ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 8 - 14 กรกฎาคม 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | โลกทรรศน์ |
ผู้เขียน | อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ |
เผยแพร่ |
โลกทรรศน์
อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์
รหัสนัยไทย-เมียนมา
เหตุการณ์ชายแดนไทย-เมียนมาในช่วงหลายวันที่ผ่านมา เครื่องบินมิก 29 ของทหารเมียนมาบินเลียบชายแดนไทย-เมียนมาในระดับต่ำ พร้อมยิงจรวดและปืนกลถล่มรอบฐานอูเกรทะของฝ่ายกะเหรี่ยง จนเกิดเสียงระเบิดดังสนั่นข้ามชายแดน ทั้งนี้ เมื่อ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุการณ์ที่สร้างความแตกตื่นให้กับประชาชนชาวไทย เครื่องบินมิก 29 บินล้ำแดนเข้ามาถึงอำเภอพบพระ จนชาวบ้านต้องวิ่งไปในหลุมหลบภัยอย่างชุลมุน1
นี่เป็นรายงานข่าวเหตุการณ์ชายแดนไทย-เมียนมาโดยย่อ รายงานข่าวดังกล่าวแพร่กระจายไปทั่วทั้งสื่อออน ไลน์และหนังสือพิมพ์ไทยและต่างประเทศ เช่น BBC, AP, CNN, The Guardian, The Diplomacy เป็นต้น
ข่าวดังกล่าวน่าสนใจ หาใช่เรื่องแค่ปัญหาชายแดน แต่เป็นเรื่องของผู้คน ชาวบ้านที่ได้รับความเดือนร้อน
ที่สำคัญ เหตุการณ์นี้ก่อให้เกิดข้อถกเถียงสำคัญต่อไทยและเมียนมา ในหลายด้าน
ขอเรียนว่า ข้อเขียนของผมไม่มีวัตถุประสงค์ใดให้เกิดความเกลียดชังระหว่างคนไทยและคนเมียนมา ข้อมูลที่ใช้ไม่มีเรื่องอะไรลี้ลับ ล้วนเป็นข่าวสารจากสื่อมวลชนทั่วไปหลากหลายแขนง โดยที่ความเห็นเป็นความเห็นของผม
รหัสนัย เมียนมาไม่ได้อ่อนโยน
“…เมียนมาเป็นเพื่อน เหมือนเรามีบ้านแล้วเพื่อนพลั้งเผลอ เดินตัดสนามหญ้า จะยิงเขาตายเลยหรือ การปฏิบัติการที่เหมาะสม จึงต้องอยู่บนพื้นฐานเพื่อนปฏิบัติต่อเพื่อน…”
ข่าวสดออนไลน์ 1 กรกฎาคม 2565
ผมเข้าใจว่า นี่เป็นคำพูดของนายทหารอากาศชั้นผู้น้อยเพียงคนเดียวกระมังหรือไม่อย่างไร น่าสนใจพวกลูกกะโล่ บ้างก็ว่า จะร่วมกันจุดกระแสก่อสงครามกับเมียนมาหรือ บ้างก็ว่า เดี๋ยวอเมริกันก็ได้หัวเราะ แปลกที่ลูกกะโล่เป็นถึงอดีตข้าราชการระดับสูงในฝ่ายความมั่นคง บางท่านแสดงตนว่า รักและหวงแหนไทยทั้งแผ่นดินมากกว่าคนทั่วไป แต่กลับไม่พูดเรื่อง ภัยคุกคาม ความมั่นคง อธิปไตยไทย เอาเสียเลย
น่าขำ ยิ่งพูดยิ่งคล้ายกับนายทหารอากาศเพื่อนรักเมียนมาท่านนั้น ผมเลยลองค้นคว้าหลักฐานประวัติศาสตร์ แล้วพบว่า ผู้นำทหารเมียนมา ท่านไม่ได้เป็นคนอ่อนโยนอย่างที่เข้าใจ ภายใต้รอยยิ้มระหว่างจับมือกัน เขาเหี้ยม แข็งกร้าว ท้ารบ รบมาก็เยอะแล้ว
ที่ผ่านมา ทั้งไทยและเมียนมาต่างไม่ไว้วางใจต่อกัน ในช่วงสมัยใหม่ เด็กนักเรียนไทยรู้น้อยมากๆ เกี่ยวกับเมียนมา ที่ใช้กำลังรุกรานและทำลายกรุงเก่า กรุงศรีอยุธยาในปี ค.ศ.17672 แล้วเมียนมายังมีหลายเหตุผลที่ทำให้คนไทยโกรธเคือง ระแวง เมื่อต้นทศวรรษ 1950 พวกเขาเข้าไปเกี่ยวข้องอย่างแข็งขันในการส่งอาวุธให้กองกำลังก๊กมินตั๋ง ที่อยู่บริเวณตะวันออกเฉียงเหนือและเหนือของเมียนมา หลังจากพ่ายแพ้กองกำลังคอมมิวนิสต์ของเหมาเจ๋อตง ปี 1949
ทหารเมียนมาต้องต่อสู้กับกองกำลังที่ไม่ได้ต้อนรับแต่รุกราน ในขณะที่ซีไอเอของสหรัฐและพันธมิตรอย่างไต้หวันและไทย ช่วยเติมอาวุธและสิ่งจำเป็นต่างๆ ข้ามชายแดนไปรัฐฉาน ที่ก๊กมินตั๋งตั้งฐานอยู่
ต่อมาตุลาคม 1953 ความหวาดกลัวดั้งเดิมของไทยต่อเมียนมามีมากขึ้น เมื่อทหารเมียนมาพยายามสกัดก๊กมินตั๋งทางใต้ ซึ่งปัจจุบันคือ รัฐคะยา (Kayah) และเครื่องบินเมียนมาผลัดหลงข้ามชายแดน และเกิดอุบัติเหตุระเบิดที่หมู่บ้านหนึ่งใน อ.แม่สอด จ.ตาก ของไทย มีคนตาย 2 คน บาดเจ็บ 5 คน
แล้ววิญญาณชาวอยุธยาก็พวยพุ่ง ในรายงานที่มีความอ่อนไหวในสื่อไทย นายกรัฐมนตรีไทยสมัยนั้น จอมพล ป.พิบูลสงครามประกาศขู่ยิงเครื่องบินใดๆ ของเมียนมาที่ล่วงล้ำน่านฟ้าไทย
อย่างไรก็ตาม อย่างส่วนตัว จอมพล ป.เชิญผู้นำกบฏมอญและกะเหรี่ยงมากรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก การเจรจาลับจัดขึ้นระหว่างตัวแทนกองกำลังชาติพันธุ์ของเมียนมาและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของไทย
มีนาคม 1954 พวกเขามาถึงกรุงเทพฯ มีผู้นำมอญ หนึ่งในผู้ก่อตั้งขบวนการกบฏมอญ มีตัวแทนมอญที่มีความสัมพันธ์กับชุมชนเชื้อสายมอญในไทย มีคนหนึ่ง ผมขออ้างชื่อ Saw Thra Din ตัวแทนของ Karen National Union-KNU พวกเขาพบปะสั้นๆ กับจอมพล ป. แต่เจรจากับนายตำรวจท่านหนึ่ง ร่วมกับขอเอ่ยชื่อ สิทธิ เศวตศิลา ผู้บังคับการหนุ่มแห่งกองทัพอากาศไทย3
การพบปะอย่างลับๆ ของผู้นำกองกำลังกบฏมอญและกะเหรี่ยงในปี 1954 ครั้งนั้น เป็นจุดเริ่มต้นของนโยบายใหม่ของไทยต่อเมียนมามานานหลายทศวรรษ สำหรับไทย
การตรวจตรา ช่องโหว่ชายแดน 2,426 กิโลเมตรกับศัตรูในประวัติศาสตร์ยุ่งยากและใช้งบประมาณมหาศาล ผลคือ การกระตุ้นกองกำลังรบกลุ่มชาติพันธุ์จากเมียนมา ทำหน้าที่เป็นกันชน
ในเวลาเดียวกัน ผู้นำไทยผูกมัด แต่ไม่สนับสนุนโดยตรง กลุ่มกบฏได้รับอนุญาตให้อยู่ในเมืองและหมู่บ้านในฝั่งไทย และพวกเขาสามารถซื้ออาวุธและกระสุนจากฝั่งไทย
ส่วนผู้นำทหารเมียนมาผิดหวัง ไม่สามารถปราบกบฏนานหลายทศวรรษ จนถึงปัจจุบัน เห็นไหมครับ ไม่มีใครเป็นเพื่อนใคร ผู้นำของเมียนมาและไทยต่างก็ต้องรักษาผลประโยชน์ของชาติตนทั้งสิ้น ในสถานการณ์หนึ่ง การขู่ว่าจะยิงเครื่องบินเมียนมาทุกชนิดที่ล่วงล้ำน่านฟ้าไทย มีความจำเป็น
ผมไม่ได้คลั่งชาติ ไม่ได้เจ็บแค้นเมื่อกรุงศรีอยุธยาล่มสลาย แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง เห็นทหารเมียนมาเป็นเพื่อน ก็ดีครับ แต่ก็แปลกที่ลุ่มหลงคำหวานในการประชุมและงานเลี้ยงที่เขาจัดให้อยู่บ่อยๆ
ยิ่งไปกว่านั้น ผู้แทนพิเศษไทยที่เพิ่งตั้ง ก็พลอยคิดว่า เข้าถึงผู้นำทหารเมียนมาง่ายนิดเดียว เพราะเขาเป็นเพื่อนเรา ผู้แทนพิเศษไทยอาจตกเป็นเครื่องมือของผู้นำทหารเมียนมา
เราเห็น เขาเกรงใจเราบ้างหรือยัง
รหัสนัยไทย-เมียนมา ใครรักษาอธิปไตยใคร
“…สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เราไม่มีสมรรถนะเพียงพอที่จะรักษาอธิปไตยของเราไว้ได้…”
นี่เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ผมเข้าใจว่า นี่เป็นคำพูดของอดีตนายทหารบกชั้นผู้น้อยเพียงคนเดียว ต่อเครื่องบินมิก 29 ของเมียนมาที่ล่วงน่านฟ้าไทย
ผมมีประเด็นดังนี้ครับ
ประการที่หนึ่ง ก่อนที่จะพูดถึงสมรรถนะของกองทัพไทย คนไทยต้องนิยามใหม่ว่า ภัยคุกคามคืออะไรกันแน่ ความมั่นคงของไทยประกอบด้วยอะไร อธิปไตยประกอบด้วยอะไร เหตุด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงกลับสับสนเสียเอง หรือแกล้งไม่รู้แก่นแท้ของภัยคุกคามความมั่นคง หลังรัฐประหารเมียนมาล่าสุด นโยบายความมั่นคงไทยต่อเมียนมา งง เราแยกไม่ออกว่า เป็นความมั่นคงของไทยหรือเมียนมากันแน่ เล่นเอาสงสัยเรื่องอธิปไตยด้วย
ประการที่สอง รหัสนัยหนึ่งนั้น ผู้เชี่ยวชาญความมั่นคงของเราอาจไม่จำเป็นกลับสู่ทวิภพ แล้วเป็นศัตรูในประวัติศาสตร์ต่อกัน แต่เหตุที่ “แสร้งว่า” ไม่รู้จักภัยคุกคามความมั่นคง เพราะมีผลประโยชน์ของกลุ่มก้อน นั่นคือ เมียนมาเป็นแหล่งพลังงาน เป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติของไทย
อย่างไรก็ตาม หากผู้นำเมียนมาอ้างเหตุไม่ส่งก๊าซให้กับทางการและบรรษัทไทยนั้น เรื่องผลกระทบต่อประชาชน และการสูญเสียคะแนนนิยมทางการเมืองอาจเป็นเรื่องรอง แต่ผลประโยชน์ของกลุ่มก้อนต่างหากที่สูญหายไป
ผู้เชี่ยวชาญความมั่นคงพูดเองว่า ไม่อาจรักษาอธิปไตยของไทยได้ ก็…สิ สมรรถนะ หมายถึงซื้ออาวุธอีกมั้ง
1″เมียนมา : ฝ่ายค้าน-ฝ่ายรัฐบาลมองต่างมุม ‘อธิปไตยไทย’ หลังเครื่องบินรบมิก 29 รุกล้ำน่านฟ้าไทย” บีบีซีไทย 2 กรกฎาคม 2565
2ขอใช้ ค.ศ. ข้อมูลส่วนนี้นำบางส่วนมาจากงานของนักหนังสือพิมพ์ชาวสวีเดน Bertil Lintner ซึ่งงานเขียนของเขาได้รับรางวัลมากมาย แล้วเขาใช้เวลาทำข่าวเมียนมายาวนานมากกว่า 4 ทศวรรษ รวมทั้งงานประวัติศาสตร์ไทยและเมียนมาของนักวิชาการไทยหลายท่าน
3ในภายหลังท่านเป็นเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ต่อมาท่านเป็นนักการเมืองและดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศช่วงปี ค.ศ.1980-1990 และเป็นองคมนตรีในหลวงรัชกาลที่ 9