จับตาดาวมฤตยูย้ายราศี สะเทือนไปทั้งแผ่นดิน ศึกซักฟอก-นายกฯ 8 ปี รัฐบาลอยู่ไม่ครบเทอม?/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

จับตาดาวมฤตยูย้ายราศี

สะเทือนไปทั้งแผ่นดิน

ศึกซักฟอก-นายกฯ 8 ปี

รัฐบาลอยู่ไม่ครบเทอม?

ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ ดาวมฤตยูย้ายราศี วันที่ 7 กรกฎาคม 2565

นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) สวมบทบาทโหรการเมือง ทำนาย “6 เดือนของรัฐบาลกับดาวมฤตยู” ระบุ

นับแต่นี้ไปถึงสิ้นปีก็แค่ 6 เดือนเท่านั้น เร็วมาก ต่อแต่นี้เป็นเรื่องร้อนแรงทั้งในสภาและนอกสภา มีเวลาเหลืออยู่ไม่นาน จะรักหรือจะเกลียดรัฐบาลนี้เขาก็มีเวลาเหลืออยู่แค่นี้เท่านั้น

ดูจากสถานการณ์ทางการเมืองทั้งข้อจำกัดของรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้ง ทั้งมฤตยูย้ายวันที่ 7 กรกฎาคมนี้ ยังไงๆ รัฐบาลนี้ก็อยู่ไม่ครบวาระแน่นอน

การจะอยู่หรือไปก็เป็นเหตุผลทางการเมืองทั้งนั้น และนักการเมืองไม่ว่าซีกรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน มองถึงการเลือกตั้งและอำนาจข้างหน้ากันทั้งนั้น เศษๆ เลยๆ ของอำนาจที่เหลืออยู่ในขณะนี้ ก็แค่อึดใจเดียว

ผู้มีอำนาจบางท่านเคยบอกว่าหลังประชุมเอเปก 18-19 พฤศจิกายน แล้วค่อยยุบสภาจะเป็นเวลาที่เหมาะที่สุด

แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้น การอภิปรายไม่ไว้วางใจในปลายเดือนนี้มีแนวโน้มว่าจะมีไพร่พลบาดเจ็บล้มตายกันบ้าง ส่งผลให้เกิดแรงกระแทกกระทบไปถึงองคาพยพของผู้มีอำนาจ

24 สิงหาคม 2565 นายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี ก็มีประเด็นใหญ่ ไม่ควรที่จะมองข้ามดวงชะตาฟ้ากำหนด คนบางคนไม่เคยคิดจะมาก็ต้องมา ไม่เคยคิดจะไปก็ต้องไป จากนั้นกันยายนถึงพฤศจิกายน ก็แค่พรรษาเดียว

“เวลามันช่างสั้นจริงๆ อย่าคิดอะไรกันมากเลย 3 เดือนกับ 6 เดือน มันไม่ต่างอะไรกันมาก มฤตยูย้ายวันที่ 7 กรกฎาคม สะเทือนเลื่อนลั่นไปทั้งแผ่นดิน อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ อย่าประมาทก็แล้วกัน”

 

โหร ส.ว.วันชัย สอนศิริ ทำนายแบบไม่กลัวหน้าแตก รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และองคาพยพ เหลือเวลาอยู่ในอำนาจอย่างมากอีกแค่ 6 เดือน อยู่ไม่ครบวาระ 4 ปีในเดือนมีนาคม 2566 แน่นอน

โดยมีการเมือง 2 เรื่องใหญ่เป็นสารกระตุ้นเร่งเร้าสถานการณ์ของรัฐบาลประยุทธ์ ให้หดสั้นลง แม้แกนนำรัฐบาลในพรรคพลังประชารัฐจะเคยส่งสัญญาณพร้อมยุบสภา หลังรัฐบาลเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปก ในเดือนพฤศจิกายน ไว้แล้วก็ตาม

เรื่องแรกคือญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล รวมทั้งสิ้น 11 คน ที่กำลังจะมีขึ้นในอีกราว 10 วันข้างหน้า เป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งสุดท้ายของฝ่ายค้านและรัฐบาลในสภาฯ ชุดนี้ คาดว่าน่าจะมีความดุเดือดมากเป็นพิเศษ

พรรคฝ่ายค้านเพื่อไทย-ก้าวไกล ตั้งชื่อยุทธการครั้งนี้ว่า “เด็ดหัว สอยนั่งร้าน”

“เราจะเน้นประเด็นเรื่องทุจริต ข้อผิดพลาดร้ายแรงในเชิงนโยบายและในทางปฏิบัติ ทำให้ประเทศชาติและประชาชนเสียหาย พรรคเพื่อไทยจะอภิปรายรัฐมนตรีหลักๆ ประมาณ 8 คน แต่จะอภิปรายเสริมรัฐมนตรีคนอื่นๆ ที่ฝ่ายค้านพรรคอื่นเสนอด้วย” นายสุทิน คลังแสง รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงาน (วิป) พรรคฝ่ายค้าน ระบุ

พรรคเพื่อไทยยืนยันหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจเสร็จสิ้น จะนำข้อมูลส่งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และศาลรัฐธรรมนูญ ดำเนินการต่อแน่นอน และเชื่อว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงภายในรัฐบาล

เช่นเดียวกับพรรคก้าวไกล ที่ยังเข้มข้นไฟแรงตามสไตล์พรรคคนรุ่นใหม่

นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ โฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวว่า พรรคก้าวไกลเตรียมลับมีดไว้ทุกวัน เพื่อเตรียมพร้อมอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล เพราะเป็นการอภิปรายครั้งสุดท้ายของรัฐบาลนี้ และอาจจะเป็นครั้งสุดท้ายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม

ซึ่งบรรยากาศการอภิปรายจะเป็นเหมือนการพิจารณาในศาล เพราะพรรคก้าวไกลพิจารณาพยานหลักฐานเพื่อเอาผิดรัฐบาล

แม้จะรู้ดีว่าเสียงของฝ่ายค้านในสภาจะแพ้ แต่จะเป็นการส่งไม้ต่อให้ประชาชนตัดสินในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ข้อมูลครั้งนี้เป็นข้อมูลสำคัญที่สุดในการส่งต่อให้ประชาชน รวมถึง ส.ส.ที่อุ้มรัฐบาลก็เชื่อว่าประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินเช่นเดียวกัน

มั่นใจว่าจะมี ส.ส.จำนวนมากไม่ได้เข้าสภาหากยังอุ้ม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีต่อไป

 

การอภิปรายทุกครั้งฝ่ายรัฐบาลมักจะบอกว่ารับมือฝ่ายค้านได้เพราะเป็นข้อมูลเดิม แต่เมื่อเจอการอภิปรายของฝ่ายค้านโดยเฉพาะจากพรรคก้าวไกลเรื่องตั๋วช้าง ก็ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ถึงกับหน้าสั่น

ต้องเรียกผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเข้ามาให้ข้อมูล ขณะเดียวกันสีหน้าของ พล.อ.ประยุทธ์ก็ไม่สู้ดี แม้กระทั่งการอภิปรายเรื่องค้ามนุษย์ รัฐบาลต้องใช้เวลาหลายวันในการรวบรวมข้อมูลเพื่อชี้แจง นายรังสิมันต์ โรม แย้มข้อสอบโหมโรงศึกซักฟอก

หากดูจากผลการโหวตลงมติร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ในสภาฯ วาระแรก ตามที่พรรครัฐบาลเป็นฝ่ายชนะขาดลอย 281 ต่อ 196 คะแนนเสียง ทิ้งห่างพรรคฝ่ายค้านถึง 85 เสียง

เป็นตัวเลขส่วนต่างทำให้ใครหลายคนต่างพากันประเมินไปถึงศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจที่กำลังจะมีขึ้นว่า ต่อให้ฝ่ายค้านมีข้อมูลหมัดเด็ดหนักหน่วงขนาดไหน ด้วยจำนวนเสียงในสภาที่ห่างกันมาก ก็ไม่มีทางที่จะคว่ำนายกฯ และรัฐบาลลงได้

พรรคเพื่อไทย-ก้าวไกลเองก็ยอมรับข้อเสียเปรียบในจุดนี้ จึงเพียงแต่หวังส่งต่อข้อมูลการอภิปรายให้กับประชาชนเจ้าของประเทศ จดจำนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจในการเลือกตั้งครั้งหน้า

อย่างไรก็ตาม ถึงจะไม่สามารถล้มคว่ำกลางสภาได้ แต่โอกาสที่จะสร้างความบอบช้ำให้กับรัฐบาล ถึงขั้นอาจมีเปลี่ยนแปลงภายในหลังจบศึกอภิปรายซักฟอกครั้งนี้ ยังมีความเป็นไปได้มาก

ประเด็นนี้ต้องจับตาไปที่ความเคลื่อนไหวของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย อดีตกบฏ พปชร. ที่พยายามรวบรวมเสียง ส.ส.พรรคเล็กร่วมรัฐบาล ประกาศทวงแค้นรัฐมนตรีบางคน

ทำให้ยุทธการ “เด็ดหัว สอยนั่งร้าน” เพิ่มความซับซ้อนซ่อนเงื่อนขึ้นไปอีก แน่นอนว่าเป็นผลดีกับฝ่ายค้าน แต่ไม่เป็นผลดีกับรัฐบาล

 

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า กล่าวถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ โดยยืนยันความเห็นของตนเองที่ว่า นอกจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ แล้ว ที่เหลืออีก 10 คนน่าเป็นห่วงหมด

เป็นที่รับรู้กันทั่วไปในสังคมคอการเมืองว่าเป้าหมายทวงแค้นของ ร.อ.ธรรมนัส อยู่ที่ 3 รัฐมนตรีพรรคแกนนำ หากการอภิปรายของฝ่ายค้านมีหลักฐานชัดเจน “เราไม่ยกมือสนับสนุนแน่”

“ผมตัดสินใจไปแล้ว และสมาชิกพรรคก็ตามผม ผมเห็นหลักฐานหลายอย่างในการทุจริตของรัฐบาล หากพรรคเรายังไปสนับสนุนรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตเหล่านี้ สมัยหน้าประชาชนเขาจะไม่เลือกเรา”

ในส่วนของนายกรัฐมนตรี ร.อ.ธรรมนัสกล่าวว่า ยังไม่เห็นสาระในการอภิปราย แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล หากรัฐมนตรีหลายรายโดนสอย หรือเสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบ

รัฐบาลอาจมีความมั่นใจว่าเสียงส่วนใหญ่ยังสนับสนุน แต่การบริหารราชการแผ่นดินที่สภาสะท้อนให้เห็นว่าล้มเหลว หากได้รับเสียงสนับสนุนในสภาน้อยก็ควรพิจารณาตัวเอง

งานนี้รัฐมนตรีคู่ปรับต้องหันไปพึ่งบารมี “หลวงพ่อป้อม”

“พรรคเล็กทุกพรรคที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาล ลุงป้อมที่เป็นหัวหน้าพรรคจัดตั้งรัฐบาล เป็นผู้ที่สมานความสัมพันธ์ของพรรคเล็กทั้งหมดอยู่แล้ว ขอถามสื่อมวลชนว่า บารมีลุงป้อมวันนี้ในประเทศไทยมีพรรคไหนเท่าท่าน” นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน กล่าว

กระนั้นก็ตาม ในที่สุดถึงแม้ พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาลจะแหกด่านอภิปรายไม่ไว้วางใจไปได้แบบเลือดโชก ก็ยังต้องลากสังขารไปเจอกับด่านวาระนายกฯ ครบ 8 ปี วันที่ 24 สิงหาคม หรืออีกเดือนเศษ

ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันปี 2560 บัญญัติไว้ในมาตรา 158 วรรคสี่ ชัดเจนว่า “นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง”

ยังมีมาตรา 264 ที่ระบุว่า ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ต่อไป

นอกจากนี้ในมาตรา 170 วรรคสอง ยังเขียนไว้ว่า “–ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดเวลาตามมาตรา 158 วรรคสี่ด้วย”

 

ล่าสุด นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมายของรัฐบาล กล่าวถึงปมประเด็นวาระนายกรัฐมนตรี 8 ปี ซึ่งมีการโต้เถียงกันมานาน ระหว่างฝ่ายเชียร์ลุง กับฝ่ายต่อต้าน ว่าหากผู้สงสัยเป็นสมาชิกรัฐสภาก็สามารถเข้าชื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตีความได้ เพราะเข้าเขตเวลาที่สามารถยื่นได้แล้ว แต่รัฐบาลคงไม่เป็นผู้ไปยื่นเองเพราะรัฐบาลไม่สงสัย

ทั้งนี้ ในสายตาของนักกฎหมาย นักนิติศาสตร์โดยทั่วไปมองว่า หากพิจารณาตีความตามลายลักษณ์อักษรในรัฐธรรมนูญ ประเด็นนี้ก็มีความชัดเจนทั้งในมาตรา 158 วรรคสี่, มาตรา 264 และมาตรา 170 วรรคสอง

ส่วนเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ที่ห้ามเป็นนายกฯ ดำรงตำแหน่งรวมกันเกิน 8 ปี ก็เพื่อป้องกันการเสพติดอำนาจ เพราะถ้าอยู่ในตำแหน่งยาวนานเกินไป เกรงจะกลายเป็นเจ้าของประเทศ

ฉะนั้นไม่ว่าตามลายลักษณ์อักษรหรือเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ถ้าหากเป็นการวินิจฉัยตีความโดยอิสระปราศจากอำนาจทางการเมืองครอบงำ

ไม่ใช่โหรการเมืองที่เก่งกาจก็ทำนายสถานการณ์ออกว่าตรงนี้คือ “ดาวมฤตยู” ของจริง