‘ไทย’ ก้าวสู่โลกยั่งยืน? / สิ่งแวดล้อม : ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

สิ่งแวดล้อม

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]

 

‘ไทย’ ก้าวสู่โลกยั่งยืน?

 

กระทรวงอาหาร เกษตรกรรมและประมงของเดนมาร์กออกแถลงการณ์เมื่อไม่นานมานี้ว่า เดนมาร์กกำลังเตรียมยกระดับการดูแลสิ่งแวดล้อมเข้มขึ้นด้วยการติดตั้งป้ายในผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อช่วยปกป้องสภาวะภูมิอากาศ (climate label) ตามแนวทางที่เรียกว่า กินอาหารอนุรักษ์โลกของแลนเซ็ต (EAT-Lancet diet)

“แลนเซ็ต” เป็นวารสารทางการแพทย์ที่มีชื่อเสียงระดับโลก วิจัยการกินเพื่อสุขภาพและรักสิ่งแวดล้อมโลกพบว่า ถ้ามีการจัดการบริหารการผลิตอาหารอย่างดี และชาวโลกลดการกินเนื้อสัตว์ครึ่งหนึ่งของปริมาณที่เคยกิน ลดการกินน้ำตาลครึ่งหนึ่ง และเพิ่มการกินผัก ผลไม้ ถั่วต่างๆ ให้มากขึ้น จะช่วยให้สุขภาพดีขึ้น ลดอัตราการตายก่อนวัยอันควร ขณะที่ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศลดลง แหล่งน้ำ ผืนดินและความหลากหลายทางชีวภาพจะลดความเสื่อมโทรม

ทีมวิจัยของแลนเซ็ตพบอีกว่า ผู้ที่อยู่ในทวีปอเมริกาเหนือต้องกินเนื้อสัตว์ให้น้อยลง 84% เพิ่มปริมาณการกินถั่วชนิดต่างๆ ให้มากขึ้น 6 เท่าตัว ชาวยุโรปต้องกินเนื้อสัตว์ให้น้อยลงกว่าเดิม 77% เพิ่มปริมาณการกินถั่วมากขึ้น 15 เท่า ชาวเอเชียควรกินเนื้อสัตว์ให้น้อยลงครึ่งหนึ่ง

ถ้าหากทำได้อย่างนี้ แลนเซ็ตเชื่อว่าโลกจะมีอาหารการกินที่ยั่งยืน และพอเพียงต่อประชากรโลกที่คาดว่าในอีก 30 ปีข้างหน้าจะเพิ่มขึ้นราว 1 หมื่นล้านคน

 

“ราสมุส เพรน” (Rasmus Prehn) รัฐมนตรีกระทรวงอาหาร เกษตรกรรมและประมงของเดนมาร์กบอกว่า ทุกวันนี้ ผู้บริโภคชาวเดนนิชสามารถเข้าถึงข้อมูลด้านโภชนาการ เกษตรอินทรีย์ การเลี้ยงสัตว์อย่างถูกหลักโภชนาการ แต่การเข้าถึงข้อมูลด้านการปกป้องสภาวะภูมิอากาศยังเป็นเรื่องยุ่งยาก ดังนั้น รัฐบาลจึงศึกษาวิจัยเรื่องนี้ เพื่อผลักดันให้เดนมาร์กประสบความสำเร็จในเป้าหมายด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goal – SDG)

ทางด้านสภาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศแห่งเดนมาร์กประเมินว่า ถ้าชาวเดนนิชเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่มีป้ายภูมิอากาศ หรือ climate label จะช่วยลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการบริโภคลง 31-54%

สำหรับโครงการป้ายภูมิอากาศ รัฐบาลเดนมาร์กสนับสนุนให้ทุนศึกษาวิจัย 1.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราวๆ 46 ล้านบาท ทีมวิจัยของเดนมาร์กจะรวบรวมข้อมูลนำเสนอต่อรัฐบาลในปลายปีนี้

ข่าวนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นว่า แนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้นรัฐบาลเดนมาร์กไม่ได้พูดปากเปล่า แต่ทำจริงจังต่อเนื่อง

ถ้าเทียบกับประเทศไทย จะเห็นถึงความต่างอย่างชัดเจน

 

การพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้นเป็นวาระของโลกซึ่งไทยก็ร่วมเห็นชอบกับประเทศอื่นๆ อีก 192 ประเทศ เพื่อให้ชาวโลกได้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

มีการกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศตามรูปแบบต่างๆ ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 17 ข้อ ครอบคลุม 169 เป้าหมาย อาทิ ต้องขจัดความยากจน ความหิวโหยอดอยากต้องหมดไป ประชาชนต้องมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี มีการศึกษาเท่าเทียม มีการจัดการน้ำและสุขลักษณะที่ดี มีพลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ มีการผลิตและการบริโภคที่รับผิดชอบ มีแผนปฏิบัติการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ ฯลฯ

รายงานชิ้นล่าสุดดัชนีชี้วัดการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ SDG index ยกให้เดนมาร์กเป็นอันดับ 2 ของโลก รองแค่ฟินแลนด์

ชาวเดนนิชไม่มีใครยากจน ไม่มีใครอดอยากหิวโหย อัตราการกินดีอยู่ดีสูงมาก สลัมหรือชุมชนแออัดไม่มี การอนุรักษ์ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมทั้งในทะเลและป่าไม้อยู่ในระดับสูง การโค่นไม้ทำลายป่าเป็นศูนย์

ส่วนดัชนี SDG ของไทยอยู่ในอันดับ 44 ของโลก บรรลุเป้าหมายแค่ 1 เรื่องเท่านั้น คือการขจัดความยากจน

เส้นความยากจน กำหนดไว้ที่ 65 บาทต่อวัน และ 110 บาทต่อวัน ดัชนี SDG พบว่าคนไทยพ้นจากเส้นความยากจนสากลไปแล้ว

เรื่องอื่นๆ ที่ดูพอใช้ได้มั่ง ก็เป็นภาคของอุตสาหกรรม นวัตกรรมและโครงสร้างพื้นฐาน พบว่า เมื่อปี 2563 คนไทยใช้อินเตอร์เน็ตมากถึง 77.8% ในปี 2562 อัตราการเป็นสมาชิกโทรศัพท์มือถือ 86.7% นอกนั้นเป็นเรื่องของการเข้าถึงน้ำสะอาด และไฟฟ้า

แต่เป้าหมายในเรื่องของการขจัดความอดอยาก หิวโหย ประเทศไทยอยู่ในขั้นวิกฤต การบำบัดน้ำเสียยังอยู่ในอัตราที่ต่ำมาก เช่นเดียวกับการบริการด้านการขนส่งสาธารณะ อยู่ในอันดับย่ำแย่ ประชากรที่อยู่ในชุมชนแออัด ยังมีมากถึง 24.5% ของสัดส่วนประชากรทั้งประเทศ

ด้านทิศทางการพัฒนาสิ่งแวดล้อมทั้งเรื่องของทะเล และสัตว์ป่า ประเทศไทยยังอยู่ในสถานะค่อนข้างวิกฤต

ที่น่าห่วงที่สุด ก็คือเรื่องของคอร์รัปชั่น มีแนวโน้มไปสู่ทิศทางที่เลวร้ายมากขึ้น ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นของไทยอยู่ที่ 35 ถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับเดนมาร์กอยู่ที่ 88

กระแสคอร์รัปชั่นแรงจัดขึ้นเป็นผลมาจาก “คสช.” เข้ามายึดอำนาจในปี 2557 แล้วก็ใช้กลวิธีเขียนรัฐธรรมนูญ สร้างระบอบประชาธิปไตยแบบเทียมๆ เพื่อสืบทอดอำนาจต่อ

ทั้ง “คสช.” และรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อ้างว่าจะเข้ามาปราบโกง จัดการบริหารประเทศให้เติบโตอย่างมั่นคงมั่งคั่งยั่งยืน

แต่ในความเป็นจริงไม่เพียงไม่ปราบคอร์รัปชั่น ตรงกันข้าม “คสช.” และรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ได้ใช้อำนาจบาตรใหญ่ทุจริตคดโกงในแทบทุกระดับมากยิ่งกว่ารัฐบาลชุดเก่าๆ เสียด้วยซ้ำ

ตัวเลขดัชนีชี้วัดขององค์กรระดับนานาชาติ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ หรือ SDG เป็นเครื่องพิสูจน์ได้ชัด ไทยมีคราบคอร์รัปชั่นเปื้อนเปรอะมากขนาดไหน

การโกงกินอย่างมูมมามนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำให้กับสังคมไทย ซึ่งวันนี้ได้กลายเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลก

รายได้ของกลุ่มคนรวยที่มีเพียงกระจุกเดียวแค่ 10% แต่ครอบครองสินทรัพย์มากถึง 77% ของคนทั้งประเทศ

คนรวยที่สุดในประเทศนี้ ประมาณ 1% หรือราว 6 แสนกว่าคน มีทรัพย์สินเฉลี่ยคนละ 33 ล้านบาท ต่างกับคนจนที่สุด 20% ของประเทศมากถึง 2,500 เท่า

ฉะนั้น คาดเดาไม่ยากเลยว่า ถ้าการคอร์รัปชั่น ความเหลื่อมล้ำ ความอยุติธรรมและความอดอยากหิวโหยยังไม่ได้แก้ไขให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ สังคมไทยจะเร่งฝีก้าวไปสู่เส้นทางแห่งความหายนะเร็วขึ้น •