‘กรุงเทพกลางแปลง’ กระจายภาพยนตร์สู่ชุมชนเมือง / คนมองหนัง

คนมองหนัง

คนมองหนัง

 

‘กรุงเทพกลางแปลง’

กระจายภาพยนตร์สู่ชุมชนเมือง

 

นอกจากการทำงาน ทำงาน ทำงาน ในด้านอื่นๆ อย่างแข็งขันแล้ว นโยบาย “12 เดือน 12 เทศกาล” ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ก็กำลังค่อยๆ เดินหน้าไปอย่างเข้มข้น

มิถุนายน เดือนแรกของการดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ ชัชชาติและทีมงาน ได้ไปร่วมจอยในเทศกาล “Pride Month” ที่มีการจัดกิจกรรมต่างๆ ของภาคประชาสังคมที่สนับสนุน-รณรงค์เรื่องประเด็นความหลากหลายทางเพศ

เมื่อย่างเข้าสู่เดือนกรกฎาคม ดูเหมือนเทศกาลประจำเดือนอย่าง “เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพ” จะมีรายละเอียดและขั้นตอนในเชิงปฏิบัติ ที่เปลี่ยนแปลงไปมากพอสมควร หากเปรียบเทียบกับแนวคิดคร่าวๆ ที่ปรากกฏเป็นลายลักษณ์อักษรในนโยบายหาเสียง

 

ประการแรก “ความเป็นเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ” ซึ่งอาจต้องมุ่งเน้นคอนเทนต์ไปที่ “หนังนานาชาติ” เพื่อเป็นเวทีนำเสนอผลงานของ “คนทำหนังนานาชาติ” และสื่อสารกับ “คนดูหนังนานาชาติ” (ทั้งไทยและเทศ)

ได้ถูกปรับเปลี่ยนมาเป็นงาน “กรุงเทพกลางแปลง” ซึ่งเน้นหนักที่ “หนังไทย” มุ่งสื่อสารกับคนดู “ชาวไทยใน กทม.” และพยายามกระจายสถานที่จัดฉายหนังไปตามชุมชนเมืองแหล่งต่างๆ

พูดอีกอย่างหนึ่ง คือ แทนที่จะจัดเทศกาลฉายหนังระดับอินเตอร์ที่พยายามมีปฏิสัมพันธ์กับ “ชุมชนโลก” (global) ผู้บริหารกรุงเทพมหานครและเครือข่ายกลับเริ่มต้นด้วยการจัดกิจกรรมฉายหนังระดับย่อยๆ เพื่อฟื้นคืนชีวิตชีวาให้แก่ “ชุมชนท้องถิ่น” (local)

ประการถัดมา ในนโยบายแรกเริ่ม คล้าย “ทีมงานชัชชาติ” จะจัดวาง “เทศกาลภาพยนตร์” ไว้ที่เดือนกรกฎาคม ด้วยเหตุผลสำคัญว่า เพราะนี่คือฤดูฝน งานฉายหนังในพื้นที่ “อินดอร์” จึงมีความเหมาะสมจะเป็นเทศกาลประจำเดือนดังกล่าว

ทว่า เมื่อดำเนินงานกันจริงๆ ทางกรุงเทพมหานครและเครือข่ายผู้จัดงาน กลับท้าทายหน้าฝน ด้วยการจัดฉายหนังกลางแปลงในพื้นที่ “เอาต์ดอร์”

นี่ถือเป็นการ “คิดนอกกรอบ” ที่น่าสนใจ เพราะถ้า กทม.เลือกจัดเทศกาลหนังนานาชาติในโรงภาพยนตร์บางแห่ง นั่นก็อาจเป็นกิจกรรมการรวมตัวของแฟนหนัง/คนรักหนังจำนวนหนึ่ง

แต่พอเคลื่อนย้ายหนังออกนอกโรงภาพยนตร์ กิจกรรมนี้จึงเป็นการพาหนังไปพบเจอคนดูกลุ่มใหม่ๆ ที่ขยายวงกว้างขวางขึ้น ทั้งยังเป็นการกระตุ้นความคึกคักให้แก่เมืองและพื้นที่สาธารณะต่างๆ ตามรอยกระแส “ดนตรีในสวน” อีกด้วย

 

ด้านหนึ่ง อาจมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ได้เหมือนกันว่า กิจกรรม “กรุงเทพกลางแปลง” ครั้งแรกนั้น เน้นฉายหนังเมนสตรีม/กระแสหลัก มากกว่าจะช่วยเปิดพื้นที่ให้หนังหาดูยาก หนังอินดี้นอกกระแส หรือหนังสั้นของคนรุ่นใหม่

แต่หากโจทย์ของการจัดงาน คือ การเปิดเมือง การสร้างแรงกระเพื่อมให้ชุมชน และการมีกลุ่มเป้าหมายหลักเป็นประชากร/ผู้บริโภคจำนวนมาก ภาพยนตร์ที่ถูกคัดเลือกมาฉายก็นับว่ามีความถูกฝาถูกตัวไม่น้อย

ขณะเดียวกัน งาน “กรุงเทพกลางแปลง” ก็ถือเป็นการเปิดรูระบายแรก ที่ช่วยกระตุ้นให้เกิด “กิจกรรมคู่ขนาน” โดยกลุ่ม-เครือข่ายอื่นๆ ตามมา และโอกาสของผลงานนอกกระแสทั้งหลายอาจจะอยู่ตรงรูระบายเหล่านั้น

อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าตลอดสองเดือนที่ผ่านมา กิจกรรมทางด้านศิลปะและวัฒนธรรมยุคผู้ว่าฯ ชัชชาติ ต้องพึ่งพาพลังงาน ความคิดสร้างสรรค์ ตลอดจนแรงสนับสนุนจากเครือข่ายนอกศาลาว่าการกรุงเทพฯ เป็นอย่างสูง

รูปการณ์จึงออกมาเป็นกิจกรรมการเปิดเมืองหลวง ด้วยการร่วมไม้ร่วมมือกันและการระดมไอเดียของภาคประชาสังคมต่างๆ โดยมี กทม.เป็นแกนกลางในการประสานงานและอำนวยการ

ทว่า กรุงเทพมหานครยังไม่ได้ก้าวเข้ามาแสดงบทบาทเป็นหน่วยงานรัฐที่พยายาม “อุดหนุน” ให้เกิดกิจกรรมทางด้านศิลปวัฒนธรรมด้วยตนเอง อย่างเต็มตัว •

โปรแกรม ‘กรุงเทพกลางแปลง’

(ฉายหนังในเวลา 19.00 น. ของทุกวันที่มีการจัดกิจกรรม)

ลานคนเมือง

7 ก.ค. 2499 อันธพาลครองเมือง (2540)

8 ก.ค. เวลาในขวดแก้ว (2534)

9 ก.ค. แพรดำ (2504)

True Digital Park เขตพระโขนง

7 ก.ค. รถไฟฟ้ามาหานะเธอ (2552)

8 ก.ค. 36 (2555)

9 ก.ค. แม่นาคพระโขนง (2502)

ศูนย์เยาวชนคลองเตย เขตคลองเตย

14 ก.ค. RRR (ภาพยนตร์อินเดีย – 2565)

15 ก.ค. มนต์รักทรานซิสเตอร์ (2544)

16 ก.ค. บุญชูผู้น่ารัก (2531)

สวนรถไฟ เขตจตุจักร

14 ก.ค. 4 Kings (2564)

15 ก.ค. Portrait of a Lady on Fire (ภาพยนตร์ฝรั่งเศส – 2562)

16 ก.ค. สวรรค์มืด (2501)

สวนเบญจกิติ เขตคลองเตย

21 ก.ค. หมานคร (2547)

22 ก.ค. อนธการ (2558)

23 ก.ค. Wheel of Fortune and Fantasy (ภาพยนตร์ญี่ปุ่น – 2564)

ตลาดบางแคภิรมย์ เขตบางแค

21 ก.ค. Fast and Furious (ภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด – 2552)

22 ก.ค. ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ (2547)

23 ก.ค. เพื่อนสนิท (2548)

Block I สยามสแควร์

28 ก.ค. รักแห่งสยาม (2550)

29 ก.ค. Seasons Change เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย (2549)

30 ก.ค. สยามสแควร์ (2527)

สวน 60 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เขตลาดกระบัง

28 ก.ค. คู่กรรม (2556)

29 ก.ค. พี่นาค (2562)

30 ก.ค. มือปืน (2526)

สวนครูองุ่น เขตวัฒนา

31 ก.ค. School Town King แร็ปทะลุฝ้า ราชาไม่หยุดฝัน (2563)

มศว ประสานมิตร เขตวัฒนา

31 ก.ค. One for the Road วันสุดท้ายก่อนบายเธอ (2564)