นายพลเขมร : เขมรภูมินทร์ และเตีย บันห์/อัญเจียแขฺมร์ อภิญญา ตะวันออก

อภิญญา ตะวันออก

อัญเจียแขฺมร์

อภิญญา ตะวันออก

 

นายพลเขมร

: เขมรภูมินทร์ และเตีย บันห์

 

และแล้วช่างเนิ่นนาน แต่ราวกับเป็นเมื่อวานนี้เอง ที่ฉันนั่งแกร่วหน้าโรงแรมรอยัลพนมเปญ และบ่ายวันนั้น การสนทนากับนายพลกัมพูชาผู้มีนามว่าเตีย บันห์ ได้นำไปสู่การเห็นภาพเลือนรางของกองทัพเขมรภูมินทร์

เอาจริงนะ นายพลเขมรเกือบทุกนายสมัยนั้น ช่างไม่มีราศีจับ ว่ากันตามตรงไม่ทับถม พวกเขาเหมือนทหารป่าที่เพิ่งกลับมาจากสมรภูมิอันยาวนานจากกองทัพปลดแอกของแต่ละฝ่ายด้วยซ้ำ?

แต่มีฝ่ายใดบ้าง?

ทั้งกองกำลังเขมรแดงที่กระจัดกระจายแนวชายแดนที่แตกกันเป็น 2 ฝ่าย ส่วนกองกำลังของซอน ซานน์ หย่อมหนึ่งที่อำเภอบันเตียฉมาร์ส่วนหนึ่งได้หันไปภักดีกับกองทัพเขมรเจ้าสีหนุในนามฟุนซินเปกซึ่งเมื่อชนะเลือกตั้งก็อพยพเข้าเมืองหลวง นำโดยนายพลหนุ่มกระดูกเหล็ก พล.อ.ยึก บุนชัย ผู้มีเรื่องราวมากมายในศาสตร์ลึกลับ ทั้งพรางตนและบังไพรเพื่อหลบศาสตราวุธในวันที่ต้องสู้กับกองทัพน้อยของฮุน เซน

1 เดือนเต็มที่ลือลั่นกันว่า มีการทำพิธีสะกดวิญญาณหมู่ศพของศัตรูครั้งใหญ่ หรือแม้แต่คนที่เหลือรอดมาได้อย่างยึก บุนชัย ก็ยังถูกลงดาบทางการเมือง กลายเป็นนายพลนอกกองทัพที่ไร้ตัวตนมาจนบัดนี้ สำหรับรัฐประหารโหดที่คร่าชีวิตนายพลหลายนายฟุนซินเปก

ส่วนผู้สำเร็จในชัยชนะจากการปราบสิ้นศัตรูนั้น สปอตไลต์มากมายส่องไปทำเนียบตาเขมาของฮุน เซน ซึ่งมีนายพลฮาร์ดคอร์ ในจำนวนนั้น มี พล.อ.เตีย บันห์ นายทหารนอกแถวผู้เดินทางไกลมาจากเกาะกง

และเป็นอาณาจักรเก่าของสหายรุ่นพี่ ที่สมเด็จฮุน เซน ไม่เคยลืมบุญคุณ ในวันที่สหายคนนี้สอนวิธีล้มแปน โสวัน และยึดอำนาจ/1982

อานิสงส์ความสัมพันธ์ครั้งนั้นที่ส่งผลมาถึงเตีย บันห์ (หนุ่ม) ผู้นายทหารติดตาม และใครเลยจะคิดว่า ฮุน เซน ยังถือวาจาสัตย์ต่อสหายผู้ล่วงลับ

และที่ปฏิเสธไม่ได้ เตีย บันห์ คือโซ่ข้อกลางระหว่างเขมรภูมินทร์กับกองทัพไทย ซึ่งเวลานั้นยังเต็มไปด้วยความหวาดระแวง แต่นายทหารพูดไทยจากเกาะกงคนนี้ ได้กระชับความสัมพันธ์นั้นให้ขยับเข้ามาและถึงจุดที่ดี ในวัน 8 ปีก่อนที่เกิดรัฐประหารในกรุงเทพฯ

สำหรับ เตีย บันห์ ไม่ได้เติบโตมาบนความสัมพันธ์อันซับซ้อนกับ พล.อ.ฮุน เซน เช่นนายพลคนอื่นๆ ที่เคยร่วมสาบาน และบางรายถึงกับ “แต่งดอง” ในรุ่นลูกซึ่งมีทั้งหย่าร้างและล้มหายตายจากเหลือแต่เตีย บันห์ ที่นั่งแท่นเป็นรัฐมนตรีกลาโหมมาทุกชุด ครม.

นอกจากจะยึดหัวหาดเป็นรัฐมนตรีนายพลที่อยู่ในระบอบฮุนเซนยาวนานแล้ว เตีย บันห์ ยังทำลายสถิตินายพลเขมรที่เถลิงการเมืองยาวนานกระทั่งได้บรรดาศักดิ์เป็น “สมเด็จ” ในที่สุด ซึ่งในยุค 60 ของสมัยสีหนุราช ปรากฏการณ์นี้เคยเกิดขึ้นกับ พล.อ.สมเด็จยึก จูล่ง

แต่เมื่อเทียบเรื่องระยะยืนยาวนานใน ครม.นั้น ไม่มีใครเทียบเท่ากับเตีย บันห์ ที่ฟาดตำแหน่งไปกว่า 20 ปีที่ผ่านจากยุคที่กองทัพเขมรแตกแยกเป็นฝักฝ่ายไปสู่วันที่กลายเป็นกองทัพอาชีพในวันนี้

โดยเฉพาะในยุค 90 ที่ภาพลักษณ์กองทัพเขมรยังเถื่อนทรามนั้น เราจะได้เห็นอะไรหลายอย่าง เพราะแม้แต่เครื่องแบบนายทหารก็ยังขอรับบริจาคจากเพื่อนบ้าน ตำแหน่งนายพลที่มีเงินไม่กี่หมื่นเรียลเทียบเท่ากับ 40 เหรียญสหรัฐ กระนั้น อัตรานี้ รัฐก็ยังไม่มีปัญญาจ่าย

ดังนี้ ทหารเขมรเวลานั้นของปี 1993-2000 ยังมีสภาพรับเงินเดือนเป็นข้าวสาร อาหารแห้ง น้ำตาล บีเจง (ผงชูรส) ที่สุดแล้วแต่ว่ากองทัพจะให้เป็นอะไร?

นั่นคืออดีตกองทัพเขมรภูมินทร์ ที่วันนี้มีนายพลเป็นเสนาบดีชั้นสมเด็จอยู่หลายนาย

แม้ฮุน เซน จะชอบทำแต่สงคราม ไม่นิยมสร้างหนังแนวบันเทิงโดยเกณท์เอานายพลมารับบทแสดงนำเหมือนกับที่ พล.อ.ยึก จูล่ง ยุคสีหนุราชเคยทำ

แต่เตีย บันห์ ก็ผ่านแบบทดสอบมาไม่น้อยจากระบอบผู้นำสูงสุดด้วยเช่นกัน!

หนึ่งในนั้นคือการที่ฮุน เซน ส่งลูกชาย พล.ท.ฮุน มาเนต รั้งตำแหน่งรองผู้บัญชาการกองทัพบกตั้งแต่อายุเพียงสามสิบเศษ ข้ามหัวนายพลแก่ๆ และเป็นเรื่องที่น่าลำบากใจสำหรับพลเอกผู้คุมกลาโหมแต่ไม่เคยผ่านการศึกษาอาชีพนายทหารเหมือนฮุน มาเนต ผู้ร่ำเรียนจากนายร้อยเวสต์ปอยต์สหรัฐ

เหมือนเตีย บันห์ จะถูกมองข้ามความสำคัญเช่นเดียวกับนายพลอาวุโสรุ่นพ่อที่นั่งสลอนในกองทัพ

แต่ฮุน เซน ก็เล่นบทสร้างสมดุลนั้น เพราะเมื่อภาพความมั่นของภูมิภาคที่มีกัมพูชาเป็นตัวแปรและทวีความซับซ้อน หนึ่งในผู้รับเผือกร้อนนี้คือเตีย บันห์ โดยเฉพาะการเป็นคีย์แมนด้านความมั่นคงระหว่าง “ไทย-เขมร” และ “จีน-สหรัฐ”

หลายครั้งจะเห็นว่า เพื่อแลกกับการทำกองทัพให้ทันสมัยทัดเทียมนานาอารยะ ต้องพึ่งพาประเทศมหาอำนาจอย่างจีน กระนั้น ฮุน เซน ก็ยังระมัดระวังภาพลักษณ์ของฮุน มาเนต ไม่ให้เปลืองตัวไปกับข้อกล่าวหาใช้กองทัพไปกับการรับเงินบริจาคดังที่ผ่านมา และด้วยเหตุนี้ นายทหารนักสื่อสาร เตีย บันห์ ได้ผงาดขึ้นมา

มันทำให้ฉันนึกถึงวันคืนเอาเก่าก่อนของนายพลคนนี้ที่ในอดีตนั้นเสมือนจะเป็นลูกไล่ให้นายพลไทยบางนาย

แต่วันนี้นอกจากจะฉายเดี่ยวบนเวทีนานาชาติแล้ว เตีย บันห์ ยังเฉิดฉายกว่านายพลไทยที่ต่างตกต่ำในยุคตน

ในตอนนั้น ฉันเห็นอะไรในตัวนายพลคนนี้? วันที่ความบังเอิญได้พัดพาฉันไปและนั่งคุยกับเขาราวกับฆ่าเวลาก่อนที่นักข่าวตัวจริงจะมา

ฉันพบว่า เตีย บันห์ เป็นนายทหารที่ช่างประนีประนอม ถ่อมตัว อันแตกต่างจากเตีย บันห์ ที่ฉันเห็นในวันนี้เมื่ออยู่บนโพเดียมเพื่อปาฐกถาด้านความมั่นคงของภูมิภาคและบูรณภาพดินแดนของกัมพูชาที่เขาจะต้องเอาตัวรอดต่อหน้าสำนักข่าวต่างประเทศ

นี่คือ วาสนาของนายพลคนหนึ่งที่เป็นถึงชั้น “สมเด็จ” แล้วในวันนี้

พล.อ.เตีย บันห์ คนที่ฉันนั่งคุยในวันนั้น และจินตนาการไม่ออกเลยว่า กองทัพเขมรภูมินทร์จะมาไกลถึงวันนี้

จากนายพลเขมรที่พินอบพิเทาต่อนายทหารกองทัพไทยในวันนั้น มาวันนี้ คือบิ๊กเนมที่ความมั่นคงของต่างชาติต่างให้ความสนใจต่อภาษากายของเขาอย่างไม่กะพริบ

เพราะทราบดีว่า มันคือภาษาที่สื่อสารมาจากฮุน เซน

ช่างเป็นความสุกงอมของนายพลนักการเมืองคนหนึ่งที่ดูจะน่าริษยาสำหรับโลกของนายพลอีกหลายคนร่วมชาติอาเซียนที่ยังฝันหวานถึงแพลตฟอร์มความสำเร็จเยี่ยงนี้

ใครจะมานึกว่าวันนี้ เตีย บันห์ ที่แก่ตัวผ่านมา 30 ปี วันนี้เขายังสวมเครื่องแบบนายพลยืนอยู่หน้าสปอตไลต์ของเวทีประชุมนานาชาติ และก้าวไปอีกขั้นในความสำเร็จของนายทหารอาชีพควบคู่ไปกับกองทัพเขมรสมัยใหม่

ที่ไม่มีใครนึกภาพออกเลยในอดีต

เชื่อไหมในช่วงเวลาหนึ่ง เตีย บันห์ คนนี้ถึงถูกตราหน้าว่าเป็นสายลับสองหน้าและเขาไม่ใช่ชาวกัมปูเจีย แต่เป็นคนไทยที่มาเติบโตในเขมร เหมือนที่ฮุน เซน ถูกตราหน้าว่าเป็น “อายอง” หุ่นเชิดญวน

เตีย บันห์ ผ่านช่วงเวลาเหล่านั้นมาได้และทางลับ เขากลับเป็นผู้อยู่เบื้องหลังชัยชนะของฮุน เซน ในภาคตะวันตกเขตเก่าเขมรแดงที่เคยเป็นพรมแดนปิดกว่าที่ฮุน เซน จะตีแตกก็เข้าปีสหัสวรรษ ตั้งแต่อัลลองแวงจนถึงกรุงเสียมเรียบ กระทั่งคณะฮุน เซน ถึงกับวางศาลหลักเมือง “ชัยชนะ” ขึ้นที่นี่

เสียมเรียบจึงเป็นอีกเมืองที่ฮุน เซน ปักหลักแต่กลายกลับเป็นตระกูลเตียรุ่นลูกที่ใกล้ชิดฮุน มานิต ทายาทอีกคนของสมเด็จฮุน เซน ที่คุมฝ่ายข่าวกรองความมั่นคง

ขณะที่เกาะกงกลายเป็นเมืองแห่งโภคผลของระบอบฮุนเซนยุคหลังแต่บุตรชายเตีย บันห์ กลับมายึดหัวหาดในตำแหน่งกึ่งพ่อเมืองที่เสียมเรียบที่บ่งบอกว่า ความสัมพันธ์เชิงลึกของเตีย-ฮุนรุ่นทายาทนี้ ที่ยกระดับ “ระบอบนอมินี” โดยมิต้องอาศัย “ดองญาติทางสมรส” เช่น ฮุน เซน เคยทำมาตลอดในอดีต

แต่เป็นมิติการเมืองรุ่น 2 ของระบอบฮุนเซนที่แนบแน่นเป็นคำรบ

และเป็นคำตอบว่า ทำไมเตีย บันห์ จึงนั่งกลาโหมยาวนานกว่านายพลคนใดในเขมรและภูมิภาคอาเซียน และเป็นหนึ่งในโมเดลของทุกองคาพยพแห่งระบอบฮุนเซน ที่นับวันจะแข็งแกร่ง

แห่งระบอบสมบูรณ์แบบ “สำเร็จขญม”