สุรชาติ บำรุงสุข : รัฐประหารกับการเมืองตุรกี (3) ความพ่ายแพ้ของ “ผู้พิทักษ์”

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข
AFP PHOTO / OZAN KOSE

“สถาบันประชาธิปไตยจอมปลอม ทำให้กองทัพได้รับความเคารพและความชื่นชมจากประชาชนชาวตุรกีส่วนใหญ่ แม้คณะทหารจะมีความรับผิดชอบต่อการจัดระเบียบทางการเมือง แต่การดำรงอยู่ของสถาบันการเมืองที่คล้ายคลึงกับการเมืองประชาธิปไตย ได้ช่วยปกป้องพวกเขาจากความไม่พอใจของสาธารณชน ผลลัพธ์ที่ตามมาก็คือ สถาบันทหารดำรงอยู่เหนือคำตำหนิติเตียนทั้งปวง”
-Steven A. Cook-
Ruling But Not Governing (2007)

หากย้อนจากรัฐประหารปัจจุบันในปี 2016 กลับไปสู่เวลาของการรัฐประหารครั้งก่อนในปี 1980 แล้ว คงต้องยอมรับว่าเป็นระยะเวลาพอสมควร จนผู้คนในสังคมตุรกีอาจจะลืมเลือนไปกับปรากฏการณ์ของการเคลื่อนกำลังพลและรถถังเข้ายึดจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในเมืองเพื่อการล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

แม้ในปี 1997 จะเกิดรัฐประหารขึ้นก็ตาม แต่ดูเหมือนรัฐประหารครั้งนั้นจะแตกต่างออกไปจากครั้งก่อนๆ (1960, 1971 และ 1980) เพราะมีลักษณะเป็น “รัฐประหารเงียบ” ที่ผู้นำกองทัพใช้กำลังกดดันจนเกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไปในทิศทางที่ผู้นำทหารต้องการ และถูกเรียกว่าเป็น “รัฐประหารในยุคหลังสมัยใหม่” (The Postmodern Coup) ของสังคมตุรกี ซึ่งก็ไม่ใช่ปรากฏการณ์ของการใช้กำลังขนาดใหญ่โดยตรงในการแทรกแซงทางการเมือง

สิ่งที่เกิดขึ้นเช่นนี้ทำให้อาจกล่าวได้ว่า สังคมการเมืองตุรกีร้างราจากการรัฐประหารเต็มรูปมาเป็นระยะเวลาถึง 36 ปีแล้ว (จากปี 1980 ถึง 2016) จนอาจจะทำให้คนรุ่นใหม่ของตุรกีไม่คุ้นชินกับปรากฏการณ์เช่นนี้อีกแต่อย่างใด

และประเทศก็เดินหน้าสู่ “ภูมิทัศน์ใหม่” ทางการเมืองเช่นที่เกิดขึ้นกับการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองในหลายๆ ประเทศ

AFP PHOTO / GURCAN OZTURK
AFP PHOTO / GURCAN OZTURK

แต่แล้วในวันที่ 15 กรกฎาคม 2016 ปรากฏการณ์เก่าของการแทรกแซงทางการเมืองของกองทัพก็เกิดขึ้นในการเมืองตุรกีอีกครั้ง เวลาประมาณ 22.30 น. ของวันดังกล่าว เครื่องบินรบของกองทัพอากาศตุรกีได้บินเหนือน่านฟ้ากรุงอังการาในยามค่ำคืน พร้อมกับกำลังทางบกได้เคลื่อนเข้านครอิสตันบูล ปิดสะพานเชื่อมต่อระหว่างยุโรปกับเอเชีย

ทหารกลับเข้าสู่การเมืองตุรกีด้วยวิธีการเก่าไม่แตกต่างจากเดิม ซึ่งสถานการณ์ครั้งนี้ดูจะง่ายดาย เพราะกำลังของฝ่ายรัฐประหารได้ยึดจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในเมือง

โดยในเบื้องต้นนั้นไม่มีการต้านทานจากกำลังของฝ่ายรัฐบาลเท่าใดนัก

ในขณะที่ประธานาธิบดี เรเจพ เทยิพ แอร์โดอาน (หรือเออร์ดูอันในสำเนียงของภาษาเตอร์กิช) อยู่ในระหว่างการพักผ่อนที่เมืองมาร์มาร์ส ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ

กำลังของฝ่ายรัฐประหารเปิด “ยุทธการยึดเมือง” แล้ว

จากช่วงเวลา 23.00-24.00 น. ปฏิบัติการทางทหารของฝ่ายรัฐประหารเป็นไปอย่างรวดเร็ว และก่อนเที่ยงคืนเพียงเล็กน้อย กำลังรบของฝ่ายรัฐประหารก็เคลื่อนเข้ายึดจัตุรัสทักสิมใจกลางนครอิสตันบูล

และหลังเที่ยงคืนเล็กน้อย กำลังรบส่วนนี้ได้เข้ายึดสถานีวิทยุและโทรทัศน์แห่งชาติ (TRT) พร้อมกับประกาศเจตนารมณ์ของการยึดอำนาจผ่านสื่อ

AFP PHOTO / Bulent KILIC
AFP PHOTO / Bulent KILIC

คณะรัฐประหารภายใต้ชื่อ “The Peace at Home Council” ได้อธิบายว่ารัฐบาลปัจจุบันได้ทำลายความเป็นรัฐประชาธิปไตยและรัฐทางโลกย์ (secular) ดังนั้น กองทัพจึงต้องเข้ามามีบทบาทในการจัดการกับปัญหาดังกล่าว

หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ กองทัพได้แสดงตัวในฐานะของ “ผู้พิทักษ์” ที่จะปกป้องการเมืองประชาธิปไตยและโลกียรัฐอันเป็นสิ่งที่ถูกปลูกฝังให้เป็นรากฐานของการเมืองตุรกีสมัยใหม่

อย่างไรก็ตาม คณะรัฐประหารไม่สามารถโค่นล้มรัฐบาลได้ทันที และรัฐบาลโดยประธานาธิบดีแอร์โดอานก็เริ่มตอบโต้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐบาลมีความชัดเจนในทางการข่าวว่า ผู้นำทหารทั้งหมดไม่ได้ตัดสินใจเข้าร่วมการรัฐประหารครั้งนี้ และการเคลื่อนกำลังที่เกิดขึ้นก็เป็นเพียง “กำลังบางส่วน” ของกองทัพ และเป็นปฏิบัติการที่อยู่ “นอกเหนือสายการบังคับบัญชา”

ซึ่งหากจะเรียกในภาษาทางทหารก็อาจกล่าวได้ว่า การเคลื่อนกำลังครั้งนี้มีลักษณะเป็น “กบฏทหาร” เพราะกำลังหลักส่วนใหญ่และผู้บังคับบัญชาส่วนใหญ่ไม่ได้ตอบรับในการร่วมรัฐประหารด้วยแต่อย่างใด

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้บัญชาการกองทัพภาคที่ 1 ที่ควบคุมกำลังในอิสตันบูลประกาศว่า กองทัพตุรกี (TSK) ไม่ได้สนับสนุนการยึดอำนาจ และหน่วยที่ออกมาเป็นเพียงกำลังพลส่วนน้อยในกองทัพ

ดังนั้น ในเวลาราวเที่ยงคืนครึ่ง ประธานาธิบดีแอร์โดอานก็เริ่มประกาศทางสื่อว่า รัฐบาลยังอยู่และไม่ได้ถูกโค่นล้มจากฝ่ายรัฐประหาร

และในเวลาประมาณตี 1 ของวันที่ 16 กรกฎาคม เขาได้ใช้ Facetime ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ CNN Turk และเรียกร้องให้ผู้สนับสนุนเขาออกมาต่อต้านรัฐประหารด้วยการชุมนุมบนท้องถนนโดยไม่ต้องใส่ใจกับการประกาศเคอร์ฟิว (การห้ามออกนอกเคหสถาน) ของผู้ยึดอำนาจ

คำประกาศของแอร์โดอานที่ว่า “ไม่มีอำนาจใดสูงยิ่งกว่าอำนาจของประชาชน” มีพลังอย่างยิ่ง…

แล้วผู้คนเป็นจำนวนมากก็ออกมาชุมนุมต่อต้านทหารบนถนน

พร้อมกันนี้ นายกเทศมนตรีของนครอังการา ซึ่งสังกัดพรรคเดียวกับประธานาธิบดีแอร์โดอาน ก็เรียกร้องและประกาศสนับสนุนการออกมาชุมนุมบนท้องถนน อีกทั้งกำลังของฝ่ายตำรวจก็ยืนอยู่กับฝ่ายรัฐบาลอย่างชัดเจน

 

ในท่ามกลางการต่อสู้กับกองกำลังของฝ่ายรัฐประการเช่นนี้ เห็นได้ชัดว่าด้วยความเป็นผู้นำที่มาจากพรรคการเมืองคือ “พรรคเพื่อความยุติธรรมและการพัฒนา” (AKP) และมีฐานเสียงอย่างกว้างขวางในช่วงหลายปีที่ผ่านมานั้น ทำให้มีมวลชนสนับสนุนเป็นจำนวนมาก และมวลชนเหล่านี้พร้อมที่จะเข้าร่วมการต่อสู้กับพรรค

ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อกำลังของฝ่ายรัฐประหารบุกเข้าไปยึดสถานีวิทยุและโทรทัศน์แห่งชาติ (TRT) นั้น ในที่สุด ประชาชนเป็นจำนวนมากพร้อมกับกำลังตำรวจได้บุกเข้าไปปิดล้อมและยึดคืนได้อย่างรวดเร็ว

หรือแม้กระทั่งมีรายงานข่าวว่า ประชาชนได้บุกเข้าไปพยายามยึดสนามบินคืนจากฝ่ายรัฐประหาร ตลอดรวมถึงการขัดขวางเส้นทางการเคลื่อนกำลังของฝ่ายทหาร

ซึ่งต้องยอมรับว่า การต่อต้านรัฐประหารของประชาชนตุรกีครั้งนี้เป็นสัญญาณที่ชัดเจนถึงการปฏิเสธที่จะยินยอมให้กำลังทหารบางส่วนนำพาประเทศกลับไปอยู่ในมือของรัฐบาลทหารอีกครั้ง

ทั้งยังจะเห็นได้ว่า ประชาชนได้ออกมาต่อต้านรัฐประหารเป็นจำนวนมากอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

และประชาชนเหล่านี้อีกส่วนก็มิใช่สมาชิกพรรค AKP แต่อย่างใด

 

ในช่วงดึก ได้เห็นความผันแปรของสถานการณ์ทางทหารในอีกด้านหนึ่ง โดยเครื่องบินรบแบบเอฟ-16 ของฝ่ายรัฐบาลยิงเฮลิคอปเตอร์ของฝ่ายรัฐประหารตก

พร้อมกันนี้เครื่องบินรบแบบเอฟ-16 ของฝ่ายรัฐบาลได้บินขึ้นเพื่อควบคุมน่านฟ้าของกรุงอังการา ซึ่งจะป้องกันฝ่ายรัฐประหารไม่ให้สามารถใช้เฮลิคอปเตอร์ปฏิบัติการสนับสนุนกำลังพลภาคพื้นดิน

และต่อมาในเวลา 3 นาฬิกาของวันที่ 16 กองทัพตุรกีก็ประกาศว่าสามารถควบคุมน่านฟ้าและและคุมสถานการณ์ของประเทศไว้ได้ทั้งหมด และประกาศให้น่านฟ้าของกรุงอังการาเป็น “เขตห้ามบิน”

รัฐประหารเดินมาถึงจุดสุดท้ายในเวลา 4 นาฬิกาเมื่อประธานาธิบดีแอร์โดอานออกโทรทัศน์ประกาศถึงการดำรงอยู่ของรัฐบาล

และย้ำว่า “กองทัพไม่มีหน้าที่ในการปกครองรัฐหรือนำรัฐ กองทัพไม่สามารถทำเช่นนั้นได้”

พร้อมกันนั้นเขาได้ประกาศว่าเขาจะ “ทำความสะอาด” กองทัพตุรกี และนับจากช่วงเวลาดังกล่าว อำนาจของฝ่ายรัฐประหารเริ่มค่อยๆ พังทลายลงอย่างชัดเจน

และทหารของฝ่ายรัฐประหารเริ่มทยอยมอบตัวกับฝ่ายตำรวจ

ขณะเดียวกัน ประชาชนเป็นจำนวนมากก็ออกมาอยู่บนท้องถนนเพื่อแสดงพลังต่อต้านรัฐประหาร และเข้าร่วมกับตำรวจในการจับกุมฝ่ายรัฐประหาร

ต่อมาในตอนรุ่งสาง 5 นาฬิกาเศษ รัฐบาลก็สามารถยึดคืนสนามบินได้ และในช่วงเช้าจากเวลาประมาณ 6-8 นาฬิกานั้น อาจจะยังคงมีการปะทะอยู่บ้างบนถนน แต่ก็เป็นเพียงเหตุเล็กๆ

สถานการณ์โดยทั่วไปอยู่ในความควบคุมของฝ่ายรัฐบาลได้ทั้งหมด และต่อมาในช่วงสาย กำลังของฝ่ายรัฐประหาร 700 นายในกองบัญชาการกองทัพบกก็ประกาศยอมแพ้

และประมาณว่าราว 09.30 น. ของเช้าวันเสาร์ที่ 16 กรกฎาคม รัฐประหารชุดนี้ก็ยุติลง

 

ถ้าคิดในเชิงเวลาแล้ว อาจจะต้องยอมรับว่ารัฐประหารในตุรกีครั้งนี้มีระยะเวลาสั้นมากๆ จาก 10.30 น. ของวันศุกร์ที่ 15 กรกฎาคม และจบลงในเวลา 09.30 น. ของวันเสาร์ที่ 16 กรกฎาคม หรือมีระยะเวลาเพียง 11 ชั่วโมงเท่านั้นโดยประมาณ… กองทัพที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) กลับพ่ายแพ้ในการทำรัฐประหารอย่างรวดเร็ว!

สภาวะของ “ภูมิทัศน์ทางการเมือง” ของตุรกีเปลี่ยนแปลงไปมาก แม้บทบาทของการเป็น “ผู้พิทักษ์” ที่เคยเป็นผู้เข้ามาแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและดำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศก็ใช่ว่าจะเป็นเรื่องที่จะได้รับการยอมรับเช่นในอดีต หรือว่าวันเวลาของรัฐประหารกำลังเดินถึงจุดสิ้นสุดแล้วในการเมืองตุรกี

และเขายังเตือนบรรดาผู้ก่อรัฐประหารครั้งนี้ว่า “พวกเขาจะต้องจ่ายราคาแพง” ให้แก่การก่อรัฐประหารที่เกิดขึ้น ดังจะเห็นได้ว่าหลังจากที่ฝ่ายรัฐบาลได้เข้าควบคุมสถานการณ์จนนำไปสู่ความพ่ายแพ้ของฝ่ายรัฐประหารแล้ว สิ่งที่เกิดตามมาก็คือ “การกวาดล้าง” ทางการเมืองครั้งใหญ่ ดังที่หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์รายงานจนถึงวันที่ 20 กรกฎาคม 2016 ว่า ฝ่ายรัฐประหารจำนวน 45,000 นายถูกปลดออกจากราชการและถูกจับกุม ซึ่งในจำนวนนี้เป็นผู้พิพากษา 2,700 นาย อาจารย์ 15,000 คน (และรวมทั้งอธิการบดีทุกมหาวิทยาลัยในตุรกี)

ซึ่งในจำนวนนี้มีทหารและตำรวจระดับต่างๆ ถูกจับกุมเป็นจำนวนมาก

 

อย่างไรก็ตาม แม้รัฐบาลพลเรือนจะสามารถเอาชนะการรัฐประหารได้ แต่รัฐบาลกลับมีทิศทางไปในแบบอำนาจนิยมมากขึ้น

จนเกิดความกังวลว่า รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะกลายเป็นรัฐบาลอำนาจนิยมเสียเองในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้อำนาจในการกวาดล้างทางการเมืองที่ดำเนินการในแบบไร้ขอบเขต

ดังจะเห็นได้ว่ามีการเรียกร้องให้นำโทษประหารชีวิตกลับมาใช้อีกครั้งในตุรกี ทั้งที่ก่อนหน้านี้โทษดังกล่าวได้ถูกยกเลิกไปแล้ว ด้วยเหตุผลสำคัญที่ตุรกีจะต้องเข้าเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป ดังนั้น การกวาดล้างทางการเมืองถึงขั้นที่อาจจะนำเอาโทษประหารชีวิตกลับมาใช้ อาจจะกระทบโดยตรงต่อสมาชิกภาพของตุรกีในสหภาพยุโรป

และอียูเองก็ส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่าการนำเอาโทษดังกล่าวนี้กลับมาใช้จะทำให้สถานะของตุรกีในสหภาพสิ้นสุดลง

สภาพเช่นนี้ดูจะกลายเป็นความน่ากังวลทางการเมืองเป็นอย่างยิ่ง เพราะชัยชนะในการต่อสู้กับรัฐประหารที่เกิดขึ้น กลับเป็น “โอกาสทอง” ให้ผู้นำพลเรือนที่มีทิศทางเป็นอำนาจนิยมอยู่แล้วดูจะมีแนวโน้มที่เป็นอำนาจนิยมมากขึ้น

อีกทั้งยังจะเป็นโอกาสของการกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองที่เป็นผู้นำทางศาสนาอย่างกุลเลน (Mohammed Fethullah Gulen) ซึ่งเป็นทั้งนักเทศน์ นักการศาสนา นักเขียน และผู้นำทางการเมือง (เขาเป็นผู้ก่อตั้งขบวนการกุลเลน) และปัจจุบันลี้ภัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งรัฐบาลตุรกีประกาศว่าเขาเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการรัฐประหาร และถูกขอให้รัฐบาลอเมริกันส่งตัวกลับในฐานะ “ผู้ร้ายข้ามแดน”

ซึ่งประเด็นนี้กำลังเป็นปัญหาสำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างตุรกีกับสหรัฐในปัจจุบัน


ปรากฏการณ์เช่นนี้กำลังบ่งบอกถึงการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย ที่แม้ทหารจะประสบความพ่ายแพ้ในการก่อรัฐประหาร แต่รัฐบาลพลเรือนกลับทวีความเป็น “รัฐพันทาง”

หรือตุรกีหลังยุครัฐประหาร 2016 กำลังก้าวสู่การเป็น “การเมืองไฮบริด” (hybrid politics) อย่างชัดเจนมากขึ้น

และปรากฏการณ์ชุดนี้กำลังมาพร้อมกับ “การล่าแม่มด” ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองของตุรกี จนมีนักวิชาการบางส่วนเปรียบเทียบว่า การกวาดล้างในตุรกีกำลังเป็นเหมือนกับการกวาดล้างในยุค “ปฏิวัติวัฒนธรรม” ในจีนยุคประธานเหมาที่เริ่มขึ้นในปี 1966

ดังนั้น จึงน่าสนใจอย่างยิ่งว่า ความพ่ายแพ้ของกองทัพในรัฐประหาร 2016 และตามมาด้วยการกวาดล้างขนาดใหญ่ในกองทัพ จะส่งผลให้อิทธิพลของทหารหมดไปจากการเมืองตุรกีหรือไม่

หรือความสัมพันธ์พลเรือน-ทหารที่ทวีความขัดแย้งมากขึ้น จะส่งผลต่อภูมิทัศน์ทางการเมืองของตุรกีอย่างไรในอนาคต!