พฤษภารำลึก (9) ความฝันจากละตินอเมริกา/ยุทธบทความ สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ

สุรชาติ บำรุงสุข

 

พฤษภารำลึก (9)

ความฝันจากละตินอเมริกา

 

“การที่ระบอบการเมืองไม่เป็นอิสระจากกองทัพ จึงมีนัยว่าความมีอภิสิทธิ์ของทหาร

ยังดำรงอยู่เป็นอย่างมาก และนั่นคือปัจจัยในการทำลายความชอบธรรมของ

ระบอบประชาธิปไตยใหม่ในสายตาของประชาสังคม”

Alfred Stepan (1988)

ผู้เชี่ยวชาญด้านทหารกับการเมืองในละตินอเมริกา

 

หลายท่านคงจะสังเกตได้ว่า ผมเริ่มบทความชุด “รำลึกพฤษภา” ด้วยวรรคทองที่ศาสตราจารย์อัลเฟรด สเติปเปิน เขียนไว้ในหนังสือชื่อ Rethinking Military Politics : Brazil and the Southern Cone (Princeton University Press, 1988) หนังสือนี้อาจจะดูเป็นหนังสือเก่าสำหรับยุคสมัยปัจจุบัน แต่ข้อคิดและประเด็นที่นำเสนอ ยังชวนให้ผมต้องหยิบกลับมาอ่านเสมอ

อย่างไรก็ตาม ทั้งผู้เขียนและผลงานทางวิชาการของอาจารย์ท่านนี้อาจจะไม่เป็นที่คุ้นเคยในสังคมวิชาการไทย

ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นผลงานทางวิชาการที่เป็นเรื่องของความสัมพันธ์พลเรือน-ทหาร ซึ่งอาจจะไม่ใช่ประเด็นที่วงวิชาการไทยสนใจเท่าใดนัก

และอีกส่วนอาจเป็นเพราะเป็นเรื่องของทหารกับการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยในภูมิภาคละตินอเมริกา จนหลายคนอาจจะรู้สึกว่า เป็นเรื่องที่ห่างไกลจากสังคมไทย

แต่สำหรับคนที่สนใจศึกษาเรื่องทหารกับการเมืองแล้ว หนังสือเล่มนี้มีประเด็นชวนให้คิดต่อมากมาย

โดยเฉพาะบทบาทของระบอบ “ประชาธิปไตยใหม่” (The New Democracy) ที่เกิดขึ้นหลังจากการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง และการลดอิทธิพลของกองทัพในทางการเมือง

เพราะกระบวนการสร้างประชาธิปไตยไม่สามารถดำเนินไปอย่างมีเสถียรภาพได้ โดยปราศจากการจัดวาง “ยุทธศาสตร์ความสัมพันธ์พลเรือน-ทหารใหม่” มิฉะนั้นแล้ว การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองจะมีความเปราะบางในตัวเองอย่างมาก

และความไม่พอใจของผู้นำทหาร (รวมถึงผู้นำปีกอนุรักษนิยม) อาจนำไปสู่การล่มสลายของระบอบประชาธิปไตยใหม่ได้เสมอ

 

ทหารอาชีพใหม่!

ถ้าเป็นในอดีต ผมคงไม่ยอมอ่านหนังสือเล่มนี้ ที่แม้จะเป็นเรื่องของทหารกับการเมือง แต่ก็เป็นทหารละตินอเมริกาที่ห่างไกลอย่างมากทั้งในทางภูมิรัฐศาสตร์ และในทางการเมืองจากประเทศไทย

แต่การกลับมาเรียนต่อในระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ที่นิวยอร์ก ผมเริ่มรู้สึกว่า ความสนใจที่มุ่งเฉพาะอยู่กับเรื่องของทหารไทยแต่เพียงอย่างเดียวนั้น ไม่เพียงพอที่ผมจะทำความเข้าใจกับประเด็นของทหารไทยกับการเมือง

ในมุมมองของการเมืองโลกแล้ว ปัญหา “ทหารกับการเมือง” เป็น “โรคร้าย” ที่เกิดกับหลายประเทศในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และเกิดกับประเทศที่มีสถานะ “ด้อยพัฒนา” หรือ “กำลังพัฒนา” ไม่แตกต่างกัน แม้จะอยู่คนละภูมิภาคก็ตาม

สำหรับในกระบวนการเรียนรู้เรื่องทหารกับการเมือง ละตินอเมริกาเป็นภูมิภาคที่มีความอุดมสมบูรณ์ทั้งในทางทฤษฎีและปฏิบัติ

หรือที่เราล้อกันเล่นๆ ในยุคนั้นว่า ละตินอเมริกาคือ “ภูมิภาคแห่งการรัฐประหาร” และเป็นภูมิภาคที่แสดงให้เห็นถึงการแทรกแซงทางการเมืองของทหาร

และยังเห็นถึงการสร้างอำนาจของสถาบันกองทัพที่เข้มแข็งในรูปแบบต่างๆ อันทำให้คนที่สนใจเรื่องทหารกับการเมืองไม่อาจละเลยความสนใจต่อกองทัพละตินอเมริกาในทางการเมืองได้เลย

ความน่าสนใจอย่างสำคัญอีกประการที่สำคัญคือ กองทัพละตินอเมริกาที่เข้มแข็งในทางการเมืองนั้น ทำไมสุดท้ายแล้ว ผู้นำทหารในภูมิภาคดังกล่าวยอมรับการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย ทั้งที่ทหารในภูมิภาคนี้มีทัศนะต่อต้านประชาธิปไตยอย่างมาก หรือที่เรียกด้วยสำนวนการเมืองละตินอเมริกาคือ “อุดมการณ์ต่อต้านการเมือง” (Antipolitics Ideology)

ซึ่งชุดความคิดนี้เป็นผลโดยตรงจากสงครามเย็นในภูมิภาค หรืออีกนัยหนึ่งเป็นปฏิกิริยาตอบโต้ต่อชัยชนะของการปฏิวัติในคิวบา

ชุดความคิดนี้คือการออกแบบให้กองทัพต้องเข้าไปมีบทบาทในการพัฒนา ด้วยการสร้าง “ทหารนักพัฒนา” อันจะเป็นพลังในการต่อสู้กับการขยายตัวของสงครามคอมมิวนิสต์ หรืออีกนัยหนึ่งทหารมี “ภารกิจด้านการพัฒนา” (developmental mission)

อุดมการณ์ต่อต้านการเมืองในยุคสงครามเย็นจึงทำให้เกิดการตีความในเรื่องความมั่นคง และด้วยสถานการณ์สงครามปฏิวัติจึงทำให้ความมั่นคงมีความหมายในมุมกว้าง

หรือมีนัยดังคำกล่าวของผู้นำทหารในการรัฐประหารที่บราซิลว่า “ความมั่นคงแห่งชาติรวมทุกสิ่งทุกอย่างที่มีผลกระทบต่อชีวิตของประเทศ” อันเท่ากับเป็นคำตอบในตัวเองว่า ทหารที่มีภารกิจด้านความมั่นคง จะเข้ามาทำภารกิจที่ครอบคลุมทุกเรื่อง เพราะทุกเรื่องที่เกิดขึ้นนั้น สามารถตีความได้ว่าเป็นประเด็นที่มีผลกระทบต่อประเทศ

หากพิจารณาจากมุมมองเช่นนี้ กองทัพในละตินอเมริกาจึงมิได้แทรกแซงทางการเมืองเพียงเพื่อทำการจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราว เพื่อทำหน้าที่ในการรักษาเสถียรภาพทางการเมือง

หากแต่พวกเขาแทรกแซงด้วยชุดของอุดมการณ์อีกแบบ หรือด้วยมุมมองทางการเมืองใหม่ ที่ทำให้เกิด “หลักนิยมของสงครามภายใน” (Internal Security Doctrine) อันมีนัยโดยตรงที่เน้นถึงการต่อสู้กับสงครามคอมมิวนิสต์ภายใน มากกว่าจะมุ่งในเรื่องของสงครามภายนอก

ซึ่งนักวิชาการทางด้านละตินอเมริกาอย่างสเติปเปินและอีกหลายท่านเห็นถึงความเป็น “ทหารอาชีพใหม่” (The New Professionalism) ที่ทหารขยายบทบาทในสังคม และสร้างให้เกิด “ระบอบทหารใหม่” หรือเป็น “ระบอบอำมาตยาธิปไตย” (Bureaucratic Authoritarianism)

ซึ่งระบอบการเมืองนี้สร้างขึ้นด้วยการมีทหารเป็นผู้ควบคุมสังคมการเมือง

 

มุมมองเปรียบเทียบ

ผมอ่านงานวรรณกรรมของทหารละตินอเมริกาด้วยความตื่นเต้น และรู้สึกว่ากองทัพในการเมืองไทยไม่ใช่สิ่งที่เป็น “เอกลักษณ์เฉพาะ” หากแต่มีหลายส่วนที่คล้ายคลึงกับทหารละตินอเมริกา โดยเฉพาะบทบาทในการพัฒนาเพื่อการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์

พร้อมกับความพยายามที่จะสร้างชุดความคิดทางการเมืองใหม่ในหมู่นายทหารในยุคคำสั่ง 66/23 เป็นแต่เพียงไม่ปรากฏรูปการณ์ทางความคิดชัดเจนเช่นในอเมริกาใต้

ในช่วงที่ผมเรียนปริญญาเอกเช่นนี้ มีการกำเนิดของสาขา “เปลี่ยนผ่านวิทยา” (Transitology) ที่ส่วนหนึ่งคือ ความพยายามในการศึกษาถึงบทบาทของกองทัพในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมือง และคำถามสำคัญคือ ทำอย่างไรที่กองทัพจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการสร้างประชาธิปไตย และรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งควรจัดความสัมพันธ์กับกองทัพอย่างไรในภาวะของการเปลี่ยนผ่าน เพื่อที่ระบอบประชาธิปไตยใหม่จะไม่เกิดการล่มสลายอีกครั้ง และกองทัพจะมีบทบาทในระบอบใหม่อย่างไร

ในวันเวลาที่เป็นนักเรียนรัฐศาสตร์เช่นนี้ ผมจึงแบ่งร่างเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนหนึ่งสนใจเรื่อง “ยุทธศาสตร์ทหาร” ที่มีนัยโดยตรงถึงกระบวนการทำสงครามของรัฐ

อีกส่วนคือสนใจเรื่อง “ยุทธศาสตร์การเมืองต่อทหาร” ที่เกี่ยวข้องโดยตรงต่อกระบวนการสร้างประชาธิปไตย ซึ่งในส่วนนี้สำหรับผมแล้ว บทเรียนสำคัญอยู่ในละตินอเมริกา

เพราะกองทัพในภูมิภาคนี้มีความเข้มแข็งจนการ “พาทหารกลับกรมกอง” ดูจะเป็นไปไม่ได้เลย โดยมีความเชื่อพื้นฐานว่า การปกครองของทหารจะก่อให้เกิดความเป็นสมัยใหม่ทางสังคม การพัฒนาทางเศรษฐกิจ และเสถียรภาพทางการเมือง อันเป็นสิ่งที่ผมเรียกว่า “แก้ววิเศษ 3 ประการ” ของผู้นำทหาร

ดังนั้น คลื่นการเมืองใหม่ของทหารที่เริ่มในต้นทศวรรษของปี พ.ศ.2503 (ทศวรรษ 1960) ด้วยรัฐประหารในบราซิลและเปรู ได้พากองทัพทั้งภูมิภาคเข้าสู่การแทรกแซงทางการเมือง

ดังจะเห็นได้ว่าในปี 2522 สองในสามของประชากรในภูมิภาคอยู่ภายใต้การปกครองของทหาร

แต่หลังจากการสิ้นสุดของสงครามเย็นในปี 2537 ไม่มีระบอบการปกครองของทหารเหลือในภูมิภาคนี้อีกเลย…

ต้องถือว่าเป็นเรื่องเหลือเชื่อในทางการเมืองอย่างยิ่ง จวบจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีการหวนคืนสู่รัฐประหารอีกแต่อย่างใด

ภูมิภาคเราฝันที่จะเดินไปแบบละตินอเมริกาได้หรือไม่

หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังต้อง “คำสาป” ที่ชนชั้นนำ และบรรดาผู้นำปีกขวาทั้งหลาย ยังเคลิบเคลิ้มตกอยู่ใน “เสนามนตรา” ไม่สิ้น

ถ้า 2537 คือปีสิ้นสุดของระบอบทหารในละตินอเมริกา แล้วปีใด จะเป็นปีสุดท้ายของระบอบทหารในภูมิภาคของเรา

แต่อย่างน้อยตอนนั้น เราฝันถึงบ้านตัวเองว่า ฤดูใบไม้ผลิที่กรุงเทพฯ ในปี 2535 จะเป็นการสิ้นสุดของฤดูหนาวในการเมืองไทยที่มากับการยึดอำนาจได้หรือไม่

 

เราจะยังคงฝันต่อไป

ในระหว่างต้องเตรียมโครงร่างวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ผมนั่งอ่านข้อเสนอของสเติปเปิน (หนังสือที่กล่าวในข้างต้น) และแนวคิดของนักวิชาการที่ศึกษาเรื่องทหารกับการเมืองในละตินอเมริกา

ข้อเสนอที่สำคัญคือ จะต้องสร้างความสัมพันธ์พลเรือน-ทหารใหม่ เพื่อทำให้ระบอบประชาธิปไตยใหม่สามารถเผชิญปัญหาทหารกับการเมืองได้ และเป็นความหวังว่า หากการจัดความสัมพันธ์เช่นนี้เกิดได้จริงแล้ว ก็จะทำให้แนวคิดของการ “ควบคุมทหารโดยพลเรือน” (civilian control) เกิดขึ้นได้ด้วย

แนวคิดนี้ในวิชารัฐศาสตร์ถือเป็นแกนหลักที่สำคัญในการสร้างความสัมพันธ์พลเรือน-ทหารที่เป็นประชาธิปไตย

เมื่อกลับมาถึงกรุงเทพฯ แล้ว ผมเริ่มกลับมาเขียนบทความลงมติชนสุดสัปดาห์ หลังจากที่ต้องร้างราเวทีไปเพราะการไปเรียนต่อต่างประเทศ ซึ่งต้องขอขอบคุณพี่ช้าง (พี่ขรรค์ชัย บุนปาน) และพี่เถียร (พี่เสถียร จันทิมาธร) ที่ให้โอกาสผมกลับเข้ามาสู่ “สวนอักษรมติชน” อีกครั้ง…

จำได้ดีว่า ผมเอาบทความที่นำเสนอในการประชุมเอเชียศึกษาที่สหรัฐ มาเรียบเรียงเป็นบทความ 5 ตอนลงสุดสัปดาห์ ตอนที่ 5 เป็นหนังสืออ้างอิงของงาน ซึ่งอาจจะดูเป็นเรื่องแปลกสักหน่อย

แต่พี่เถียรก็กรุณาอย่างมากที่ยอมพิมพ์แหล่งข้อมูลของบทความ อันเป็นความพยายามที่จะนำเสนอมุมมองเรื่องทหารไทยกับการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองที่เกิดหลังจากรัฐประหาร 2520

อาจจะดูเหมือนฝันสักนิด แต่ผมมีความหวังในการย้อนมองรัฐประหาร 2520 ว่า เป็นจุดเริ่มต้นของการเข้ามามีบทบาทของ “ทหารสายปฏิรูป” หรือที่ในทางรัฐศาสตร์เรียกพวก “soft liners” ในกระแสการเปลี่ยนผ่าน ที่ยอมประนีประนอมกับฝ่ายพลเรือน เพื่อประคับประคองไม่ให้สถาบันทหารต้องเผชิญกับวิกฤตทางการเมือง และยอมที่จะถอยกองทัพออกจากกระแสขวาจัดในแบบ “อุดมการณ์ต่อต้านการเมือง” ซึ่งการอยู่ในวังวนเดิม โดยไม่ยอมที่จะ “เปิดวาล์ว” เพื่อระบายแรงกดดันทางการเมืองออกไปบ้างแล้ว การเมืองจะเดินไปสู่การเผชิญหน้า และจบลงด้วยความรุนแรงดังเช่นในพฤษภาคม 2535

ผมฝันที่จะเห็นความเปลี่ยนแปลงของกองทัพไทยในการเมืองเสมอ และอาศัยเวทีมติชนเป็น “ฐานที่มั่นทางความคิด” เผื่อโชคดีจะมี “ผู้ใหญ่ในกองทัพ” อ่านกันบ้าง และยอมที่จะทำการปฏิรูปกองทัพ

เพราะต้องไม่ลืมว่า ในอีกด้านหนึ่ง สงครามเย็นได้ยุติแล้ว ไม่มีสงครามคอมมิวนิสต์แล้ว!