ไทย-เมียนมา ย้อนอดีตเพื่อมองอนาคต/เทศมองไทย

เทศมองไทย

 

ไทย-เมียนมา

ย้อนอดีตเพื่อมองอนาคต

 

กรณีเครื่องบินรบ มิก-29 ของกองทัพอากาศเมียนมา ล่วงล้ำน่านฟ้าไทยเข้ามา จนทางกองทัพอากาศไทยต้องส่งเอฟ-16 ขึ้นบินลาดตระเวน สกัดกั้น กลายเป็นข่าวใหญ่อยู่หลายวันทีเดียวในไม่กี่เพลาที่ผ่านมา

แล้วก็กลายเป็นหัวข้อวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง ใหญ่โตกว่าที่หลายคนคาดหมายกันไว้มาก

ส่วนหนึ่งเป็นไปด้วยเจตนาที่ต้องการใช้เหตุการณ์นี้เป็นเครื่องมือทางการเมือง แต่อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะความไม่รู้ซึ้งถึงธรรมชาติของ “การเมืองชายแดน” ระหว่างเพื่อนบ้านสองประเทศที่มีพรมแดนร่วมกันมากกว่า 2,400 กิโลเมตร

แต่ถ้าใครได้อ่านข้อเขียนของเบอร์ทิล ลินท์เนอร์ นักเขียนและผู้สื่อข่าวชาวสวีดิชที่คร่ำหวอดกับการรายงานข่าวเกี่ยวกับเอเชียและพม่า-เมียนมา มานานกว่า 4 ทศวรรษ ในนิตยสารอิรวดี เมื่อ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา ก็อาจพอจะเข้าใจได้ถึงสภาพซับซ้อน ผลประโยชน์ร่วม และความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจที่ดำรงอยู่ตามแนวชายแดนที่ถูกซุกเอาไว้เบื้องหลังรอยยิ้มเป็นมิตรซึ่งกันและกันระหว่างเพื่อนบ้านทั้งสองตลอดมา

แล้วจะรู้ด้วยว่า เหตุทำนองนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก

 

ครั้งแรกที่เกิดเหตุทำนองนี้ขึ้น ต้องย้อนหลังกลับไปถึงเมื่อครั้งที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของไทยในทศวรรษ 1950

ครั้งนั้นกองทัพเมียนมาจำเป็นต้องต่อสู้เพื่อขับไล่กองกำลังก๊กมินตั๋งส่วนหนึ่งที่ล่าถอยหลบหนีการเผชิญหน้ากับกองทัพประชาชนของเหมาเจ๋อตุง เข้ามาสู่ดินแดนบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ บ่ายหน้าสู่รัฐฉาน รัฐคยา เพื่อหวังยึดเป็นพื้นที่สำหรับต่อต้านกองทัพจีน

เครื่องบินรบของกองทัพเมียนมาพลัดหลงน่านฟ้าเข้ามาทิ้งระเบิดใส่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นเหตุให้คนไทยเสียชีวิต 2 คน บาดเจ็บอีก 5 คน

และเป็นที่มาของการเชื้อเชิญผู้นำกองกำลังกบฏชนกลุ่มน้อยมอญและกะเหรี่ยงเข้ามาเจรจา “ลับ” ที่กรุงเทพฯ ทำความตกลงลับๆ อนุญาตให้เข้ามาใช้ที่มั่นตามแนวชายแดนและสนับสนุนกองกำลังเหล่านั้นให้แข็งแกร่งขึ้นเพื่อทำหน้าที่เป็น “กันชน” ไม่ให้ชาวบ้านไทยตกเป็นอันตรายจากกองทัพเมียนมาอีก

หนึ่งในแกนนำฝ่ายไทยในการเจรจาลับดังกล่าวนั้นเป็นนายทหารยศ “น.ท.” จากกองทัพอากาศ ชื่อ “สิทธิ เศวตศิลา” ครับ

 

เดือนมีนาคม 1962 พล.อ.เน วิน นำคณะทหารยึดอำนาจรัฐในย่างกุ้ง ประกาศใช้นโยบาย “วิถีพม่าสู่สังคมนิยม” ยึดกิจการทั้งหมดเป็นของรัฐ มอบหมายให้ 20 รัฐวิสาหกิจที่อยู่ภายใต้กองทัพเป็นผู้บริหารทั่วประเทศ ส่งผลให้ความรุ่งเรืองก้าวหน้าทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก และล่มสลายในที่สุด

เหตุผลเพราะไม่มีพ่อค้าต่างชาติคนใดรู้วิธีว่าจะค้าขายกับกองทัพพม่าอย่างไร ที่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ นายทหารพม่าที่ควบคุมกิจการยิ่งรู้น้อยมากขึ้นไปอีกว่า จะทำมาค้าขายอย่างไร

ผลพลอยได้ที่เกิดขึ้นก็คือ ความรุ่งเรืองของ “ตลาดมืด” บริเวณพรมแดนไทย-เมียนมา ที่สร้างความมั่งคั่งให้กับกองกำลังกบฏชนกลุ่มน้อยตามแนวชายแดนทั้งหลายจาก “ส่วยพ่อค้า”

ในขณะที่ทางการเมียนมาเองต้อง “หลับตาข้างหนึ่ง” เพราะจำเป็นต้องพึ่งพาสินค้าจากประเทศไทยผ่านตลาดมืดเหล่านี้ ป้องกันการเกิดภาวะขาดแคลนขึ้นในประเทศ

 

สภาพเช่นนี้ดำรงอยู่จนถึงยุคของการลุกฮือเพื่อประชาธิปไตยที่พม่าในปี 1988 จนเกิดการไล่เข่นฆ่ากันกลางเมืองขนานใหญ่ และส่งผลให้เกิดการติดต่อสัมพันธ์กันโดยตรงระหว่าง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ผู้บัญชาการทหารบกในเวลานั้น กับสภาเพื่อการฟื้นฟูกฎระเบียบแห่งรัฐ หรือสลอร์ก ของพม่า

“บิ๊กจิ๋ว” เยือนพม่าในเดือนธันวาคมปีนั้น ทำความตกลงส่งนักเรียนนักศึกษาพม่าที่หลบหนีเข้ามาอยู่ในไทยเป็นจำนวนมากกลับประเทศ

สิ่งที่แลกได้มาก็คือ สิทธิในการทำป่าไม้และประมงของบริษัทจากประเทศไทย และความตกลงเกี่ยวกับธุรกิจโรงแรม “มูลค่ามหาศาล”

สภาพความเป็น “กันชน” ของกองกำลังกบฏชนกลุ่มน้อยเริ่มเปลี่ยนแปลงไป บางกลุ่ม อย่างเช่น กองทัพรัฐฉาน ซึ่งเป็นกองกำลังของสภาเพื่อฟื้นฟูรัฐฉาน (อาร์ซีเอสเอส) ถูกปรับไปเป็นหน่วยต่อต้านไม่ให้กองกำลังนิยมจีนอย่างกองทัพรัฐว้า เข้ามายึดที่มั่นตามแนวชายแดนแทน

ทั้งสามฝ่าย คือ เมียนมา-ชนกลุ่มน้อย-ไทย ตกอยู่ในสภาพ “ใช้ประโยชน์” ซึ่งกันและกันในฐานะของ “เครื่องมือ” ทางการเมืองหรือทางหนึ่งทางใด แต่ไม่มีใครไว้วางใจใครเรื่อยมา

ขึ้นอยู่กับว่า “ผลประโยชน์ร่วม” จะมากมายมหาศาลและเหมาะสมกับกาลเวลาแค่ไหนเป็นสำคัญ

แล้วก็น่าจะดำรงอยู่ต่อไปอีกนานไม่น้อยในอนาคต จนกว่าปัจจัยประกอบทั้งหลายจะเปลี่ยนแปลงไป

เพราะถึงอย่างไร ต่างฝ่ายต่างก็ยกประเทศหนี เลิกเป็นเพื่อนบ้านกันก็ไม่ได้นี่ครับ!