คำ ผกา | ไม่ต้องพีอาร์ มีมารยาทให้ได้ก่อน

คำ ผกา

ตอนนี้มีคนพยายามจะอธิบายความล้มเหลวของตนเองว่า “เป็นเพราะงานพีอาร์สู้ไม่ได้” อันเนื่องมาจากปรากฏการณ์ชัชชาติฟีเวอร์

ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันเคยดำรงตำแหร่งนายกฯ มาแล้วครั้งหนึ่งหลังการรัฐประหารปี 2557 ทำงานร่วมกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อยู่ในวาระยาวนานกว่า 4 ปี

ผลงานที่ประชาชนจำได้คือการใช้มาตรา 44 บริหารประเทศ และคำสั่งจากมาตรา 44 ยังทิ้งภาระไว้มหาศาลให้ตามล้างตามเช็ด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเหมืองทองอัครา รถไฟฟ้าสายสีเขียว การคุกคามประชาชน นักเคลื่อนไหวเพื่อขบวนการประชาธิปไตย และผลงานชิ้นโบแดงของรัฐบาลนั้นคือ รัฐธรรมนูญปี 2560

ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้งปี 2562 ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบันด้วยอภินิหารของรัฐธรรมนูญที่มีคนบอกว่า “ออกแบบมาเพื่อเรา”

ตั้งแต่ปี 2562 มาจนถึงนี้ เราไม่แน่ใจว่าผลงานของรัฐบาลนี้มีอะไรบ้างนอกจาก “คลองโอ่งอ่าง”

ในภาวะวิกฤตโรคระบาด วิกฤตพลังงาน วิกฤตความขัดแย้งระหว่างยูเครน รัสเซีย ผลงานของรัฐบาลที่เราเห็น เป็นการทำงานตามระบบราชการ

จะว่าไม่ทำงานก็ไม่ใช่ แต่เป็นการทำงานตามหน้าที่ไปวันๆ ไม่มีการทำงานเชิงรุก ไม่มีจินตนาการว่าอยากปักธงพาประเทศชาติไปทางไหน

นายกฯ พยายามทำผลงานให้เป็นที่ปรากฏด้วยการไป “ตัดริบบิ้น” พร้อมกล่าวสุนทรพจน์เปิดงาน ตามแต่หน่วยราชการจะจัดให้

ดูๆ แล้วไม่แน่ใจว่านี่คืองานของผู้บริหารประเทศหรืองานนางงามแบรนด์แอมบาสเดอร์

แต่จะเป็นแบรนด์แอมฯ ที่ดีก็เป็นไปไม่ได้ เพราะแต่ละอย่างที่สื่อสารกับประชาชนก็ล้วนแต่สร้างความงุนงงว่านี่หรือวิสัยทัศน์ เพราะวนเวียนอยู่กับถ้อยคำเดิมๆ เช่น ถ้าไม่มีผมประเทศชาติจะสงบอย่างที่เป็นอยู่ไหม, ต่างประเทศล้วนชื่อนชมความสำเร็จของประเทศไทย, เราต้องทำทุกอย่างตามกฎหมาย ประชาชนต้องให้ความร่วมมือกับรัฐบาล, นายกฯ ดูแลคนทั้งประเทศจะถูกใจทุกคนคงเป็นไปไม่ได้ ฯลฯ

แต่ถึงที่สุดฉันคิดว่าเราไม่ได้และไม่เคยฝากความหวังอะไรไว้กับรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากเสียงของประชาชนอยู่แล้ว

สี่ปีแรกที่มาจากการรัฐประหารก็ย่อมใช้อำนาจรัฐที่มีอยู่เพื่อผลประโยชน์ และอำนาจของคนและเครือข่ายที่สนับสนุนการรัฐประหาร

สี่ปีหลังที่มาพร้อม “กติกา” อันออกแบบมาเพื่อเราก็ย่อมใช้พลังงานส่วนใหญ่ไปกับการ “บริหารอำนาจ” เพราะอำนาจที่ต้องบริหารเป็นอำนาจของ ส.ส. นักการเมือง และพรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง มีอำนาจต่อรองมากกว่า สนช. ที่ตนเองแต่งตั้งมา

สมการที่ง่ายที่สุด รัฐบาลที่ไม่ได้มาจากเสียงของประชาชน ไม่มีวันทำงานบนผลประโยชน์ของประชาชน ยิ่งบวกกับโลกทัศน์ รสนิยม ไลฟ์สไตล์ ของประยุทธ์ ที่ provincial อยู่ในโลกใบเล็กๆ ที่ตนเองคุ้นเคย

ประยุทธ์จึงไม่แม้แต่จะ “แสดง” บทบาทผู้นำที่ดีได้เนียนเท่าคนแบบอานันท์ ปันยารชุน หรือเปรม ติณสูลานนท์ ในยุคก่อนหน้านี้

ดังนั้น ยิ่งอยู่นาน ยิ่งดูเหมือนมิสเตอร์บีน คือไม่แม้แต่จะมีรสนิยมทางศิลปะ หนังสือ วรรณกรรม ดนตรี ภาพยนตร์ อะไรที่เป็นเกียรติเป็นศรีศิวิไลซ์

ยิ่งประยุทธ์อยู่ในตำแหน่งนายกฯ นาน ก็ยิ่งเสียหายต่อภาพลักษณ์ของประยุทธ์เอง

ผลงานของประยุทธ์คือการสถาปนาวัฒนธรรมเจ้าคนนายคนลงมาในสังคมไทยอีกครั้งและความขมขื่นของคนไทยจำนวนมากภายใต้ระบอบประยุทธ์นี้คือประยุทธ์ทำเหมือนประชาชนเป็นหัวหลักหัวตอเป็นผักเป็นปลาเป็นเพียงทหารเกณฑ์ในบ้านนายพลฯ เป็นไพร่ในสังกัดมูลนายที่เพียงเขาอนุญาตให้มีชีวิตอยู่บุญโขแล้ว

และต้องทนฟัง “นาย” พูดพล่ามอะไรๆ ไปทุกวันๆ โดยเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้เลย เพราะขืนทำเช่นนั้นอาจจะโดนลงโทษอย่างหนักได้

มากกว่าความลำบากทางเศรษฐกิจ หลายปีภายใต้ระบอบประยุทธ์มันคือความขมขื่นของภาวะที่ประชาชนรู้สึกว่าตัวเองไม่มีความหมาย ไม่มีตัวตน ไม่สำคัญ เป็นเพียงวัตถุแห่งทานที่รัฐจะโยนอะไรลงมาให้แล้วเรามีหน้าที่สำนึกในบุญคุณอย่างยิ่งเท่านั้น

ความขมขื่นที่สาหัสที่สุดคือความขมขื่นที่ว่าด้วยความเป็น “มนุษย์” ที่มีสิทธิและศักดิ์ศรีของเราถูกพรากและเหมือนจะกลายเป็นเพียงไพร่และทาสอีกครั้ง

 

ปรากฏชัชชาติฟีเวอร์ที่ขยายไปทั่วประเทศ ไม่ใช่เพราะชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เป็นซูเปอร์ที่เข้ามาปัดเป่าทุกปัญหาให้หายไปในชั่วข้ามคืน แต่ชัชชาติทำให้ร่องรอยของความเป็นมนุษย์ที่ศักดิ์ศรีมีตัวตนของคนไทยปรากฏให้เห็นต่อหน้าต่อตาของเราอีกครั้ง ทั้งจากประโยคที่บอกว่าชัยชนะจากการเลือกตั้งคือคำสั่งของประชาชนให้ออกไปทำงาน, การบอกข้าราชการว่าต้องหันหลังให้ผู้ว่าฯ หันหน้าให้ประชาชน, การลงพื้นที่ทำงาน เสาร์ และอาทิตย์ ด้วยเหตุผลว่ามีเวลาทำงานแค่สี่ปี

ภาวะตระหนักรู้ว่าอำนาจที่ตนเองได้มาไม่ใช่อำนาจที่จะอยู่ชั่วฟ้าดินสลาย สวนทางกับผู้ถืออำนาจคนปัจจุบันที่ไม่เคยแสดงออกซึ่งความเข้าใจเลยว่าตำแหน่งทางการเมืองเป็นตำแหน่งที่เกิดขึ้นได้เพียงเพราะประชาชนอนุญาตให้มีและเป็น

การไลฟ์ของชัชชาติอาจถูกมองว่าเป็นการ “พีอาร์” คำถามง่ายๆ คือ หากการไลฟ์ที่ทำได้ง่ายดายเพียงมีสมาร์ตโฟน ใครๆ ก็ไลฟ์ได้ เพราะเหตุใด นายกฯ หรือรัฐมนตรีคนอื่นๆ ไม่นึกอยากจะไลฟ์บ้าง?

อย่าว่าแต่ไลฟ์ แค่เปิดให้ประชาชนไปคอมเมนต์ยังไม่ได้ แล้วจะเอาความกล้าหาญที่ไหนไปไลฟ์?

แต่การไลฟ์ของชัชชาติและทีมงานที่คนตามดูเยอะขนาดนี้ ไม่ใช่เพราะชัชชาติ มีเสน่ห์เหลือเกิน ไม่ใช่เพราะชัชาติหล่อเหมือนณเดชน์ หรือน่ารักแบบหมีแพนด้าที่เราสามารถนั่งดูชีวิตของมันได้ 24 ชั่วโมงไม่มีเบื่อ

แต่ไลฟ์ของชัชชาติคือเรียลลิตี้ระบบการทำงานราชการที่เราไม่มีโอกาสจะได้เห็นมาก่อน

ฉันกำลังจะบอกว่า ระบบการทำงานที่ไม่เปิดเผย ไม่โปร่งใส มีความลึกลับเหมือนแดนสนธยาเป็นหย่อมๆ สะท้อนการขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารบ้านเมือง

เช่น เราไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าระบบจัดการขยะของ กทม.ทำงานอย่างไร (อย่างน้อยตอนที่ฉันอยู่ญี่ปุ่น เราจะรู้ว่าเทศบาลจัดการกับขยะอย่างไร และรู้ว่าขยะแต่ละประเภทจากบ้านเราจะเดินทางไปที่ไหนบ้าง) และการทำงานของราชการ และผู้มีอำนาจรัฐในบ้านเราเป็นพื้นที่สีเทาๆ อยู่ในสภาพไม่เชื่ออย่าลบหลู่มาโดยตลอดไม่ต่างจากความสัมพันธ์ของเราที่มีต่อศาลพระภูมิเจ้าที่ รู้ว่ามีแต่ไม่เห็น รู้ว่าบันดาลอะไรได้ แต่ทำไมโดยมากจะบันดาลไม่สำเร็จ

การไลฟ์ของชัชชาติที่พาเราไปดูสำนักงานระบายน้ำ ไปให้เห็นหน้าคนที่รับผิดชอบเรื่องนี้ พาไปดูในจุดที่น้ำท่วมหนัก พาไปดูการเปิดฝาท่อระบายน้ำจนเห็นถุงขยะขนาดใหญ่ที่ไม่รู้ว่าไปอยู่ในท่อระบายน้ำได้อย่างไร

ต่างๆ เหล่านี้ แม้จะไม่ได้ทำให้ปัญหาที่หมักหมมอยู่หายไป แต่มันคือสัญญาณที่บอกว่า ต่อไปนี้ขั้นตอนการทำงานของ กทม. จะไม่ใช่สิ่งลี้ลับ ศักดิ์สิทธิ์อีกต่อไป และพร้อมเปิดเผยให้ประชาชนเข้ามาเป็นสักขีพยานแห่งการทำงาน ไม่ว่าการทำงานนั้นจะสำเร็จหรือล้มเหลว และยังเป็นการเปิดโปงปัญหาที่ถูกซ่อนไว้ใต้พรมมายาวนาน

มากกว่าการพีอาร์ การไลฟ์ของชัชชาติเป็นการ “แฉ” ความเน่าเฟะที่ซุกซ่อนอยู่ใน กทม.มาปีแล้วปีเล่า เราไม่ได้ชื่นชมชัชชาติที่เป็นคนเก่ง แต่เราชื่นชมที่เขากล้าเปิดปัญหาเหล่านั้นให้เราได้เห็นร่วมกัน

ไม่เพียงแต่เห็นปัญหาเหล่านั้นร่วมกัน ชัชชาติสร้างความเชื่อและความหวังให้กับคน กทม. ว่าในฐานะที่เราไม่ได้เป็นขี้ข้าของมูลนายที่ไหน ดังนั้น เมืองที่เป็นของเราทุกคนนี้ย่อมดีขึ้นได้ถ้าเราช่วยกัน

ไอ้คำว่า ให้เราช่วยกัน จะเป็นประโยคสุดเสร่อทันทีถ้าเป็นการพูดในบริบทที่ประชาชนไม่มีสิทธิไม่มีเสียงไม่มีตัวตน ไม่มีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมืองใดๆ

แต่ถ้าผู้บริหารที่ปวารณาตัวว่ามาทำงานตามคำสั่งของประชาชนและเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองเป็นคนพูด คำว่า “ถ้าเราช่วยกัน” ก็จะไม่ใช่ถ้อยคำที่สักแต่พ่นออกมาโดยไม่ผ่านกระบวนการคิด

ชัชชาติฟีเวอร์ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะชัชชาติหล่อ มีเสน่ห์ พีอาร์เก่ง แต่เป็นอาการฟีเวอร์เพราะประชาชนไม่ได้เจอนักการเมืองและผู้บริหารที่เคารพและมีมารยาทต่อประชาชนมายาวนานเหลือเกิน

และใครก็ตามหลังจากนี้ หากอยากเป็นที่ “ฟีเวอร์” บ้าง สิ่งแรกที่ต้องมีคือ มารยาทและการเคารพต่อประชาชนเจ้าของประเทศ

ทำแค่นี้ให้ได้ก่อน