยเป็นตลาดใหญ่ของญี่ปุ่นในช่วงก่อนปี 2000 กำลังถูกจีนแทนที่ในหลายประเทศ และข้อพิพาททางทะเลมากมาย สะท้อนเป้าหมายของจีนที่สร้างอิทธิพล ทำให้อาเบะดำเนินนโยบายสร้างความสัมพันธ์หลายประเทศ

จนเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2550 อาเบะได้กล่าวสุนทรพจน์ต่อสมาชิกรัฐสภาอินเดีย ในชื่อ “จุดบรรจบสองทะเล” อาเบะได้แสดงวิสัยทัศน์ใหญ่ที่จะถูกเรียกกันต่อมานั้นคือ “อินโด-แปซิฟิก”

อาเบะกล่าวตอนหนึ่งว่า มหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดียกำลังนำมาซึ่งการเชื่อมต่ออย่างมีพลวัตในฐานะทะเลแห่งอิสรภาพและความเจริญรุ่งเรือง “เอเชียที่กว้างขึ้น” ที่แยกเขตแดนทางภูมิศาสตร์ออกไป ได้เริ่มมีรูปแบบที่แตกต่าง ทั้งสองประเทศของเรามีความสามารถ–และความรับผิดชอบ–ที่จะประกันว่ามันจะขยายออกไปอีก หล่อเลี้ยงและเสริมสร้างให้ทะเลเหล่านี้ให้กลายเป็นทะเลที่โปร่งใสที่สุด

อาเบะยังกล่าวอีกว่า ความรู้สึกของคนญี่ปุ่นทั่วไปที่เริ่มแสดงความสนใจในอินเดียกำลังพยายามไล่ตามความเป็นจริงของ “เอเชียที่กว้างขึ้น” นี้ ญี่ปุ่นได้ผ่าน “การค้นพบของอินเดีย” โดยที่ฉันหมายความว่าเราได้ค้นพบอินเดียในฐานะหุ้นส่วนที่มีค่าและความสนใจเหมือนกันและเป็นเพื่อนที่จะทำงานเคียงข้างเราเพื่อเสริมสร้างทะเลแห่งเสรีภาพและความเจริญรุ่งเรืองซึ่งจะ เปิดกว้างและโปร่งใสต่อทุกคน

แน่นอนว่า อาเบะไม่ได้เอ่ยถึง “ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก” ตรงๆ แต่วิสัยทัศน์นี้ ก็ได้พัฒนาเป็นนโยบายต่างประเทศและความมั่นคง ที่ยกระดับการป้องกันตนเองให้มีศักยภาพมากขึ้น เพื่อพร้อมรับมือความขัดแย้งรอบบ้านที่เกิดขึ้นต่อเนื่องอย่าง วิกฤตนิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลี ข้อพิพาททะเลจีนใต้และไต้หวัน จากการแผ่ขยายอำนาจของจีน

รวมถึงความพยายามแก้ไขบทบัญญัติมาตรา 9 ในรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น เพื่อให้ญี่ปุ่นสามารถกลับมาจัดตั้งกองทัพเพื่อรับมือภัยคุกคามในอนาคต

 

อย่างไรก็ตาม กระแสนิยมของอาเบะที่ลดลงต่อเนื่อง อาเบะจึงได้แถลงลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 2020 โดยอ้างปัญหาสุขภาพ ซึกะ โยชิฮิเดะ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อมา (และเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกในยุคเรวะ หลังจากอดีตสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะสละราชสมบัติและสมเด็จพระจักรวรรดินารุฮิโตะสืบราชสมบัติต่อมาเมื่อปี 2019) แต่ก็เป็นได้เพียงปีเศษ ญี่ปุ่นจัดการเลือกตั้งในปี 2021 จนได้ฟุมิโอะ คิชิดะ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศในรัฐบาลอาเบะ ซึ่งรับอิทธิพลของหลักการอาเบะ ก็ได้นั่งเป็นนายกรัฐมนตรี

ผลผลิตนโยบายต่างประเทศของอาเบะต่อยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกก็เด่นชัดขึ้น เมื่อญี่ปุ่นเข้าร่วมพันธมิตร 4 ฝ่าย หรือเดอะ ควอต อันประกอบไปด้วยญี่ปุ่น สหรัฐ ออสเตรเลีย และอินเดีย

นับเป็นอีกเรื่องที่อาเบะจะถูกจดจำในฐานะผู้บุกเบิกยุทธศาสตร์หนึ่งของโลกในศตวรรษที่ 21