สมหมาย ปาริจฉัตต์ : ตามรอยครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี แด่คุณครูผู้ให้ (จบ)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

ตามรอยครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี เดินทางมาถึงตอนสุดท้าย ก่อนงานพิธีรับพระราชทานรางวัลครั้งที่ 2 จะมีขึ้นวันที่ 11 ตุลาคม 2560 ที่โรงแรมเซ็นทาราแกนด์ และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กทม.

นอกจากครูผู้ได้รับพระราชทานรางวัลจาก 11 ชาติในอาเซียนแล้ว ในส่วนประเทศไทยยังมีครูผู้มีคุณสมบัติเหมาะสม ได้รับการเสนอชื่อพิจารณาเชิดชูในระดับรางวัลคุณากร ครูยิ่งคุณ และครูขวัญศิษย์ ที่ควรบันทึกไว้เป็นเกียรติประวัติชีวิต

รางวัลคุณากร 2 คนได้แก่ นางนฤมล แก้วสัมฤทธิ์ ครู กศน. ของศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขาบ้านกรูโบ จ.ตาก และ นายศรัณย์ ศรีมะเริง อายุ 55 ปี ครูชำนาญการพิเศษ วิชาดนตรี โรงเรียนเมืองนครราชสีมา อ.เมือง จ.นครราชสีมา

 

รางวัลครูยิ่งคุณ 17 คน ที่ควรบันทึกไว้เป็นเกียรติประวัติชีวิต ได้แก่ นางเกลียว เสร็จกิจ (ขวัญจิต ศรีประจันต์) อายุ 70 ปี สอนทั้งในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา มาเป็นระยะเวลา 26 ปี ปัจจุบันปฏิบัติหน้าที่อาจารย์พิเศษสอนวิชาวัฒนธรรมเพลงพื้นบ้าน ศิลปะการแสดง วิทยาลัยนาฏศิลป์สุพรรณบุรี นางกานต์ชนก มางัดสาเระ ครูวิชาการงานและเทคโนโลยี โรงเรียนบูกิตประชาอุปถัมภ์ ต.บูกิต อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส นายเกรียงศักดิ์ ฤกษ์งาม ครูประถมศึกษา โรงเรียนคลองพิทยาลงกรณ์ เขตบางขุนเทียน กทม.

นางสาวจันทพร พลอินตา ครูภาษาไทย โรงเรียนวัดห้วยแก้ว อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ นายโชติ ไกรศิริ ครูวิชาดนตรีไทยและดนตรีสากล โรงเรียนหารเทารังสีประชาสรรค์ ต.หารเทา อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง นายเช้า วาทโยธา ผู้ทรงคุณวุฒิและจัดการเรียนรู้ด้านมวยไทยและมวยสากลให้กับสถาบันการศึกษาระดับต่างๆ ทั้งในจังหวัดขอนแก่นและจังหวัดอื่นๆ

นางธนัญญา จันทะ ครูวิชาไฟฟ้า วิทยาลัยการอาชีพโพนทอง จ.ร้อยเอ็ด นายบรรจง สมบัติ ครูพลศึกษา โรงเรียนหนองเรือวิทยา อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น นางเบญจมาศ วัยนิพิฐพงษ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยกบ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี นายประจักษ์ ชูศรี ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลปัตตานี อ.เมือง จ.ปัตตานี นายประเสริฐ แสงโป๋ ครูวิชาไฟฟ้า วิทยาลัยเทคนิคพระนครศรีอยุธยา นายพรชัย ตั้งยิ่งยง ครูคณิตศาสตร์ โรงเรียนยโสธรพิยาคม อ.เมือง จ.ยโสธร นางวิชมัด งามจิตร ครูคณิตศาสตร์ โรงเรียนบุญวัฒนา จ.นครราชสีมา นางสาวละเอียด มาดี ครูวิชาการงานพื้นฐานอาชีพ และวิชาภาษาไทย โรงเรียนเทศบาล 3 วัดไชนาวาส จ.สุพรรณบุรี รศ.ลัดดา ภู่เกียรติ ครูวิชาวิทยาศาสตร์ในระดับประถมศึกษาเป็นระเวลา 37 ปี ปัจจุบันจัดการเรียนรู้ที่โรงเรียนสาธิตพัฒนา เขตคลองสามวา กทม.

นางสมจิตต์ ตีบกลาง ครูฟิสิกส์ โรงเรียนป่าพะยอมพิทยาคม อ.ป่าพะยอม จ.พัทลุง นางสุวารี พงศ์ธีระวรรณ ครูชีววิทยา โรงเรียนสุราษฎร์พิทยา จ.สุราษฎร์ธานี

 

เพื่อให้รู้จักความเป็นมาการดำเนินชีวิต แนวคิด ปรัชญา อุดมการณ์ของครู โดยเฉพาะอย่างยิ่งครูผู้ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีของทุกประเทศ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี คงประมวลสรุปเผยแพร่โดยละเอียดต่อไปเช่นเดียวกับครั้งแรก

เริ่มจากประเทศไทย ครูจิรัฏฐ์ ผู้ที่มีความรักและศรัทธาต่อวิชาชีพครูมาตั้งแต่สมัยเรียนชั้นมัธยมศึกษา ตลอดระยะเวลา 36 ปี ของการเป็นครูมีการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง และพิสูจน์ให้เห็นว่าทุกคนพัฒนาได้

ครูจึงเปลี่ยนวิถีชีวิตจากครูพลศึกษามาเป็นครูสอนคอมพิวเตอร์ ที่มีความสามารถสอน Application ในชั้นเรียนได้เป็นคนแรกๆ ของครูไทยในสมัยนั้น รู้เท่าทันเทคโนโลยี

สอนลูกศิษย์อยู่เสมอว่า “ต้องนำเทคโนโลยีมาใช้ ไม่ใช่ตกเป็นทาสของเทคโนโลยี”

“แรงบันดาลใจของการเป็นครูมาจากการได้รับความช่วยเหลือจากครูอยู่เสมอในสมัยเรียน เพราะมาจากครอบครัวที่แตกแยกจึงต้องส่งตัวเองเรียน ซึ่งครูส่วนใหญ่เข้าใจปัญหาจึงประทับใจครูเหล่านั้นและคิดว่าสักวันถ้ามีโอกาสเป็นครูจะต้องเข้าใจเด็กให้มาก เพราะเด็กที่มาจากสภาพครอบครัวที่แตกแยกไม่ใช่ปัญหาของสังคมเสมอไป ถ้าหากมีคนเอาใจใส่ ดูแลและดึงศักยภาพของเขาออกมาจะช่วยให้เขามีอนาคตที่ดีขึ้นได้”

“ที่สำคัญที่สุดและเปลี่ยนชีวิตตนคือ ทุนภูมิพล ซึ่งเป็นทุนที่ไม่มีเงื่อนไข ไม่มีข้อผูกมัด แต่เป็นทุนที่สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้รับทุนเกิดสำนึกที่จะตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน เป็นการใช้หนี้ทุนที่ไม่มีวันสิ้นสุดไปตลอดชีวิต จึงขอเป็นครูที่ดี ขยันเรียนรู้ นำความรู้ใหม่มาพัฒนาส่งเสริมนักเรียนในทุกด้านจนกว่าจะหมดแรง”

ครูจิรัฏฐ์ ย้ำ

 

ขณะที่ครูนฤมลเล่าว่า หากความเหน็ดเหนื่อยของตนเพียง 1 คน สามารถทำให้คนอีก 10 คน 100 คน ได้มีความเป็นอยู่ที่ดีและรับโอกาสที่ดีก็เป็นสิ่งสมควรทำเพื่อประเทศชาติ เปรียบเสมือนในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงเสียสละ ทรงงานหนักเพื่อคนไทยอีก 60 ล้านคน ได้อยู่ดีมีสุข

จึงขอปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่บ้านกรูโบ เป็นเวลา 18 ปี โดยไม่เคยขอย้ายไปที่อื่น

เพราะคิดเสมอว่า หากไม่มีใครอาสามาเป็นครูที่แห่งนี้แล้ว เยาวชนและประชาชนในชุมชนแห่งนี้คงจะไม่ได้รับโอกาสเรียนรู้ภาษาไทย ทั้งที่เขาก็เป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย และพยายามปลูกฝังให้ลูกศิษย์รักชุมชนของตนเอง เมื่อเขาเรียนจบเขาจะรักบ้านเกิดไม่ทิ้งถิ่นของตนเอง

ส่งผลให้มีนักเรียนหลายคนเกิดแรงบันดาลใจอยากเรียนครูเพื่อกลับมาทำหน้าที่ครูในชุมชนของตนเองบ้าง

 

ด้านครูนายศรัณย์ ผู้ใช้ดนตรีเปลี่ยนชีวิตลูกศิษย์ ด้วยนวัตกรรมปัญจวิธีการสอนดนตรีวงเมโลเดียนและพัฒนาเป็นวงโยธวาทิต บอกว่า หลักในการสอนคือ ทำอย่างไรให้เด็กเรียนจบแล้วต้องเก่งกว่าครู การเป็นครูสอนดนตรีนั้นต้องสอนให้ศิษย์ไปให้ไกลกว่าอาชีพนักดนตรี โดยเริ่มต้นจากการเป็นครูที่ดีให้ได้เสียก่อน จากนั้นได้คิดค้นนวัตกรรมปัญจวิธีโดยการใช้โน้ตดนตรีเปรียบเทียบกับตัวเลขเพื่อสอนเด็กในระดับประถมศึกษาและใช้ตัวการ์ตูนเพื่อสอนเด็กในระดับอนุบาล ทำให้เด็กเข้าใจง่ายและคุ้นเคยกับดนตรีได้เร็ว ซึ่งลูกศิษย์ได้มีโอกาสเผยแพร่การสอนนวัตกรรมปัญจวิธีที่ประเทศภูฏานด้วย

ครับ สำหรับครูอีก 10 ท่านที่ได้รับการคัดเลือกจากประเทศนั้นๆ ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานมูลนิธิและคณะกรรมการ ได้เดินทางไปเยี่ยมเยียน และพบปะผู้บริหารระดับรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง หัวหน้าหน่วยงานการศึกษา ผู้บริหารโรงเรียน ผู้แทนชุมชน องค์กรภาคเอกชน เล่าเรื่องผ่านไลน์ ถึงสาระและบรรยากาศการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แบ่งปันให้ผู้สนใจติดตามความเป็นไปทางด้านการศึกษา เช่นที่ทำมาเมื่อคราวคัดเลือกครั้งแรก

ผมและเพื่อนสื่อมวลชนมีโอกาสเกาะท้ายไปบ้างในบางจุด คงหาจังหวะถ่ายทอด เล่าสู่กันฟังบ้าง ตามสไตล์ผู้สังเกตการณ์ทางการศึกษาต่อไป รอติดตาม