ผู้ลงทัณฑ์ / จ๋าจ๊ะ วรรณคดี : ญาดา อารัมภีร

ญาดา อารัมภีร
เปรตโลกยะ และโลกันตนรก จากสมุดภาพไตรภูมิ ฉบับกรุงศรีอยุธยา-ฉบับกรุงธนบุรี เล่ม 1

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี

ญาดา อารัมภีร

 

ผู้ลงทัณฑ์

 

‘แร้ง’ อยู่คู่สังคมไทยมาช้านาน ภาพของ ‘แร้ง’ สมัยอยุธยาในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชสะท้อนผ่าน “จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม” (ฉบับสันต์ ท. โกมลบุตร แปล)

“นกกากับนกแร้งนั้นมีชุมและเชื่องมาก เพราะไม่มีใครทำอันตรายมัน และผู้คนก็ให้อาหารมันกินเป็นทาน ลางทีเขาทิ้งเด็กที่ตายก่อนอายุได้ 3-4 ขวบให้แร้งกากิน”

สอดคล้องกับนิโกลาส์ แชรแวส บันทึกไว้ใน “ประวัติศาสตร์และการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม” (ผู้แปลเดียวกัน) ดังนี้

“สำหรับศพพวกเด็กๆ นั้นไม่มีพิธีรีตองอะไรเลย นำเอาไปฝังในทุ่ง หรือเอาโยนทิ้งน้ำเสียในตอนกลางคืนดึกๆ หรือไม่ก็นำเอาไปวางทิ้งไว้ให้แร้งกาจิกกินเป็นทาน”

ภาพแร้งกาจิกกินซากศพ คนไทยสมัยอยุธยาเห็นเป็นธรรมดาในชีวิตประจำวัน จะงอยปากและกรงเล็บทรงพลังที่ช่วยกันฉีกทึ้งศพน่าจะเป็นส่วนสำคัญกำหนดให้แร้งและกามีบทบาทลงโทษผู้กระทำผิดทั้ง ‘คนตาย’ และ ‘คนเป็น’

ดังปรากฏในวรรณคดีหลายเรื่องหลายสมัย

 

“ไตรภูมิพระร่วง” วรรณคดีสมัยสุโขทัย เล่าถึง ‘สุนักขนรก’ ที่มิได้มีแต่หมา แร้งกาก็มี ตัวโตมโหฬารทั้งหมาทั้งนก

“หมาฝูงนั้นใหญ่เท่าช้างสารทุกตัว ฝูงแร้งแลกาอันอยู่ในนรกนั้นใหญ่เท่าเกียนใหญ่ทุกๆ ตัว ปากแร้งแลปากกาแลเล็บตีนนั้นเทียรย่อมเหล็กแดงเป็นเปลวไฟลุกอยู่บ่มิได้เหือดสักคาบ แร้งแลกาหมาฝูงนั้นเทียรย่อมจิกแหกหัวอกย่อมขบย่อมตอดคนทั้งหลายผู้อยู่ในนรกนั้น แลบาปกรรมของเขานั้นบ่มิให้ตาย แลให้เขาทนเจ็บปวดสาหัส ทนทุกขเวทนาพ้นประมาณอยู่ในนรกอันชื่อ ‘สุนักขนรก’ นั้นแล”

คนที่ตายแล้วไปเกิดในนรกขุมนี้เป็นผลจากตอนยังมีชีวิตได้ “กล่าวคำร้ายแก่สมณพราหมณ์ผู้มีศีลแลพ่อแม่ผู้เถ้าผู้แก่ครูปัธยาย์”

ชีวิตหลังความตายจึงไม่เหงา ถูกกลุ้มรุมจากหมา และแร้งกาปากเหล็ก

“กฎหมายตราสามดวงฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม 2” (จัดพิมพ์ตามต้นฉบับหลวง) ในส่วนพระราชกำหนดใหม่ มีข้อความว่า

“ชายใดสมเสพกาเมสุมิจฉา ล่วงประเวณีภิริยาผู้อื่นนั้นย่อมเกิดกามกำหนัศพร้อมเตมบริบูรรณจึ่งสำเรจ์ เปนคุรุกำอุกฤษโทษ ครั้นดับสังขารอะนาคต ไปตกอยู่ในโลหะกุมภีนะรก หกหมื่นปีแล้วขึ้นมาทนทุกขเวทนาอยู่ในอุสุทนะรกสิมพลีไม้งิ้วเหล็ก หนามยาวสิบหกองคุลี นายนิริยบาลรุมกันทิ่มแทงแร้งการุมกันจิก”

ความหมายคือ ชายใดผิดศีลข้อสามล่วงละเมิดเมียผู้อื่น หลังจากตกนรกหม้อเหล็กครบกำหนด ต้องไปทรมานต่อในนรกต้นงิ้วเหล็ก ถูกยมบาลใช้อาวุธทิ่มแทงและถูกแร้งการุมจิกตี

 

น่าสังเกตว่ามี ‘นรกแร้งกา’ สำหรับเปรตโดยเฉพาะ ชื่อนรกนี้เป็นได้ทั้ง ‘กากะสังฆา’ และ ‘กาโกสังฆา’ ดังที่ “สุบินสำนวนเก่า” ของกวีชาวนครศรีธรรมราช และ “สุบินกลอนสวด” (กรมศิลปากร จัดพิมพ์ พ.ศ. 2555) เล่าไว้ตรงกันว่า

“กากะสังฆา หรือ กาโกสังฆา นรกแร้งกา ปากเหล็กคมๆ

(สุบินสำนวนเก่า) (สุบินกลอนสวด)

จะบินจะวิ่ง เร็วยิ่งกว่าลม จิกเปรตระทม กินเป็นอาหาร”

นอกจากนี้ “สมุดมาลัย” เล่าถึงแร้งกาในฐานะผู้ลงทัณฑ์เปรตที่ทำกรรมหนักหลากหลายกรณี อาทิ

ผู้ตัดสินคดีความไม่เป็นธรรมหลังตกนรกครบกำหนด ไปเกิดเป็นเปรตแบกอวัยวะเพศเน่าขนาดเท่าตุ่ม ส่งกลิ่นเหม็นหึ่งดึงดูดใจแร้งกาและนกตะกรุมพากันมารุมทึ้ง

“แร้งกานกตะกรุม จิกสับยื้อแย่ง พาบินด้วยแรง ไปสู่เวหา

ร้องครางอืดๆ เจ็บปวดนักหนา ทนเวทนา อะดักอะดน”

คนที่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตทั้งสัตว์เลี้ยง สัตว์สี่เท้า เช่น วัว ควาย เนื้อทรายอยู่เป็นนิจ เมื่อตายกลายเป็นเปรตที่ถูกยื้อแย่งระหว่างนกและหมา

“ยังมีเปรตหนึ่ง ลำบากนักหนา เปนเหยื่อแร้งกา ฝูงสัตว์อยู่รุม

สุนักขใหญ่น้อย พลอยกันกินกลุ้ม แร้งกานกตะกรุม รุมจิกสับเอา

เนื้อนั้นหมดสิ้น ยังแต่โครงเปล่า จิกสับเฉี่ยวเอา ร้องครางเสียงแข็ง

แร้งกานกตะกรุม รุมจิกด้วยแรง จิกทึ้งกวัดแกว่ง ยื้อแย่งไปมา”

เช่นเดียวกับหญิงทรงเจ้าเข้าผีหลอกลวงผู้คน ตายแล้วกลายเป็นเปรต ร่างกายเปื่อยเน่า ต้องแกะเม็ดหนองเม็ดฝีตามเนื้อตัวกินเป็นอาหาร ทั้งยังมี

“แร้งกานกตะกรุม จิกสัปสลวน พาบินขึ้นบน ไปในเวหา

สัปปากจมูก จิกหูตอดตา นกตะกรุมแร้งกา ยื้อแย่งเรี่ยราย

ร้องครางอืดๆ ดิ้นล้มดิ้นตาย ตนสั่นระทาย ระทดทั้งตน

ตีนสั่นมือสั่น หูตามืดมน เจ็บปวดทั้งตน พ้นที่คณนา”

ส่วนโจรที่ชวนเพื่อฝูงปล้นฆ่าคนเดินทาง ตายไปเกิดเป็นเปรตหัวด้วน ที่สุดแห่งอัปลักษณ์ อวัยวะสลับที่วุ่นวาย ปากอยู่ที่ตูด ตาอยู่ในอก หัวอยู่ในท้อง ฯลฯ รูปร่างหน้าตาวิปลาส

“บาปปล้นท่านตีเอาท่าน ให้เจ้าของตกใจฉงน

รูจมูกอยู่เบื้องบน รูปทั้งนั้นก็เคลื่อนคลาย

แร้งกาจิกตาแตก หูด้วนแฉกแตกเรี่ยราย

ร้องอืดๆ เร่งครางตาย บาปปล้นท่านมาถึงตน”

 

‘แร้ง’ เป็นหนึ่งในผู้ลงทัณฑ์สัตว์นรกและเปรตที่เป็น ‘คนตายบาปหนา’ ‘คนเป็น’ ก็ไม่เว้น วรรณคดีสมัยอยุธยาเรื่อง “โองการแช่งน้ำ” เนื้อหาเป็นคำสาบานตนของพระบรมวงศานุวงศ์ ทหาร ข้าราชบริพาร เจ้าประเทศราช ฯลฯ ที่พราหมณ์อ่านระหว่างผู้ร่วมพิธีดื่มน้ำสาบานตนในพระราชพิธีศรีสัจจปานกาล หรือ ‘พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา’ ว่าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่

คำสาบานดังกล่าวสาปแช่งผู้คิดคดทรยศก่อการกบฏให้ตายในเวลารวดเร็ว

“ให้ตายในสามวัน อย่าให้ทันในสามเดือน

อย่าให้เคลื่อนในสามปี อย่าให้มีศุขสวัสดิเมื่อใด”

ส่วนหนึ่งของคำสาปแช่งคือ แช่งให้น้ำสาบานตัดคอผู้ดื่มขาดกระเด็น นำเอาผู้คิดคดทรยศไปใส่ ‘เล้า’ หรือคุก เมื่อใดน้ำสาบานตกถึงท้อง เมื่อนั้นน้ำกลายเป็น ‘รุ้ง’ หรือเหยี่ยวขนาดใหญ่จิกเจาะท้องให้แยกทำลายจากกัน มีแร้งกาจิกนัยน์ตาจนแตก

“บ่ซื่อน้ำตัดคอ ตัดคอเร็วให้ขาด

บ่ซื่อมล้างออเอาใส่เล้า บ่ซื่อน้ำหยาดท้องเป็นรุ้ง

บ่ซื่อแร้งกาเต้าแตกตา”

จะ ‘อยู่’ หรือ ‘ตาย’ ไม่พ้นแร้ง •