โรคแห่งยุคสมัย / เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

 

โรคแห่งยุคสมัย

 

เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา คุณไพวรินทร์ ขาวงาม ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ส่งกลอนสุนทรภู่กับข้อความเปรียบเทียบวาทะของโกวเล้งมาให้อ่าน จึงบันดาลใจให้คิดตามและคิดต่อ

โกวเล้งคือนักเขียนเรื่องกำลังภายในลือชื่อของจีน เช่น ฤทธิ์มีดสั้น เป็นต้น ซึ่งนักแปลเป็นไทยคนสำคัญคือ ว. ณ เมืองลุง ทั้งคู่คงไปพบกันในปรโลกแล้ว

โกวเล้งเอ่ยวาทะเท่าที่จำได้ว่าดังนี้

“เราอาศัยปากกาด้ามเดียว ได้มาทุกสิ่ง แม้สิ่งมิควรได้ เราล้วนได้มาแล้ว นั่นคือความเปลี่ยวเหงา”

สุนทรภู่เขียนไว้ในรำพันพิลาป เช่นกันว่า

“เหมือนแสนโง่โอ้เสียแรงแต่งหนังสือ

จนมีชื่อลือเลื่องทั้งเมืองหลวง

มามืดเหมือนเดือนแรมไม่แจ่มดวง

ให้เหงาง่วงเปลี่ยวเปล่าแสนเศร้าใจ”

จะว่าใครเอาอย่างใครคงไม่ได้

 

คุณอัศศิริ ธรรมโชติ ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์เช่นกัน เคยเอ่ยให้ฟังว่านักเขียนเอกอเมริกันคือ จอห์น สไตน์เบค ก็เคยกล่าวว่า

“นักเขียนคือจิตวิญญาณอันว้าเหว่เหมือนดวงดาวที่พยายามจะสื่อสารกับดาวดวงอื่น เป็นสัตว์โลกที่โดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงา”

เห็นไหมสามคนสามประเทศต่างวัยต่างวันเวลาคนละยุคสมัยแต่เหมือนกันคือเป็นนักเขียน นักกวี และเขียนเหมือนกันด้วยอารมณ์เดียวกัน

นั่นคือ “ความเปลี่ยวเหงา”

ตรงนี้แหละสำคัญไม่เฉพาะนักเขียนเท่านั้นที่ “เปลี่ยวเหงา” ศิลปินหรือคนสร้างสรรค์งานศิลปะทุกคน ล้วนมีธรรมชาติเหมือนกันทั้งนั้นคือ

เปลี่ยวเหงา

 

นักแสดงอย่างโรบิน วิลเลียม ดาราตุ๊กตาทองฮอลลีวู้ดก็ถึงกับดับชีวิตตัวเองด้วยการฆ่าตัวตาย

มีวาทะจากภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดเรื่องหนึ่งว่า

“นักแสดงนั้นปลดปล่อยตัวเองในโลกของการแสดง แต่เราต้องเสแสร้งในโลกของความเป็นจริง”

จริงด้วยนะนักแสดงเก่งๆ นั้น เขาแสดงเหมือนไม่แสดงคือ เป็นจริงตามบทบาทนั้นๆ จนเราลืมไปเลยว่าเขาคือดารา เขาคือนักแสดง เขาคือโรบิน วิลเลียม

ต่างกับนักแสดงที่มัก “แสดงการแสดง” กันอยู่

การปลดปล่อยตัวเองในโลกของการแสดงนี่แหละทำให้เขาได้ตระหนักในความเป็น “ตัวเอง” ในบทบาทของคนอื่น

แต่การได้ตระหนักหรือรู้จักกับตัวเองนี้เป็นเพียงตัวเองในโลกของการแสดงเท่านั้น

ครั้นเลิกแสดงแล้วเขากลายเป็น “ดารา” ที่ยังต้อง “แสดง” ความเป็น “ดารา” ตลอดเวลา

ฉะนั้นเขาจึงหา “ตัวเอง” จริงๆ ไม่เจอ

ฉะนั้นเขาจึง “เปลี่ยวเหงา” ในความรู้สึกที่อยู่ในลึกๆ ในใจตลอดเวลา ดังนักเขียนเอกจากสามยุคสมัยสามประเทศคือ สุนทรภู่ จอห์น สไตน์เบค และโกวเล้งได้กล่าวไว้นั้นคือ

ความเปลี่ยวเหงา

 

นักจิตวิทยาวิเคราะห์ว่า คนที่เอาแต่รู้สึกๆ อยู่เสมอ ดังนักแสดงหรือดารานี่แหละจะกลายเป็น “โรคประสาท” ได้ง่ายสุด

และคนที่เอาแต่คิดๆๆ อยู่ตลอดเวลานี่ก็จะกลายเป็น “โรคจิต” ได้ง่ายสุดอีกเช่นกัน

จิตคนนั้น ปรัชญาพุทธศาสนาชี้ว่ามีสามบทบาทคือ รู้สึก นึก คิด

ดังแสดงไว้ในขันธ์ห้าคือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ รูปคือ กาย ส่วนเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ คือจิต ตัวจิตก็คือวิญญาณ (ญาณ = รู้ วิหรือวิญ = ยิ่ง) ตัวรู้ยิ่งนี่คือจิต ส่วนเวทนา สัญญา สังขาร ก็คือบทบาทของจิต โดยเฉพาะมีสามสภาวะนี้เท่านั้นคือ เวทนา (รู้สึก) สัญญา (นึก) สังขาร (คิด)

ความหมายของเวทนาคือจิตมารับรู้สึกทางประสาทสัมผัส สัญญาคือจำได้หมายรู้ (นึก) สังขารคือ ปรุงแต่ง (คิด)

เพราะฉะนั้นบทบาทของจิตก็คือรู้สึกนึกคิดเท่านั้น โดยแสดงภาวะแห่งกาละอยู่ในบทบาทนั้นๆ ด้วยคือ รู้สึก เป็นปัจจุบัน นึก เป็นอดีต คิด เป็นอนาคต

 

กล่าวมายืดยาวนี่ก็เพื่อจะสรุปต่อหรือคิดต่อจากนักจิตวิทยาที่ว่า ผู้เอาแต่รู้สึกอยู่อย่างเดียวจะกลายเป็นโรคประสาท และผู้เอาแต่คิดอยู่อย่างเดียวจะกลายเป็นโรคจิต

ดังนั้น ผู้ที่เอาแต่นึกๆๆ อยู่อย่างเดียวนี่ขอสรุปว่าเขาจะกลายเป็น “โรคซึมเศร้า” ได้ง่ายเอาเลยทีเดียว

โลกทุกวันนี้ดูจะมีคนเป็นสามโรคนี้กันมากเหลือเกินคือ โรคประสาท โรคจิต และโรคซึมเศร้า

เหตุเพราะยุคสมัยที่เจริญสุดโต่ง ทำให้ผู้คนตามไม่ทัน นี่ด้วยกระมังที่คนต้องตกเป็นเหยื่อของสามโรคนี้

สังคมไทยเราเองนี่ก็เถิดดูจะตกเป็นเหยื่อทั้งสามโรคนี้ด้วย

โดยเฉพาะสภาพสังคมที่เป็นโรคสำคัญคือ

ทันสมัย แต่ไม่พัฒนา

รูปแบบหรูหรา เนื้อหารุ่งริ่ง

คนโรคมาก

คนที่เอาแต่คิด จิตหมกมุ่น

เดินก็ครุ่นคิดรู้ อยู่ในจิต

กระทั่งยิ้มก็ยิ้มย้ำ ด้วยความคิด

เขาเป็นโรควิปริต จิตวิกล

คนที่เอาแต่รู้สึก อยู่ลึกซึ้ง

รู้เข้าถึงทุกข์สุข อยู่ทุกหน

ดกแสดงแต่งจริต ติดตัวตน

เขาเป็นคนโรคประสาท เด่นชัดนัก

คนที่เอาแต่กระทำ ไปตามจิต

ไม่รู้สึก นึก คิด ติดกับดัก

สัญชาตญาณอย่างสัตว์ซัดนำชัก

เขาเป็นคนจมปลัก หนักอบาย

คนปกติธรรมดา ทุกท่าที

รักษาสมดุลดี มีความหมาย

รู้ รู้สึก นึก คิด จิต ใจ กาย

รู้คลี่คลาย ว่าอะไร ควรไม่ควร

ไม่ต้องเป็น โรคจิต โรคประสาท

ไม่เป็นทาสจิตตก ผกผันผวน

ไม่โหนห้อยต้อยตาม ความเรรวน

ไม่ตกขบวนคุณค่า ความเป็นคน!

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ •