บทวิเคราะห์ | ห้าร้อย ประ หาร พท.แลนด์สไลด์

กระแสการใช้สูตรคิด ส.ส.บัญชีรายชื่อ หารด้วย 500 ที่ฟื้นชีพขึ้นมาอีกครั้ง ก่อนการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณา 2 ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ…. และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ…. เมื่อวันที่ 5-6 กรกฎาคมที่ผ่านมานั้น

ปฏิเสธไม่ได้ว่า มาจากความกลัวของฝ่ายรัฐบาล

ที่เกรงว่า เป้าหมาย “แลนด์สไลด์” ของพรรคเพื่อไทยจะบรรลุผล

โดยเฉพาะเมื่อปรากฏผลโพลว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย ได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนนำโด่งเหนือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพรรคพลังประชารัฐ รวมถึงพรรคร่วมรัฐบาล

ดังนั้น หากใช้สูตรคิด ส.ส.บัญชีรายชื่อ หารด้วย 100 ตามมติของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ทั้ง 2 ฉบับ ด้วยคะแนน 32 ต่อ 11 เสียง จะยิ่งไปเสริมความแข็งแกร่งพรรคเพื่อไทย

และขณะเดียวกันจะทำให้พรรคขนาดกลางลำบาก ส่วนพรรคเล็กจะสูญพันธุ์

ทั้งนี้ หากคำนวณจากคะแนนการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ที่มีคะแนนการเลือกพรรคการเมืองทั้งหมดอยู่ที่ 35,532,647 คะแนน

หากใช้สูตร 100 หาร จะมีค่าเฉลี่ยต่อการได้ ส.ส. 1 คน ต่อ 355,326 คะแนน ซึ่งในทางปฏิบัติเป็นไปได้ยากที่พรรคเล็กจะมีผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งเลือกพรรคเล็กได้เกิน 3.5 แสนคะแนน

ตรงกันข้าม หากใช้สูตร 500 หาร ค่าเฉลี่ยของคะแนนที่จะได้ ส.ส. 1 คน จะอยู่ที่ 71,065 คะแนน ซึ่งจะทำให้พรรคเล็กยังพอมีความหวังในการได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ

และจะเป็นตัวคานอำนาจกับฝั่งเพื่อไทย ในการช่วงชิงการจัดตั้งรัฐบาลในการเลือกตั้งครั้งหน้า

นี่เองจึงมีการเดินเกมในการประชุมรัฐสภา เพื่อพลิกมติของ กมธ.เสียงส่วนใหญ่ แล้วกลับไปใช้สูตรการคิด ส.ส.บัญชีรายชื่อ หารด้วย 500 อย่างฉับพลัน

โดยฝั่งของสภาสูง

ส.ว.ที่มีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับทาง พล.อ.ประยุทธ์ อย่าง พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ ส.ว. ในฐานะ กมธ.วิสามัญฯ เป็นเรือนำร่อง โจมตีว่าสูตร 100 หาร ขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญชัดเจน และมีการทำด้วยความเร่งรีบ จึงขาดความรอบคอบ คือแก้แค่มาตรา 91 แต่มาตรา 93, 94 ที่เกี่ยวเนื่องไม่ได้แก้ จึงเกิดเนื้อหาขัดแย้งกัน

ขณะที่ในสภาล่าง ปรากฏความเคลื่อนไหวของพรรคเล็ก นำโดยนายปรีดา บุญเพลิง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคครูไทยเพื่อประชาชน เป็นตัวแทนกลุ่มพรรคเล็กที่ร่วมกันเข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

เพื่อขอความชัดเจนเรื่องสูตรคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ว่าจะเป็นคะแนนทุกพรรคการเมืองหารด้วยจำนวน 100 คนตามจำนวนของ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือจะหารด้วยจำนวน 500 คนตามจำนวน ส.ส.ทั้งหมด

แต่ตอนแรก พล.อ.ประวิตรมีท่าทีไม่ตอบรับนัก

โดยแจ้งว่า อยู่ที่กรรมาธิการ ซึ่งมติของกรรมาธิการนั้นกำหนดสูตรให้หารด้วยจำนวน 100 คน

ท่าทีของ พล.อ.ประวิตรดังกล่าว ทำให้พรรคเล็กถอดใจพอสมควร

อย่างไรก็ตาม นพ.ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ ก็ได้ออกมาปลุกปลอบใจพรรคเล็กว่า “การต่อสู้ของกลุ่มพรรคการเมืองพรรคเล็ก จะยังไม่จบเพียงเท่านี้ โดยยกสุภาษิตที่ว่า สงครามยังไม่จบยังไม่มีการนับศพทหาร”

โดยอ้างว่าในเบื้องต้นได้หารือกับ ส.ว. ทราบว่า ส.ว.กว่า 80% เห็นด้วยกับสูตรหารด้วยจำนวน 500

เพราะมองว่าสูตรหารด้วยจำนวน 100 นั้นขัดกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งตอนนี้ได้เตรียมร่างคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยจากขอความร่วมมือให้ ส.ส. และ ส.ว. ร่วมเข้าชื่อในคำร้องหากท้ายที่สุดการโหวตในวาระที่ 3 กลุ่มที่เลือกหารด้วย 500 แพ้โหวตในสภาก็จะยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ

“ผมมีความมั่นใจว่าการต่อสู้เรื่องสูตรคำนวณ ส.ส. กลุ่มพรรคการเมืองพรรคเล็กจะได้รับชัยชนะและเตรียมเปิดไวน์ฉลองชัยชนะแน่นอน” นพ.ระวีกล่าว

และก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ

ก่อนมีการประชุมรัฐสภา เพื่อพิจารณาเรื่องนี้เพียง 2 วัน

คือวันที่ 4 กรกฎาคม นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาเคลื่อนไหวในฐานะ กมธ.เสียงข้างน้อยที่ได้มีการสงวนความเห็นในร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ให้การคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อใช้วิธีหารด้วย 500

โดยอ้างว่าจากการที่ได้มีการพูดคุยและอธิบายเหตุผลกับ ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ ปรากฏว่ามี ส.ส.ของพรรคบางส่วนต้องการให้พรรคประชาธิปัตย์พิจารณาให้ลงมติโดยใช้วิธีหารด้วย 500

ในฐานะ ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ และ กมธ. จึงจะเสนอในที่ประชุมพรรคพิจารณาลงมติให้ใช้วิธีหาร 500

“เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ต้องการให้มี ส.ส.พึงมี และในรัฐธรรมนูญมาตรา 93 และมาตรา 94 ก็ยังคงมี ส.ส.พึงมีอยู่ ดังนั้น การจะแก้ไขกฎหมายแล้วจะมาล้มล้างเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง จากที่ได้คุยกับ ส.ส.ในพรรคประชาธิปัตย์ หลายคนมีความเห็นเป็นไปในทางเดียวกัน และน่าจะเป็นเสียงส่วนใหญ่ ที่ต้องการให้พรรคนำวิธีคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อหารด้วย 500 กลับมา” นายอัครเดชกล่าว

เมื่อคนของพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นหลักในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ออกมาจุดพลุเรื่องนี้

ถือว่าเป็นการส่งสัญญาณแรง

และยิ่งนายอัครเดช ซึ่งสวมหมวกรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ด้วย แถลงว่าที่ประชุม ส.ส.พรรค ได้หารือสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แล้วมีแนวโน้มที่ประชุมออกมาก้ำกึ่งระหว่างหาร 500 กับหาร 100 เพราะความเห็นที่ออกมาไม่ว่าจะหารด้วย 500 หรือ 100 ก็ขัดรัฐธรรมนูญอยู่ดี หากหาร 100 ก็ขัดมาตรา 93 และ 94 เพราะยังมี ส.ส.พึงมีอยู่ และหากหาร 500 ก็ขัดมาตรา 91 และ 86 ที่ประชุมจึงเห็นว่าถ้าเช่นนั้นก็ต้องดูเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และข้อดีของทั้ง 2 แบบเป็นหลัก

เมื่อออกมากั๊กๆ ไม่ยืนยันตามเสียงส่วนใหญ่ของ กมธ.เช่นนี้

จึงเท่ากับเป็นการตอกสัญญาณที่เป็นบวกต่อฝ่าย 500 หารขึ้นไปอีก

แต่ที่แจ่มแจ้งชัดเจน ในการฟื้นชีพสูตร 500 หาร

ก็คือ รายงานข่าวว่า ในช่วงบ่ายวันที่ 5 กรกฎาคม ระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ได้ใช้ช่วงเบรก เรียกแกนนำพรรคร่วมมาถกในเรื่องนี้

โดย พล.อ.ประยุทธ์ตัดสินใจให้ใช้สูตรหาร 500 ในการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

และให้ส่งสัญญาณนี้ไปยังแกนนำในขั้วพรรคร่วมรัฐบาล และกลุ่ม ส.ว.ให้รับทราบถึงแนวทางดังกล่าว

จึงทำให้ค่อนข้างชัดเจนแล้วที่พรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมดจะสนับสนุนการใช้สูตรหาร 500 คำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

โดยพรรค พปชร.จะให้เป็นฟรีโหวต แต่ทิศทางทุกคนจะสนับสนุนการใช้หาร 500

พรรคประชาธิปัตย์แม้เสียงแตกเป็น 2 กลุ่ม แต่เสียงส่วนใหญ่ 40 คน เอาด้วยกับหาร 500

ส่วนพรรคภูมิใจไทย พรรคเล็ก และ ส.ว. จะเทเสียงให้กับสูตรหาร 500 ทั้งหมดเช่นกัน

นายวราวุธ ศิลปอาชา ประธานคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) กล่าวว่า พรรค ชทพ.เป็นพรรคขนาดกลางถึงเล็ก แน่นอนว่าการหารด้วย 500 จะเป็นประโยชน์กับพรรค ส่วนตัวจึงชอบ 500 หาร ถ้าโหวต 500 แล้วไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ แน่นอนว่าเห็นด้วย

ส่วน พล.อ.ประวิตร ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่แม้ตอนแรกจะเอนไปทางฝ่าย 100 หาร

แต่มาถึงที่สุด พล.อ.ประวิตรก็ออกไปในทางไม่ขวาง โดยบอกว่า “เห็นว่าดีทั้งคู่”

ทําให้สูตร 500 หาร กลายเป็นทางเลือกของฝ่ายรัฐบาล แม้ว่าก่อนหน้านี้ คนกันเองอย่างนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ จะเตือนว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้เสนอร่างกฎหมายนี้และให้หารด้วย 100 และเสนอต่อยังคณะรัฐมตรี (ครม.) โดย ครม.ได้ส่งให้กฤษฎีกาตรวจสอบความถูกต้อง ก่อนส่งกลับมายัง ครม.แล้วอนุมัติก่อนส่งมาสภา การที่สมาชิกรัฐสภาบางคนกล่าวหาว่าการหาร 100 จะขัดรัฐธรรมนูญ

เท่ากับกล่าวหา กกต.โดยตรง และอาจทำให้กฤษฎีกา รวมถึง ครม. ซึ่งมีส่วนร่วมในการรับรองได้รับผลกระทบด้วย

สอดคล้องกับนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. ที่บอกว่า ต้องเข้าใจว่า ร่างของกรรมาธิการ และทุกร่างที่ส่งเข้ามาเป็นเรื่องหาร 100 ทั้งสิ้น จึงไม่สามารถตั้งคำถามว่า จะหาร 100 หรือหาร 500 เพราะต้องหาร 100 อย่างเดียว

แต่ที่สุดเสียงเหล่านี้ก็ต้องจางหายไปกับสายลม

เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ออกมาเดินเกมหนุนสูตร 500 หารเอง โดยนอกจากจะเป็นการสกัดพรรคเพื่อไทยไม่ให้ไปถึงเป้าแลนด์สไลด์ ตามที่ประกาศไว้แล้ว

ยังหวังว่าในเฉพาะหน้า ยังจะรักษาแนวร่วมคือ พรรคขนาดกลาง-พรรคเล็ก ให้เป็นขุมกำลังสนับสนุนตนเองในศึกซักฟอกที่จะเกิดขึ้น และเป็นพันธมิตรในการจัดตั้งรัฐบาลหลังจากมีการเลือกตั้งอีกด้วย

การพลิกผันจากสูตรคำนวณ ส.ส.นี้เอง แน่นอนย่อมทำให้เพื่อไทยเองต้องเสียจังหวะ และต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ใหม่ ไม่ให้เกิดบทเรียนซ้ำรอยการเลือกตั้งปี 2562 ที่ “ไร้ที่นั่ง” ปาร์ตี้ลิสต์ในสภา จากกติกาดังกล่าว

เพื่อไทยจาก “ส่งทุกเขต-เก็บทุกคะแนน” อาจต้องคิด “แผนแตกแบงก์พัน” กลับมาใช้อีกครั้ง

ขณะเดียวกันคงต้องดำรงขวัญกำลังใจเอาให้เข้มแข็ง เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นกรณีสูตรคำนวณ ส.ส.สะท้อนให้ฝั่งฟากรัฐบาลพร้อมจะใช้ทุกยุทธวิธีไม่ว่าจะกลับลำ กลืนน้ำลาย หรือพร้อมสุ่มเสี่ยงกับการทำขัดรัฐธรรมนูญ เพื่อสกัดกั้นเพื่อไทย

ซึ่งนายทักษิณ ชินวัตร หรือพี่โทนี่ วู้ดซัม กองหนุนนอกพรรค คงรู้ดี จึงแสดงท่าทีเหมือนไม่แคร์

โดยบอกว่า “อะไรก็ได้อยู่แล้ว ผมเฉยๆ ผมไม่ได้เกี่ยวข้อง”

พร้อมกับวิเคราะห์ว่า “พอเขาบอกว่าหาร 500 ก็พยายามคิด เป็นเพราะนายกฯ กลัวพรรคเล็กพรรคน้อยจะไปยกมือร่วมกับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทยล้มตอนอภิปรายไม่ไว้วางใจ เลยต้องเอาใจโดยเอาหาร 500”

และสรุปว่า “วันนี้ พล.อ.ประยุทธ์อยากอยู่ต่อก็เลยต้องเอาใจพรรคเล็ก”

ซึ่งการอยู่ต่อนี้เอง ทำให้สูตร 500 หาร ถูกฟื้นชีพขึ้นมาโดยพิสดาร

โดย พล.อ.ประยุทธ์กับพวกคงหวังอย่างเต็มเปี่ยมว่า สูตรห้าร้อย “หาร” จะ “ประหาร” เป้าหมายแลนด์สไลด์ของเพื่อไทยได้?!?