ในประเทศ/จาก “เก็บค่าน้ำชาวนา” สู่วาทะแห่งปี “กูไปสั่งมันตอนไหนวะ” เหยียบเบรกกันหัวทิ่มหัวตำ

SONY DSC

ในประเทศ

จาก “เก็บค่าน้ำชาวนา”

สู่วาทะแห่งปี “กูไปสั่งมันตอนไหนวะ”

เหยียบเบรกกันหัวทิ่มหัวตำ

ควันจากข่าวปรับขึ้นภาษีเหล้า เบียร์ บุหรี่ ยังขมุกขมัวคุกรุ่นไม่ทันจาง

อยู่ๆ ก็มีข่าวเรื่องเก็บภาษีน้ำจากเกษตรกรมาเป็นเชื้อเพลิงทำควันโขมงขึ้นอีก

แต่เรื่องนี้หนักกว่าข่าวปรับขึ้นภาษีเหล้า เบียร์ บุหรี่

เพราะนั่นรัฐบาลยังมีเหตุผลมาอธิบายให้ประชาชนเข้าใจได้อยู่บ้างว่าเป็นภาษีบาป

แต่ข่าวเรื่องเก็บภาษีน้ำจากเกษตรกรนี้เรื่องใหญ่สำหรับประเทศ โดยเฉพาะประชากรที่ส่วนใหญ่ทำการเกษตรมายาวนานอย่างประเทศไทย จึงทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากทั้งฝ่ายการเมือง ฝ่ายนักวิชาการ และภาคธุรกิจ ไม่เว้นแม้แต่ประชาชนทั่วไป

เพราะจากรายละเอียดคือ จะดำเนินการเก็บทั้งจากแม่น้ำ ลำคลอง บึง แยกเป็น การใช้เพื่อการเกษตร-เลี้ยงสัตว์ เก็บไม่เกิน 50 สตางค์ต่อลูกบาศก์เมตร

ส่วนโรงแรม-ที่พัก-ร้านอาหาร เก็บ 1-3 บาทต่อลูกบาศก์เมตร

ธุรกิจสนามกอล์ฟ-ผลิตพลังงานไฟฟ้า เก็บไม่เกิน 3 บาทต่อลูกบาศก์เมตร

ขณะที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เก็บไม่ต่ำกว่า 3 บาทต่อลูกบาศก์เมตร

งานนี้ ผลกระทบจากข่าวจ่อเก็บภาษีทำเอาคะแนนนิยมของรัฐบาลตกฮวบไปอีก

ร้อนถึง นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ต้องออกมายืนยันว่า รัฐบาลไม่ต้องการเก็บค่าน้ำหรือภาษีน้ำจากเกษตรกรรายย่อย

ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ ยังอยู่ในชั้น กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

นับเป็นการโยนถ่านร้อนของรัฐบาลไปให้ สนช. ก้อนแรก

ทำให้ พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ ประธาน กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ ต้องออกมาแถลงข่าวชี้แจงเรื่องดังกล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ใช่การเก็บภาษี แต่เป็นเพียงเก็บค่าใช้น้ำเท่านั้น ซึ่งยังไม่มีความชัดเจน

ทาง กมธ. ยังต้องนำกลับไปทบทวนใหม่ เพราะเห็นว่ายังเป็นปัญหาอยู่

และต้องให้เกิดความรอบคอบ กระทบกับผู้ใช้น้ำน้อยที่สุด

พร้อมกับยืนยันเสียงหนักแน่นว่า ร่างกฎหมายนี้จะไม่มีการเก็บค่าใช้น้ำจากเกษตรกรรายย่อย

จะเก็บเฉพาะรายใหญ่เท่านั้น

และขณะนี้ได้ส่งให้กรมทรัพยากรน้ำจัดทำหลักเกณฑ์กำหนดประเภทของเกษตรกรแต่ละประเภทอยู่

นอกจากนี้ พล.อ.อกนิษฐ์ยังบอกอีกว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้ จะใช้บังคับในเรื่องการใช้น้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะนอกเขตชลประทาน เช่น แม่น้ำ คลอง ห้วย โดยไม่เกี่ยวกับการใช้น้ำประปา น้ำบาดาล และน้ำในเขตชลประทานแต่อย่างใด

และ พ.ร.บ. ฉบับนี้ยังไม่มีผลบังคับใช้ เพราะเพิ่งผ่านขั้นรับหลักการมา

จากนั้นไม่นาน พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ก็ออกมาระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ยังงงกับเรื่องนี้ และส่งข้อความหาตนว่า “กูไปสั่งมันตอนไหนวะ”

และยังบอกด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์และรัฐบาลไม่เคยคิดให้เก็บค่าใช้น้ำจากเกษตรกร ซึ่งการที่ไม่ชี้แจงก่อนหน้านี้เพราะไม่ใช่หน้าที่ของรัฐมนตรีที่เป็นฝ่ายบริหาร แต่เป็นเรื่องของ สนช. ที่พิจารณากฎหมายนี้อยู่

และนี่ถือเป็นการปัดถ่านร้อนของรัฐบาลไปให้ สนช. อีกครั้ง

ดังนั้น เท่ากับรัฐบาลกำลังพยายามบอกประชาชนอย่างอ้อมๆ ว่า ขณะนี้เรื่องนี้อยู่ในมือ สนช.

จะเดินหน้า หรือยั้งไว้ก็อยู่ที่ สนช.

เรื่องโยนกันมาระหว่างรัฐบาล กับ สนช. ค้างๆ คาๆ จนกลายเป็นประเด็นที่ถูกฝ่ายการเมืองยกเอามาต่อว่ารายวัน

เช่น นายกรณ์ จาติกวณิช ประธานกรรมการนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และคณะทำงานด้านน้ำ ที่ออกมาจี้ให้รัฐบาลพูดให้ชัดเกี่ยวกับการเก็บภาษีน้ำดังกล่าวว่าจะไม่เก็บค่าน้ำจากเกษตรกรรายย่อย พร้อมชี้แจงรายละเอียดของนิยามการเป็นเกษตรกรรายย่อยและเกณฑ์สำหรับเกษตรกรที่ปลูกเพื่อการพาณิชย์ตามมาตรา 39 ร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ และให้นำรายได้ค่าน้ำของภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการมาเป็นรายได้ตรงต่อการพัฒนาแหล่งน้ำชุมชน การอนุรักษ์แหล่งน้ำและการสนับสนุนการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ยังเสนอแนะให้รัฐบาลปฏิรูปกฎหมายน้ำควบคู่กับการปฏิรูปองค์กรด้านน้ำ ให้เร่งรัดการขยายพื้นที่ชลประทานที่มีเพียงร้อยละ 30 ของพื้นที่เพาะปลูกให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะภาคอีสาน โดยจัดระบบการเก็บกักน้ำที่ทั่วถึงและเพียงพอด้วย

ขณะที่ นายสมคิด เชื้อคง อดีต ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย (พท.) ระบุว่า หากไปดูรายละเอียด คนที่จะเสนอกฎหมายได้คือ ครม. โดยเจ้าของเรื่องคือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก่อนจะเสนอไปก็ต้องเข้า ครม. ก่อน พล.อ.ประยุทธ์จะไปโบ้ยให้ใครก็คงไม่สง่าผ่าเผย และอย่าไปโยนเรื่องนี้ให้ข้าราชการประจำ ท่านต้องแก้ปัญหา เพราะท่านนั่งหัวโต๊ะในการประชุม ครม.

ทั้งนี้ สำหรับเรื่องภาษีน้ำนั้น นายสมคิดบอกว่า “ผมติดใจตรงคำว่า “พื้นที่นอกเหนือเขตชลประทาน” แปลว่าต่อไปนี้พี่น้องเกษตรกรซึ่งจะทำนาทำไร่ก็ต้องเสียค่าน้ำหรือ ตรงนี้ยังไม่เห็นรายละเอียด อย่างไรก็ตาม ธุรกิจโรงแรม สนามกอล์ฟ ต่อให้ท่านเก็บเงิน เขาก็ไม่ได้จ่ายค่าน้ำเองอยู่แล้ว เพราะสุดท้ายเขาก็ไปเก็บจากผู้ใช้บริการ และเท่าที่อ่านรายละเอียดดูท่านบอกปีหนึ่งจะได้ประมาณ 5,000 ล้านบาท ผมว่าเงิน 2.9 ล้านล้านบาทต่อปีงบประมาณ เอา 5,000 ล้านบาทไปเทียบแล้วดูเล็กน้อย ดังนั้น รัฐบาลควรหาทางอื่นในการบริหารจัดการเรื่องเงินในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้หรือไม่ พี่น้องเกษตรกรกำลังย่ำแย่ ยังมีวิธีการอื่นๆ อีกมากซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องบริหารจัดการเงิน และใช้เงินอย่างมีคุณค่า ไม่ใช่นำไปซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์”

ทั้งยังย้ำอีกว่า ในภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่เช่นนี้ ไม่มีใครเขาขึ้นภาษีกัน!!!

อย่างไรก็ตาม อาจารย์นิพนธ์ พัวพงศ์กร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กลับมีความเห็นที่ต่างออกไปในประเด็นว่า ในร่างกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ไม่ได้จะเก็บค่าน้ำกับเกษตรกรรายเล็ก เพราะมีข้อยกเว้นอยู่แล้ว

ดังนั้น ตรงนี้จึงเป็นความเข้าใจผิด เพราะการเก็บนั้นจะเก็บจากผู้ใช้น้ำรายใหญ่

โดยอาจารย์นิพนธ์บอกว่า “ผมก็ไม่รู้ว่าข่าวที่ออกมาแบบนี้นั้นเหมือนเป็นการสร้างความเข้าใจผิด โดยมีวัตถุประสงค์อะไร ผมจึงขอตั้งคำถามว่า มีวัตถุประสงค์เพื่อต่อต้านการเปลี่ยนแปลงบางอย่างของหน่วยงานราชการหรือไม่”

ทั้งนี้ เมื่อถามความเห็นของอาจารย์นิพนธ์ กรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ถึงขนาดเอ่ยปากประโยค “กูไปสั่งมันตอนไหนวะ” ออกมานั้น อาจารย์นิพนธ์ตั้งข้อสังเกตว่า ก็คงจะเป็นเพราะเหตุที่ว่า มีวัตถุประสงค์เพื่อต่อต้านการเปลี่ยนแปลงบางอย่างของหน่วยงานราชการหรือไม่ เพราะในร่างกฎหมายไม่มีอยู่แล้วที่จะไปเก็บกับเกษตรกร

การที่มีข่าวออกมาแบบนี้ เป็นการก่อความเข้าใจผิดเพราะมีวัตถุประสงค์อื่น เนื่องจากต้องการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญบางอย่าง ที่กระทบกับข้าราชการบางฝ่าย จึงมีการยกเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นประเด็นเพื่อหวังผลให้ไม่มีกฎหมายน้ำ หรือล้มกฎหมายน้ำไปเลยหรือไม่

ตรงนี้อาจารย์นิพนธ์ฝากตั้งคำถามไว้

แต่ไม่ว่าจะด้วยเพราะเหตุอะไรก็ตาม ดูเหมือนว่า วาทะ “กูไปสั่งมันตอนไหนวะ” ของ “บิ๊กตู่” ที่พูดผ่านข้อความมา ทำให้ท่าทีของทั้งทางฝ่ายรัฐบาล ฝ่าย สนช. และฝ่ายข้าราชการประจำต้องออกมาแจงสร้างความเข้าใจกับประชาชนเรื่องข่าวการเก็บภาษีน้ำกันรายวันชนิดนั่งไม่ติดเก้าอี้

และไม่กี่วันที่ผ่านมานี้เอง นายวรศาสน์ อภัยพงษ์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ คนแถลงเปิดประเด็นดังกล่าว ก็ได้ออกมาชี้แจงกรณีดังกล่าวอีกครั้ง โดยระบุว่า ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายที่เกี่ยวกับการควบคุม จัดสรร และการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่นอกเขตชลประทานที่มีเนื้อที่ 119 ล้านไร่ จึงทำให้การใช้น้ำสาธารณะไม่มีการคุ้มครองสิทธิการใช้น้ำ ซึ่งร่าง พ.ร.บ. ที่จะเกิดขึ้นจะคุ้มครองสิทธิการใช้น้ำให้เกิดความเป็นธรรม ป้องกันความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้น

อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำยังย้ำอีกว่า กฎหมายดังกล่าวมีไว้เพื่อคุ้มครองสิทธิของเกษตรกรนอกเขตชลประทานให้สามารถเข้าถึงน้ำได้เป็นลำดับแรก และไม่มีการเก็บค่าใช้น้ำแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ภายหลังกฎหมายผ่านสภาแล้ว จำเป็นจะต้องศึกษารายละเอียดให้เหมาะสมและต้องรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง เพื่อประกอบการจัดทำร่างกฎกระทรวงตามมาตรา 39 ต่อไป

งานนี้ไม่ว่า “บิ๊กตู่” จะแอ๊กชั่นมาเพื่อปัดคำครหาให้รู้ว่ารัฐบาลไม่มีเอี่ยวเรื่องกฎหมายภาษีน้ำ หรือเจ้าตัวฉุนจริงๆ เพราะ “ไม่ได้สั่ง” ประโยคมึงกูอย่างทหารก็น่าจะทำให้คนที่คิดจะเดินหน้าเรื่องนี้ต้องเหยียบเบรกกันหัวทิ่มหัวตำอยู่เหมือนกัน