เอสซีจีซี เข้าตลาดหุ้น / วิรัตน์ แสงทองคำ

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

วิรัตน์ แสงทองคำ

https://viratts.com

 

เอสซีจีซี เข้าตลาดหุ้น

 

เครือข่ายธุรกิจเอสซีจี ซึ่งมีความสำคัญ กำลังเดินแผนการยิ่งใหญ่ เข้าตลาดหุ้น

เรื่องราวตื่นเต้นกว่าทุกครั้งก็ว่าได้ เอสซีจี เคมิคอลส์ หรือ SCGC เดินแผนการเข้าตลาดหุ้น คาดกันอย่างง่ายๆ ว่าจะระดมทุนหลักแสนล้านบาทจากการเสนอขายหุ้นครั้งแรก (IPO) อาจถือเป็นกรณีใหญ่ที่สุดเลยทีเดียว

อันที่จริงมีเรื่องซับซ้อนกว่านั้น จากแผนการข้างต้นเปิดฉากขึ้นเมื่อตอนต้นปี ก่อนสงครามใหญ่ (รัสเซียบุกยูเครน) สั่นสะเทือนโลกจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่วัน

“อนุมัติแผนการออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (Initial Public Offering – IPO) ของ SCGC และการนำหุ้นสามัญของ SCGC เข้าจดทะเบียนเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในรูปแบบบริษัทที่ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) โดยกำหนดสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 25.2 …ภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO บริษัทจะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่และเป็นผู้มีอำนาจควบคุมของ SCGC และ SCGC จะยังคงมีสถานะเป็นบริษัทย่อยของบริษัทเช่นเดิม” สาระสำคัญจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือเอสซีจี เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2565 ว่าไปแล้ว ตามสูตร พอจะอ้างอิงกรณีล่าสุด เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP) กับกระบวนการเข้าตลาดหุ้นมาก่อหน้า (2562-2563)

แต่เมื่อเทียบเคียงกันอย่างจริงจัง กรณี SCGC ย่อมถือว่าใหญ่และสำคัญกว่า

พิจารณาจากผลการดำเนินงานล่าสุด (รายงานประจำปี 2564) SCGC มีรายได้ 238,390 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 27,068 ล้านบาท ขณะ SCGP มีรายได้ 124,233 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 8,294 ล้านบาท ทั้งนี้ ทั้ง SCGC และ SCGP เป็นสองในสามธุรกิจหลักเอสซีจี โดย SCGC เป็นกลุ่มธุรกิจถือว่ามีขนาดใหญ่ที่สุด และ SCGP มีขนาดเล็กที่สุด เมื่อพิจารณาลงลึกว่าด้วยความสัมพันธ์โดยตรงกับเอสซีจี พบว่ารายได้ SCGC มีสัดส่วนราวๆ 45% ขณะ SCGP มีสัดส่วนเพียง 23.4% ของรายได้รวมเอสซีจี

SCGP มีทุนจดทะเบียน (ชำระแล้ว) 4,253,550,000 บาท ราคาพาร์ 1 บาท โดยเสนอขาย IPO จำนวน 1,127,550,000 หุ้น หรือมีสัดส่วนราว 26% ในราคาหุ้นละ 35บาท สามารถระดมเงินได้เกือบ 4 หมื่นล้านบาท “บมจ.เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP) ประกาศราคาเสนอขายสุดท้ายหุ้น IPO ที่ 35.00 บาทต่อหุ้น ซึ่งเป็นราคาสูงสุดของช่วงราคาเสนอขายเบื้องต้น หลังได้รับการตอบรับอย่างท่วมท้นจากนักลงทุนรายย่อยและนักลงทุนสถาบันที่แสดงความต้องการจองซื้อมากกว่าจำนวนหุ้นที่จัดสรรไว้ ชูศักยภาพผู้นำด้านบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน และแผนงานขยายการลงทุนในภูมิภาคอาเซียนเพื่อรับประโยชน์จากเมกะเทรนด์การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในภูมิภาค” ข่าวแถลงของ SCGP ในเวลานั้น (8 ตุลาคม 2563)

ส่วน SCGC แม้มีแผนการคล้ายๆ กันบ้าง แต่ข้อมูลนั้นน่าตื่นตาตื่นใจ “การเพิ่มทุนจดทะเบียนของ SCGC จำนวน 38,546,850,000 บาท จากเดิมจำนวน 114,453,150,000 บาท เป็นจำนวน 153,000,000,000 บาท โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 3,854,685,000 หุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท เพื่อเสนอขายต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก” สาระมติสำคัญอีกเรื่องหนึ่งของที่ประชุมคณะกรรมการเอสซีจี (26 มกราคม 2565) ผู้คนจึงคาดกันว่าแผนการระดมทุนครั้งใหม่จึงยิ่งใหญ่

อย่างไรก็ตาม มีบทเรียนอีกบางมิติของ SCGP สะท้อนมายังกรณีนี้

แม้ว่า SCGP เข้าตลาดหุ้นช่วงเวลาคาบเกี่ยวเผชิญวิกฤตการณ์ COVID-19 แต่เมื่อพิจารณาผลประกอบการ กลับเดินหน้าไปได้ด้วยดี มีรายได้สูงกว่าปีก่อนหน้า สามารถทำกำไรได้มากขึ้น เป็นไปตามจังหวะ แนวโน้มทางธุรกิจแพ็กเกจจิ้งที่เชื่อมโยง “ลูกค้าในกลุ่มธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตสูง ซึ่งรวมถึงกลุ่มธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค ธุรกิจการบริการด้านอาหาร และธุรกิจอีคอมเมิร์ซ (E-commerce)” อย่างที่ SCGP คาดไว้ ทั้งคาดว่ากลุ่มธุรกิจแพ็กเกจจิ้งจะมีรายได้เติบโตเป็น 2 เท่าภายใน 5 ปีจากนี้ (Doubling revenues in 5 years) เป็นมุมมองซึ่งตั้งใจนำเสนอในช่วงก่อนหน้าเพียงเล็กน้อย ที่ SCGP เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ (ตุลาคม 2563) เพื่อให้ความมั่นใจกับนักลงทุน

อีกมิติหนึ่งซึ่งสอดคล้องกัน ราคาหุ้น SCGP ดีกว่าที่หลายๆ คนคาดไว้ โดยเฉพาะเมื่อเทียบเคียงกับบรรดา “หุ้นขาใหญ่” ซึ่งเข้าตลาดหุ้นในช่วงก่อนหน้า เมื่อเผชิญวิกฤตการณ์เดียวกัน กลับมีดัชนีที่แตกต่าง ไม่ว่าบริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด หรือ AWC ของเครือข่ายธุรกิจทีซีซี (เข้าตลาดหุ้น ตุลาคม 2562) หรือบริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ CRC ธุรกิจหลักที่สำคัญที่สุดของกลุ่มเซ็นทรัล (เข้าตลาดหุ้น กุมภาพันธ์ 2563) ทั้งสองกิจการข้างต้น จากนั้นมาจนถึงวันนี้ ราคาหุ้นยังคงต่ำกว่าราคา IPO ขณะที่ SCGP สวนทางอย่างน่าทึ่ง ราคาหุ้นคงอยู่เหนือราคา IPO ตลอดมา

เมื่อเป็นเช่นนั้น SCGC จึงมีผู้คนโดยเฉพาะนักลงทุนคาดหวังไว้อย่างมากไม่แพ้กัน

อีกบทเรียนหนึ่งซึ่งคนวงในให้ความสำคัญ ว่าไปแล้ว อ้างอิงกรณี SCGP เช่นกัน

SCGP ดำเนินแผนการ และกระบวนการเข้าตลาดหุ้นอย่างระแวดระวังและใช้เวลาพอสมควร ส่วน SCGC เป็นเช่นนั้นด้วย เมื่ออ้างอิงรายงานล่าสุดของเอสซีจี (SCC Virtual Asean Conference 2022 : Jun 30, 2022) ระบุว่า มีศึกษาว่าด้วยการปรับโครงสร้างธุรกิจ รวมถึงความเป็นไปได้ในการเข้าตลาดหุ้น มาตั้งแต่ต้นปี 2564 (เมษายน) มีขึ้นก่อนตัดสินใจของเอสซีจี อย่างจริงจังเกือบๆ 1 ปี

อีกด้านหนึ่งซึ่งสำคัญไม่น้อย คือโครงสร้างคณะกรรมการบริษัท พบว่ามีความตั้งใจคัดสรรเป็นพิเศษ มีความเกี่ยวข้องกับบุคคลหนึ่งซึ่งเคยกล่าวไว้ในกรณี SCCP มาแล้ว “มีบุคคลหนึ่งควรกล่าวถึงเป็นการเฉพาะ ในฐานะผู้มีประสบการณ์เพียงคนเดียว เกี่ยวข้องกับการนำกิจการในเครือเอสซีจีเข้าตลาดหุ้น ตั้งแต่กรณีบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย หรือชื่อย่อในตลาดหุ้น SCC (2518) จนถึงบริษัท ยางสยาม หรือ STC (2522) และบริษัท เยื่อกระดาษสยาม หรือ SPP (2530) ทั้งนี้ ยังรวมถึงแผนการนำกิจการออกจากตลาดหุ้นเมื่อราวๆ 2 ทศวรรษที่แล้วด้วย”

แน่นอนเป็นใครไปไม่ได้ “ชุมพล ณ ลำเลียง ผู้มีบทบาทในเอสซีจีอย่างยาวนาน ตั้งแต่เข้าร่วมงานปี 2515 ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อเอสซีจีก้าวพ้นจากยุคบริหารโดยเดนมาร์ก (2456-2517) สู่คนไทย (2517-ปัจจุบัน) กล่าวขานกันว่า เขามีบทบาททุกช่วงทุกตอนในแผนการเติบโตอย่างโลดโผน ก่อนมาเป็นผู้จัดการใหญ่ (2536-2548) ในช่วงสำคัญอีกช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์เอสซีจี จากนั้นเขาดำรงตำแหน่งกรรมการเอสซีจีอย่างต่อเนื่อง เป็นกรรมการชุดปัจจุบันผู้อยู่ในตำแหน่งยาวนานที่สุดด้วย” อย่างที่เคยว่าไว้ ปัจจุบันมีตำแหน่งรองประธานคณะกรรมการเอสซีจี ซึ่งว่ากันว่าอีกเช่นกัน คือ ตำแหน่งที่มีความสำคัญไม่น้อย

กรณี SCGP ชุมพล ณ ลำเลียง ปรากฏชื่อในฐานะกรรมการคนหนึ่งในช่วงสั้นๆ คาบเกี่ยวกับการเข้าตลาดหุ้น ภายใต้โครงสร้าง ประกอบด้วยบุคคลผู้มีประสบการณ์ภาคนโยบายและกลไกสำคัญในตลาดการเงินและตลาดทุนของไทย โดยมีบุคคลภาคธุรกิจ สะท้อนความสัมพันธ์ที่กว้างขวาง ซึ่งอาจสร้างขึ้นใหม่ สำหรับ SCGC ชุมพล ณ ลำเลียง ลงมาเต็มตัวในฐานะประธานกรรมการ อยู่ภายใต้โครงสร้างคณะกรรมการให้ความสำคัญกับผู้นำธุรกิจไทย สะท้อนภาพใหญ่ที่เป็นไปของสังคมธุรกิจไทย

ปรากฏบุคคลซึ่งดำรงตำแหน่งกรรมการ SCGC เหมือนข้ามพรมแดนธุรกิจ ควรกล่าวถึงคือ ทศ จิราธิวัฒน์ ผู้นำกลุ่มเซ็นทรัล ศุภชัย เจียรวนนท์ ผู้นำและทายาทธุรกิจคนสำคัญของเครือซีพี และฐาปน สิริวัฒนภักดี แห่งไทยเบฟ ธุรกิจหลักของกลุ่มทีซีซี

นั่นเป็นเพียงหน้าฉากพอจับต้องได้ ในขณะที่ข้างหลังภาพนั้น ยิ่งมีความสลับซับซ้อน •

 

เอสซีจี ในตลาดหุ้น / วิรัตน์ แสงทองคำ

เอสซีจี ในตลาดหุ้น / วิรัตน์ แสงทองคำ