ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 26 สิงหาคม - 1 กันยายน 2559 |
---|---|
คอลัมน์ | คนแคระบนบ่ายักษ์ |
เผยแพร่ |
รัฐบาลยิ่งลักษณ์เข้าข่ายระบอบอำนาจนิยมหรือไม่ ? (15) : การฆ่าตัวตายทางการเมืองของรัฐบาลหุ่นเชิด จนถึงวิกฤตมาตรา 7 ครั้งที่สอง
หลายคนอาจจะไม่ได้ทันสังเกตว่า “มาตรา 7” ที่ว่า “เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” เป็นประเด็นสำคัญประการหนึ่งที่เกิดขึ้นก่อน “รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557” และเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ต้องเกิดรัฐประหาร เพราะในบริบทของวิกฤตการเมืองระหว่าง พ.ศ.2556-2557 มาตรา 7 ถูกใช้อ้างอิงจากขั้วการเมืองทั้งสองฝ่ายที่เป็นคู่ขัดแย้ง ซึ่งต่างจากบริบทของวิกฤตการเมือง พ.ศ.2549 ที่มีฝ่ายหนึ่งพยายามใช้ แต่อีกฝ่ายหนึ่งโต้แย้งว่าใช้ไม่ได้
คราวที่แล้วได้นำเสนอเกี่ยวกับข้อคิดเห็นของบุคคลและฝ่ายต่างๆ ต่อมาตรา 7 ในวิกฤตการเมือง พ.ศ.2556-2557 โดยมาถึงคำอธิบายความของ คุณปกรณ์ นิลประพันธ์ (ปัจจุบันเป็นหนึ่งในคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ) ที่ยังค้างอยู่
ผู้เขียนจึงขอนำเสนอความเห็นของคุณปกรณ์ต่อในคราวนี้
คุณปกรณ์กล่าวต่อไปว่า “อย่างไรก็ดี เมื่อบันทึกเจตนารมณ์ในการยกร่างมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 เท้าความว่า เป็นการคงหลักการเดิมตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540
ผู้เขียน (คุณปกรณ์) จึงตรวจสอบเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ต่อไป และพบว่าคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2540 มิได้เสนอบทบัญญัติที่ว่า “เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ไว้ด้วย แต่มีการเพิ่มเข้ามาในชั้นคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ
โดยคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญได้ชี้แจง ความจำเป็นที่ต้องมีบทบัญญัติดังกล่าวว่า เนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญ (2540) เปลี่ยนหลักการของตุลาการรัฐธรรมนูญเป็นศาลรัฐธรรมนูญ จึงเห็นควรมีการ “อุดช่องว่าง” ของการใช้บังคับกฎหมาย เพราะการบัญญัติในรัฐธรรมนูญจะมีรายละเอียดในประเด็นต่างๆ มากมิได้ จึงต้องหาทางแก้ไขปัญหาตั้งแต่เริ่มแรก เพื่อมิให้เกิดปัญหาการตีความของกฎหมาย
อีกทั้งรัฐธรรมนูญจะต้องครอบคลุมเหตุการณ์ต่างๆ ในภายภาคหน้า ซึ่งอาจจะเป็นเหตุการณ์ที่ไม่สามารถคาดคิดได้ในปัจจุบัน
การมีบทบัญญัติดังกล่าวไว้จะทำให้รัฐธรรมนูญมีความเป็นไปได้ในการบังคับใช้ “ตลอดกาล”
จากข้อเท็จจริงดังกล่าว จะเห็นได้ว่าเจตนารมณ์ของบทบัญญัติที่ว่า “เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ของรัฐธรรมนูญฉบับถาวรนั้น “แตกต่าง” จากที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่ผู้เขียนสันนิษฐานไว้ดังกล่าวข้างต้นโดยสิ้นเชิง
กล่าวคือ มันได้ “แปลงร่าง” จากการเป็น “กรอบการใช้อำนาจขององค์อธิปัตย์” เพื่อให้เป็นไปตามหลักการแบ่งแยกอำนาจและ Rule of Laws ไปเป็น “เครื่องมือในการอุดช่องว่างที่อาจมีของรัฐธรรมนูญ” เสียแล้ว
นอกจากนี้ ผู้มีอำนาจวินิจฉัยก็ได้เปลี่ยนแปลงไปจาก “องค์อธิปัตย์” เป็น “ศาลรัฐธรรมนูญ”
แต่หากพิจารณาบทบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 แล้ว ผู้เขียนเห็นว่าการใช้อำนาจขององค์อธิปัตย์ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวต่างจากศาลรัฐธรรมนูญโดยสิ้นเชิง
เนื่องจากองค์อธิปัตย์ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวนั้นถืออำนาจอธิปไตยทั้งสามไว้ในมือ ไม่ว่าจะเป็นอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ และรัฐธรรมนูญชั่วคราวเองก็มีเพียงไม่กี่มาตราเท่านั้น จึงต้องมีกรอบการใช้อำนาจให้เป็นไปตามหลักการแบ่งแยกอำนาจและ Rule of Laws ส่วนศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญถาวรใช้อำนาจตุลาการและต้องตัดสินคดีตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายอยู่แล้ว
ในส่วนที่เกี่ยวกับการร่างกฎหมาย โดยที่รัฐธรรมนูญฉบับถาวรนั้นมีบทบัญญัติรองรับเรื่องต่างๆ ไว้อย่างเป็นระบบและละเอียดลออรวมหลายร้อยมาตรา และรัฐธรรมนูญฉบับถาวรทุกฉบับในช่วงหลังปี 2502 ถึงก่อนฉบับปี 2540 ก็ไม่เคยนำบทบัญญัติที่มีวัตถุประสงค์เฉพาะของธรรมนูญการปกครองชั่วคราวตามมาตรา 20 ของธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 มาบัญญัติไว้ด้วย
ผู้เขียน (คุณปกรณ์) จึงไม่แน่ใจว่าการนำบทบัญญัติที่ว่า “เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” มาบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับถาวรนั้น สอดคล้องและเหมาะสมกับ “ธรรมชาติ” ของรัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่มีบทบัญญัติต่างๆ ร้อยเรียงกันอย่างครบถ้วนและเป็นระบบอยู่แล้วหรือไม่”
ที่กล่าวไปข้างต้นนี้คือความเห็นของ คุณปกรณ์ นิลประพันธ์ ที่ปรากฏต่อสาธารณะในวันที่ 17 ธันวาคม 2556
ต่อมาวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2557 มี “แถลงการณ์ต่อสถานการณ์การเมืองไทย : นายกฯ มาตรา 7-เลือกตั้งใน 2 ปีแก้วิกฤตประเทศ” ของ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์
โดย ดร.อาทิตย์ ชี้ว่า การดำเนินการของรัฐบาลชั่วคราวของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หมดความชอบธรรม ทั้งทางกฎหมายและทางการเมืองที่ได้ละเมิดรัฐธรรมนูญ และประพฤติผิดมิชอบในโครงการรับจำนำข้าว
เป็นรัฐบาลทรราช ประชาชนทุกหมู่เหล่ามีความประสงค์ที่จะใช้อำนาจอธิปไตยของตนเองตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 พร้อมทั้งเหตุสุดวิสัยตามมาตรา 127 ที่ไม่สามารถเปิดการประชุมรัฐสภาครั้งแรกได้ และมาตรา 171 ซึ่งไม่อาจจัดหาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้
จึงจำเป็นที่องค์พระประมุขของประเทศ จะต้องทรงวินิจฉัยเพื่อแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 7 ขึ้นมา เพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ โดยอาศัยอำนาจประเพณีการปกครอง เมื่อครั้งเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 และเหตุการณ์วันประชาธิปไตย 14 ตุลาคม 2516 อันเป็นประเพณีการปกครองตามนัยยะมาตรา 7 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550
โดยขอพระบรมราชานุญาตให้รองประธานวุฒิสภา เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี เพื่อแต่งตั้งและบริหารประเทศเป็นการชั่วคราว
โดยให้รัฐบาลใหม่ดำเนินการปฏิรูปประเทศให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ แก้ไขกฎระเบียบ และจัดการเลือกตั้งขึ้นมาใหม่ภายใน 2 ปี”
ต่อมาในวันที่ 13 เมษายน 2557 คุณชัยเกษม นิติสิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งกล่าวได้ว่า อยู่ทางฝั่งของพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ ระบุว่า ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พ้นสถานภาพรักษาการของนายกรัฐมนตรีจากกรณีการแต่งตั้งโยกย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ไปเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่รัฐบาลจะต้องอยู่รักษาการต่อไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 จะเสนอทางออกให้รัฐบาลใช้รัฐธรรมนูญ มาตรา 7 เพื่อทรงมีพระบรมราชวินิจฉัย เพราะรัฐบาลไม่มีทางออกแล้ว
จะสังเกตได้ว่า ข้อเสนอดังกล่าวนี้แตกต่างจากความเห็นของคู่ขัดแย้งทางการเมืองในบริบทวิกฤตการเมือง พ.ศ.2549 เพราะในบริบทดังกล่าว ฝ่ายหนึ่งเรียกร้องให้มี “นายกฯ พระราชทาน” โดยผ่านมาตรา 7 แต่อีกฝ่ายแย้งว่า ทำไม่ได้ แต่ข้อเสนอของคุณชัยเกษม ไม่ได้โต้แย้งว่าทำไม่ได้ แต่เสนอให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัย” ต่อปัญหาที่คู่ขัดแย้งทางการเมืองเห็นต่างกัน
ขณะเดียวกัน ในวันเดียวกันนั้นคือ 13 เมษายน 2557 คุณคณิน บุญสุวรรณ ฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทยกลับออกมาแสดงความคิดเห็นแย้งข้อเสนอของคุณชัยเกษมที่เสนอให้รักษาการนายกรัฐมนตรีทูลเกล้าฯ ขอพระบรมราชวินิจฉัยตาม มาตรา 7 หากศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้นายกฯ สิ้นสภาพจากการโยกย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการ สมช. ไม่เป็นธรรม
โดยคุณคณินกล่าวว่า ไม่ทราบว่า นายชัยเกษม มีวัตถุประสงค์อะไร ที่เสนอเรื่องนี้ขึ้นมา เพราะจริงๆ แล้วมาตรา 7 เหมือนกับเป็นส่วนเกินของรัฐธรรมนูญ ดังนั้น จึงไม่ควรใช้ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาลหรือ กปปส. ซึ่งหากทุกฝ่ายเดินไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญอย่างตรงไปตรงมา ก็จะไม่มีอะไรที่นอกเหนือจากความน่าจะเป็น “มาตรา 7 ไม่สามารถเป็นทางออกของวิกฤตการเมืองในขณะนี้ได้
แต่ผมมองว่าการออกมาพูดเรื่องนี้ของนายชัยเกษม น่าจะเป็นลักษณะของการพูดดักคอ หรือเอาไว้แก้เกมมากกว่า ซึ่งในพรรคเองไม่มีใครทราบเรื่องนี้ และหลังสงกรานต์คงจะได้พูดคุยกันว่าเป็นอย่างไรกันแน่ แต่ที่แน่ๆ พรรคเพื่อไทยไม่เอาเรื่องนี้แน่นอน
และที่ผ่านมาพรรคก็คัดค้านมาตลอด”