Out of this World การเดินทางออกนอกโลกของศิลปินสองรุ่น / อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

 

Out of this World

การเดินทางออกนอกโลก

ของศิลปินสองรุ่น

 

เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เราได้ไปชมนิทรรศการที่น่าสนใจมา เลยถือโอกาสเอามาเล่าสู่ให้อ่านกันตามเคย

นิทรรศการที่ว่านั้นมีชื่อว่า Out of this World

สิ่งที่น่าสนใจประการแรกก็คือ นิทรรศการนี้เป็นการร่วมงานกันระหว่างสองศิลปินจากสองรุ่น คือศิลปินรุ่นใหญ่อย่าง ทวี รัชนีกร ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ปี พ.ศ.2548

กับศิลปินรุ่นใหม่อย่าง ต่อลาภ ลาภเจริญสุข ศิลปินร่วมสมัยผู้ทำงานศิลปะในหลากสื่อหลายรูปแบบและมักหยิบฉวยวัตถุข้าวของรอบตัวทั่วไปในชีวิตประจำวันมาสร้างเป็นผลงานศิลปะเพื่อเชื่อมโยงกับผู้ชมในวงกว้าง

Out of this World

ศิลปินสองรุ่นสองวัยคู่นี้ ขยายจินตนาการและการสร้างสรรค์ออกนอกขอบเขตของชีวิตมนุษย์อันแสนจำเจ ด้วยผลงานชิ้นเด่นอย่าง ภาพวาดครอบครัวสิ่งมีชีวิตลูกผสมครึ่งแมลงครึ่งปลาหมึกเดินอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมแปลกตา หรือประติมากรรมยานอวกาศเรืองแสงที่สร้างขึ้นจากข้าวของและภาชนะเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน

สิ่งที่น่าสนใจอีกประการของนิทรรศการครั้งนี้ก็คือ โดยปกติ มิตรรักแฟนศิลปะมักจะคุ้นเคยกับผลงานของทวี ที่มักจะวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองอย่างเข้มข้นตรงไปตรงมา

Out of this World
Out of this World

หากในนิทรรศการนี้ ทวีปล่อยวางตนเองจากประเด็นทางสังคมการเมือง ปลดปล่อยความรู้สึกให้โลดแล่นออกไปนอกขอบเขตความจริง พลางจินตนาการถึงอนาคตข้างหน้าในมือของคนรุ่นใหม่

ขณะที่ทวีจินตนาการไปสู่อนาคต ต่อลาภกลับมองย้อนกลับไปยังอดีต ผ่านการทับซ้อนของพื้นที่และเวลาที่ปรากฎในวัตถุของความทรงจำ ภาพของบ้านเกิด เครื่องใช้ สัญลักษณ์ และสิ่งของที่คุ้นเคย ซ้อนทับไปกับภาพของยานอวกาศที่สร้างความตื่นเต้นและประทับใจให้เขานับแต่ครั้งวัยเยาว์

Out of this World

ไม่ว่าจะเป็นภาพสปุตนิก 1 (Sputnik 1) ดาวเทียมดวงแรกของโลก หรือยานอวกาศวอยเอเจอร์ 1 (Voyager 1) ที่ออกเดินทางสู่ห้วงอวกาศในปี 1977 ซึ่งเป็นยานอวกาศที่ถูกส่งไปเป็นระยะทางกว่า 23 พันล้านกิโลเมตร ห่างไกลจากโลกที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยสร้างมา

ต่อลาภจำลองภาพยานอวกาศที่เดินทางออกไปสู่ห้วงอวกาศให้กลายเป็นผลงานศิลปะจัดวางที่เชื่อมโยงกับบ้านเกิดที่ใกล้ตัวเขาที่สุด และเป็นพื้นที่ที่เขาผูกพันที่สุด

Out of this World

นิ่ม นิยมศิลป์ ภัณฑารักษ์ของนิทรรการ กล่าวถึงที่มาที่ไปของการจับคู่ระหว่างศิลปินสองรุ่นในครั้งนี้ว่า

“นิทรรศการนี้เริ่มต้นจากการที่เราได้ไปเยี่ยมหอศิลป์ของ อ.ทวี รัชนีกร ที่นครราชสีมา คือก่อนหน้านี้เรารู้จัก อ.ทวีจากงานเกี่ยวกับสังคมการเมือง แต่พอเราเข้าไปดูห้องหนึ่งในสตูดิโอแล้วเห็นผลงานภาพสเกตช์สีน้ำชุดหนึ่งของอาจารย์เป็นเรื่องราวแบบไซไฟ หรือนิยายวิทยาศาสตร์ ซึ่งเราไม่เคยเห็นมาก่อน”

“ก็เลยถามอาจารย์ว่างานชุดนี้มีที่มายังไง ได้ความว่าอาจารย์ทำงานชุดนี้ในช่วงที่เขาป่วย ทำให้วาดภาพใหญ่ๆ ไม่ได้ ก็เลยสเกตช์ไอเดียเก็บเอาไว้ก่อน แล้วพอดีช่วงนั้นอาจารย์เบื่อการเมือง ไม่อยากทำงานเกี่ยวกับการเมืองแล้ว ก็เลยหันมาทำงานที่ใช้จินตนาการอย่างเดียว”

Out of this World
Out of this World

“เรารู้สึกว่าน่าสนใจมาก ก็เลยคิดว่าอยากจะทำอะไรกับงานชุดนี้ แล้วก็คิดต่อไปอีกว่าเราอยากนำงานของอาจารย์มาเจอกับงานของศิลปินอีกคน ก็เลยนึกถึงต่อลาภ ลาภเจริญสุข เพราะเราติดตามผลงานเขามานานแล้ว ชอบงานของเขาเป็นการส่วนตัว ก็เลยอยากทำงานด้วย อีกอย่าง งานของต่อลาภก็มีกลิ่นอายของความเป็นไซไฟเหมือนๆ กัน”

“นอกจากความเป็นไซไฟแล้ว งานของ อ.ทวีกับต่อลาภ ยังมีจุดร่วมที่เหมือนกันตรงความเป็นมนุษย์ อย่างต่อลาภเขามองไปหาอดีต พยายามกลับไปค้นหาความทรงจำในอดีตที่บ้านของเขา ส่วน อ.ทวีเขาจะมองไปยังอนาคต โดยตั้งความหวังไว้ที่เด็กรุ่นใหม่ ชอบอะไรที่เป็นสิ่งใหม่ๆ”

“เราก็รู้สึกว่าน่าสนใจที่จะเอางานของศิลปินสองคนนี้มาสร้างบทสนทนากัน”

“ชื่อนิทรรศการ Out of This World สามารถตีความได้สองความหมาย ความหมายตรงๆ คือการเดินทางออกไปนอกโลกเหมือนเป็นเรื่องราวแบบไซไฟที่ปรากฏในผลงานของศิลปินทั้งสองคน ส่วนอีกความหมายหนึ่งคือหมายถึงสิ่งที่เจ๋งมาก ดีมาก ยอดเยี่ยมมากก็ได้ เราก็เลยหยิบคำนี้มาใช้ เพราะสามารถตีความได้หลายแบบ”

ทวี รัชนีกร หุ่นยนต์, 2020

“งานของต่อลาภจะมีเรื่องของระยะทางและเรื่องของเวลาเข้ามาเกี่ยวข้อง อย่างประติมากรรมจัดวางรูปยานอวกาศ ได้แรงบันดาลใจจากยานอวกาศที่เขาชอบสมัยเด็กๆ อย่างยานวอยเอเจอร์ หรือดาวเทียมสปุตนิก ที่เขาเก็บความประทับใจจากการได้ดูข่าวการส่งยานอวกาศออกไปนอกโลกตอนเขาเด็กๆ ยานวอยเอเจอร์เองก็มีความสำคัญกับต่อลาภ เพราะถูกปล่อยสู่อวกาศในปีที่เขาเกิดพอดี”

ทวี รัชนีกร Untitled, 2020

“หรือประติมากรรมจัดวางขนาดใหญ่อีกชิ้นของเขาที่เป็นรูปทรงสัญลักษณ์อินฟินิตี้ งานชิ้นนี้พูดถึงเวลา อดีต ปัจจุบัน อนาคต ที่ไม่ได้เดินเป็นเส้นตรง แต่วนเวียนย้อนกลับไปมา และถ้าดูดีๆ จะเห็นว่างานชิ้นนี้มีจุดสัมผัสกับพื้นอยู่สามจุด โดยวางตัวงานอยู่กับพื้น ให้โครงสร้างของตัวงานรับน้ำหนักตัวเองโดยไม่ได้แขวนหรือยึดอะไรเอาไว้ เหมือนเป็นการสร้างสมดุลด้วยตัวเอง”

ทวี รัชนีกร สืบชาติภพ, 2002

“ตัวประติมากรรมทั้งสองชิ้นนี้ประกอบขึ้นจากวัตถุข้าวของเก็บตกเหลือใช้เก่าๆ ที่ต่อลาภหยิบเอามาจากบ้านของตัวเอง บางชิ้นก็เป็นวัตถุที่เราเห็นได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน ซึ่งเชื่อมโยงกับผลงานอีกชุดของเขา ที่เป็นงานสองมิติ ซึ่งเป็นภาพคอลลาจบนแผ่นอะคริลิกมิลเลอร์ รายละเอียดบนภาพที่เป็นรูปดอกไม้ ก็คือลวดลายจากข้าวของเก็บตกเหลือใช้ที่เขาหามา อย่างหม้อหุงข้าว กระติกน้ำร้อน ฯลฯ ซึ่งเชื่อมโยงเป็นเรื่องเดียวกันกับงานศิลปะจัดวางรูปยานอวกาศของเขา เพียงแต่นำเสนอในรูปแบบที่แตกต่างกัน”

ทวี รัชนีกร ผู้หญิง (Woman), 2011

“ส่วนผลของ อ.ทวี โดยหลักๆ ชุดนี้เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตนอกโลก ที่ขยายจากภาพสเกตช์สีน้ำเป็นภาพวาดสีน้ำมันขนาดใหญ่ แต่เราก็เอางานชุดอื่นๆ ของอาจารย์มาจัดแสดงด้วย เพราะเราต้องการให้ผู้ชมเห็นภาพรวมในผลงานของอาจารย์ให้สมบูรณ์ เราก็เลยเอางานเก่าๆ ของเขามาจัดแสดงร่วมกันด้วย”

ต่อลาภ ลาภเจริญสุข Timeless Trinity Line, 2022
ต่อลาภ ลาภเจริญสุข Voyager, 2022

“อย่างงานชิ้นหนึ่งที่เป็นสื่อผสมรูปผู้หญิง เรารู้สึกว่าเป็นงานที่แสดงถึงความเป็นมนุษย์บางอย่างของอาจารย์ออกมา หรืองานชุดภาพวาดสื่อผสมบนสมุดใบลาน ซึ่งอาจารย์ได้สมุดใบลานเก่าจากรถเข็นขายของเก่า ก็เลยเอามาทำงานชุดนี้ขึ้นมา เรารู้สึกว่างานชุดนี้ของอาจารย์มีความเชื่อมโยงกับยานอวกาศของต่อลาภ ตรงที่ดูเหมือนภาพโบราณของมนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่มองท้องฟ้าแล้ววาดภาพดวงดาวออกมา”

“ด้วยความที่อาจารย์อายุมากแล้ว เริ่มเบื่อสังคมการเมืองไทย เราคิดว่าเขาอาจจะมองว่าอนาคตข้างหน้าจะเป็นอย่างไร เขาถึงอินกับเรื่องอนาคต เรื่องคนรุ่นใหม่ เพราะอาจารย์รู้สึกว่าคนรุ่นเขาอีกไม่นานก็ไม่อยู่แล้ว แต่คนรุ่นใหม่คืออนาคตข้างหน้า”

“การเอาศิลปินสองรุ่นมาเจอกันเป็นความชอบส่วนตัวที่เรามักจะทำมาตลอด การเอาศิลปินที่ปกติไม่ค่อยได้เจอกันมาทำงานด้วยกัน นั้นไม่น่าเบื่อดี เพราะเราคิดว่าศิลปินอย่าง อ.ทวี หรือต่อลาภ ไม่จำเป็นต้องแสดงงานแต่กับคนรุ่นเดียวกันเท่านั้น เรารู้สึกว่าการเอาคนที่ไม่ค่อยได้เจอกันมาแสดงงานร่วมกันน่าจะทำให้เกิดบทสนทนาใหม่ๆ ระหว่างศิลปินสองรุ่นที่น่าสนใจ และไม่ค่อยมีใครได้เห็น ในการที่ศิลปินสองรุ่นที่ไม่เคยได้อยู่ในแวดวงเดียวกัน มาคุยกัน ทำงานร่วมกัน”

“เราว่าตรงนี้น่าสนใจมาก”

ต่อลาภ ลาภเจริญสุข Sputnik 3, 2022
ต่อลาภ ลาภเจริญสุข Timeless Reminiscence 1, 2022

นิทรรศการ Out of this World โดยทวี รัชนีกร กับต่อลาภ ลาภเจริญสุข และภัณฑารักษ์ นิ่ม นิยมศิลป์ จัดแสดงที่ MOCA BANGKOK ตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน ถึง 10 กรกฎาคม 2565

น่าเสียดายว่ากว่าบทความนี้จะตีพิมพ์ นิทรรศการนี้ก็คงจบไปเรียบร้อยแล้ว

แต่มิตรรักแฟนศิลปะสามารถไปชมอีกนิทรรศการของทวี รัชนีกร ได้ในนิทรรศการ ทวี รัชนีกร : ปรากฏการณ์แห่งอุดมการณ์ ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ชั้น 7 ตั้งแต่วันนี้-11 กันยายน 2565 กันได้ตามอัธยาศัย

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก MOCA BANGKOK •