2475-2565 90 ปี เปลี่ยนแปลงการปกครอง… ไปเป็นอะไร? (จบ)/หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว มุกดา สุวรรณชาติ

มุกดา สุวรรณชาติ

หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว

มุกดา สุวรรณชาติ

 

2475-2565

90 ปี เปลี่ยนแปลงการปกครอง…

ไปเป็นอะไร? (จบ)

 

ปีที่ 91 เราจะมีการเลือกตั้ง

(แต่ยังอยู่ในหลุมดำ)

90 ปีของการเปลี่ยนแปลงการปกครองเรามีรัฐธรรมนูญ 20 ฉบับ มีการรัฐประหาร 13 ครั้งที่ทำสำเร็จ

วงจรอุบาทว์ที่มีการรัฐประหารล้มรัฐบาล ฉีกรัฐธรรมนูญ แล้วก็ขึ้นปกครอง พยายามสืบทอดอำนาจ ผ่านการเลือกตั้งที่ร่างกฎเอง แต่เมื่อใดที่ฝ่ายประชาชนชนะการเลือกตั้งก็จะทำการล้มรัฐบาลนั้น วนเวียนเป็นวัฏจักรอยู่อย่างนี้ ประเทศชาติจึงไม่ได้เดินหน้าไปไหนสักที วนเวียนอยู่ในหลุมดำมา 90 ปี

การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในประมาณอีก 1 ปีข้างหน้าก็ยังอยู่ภายใต้วัฏจักรของการสืบทอดอำนาจแบบนี้ เพราะมีการเตรียมการไว้ตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2557 ที่มีการเซ็ตซีโร่ กกต.แล้วตั้งใหม่… แต่ไม่เซ็ตซีโร่ศาลรัฐธรรมนูญ แถมต่ออายุ…นอกจากนั้น ยังต่ออายุให้ ป.ป.ช.ชุดเดิมที่ขาดคุณสมบัติ ให้ดำรงตำแหน่งอีก 9 ปี

การทำงานของ กกต.และ ป.ป.ช. จึงปรากฏเป็นแบบที่เห็นได้ว่าฝ่าย คสช.ทำอะไรก็ไม่มีความผิด และสืบทอดอำนาจต่อได้โดยการเลือกตั้ง ที่มี ส.ว.แต่งตั้ง สนับสนุน

รัฐธรรมนูญ 2560 กลายเป็นเครื่องมือของผู้ปกครองเพื่อแสดงให้เห็นว่า เป็นรัฐที่มีมาตรฐานคือ มีกฎหมาย, มีสภา, มีรัฐบาล และมีศาล แต่ในความเป็นจริงแล้ว กฎที่ถูกเขียนในรัฐธรรมนูญ เอื้อประโยชน์ให้กับผู้ที่เขียนทั้งสิ้น

ดังนั้น พวกเขาจึงต้องขัดขวางการแก้รัฐธรรมนูญที่ดีไซน์เพื่อสืบทอดอำนาจ

 

ส.ว.เป็นเครื่องมือในการสืบทอดอำนาจ

90 ปีที่กลุ่มอำนาจเก่าใช้ทหารเป็นเครื่องมือในการรัฐประหาร ยึดอำนาจ ก็ใช้ ส.ว.แต่งตั้ง ช่วยหนุนการสืบทอดอำนาจ

ย้อนดูรัฐธรรมนูญ 2540 ทั้ง ส.ส. และ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด จากนั้น ส.ส.จึงมาเลือกฝ่ายบริหาร คือนายกรัฐมนตรี แบบนี้ ส.ว.มาจากประชาชน มาช่วยสืบทอดอำนาจไม่ได้ จึงฉีก รธน.ฉบับ 2540 ทิ้ง หลังรัฐประหาร 2549 ใช้ รธน. 2550 ที่ร่างเอง ส.ว.มาจากการแต่งตั้งครึ่งหนึ่ง มาจากการเลือกตั้งครึ่งหนึ่ง ส.ส.เท่านั้นที่เลือกนายกฯ กลุ่มอำนาจเก่าก็ยังแพ้เลือกตั้งเป็นรัฐบาลไม่ได้ ต้องรัฐประหาร 2557 อีกครั้ง

ร่างรัฐธรรมนูญ 2560 มี ส.ว.แต่งตั้งจาก คสช.ทั้งหมด 250 คน มีอำนาจมากกว่า ส.ส.เลือกตั้ง

1. เลือกนายกรัฐมนตรีได้…อำนาจของ ส.ว. ที่สำคัญคือให้อำนาจในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับสภาผู้แทนราษฎร

เท่ากับ ส.ว.เป็นผู้เลือกฝ่ายบริหาร ไม่ใช่ประชาชนเลือก

ในที่สุดก็เลือกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในปี 2562 และยังมีสิทธิเลือกนายกฯ อีกครั้ง ในการเลือกตั้งครั้งหน้า

2. เลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้…

3. เลือกกรรมการองค์กรอิสระได้ทั้งหมด คือ กกต. 7 คน ผู้ตรวจการแผ่นดิน 3 คน ป.ป.ช. 9 คน ก.ส.ม. 7 คน ค.ต.ง. 7 คน และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน

ใครจะเป็นกรรมการองค์กรอิสระ แม้ผ่านการสรรหามาแล้ว ก็ต้องผ่านความเห็นชอบของ ส.ว. ถ้า ส.ว.ไม่เอา ก็คือสอบตก และยังมีหน้าที่ให้ความเห็นชอบการดำรงตำแหน่งที่สำคัญอื่นๆ อีก เช่น เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา, กรรมการ กสทช., เลขาธิการ ป.ป.ท. ฯลฯ

4. กล่าวหาถอดถอน ป.ป.ช.ได้ ตามมาตรา 236 แบบนี้ ป.ป.ช.ก็ต้องกลัว ส.ว. และตรวจสอบฝ่ายบริหารโดยตั้งกระทู้ถาม และเปิดอภิปรายได้

5. ส.ว. 1 ใน 3 หรือ 84 คน สามารถยับยั้งไม่ให้แก้ไข รธน.ได้ วันนี้สภาจึงไม่สามารถแก้ รธน.ได้ เพราะ ส.ว.ไม่ยอมแก้รัฐธรรมนูญเพื่อลดอำนาจตนเอง

6. ควบคุมนโยบาย และการทำงานของรัฐบาล ตามยุทธศาสตร์ 20 ปี

สรุปว่า ส.ส.ที่ประชาชนทั้งประเทศเลือกมา ไม่มีอำนาจเท่ากับ ส.ว.แต่งตั้ง

วงจรนี้คนที่ประชาชนไม่ได้เลือกเลย กลับมีอำนาจที่สามารถหักล้างมติของประชาชนทั้งประเทศได้ สามารถตรวจสอบ ควบคุม คัดเลือกและถอดถอนฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร กรรมการองค์กรต่างๆ ได้

 

ยุทธศาสตร์สำคัญ

เพื่อกลับมาเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

ต้องแก้ไขโครงสร้างให้เป็นประชาธิปไตย

รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ถือได้ว่าคณะรัฐประหารเป็นผู้สั่งการให้ร่างขึ้น ขณะนี้ถือว่ายึดอำนาจรัฐด้วยรัฐธรรมนูญได้แล้ว คงไม่ยอมให้แก้ง่ายๆ เพราะรัฐธรรมนูญกลายเป็นเครื่องมือในการรักษาอำนาจ และสืบทอดอำนาจ ดังนั้น ประชาชนต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้ได้ เพื่อปรับที่มาของอำนาจให้มาจากประชาชนทุกด้าน

จะต้องมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่ได้รับเลือกจากประชาชนโดยตรง มาทำการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้เป็นที่ยอมรับ

เรื่องที่ต้องแก้ไข คือ

1. อำนาจนิติบัญญัติ ต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ต้องไม่มี ส.ว.จากการแต่งตั้ง

และจะต้องป้องกันการซื้อขาย ส.ส. โดยกำหนดให้ชัดเจนว่า ถ้า ส.ส.เขตจะออกจากพรรคด้วยเหตุผลใดก็ตาม ทั้งลาออกหรือถูกขับออก ก็จะต้องให้ประชาชนในเขตนั้นตัดสินใจเลือกใหม่ ไม่สามารถย้ายพรรคใหม่ได้

ส่วน ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อ ถ้ามีปัญหาลาออก ก็ให้เลื่อนบัญชีรายชื่อถัดมาแทน ในกรณีที่ถูกขับออกจากพรรคถือว่าให้พ้นจากการเป็น ส.ส. และพรรคก็ไม่สามารถตั้งคนเข้ามาแทนได้

2. ควรมีการเลือกฝ่ายบริหารโดยประชาชน โดยตรงหรือไม่?

ตามรัฐธรรมนูญปัจจุบันทำแค่เสนอชื่อบุคคลที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ ส.ว. และ ส.ส.เป็นผู้เลือก

ถ้าให้ประชาชนได้เลือกผู้บริหารประเทศโดยตรง โดยการสมัครรับเลือกตั้ง

ต้องส่งเพียงชื่อนายกรัฐมนตรี หรือควรมีชื่อรัฐมนตรีต่างๆ ในกระทรวงหลัก?

เพื่อบอกประชาชนว่านโยบายของพรรคด้านต่างๆ เป็นอย่างไร มีใครเข้ามาบริหารกระทรวงตามนโยบายเหล่านี้

กรณีถ้านายกฯ ลาออก ถือว่าออกทั้งคณะ ก็ให้ประชาชนเลือกตั้งใหม่เฉพาะฝ่ายบริหารเท่านั้น

3. อำนาจตุลาการ ต้องมีสภายุติธรรม แทนศาลรัฐธรรมนูญ โดยผ่านการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง เพื่อดูแลกระบวนการยุติธรรม ฝ่ายตุลาการ และองค์กรอิสระ

อำนาจของฝ่ายตุลาการที่เป็นอำนาจตัดสินใจสูงสุดจึงควรได้รับการยกระดับโดยการเลือกของประชาชน จะต้องมีการกำหนดขอบเขตของอำนาจในการตัดสินประเด็นสำคัญในด้านการเมืองการปกครอง นโยบายสำคัญทางเศรษฐกิจหรือปัญหาความขัดแย้งขนาดใหญ่ในสังคม แก้ปัญหาความขัดแย้งทางกฎหมาย และรัฐธรรมนูญ

แต่องค์ประกอบของสภานี้ก็จะต้องมีผู้รอบรู้ด้านต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาข้อผิดพลาด ไม่ใช่มีเฉพาะทางกฎหมาย จะต้องมีองค์ประกอบอื่นซึ่งผู้ร่าง รธน.จะต้องไปคิดค้นว่าจะมาจากศาลยุติธรรม จากนักวิชาการด้านกฎหมาย ด้านเศรษฐศาสตร์ การเงิน การเกษตร จากทนาย จากตำรวจ จากอัยการ ผู้มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ศิลปะ ฯลฯ เพื่อให้เกิดดุลพินิจแห่งความยุติธรรม เมื่อรวมกันหลายด้านทั้งสภาอาจจะมีสมาชิก 100 คน

หลังผ่านไป 90 ปี ถ้าจะสรุปยุทธศาสตร์สำคัญในปีที่ 91 ก็คือต้องต่อสู้เพื่อให้พ้นวงจรเดิม เพื่อให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดย ส.ส.ร. ผู้ที่ต้องออกหน้าคือพรรคการเมืองและ ส.ส. ตามด้วยการเคลื่อนไหวนอกสภา ซึ่งเป็นสิทธิและหน้าที่ของประชาชน แต่ถ้าจะให้สะดวกต้องเปลี่ยนรัฐบาลก่อน