จับตา ‘กสทช.’ จบ 2 ดีลยักษ์ใหญ่ เอไอเอสซื้อ 3BB-ทรูควบรวมดีแทค เกมวัดใจแฮปปี้เอนดิ้งแบบวิน-วิน?/บทความเศรษฐกิจ

บทความเศรษฐกิจ

 

จับตา ‘กสทช.’ จบ 2 ดีลยักษ์ใหญ่

เอไอเอสซื้อ 3BB-ทรูควบรวมดีแทค

เกมวัดใจแฮปปี้เอนดิ้งแบบวิน-วิน?

ตลาดเน็ตบ้านของไทยกลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง

เมื่อ ‘เอไอเอส’ หรือบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ใต้ปีกผู้ถือหุ้นใหญ่อย่างบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งถูกบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) เข้าเทกโอเวอร์ ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2564 ทุ่มเงิน 32,420 ล้านบาท ซื้อหุ้นบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตบ้าน ใต้แบรนด์ ‘3BB’ ในสัดส่วน 99.87%

พร้อมซื้อหน่วยลงทุนใน JASIF จากบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS สัดส่วน 19%

โดยยื่นหนังสือแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมา

ทำให้ราคาหุ้น AIS ดีดขึ้น 2.50 บาท หรือ 1.27% ปิดที่ 200.00 บาท มูลค่าซื้อขาย 2,273.01 ล้านบาท

 

ดีลนี้ตลาดรับรู้และได้ยินมาสักระยะแล้ว

ซึ่งชัดแจ๋วว่า เป็นการพลิกเกมของเอไอเอสสู้ดีลควบรวมธุรกิจแสนล้าน ระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค

ที่ล่าสุดการพิจารณายืดเยื้อออกไปอีก 30 วัน เป็นวันที่ 11 สิงหาคม 2565 จากเดิมที่ครบกำหนด 60 วัน เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคมที่ผ่านมา เพราะสำนักงาน กสทช.สรุปผลการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม และการเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (โฟกัสกรุ๊ป) เพื่อเสนอต่อที่ประชุม กสทช.ไม่ทัน

อีกทั้งแว่วว่า สำนักงาน กสทช. ทำท่าชง กสทช. ให้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านการแข่งขันทางการค้า เพิ่มเติมจากเดิมที่มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาและวิเคราะห์ การควบรวมกิจการดังกล่าว จำนวน 4 คณะ ได้แก่ 1.คณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย 2.คณะอนุกรรมการด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมือง 3.คณะอนุกรรมการด้านเทคโนโลยี 4. คณะอนุกรรมการด้านเศรษฐศาสตร์ เนื่องจากมติเห็นชอบ และไม่เห็น มีจำนวนเสียงเท่ากัน ‘กสทช.’ จึงต้องการข้อสรุปที่ชัดเจน เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

หากดีลควบรวมกิจการ ‘ทรู-ดีแทค’ ผ่านฉลุย จะทำให้บริษัทใหม่ที่ตั้งชื่อไว้คร่าวๆ คือ บริษัท Newco กลายเป็นเบอร์ 1 ในตลาดมือถือ ด้วยจำนวนลูกค้า 52.5 ล้านเลขหมาย กินส่วนแบ่งตลาดไป 54.1% ขณะที่ ‘เอไอเอส’ มีจำนวนลูกค้า 44.6 ล้านเลขหมาย ส่วนแบ่งตลาดที่ 45.9%

ส่วนตลาดเน็ตบ้าน หากดีล ‘เอไอเอส-3BB’ สำเร็จ จะทำให้ ‘เอไอเอส ไฟเบอร์’ ขึ้นเป็นเบอร์ 2 ของตลาด โดยมีลูกค้า 4.29 ล้านราย คิดเป็น 39.1% จากผู้ให้บริการอยู่ 4 ราย ในปัจจุบัน ประกอบด้วย ทรูออนไลน์ มีลูกค้า 4.73 ล้านราย ส่วนแบ่งตลาด 43.1% ขณะที่ ‘3BB’ มีลูกค้า 2.42 ล้านราย คิดเป็น 22.1%

ส่วน ‘เอ็นที’ หรือบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) มีลูกค้า 1.95 ล้านราย คิดเป็น 17.8% และเอไอเอส ไฟเบอร์ มีลูกค้า 1.87 ล้านราย คิดเป็น 17%

 

‘หมอลี่’ นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา อดีตกรรมการ กสทช. กล่าวว่า กสทช.ต้องพิจารณาทั้งสองดีลบนมาตรฐานเดียวกัน เพื่อไม่มีใครได้เปรียบหรือเสียเปรียบ อย่างไรก็ตาม แม้ดีลนี้จะต่างกันและไม่ซับซ้อน ตรงที่เป็นผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตบ้านและอยู่ภายใต้ใบอนุญาตของ กสทช.ทั้งคู่ จึงมีอำนาจในการพิจารณา เพราะเป็นการซื้อขายกิจการอย่างชัดเจน ไม่มีความซับซ้อนแบบรวมทรูและดีแทค ที่เป็นการควบรวมบริษัทแม่

“สำนักงาน กสทช. ต้องแต่งตั้งคณะทำงานและจัดทำบทวิเคราะห์ ซึ่งการหาข้อมูลจะเป็นการทำโฟกัสกรุ๊ปหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับกรอบระยะเวลาที่ กสทช.กำหนดการเข้าซื้อกิจการ รวมถึงเงื่อนไขต่างๆ ด้วย ทั้งนี้ ตลาดอินเตอร์เน็ตบ้าน ไม่ใช่บริการที่ประชาชนทั่วไปใช้งาน ต่างกับโทรศัพท์มือถือที่กลายเป็นปัจจัยที่ 5 และแม้ผู้ให้บริการจะรวมกัน ก็ยังมีผู้เล่นในตลาดอีกหลายราย แต่ถึงกระนั้น ก็ถือว่าเข้าข่ายมีอำนาจเหนือตลาด แต่ไม่ได้รุนแรงเท่ากับบริการโทรศัพท์มือถือ”

นพ.ประวิทย์กล่าว

 

ฟากนายพิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การที่ธุรกรรมเพิ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ เป็นเพราะ 1.เอไอเอสเปลี่ยนผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นกัลฟ์ และ 2.การเดินหมากของคู่แข่งอย่างทรูและดีแทค ที่ประกาศควบรวมกิจการ ทำให้ดีลนี้เกิดขึ้นตามมา

ส่วนเหตุผลที่ผู้ถือหุ้นใหญ่ JAS ตกลงขาย มองว่าคงเหมือนกับที่ดีแทคยอมขายกิจการให้กับทรู เพราะสภาพธุรกิจหรือความต้องการของผู้บริโภคเปลี่ยนไป เกิดการหลอมรวมกันหมด การที่ธุรกิจมีของขายอย่างเดียวจะอยู่ไม่ได้ ดังนั้น ผู้เล่นที่มีของขายมากที่สุดหรือมากกว่า และเป็นของที่มีคุณภาพดีกว่า จะได้ใจของผู้บริโภคไป

ขณะที่เชิงจิตวิทยา ‘เอไอเอส’ คงจะพูดได้ไม่เต็มปากแล้วว่า ไม่เห็นด้วยกับการควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทค จากดีลของตัวเองที่กำลังจะเกิดขึ้น ขณะที่ กสทช.คงคิดหนักว่า หากไม่อนุมัติดีลควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทค จะอนุมัติดีลเอไอเอส และ 3BB ซึ่งจะทำให้เอไอเอสที่แข็งแรงอยู่แล้ว แข็งแรงขึ้นไปอีก โดยเฉพาะจะทำให้ทรูและดีแทคที่อ่อนแออยู่แล้ว อ่อนแอลงไปอีก จึงอาจจะเกิดความลักลั่นกันได้

ทั้งนี้ หากประเมินมูลค่าของธุรกรรมครั้งนี้ ที่มูลค่า 32,420 ล้านบาท ถือว่าราคาซื้อไม่ถูกและก็ไม่แพง คิดเป็นราคาหุ้น JAS ที่ 3.77 บาทต่อหุ้น ขณะที่ราคาเป้าหมายหุ้น JAS ที่กสิกรไทยให้ไว้ที่ 3.39 บาทต่อหุ้น ถือว่าซื้อสูงกว่าราคาที่ประเมินไว้ 11%

“เมื่อฐานลูกค้าเอไอเอสใหญ่ขึ้น การแข่งขันจะสูสีกันมากขึ้น เชื่อว่าการแข่งจะมีเหตุและมีผลมากขึ้น และจะหนุนรายได้โตขึ้น นอกจากนี้ การขอลดค่าเช่าโครงข่ายจาก JASIF ลงปีละประมาณ 3,000 ล้านบาท จะทำให้ 3BB ที่เอไอเอสซื้อมา เปลี่ยนจากขาดทุนมาเป็นกำไรได้ทันที” นายพิสุทธิ์กล่าว

ท่ามกลางตลาดที่การแข่งขันเดือดปุด โดยการประลองกำลังระหว่าง เจ้าพ่อพลังงานกับเจ้าพ่ออาหาร ซึ่งมีสายสัมพันธ์ที่ดีต่อรัฐบาลทั้งคู่ ยิ่งต้องจับตาว่า จะจบแบบแฮปปี้เอนดิ้ง หรือเศร้าเคล้าน้ำตา

อย่างไรก็ตาม ขอให้ยึดประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง