สูรทาส : นักบุญกวีผู้มีเพียงดวงตาแห่งดวงใจ / ผี พราหมณ์ พุทธ : คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง
Surdas sings as Krishna comes and listens

ผี พราหมณ์ พุทธ

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

 

สูรทาส

: นักบุญกวีผู้มีเพียงดวงตาแห่งดวงใจ

 

“ข้าน้อมไหว้บาทบงสุ์องค์หริศรี ด้วยพระพรนี้คนง่อยเปลี้ยยกภูเขาได้ คนตาบอดก็เห็นทุกสิ่งอย่างสบาย คนหนวกคนใบ้ก็ฟังพูดได้เช่นกัน คนยากไร้ยังกรีดกรายใต้ฉัตรบวร โอ้ พระผู้ประทานพรกรุณามั่น สูรทาสน้อมไหว้ภควัน บังคมคัลค่ำเช้าแทบเท้าเธอ”

แม้พระเจ้าในบทกวีของสูรทาสจะบันดาลได้ทุกสิ่ง แต่สูรทาสยังคงเป็นกวีตาบอดจนตลอดชีวิต ทว่า ท่านอาจเห็นพระเจ้าชัดเจนกว่าคนตาดีมองเห็นสิ่งต่างๆ ในโลก

สูรทาส (Surdas) นักบุญผู้เป็นทั้งกวีและนักขับร้องคนสำคัญในประวัติศาสตร์อินเดีย ถือกำเนิดในปี ค.ศ.1497 (บางตำราว่า 1478) ในหมู่บ้านสิหิ (Sihi) ใกล้กรุงเดลลีในปัจจุบัน

เด็กน้อยถูกตั้งชื่อว่าสุรัช แต่ในเวลาต่อมาก็เป็นที่รู้จักในชื่อ สูรทาส แปลว่าผู้เป็นทาสแห่งเสียง ซึ่งคำนี้ยังอาจหมายถึงคนตาบอดได้อีกด้วย

เด็กน้อยพิการไร้ดวงตามาแต่กำเนิด ด้วยเหตุนั้นบิดารามทาสผู้เป็นพราหมณ์และมารดาจึงไม่ได้เอาใจใส่ดูแลหรือรักใคร่มากนัก

ทว่า สุรัชมีความสามารถพิเศษ เขาสามารถค้นหาสิ่งที่หายไปได้แม้จะมองไม่เห็นดุจมีญานหยั่งรู้ บิดาจึงใช้ความสามารถนี้ของเขาหลอกลวงผู้คน แสร้งทำตัวเป็นผู้วิเศษ

เมื่อสุรัชอายุได้หกปี เขาสามารถหาเหรียญทองคำของบิดาที่หายไปได้ บิดาพึงพอใจมากและต้องการให้สิ่งตอบแทน ทว่า สุรัชขอออกจากบ้านไปโดยไม่กลับมาอีก

เขาคงทนไม่ไหวกับการหลอกหลวงผู้คนเช่นนี้อีกต่อไป

 

แม้สุรัชจะจากบ้านไปแล้ว แต่ชื่อเสียงในญานหยั่งรู้ของเขาทำให้มีผู้คนมาขอความช่วยเหลืออยู่เป็นประจำ เขาจึงพอมีอาหารและของใช้จากคนเหล่านั้นอยู่บ้าง

อันที่จริง อีกเหตุผลที่สุรัชออกจากบ้านก็เพื่อแสวงหาพระกฤษณะ พระเป็นเจ้าที่เขารัก ซึ่งหากเขามัวยุ่งอยู่กับการช่วยพ่อหลอกลวงผู้คน เขาจะมีเวลาไหนทำสมาธิ แต่งบทกวีและสรรเสริญพระองค์ เขาจึงเดินทางเร่ร่อนไปสู่พฤนทาวัน เมืองของพระกฤษณะ

เมื่ออายุได้สิบแปดปีสุรัชได้พบครูของเขา วัลลภาจารย์ นักปรัชญาสำนักศุทธาไทวตะผู้ยิ่งใหญ่

สำนักนี้มีคำสอนว่า แท้จริงแล้ว พระเป็นเจ้าสูงสุดปรากฏรูปเป็นองค์พระกฤษณะ สรรพชีพนั้นแยกแตกต่างจากพระองค์ ไม่สามารถเข้าหลอมรวมกับพระเจ้าดังเช่นคำสอนของสำนักอื่นได้ เพราะพระเจ้าทรงไว้ซึ่งพระคุณาลังการอันพิเศษ ทรงสรรค์สร้างสรรพสิ่ง ความหลุดพ้นคือการที่ดวงชีพได้ชื่นชมรมณ์รื่นกับความรักของพระเจ้าอยู่ชั่วนิตย์นิรันดร์

คำสอนของวัลภาจารย์เรียกอีกอย่างว่า “ปุษฏิมารค” (หนแห่งแห่งความงอกงาม) วัลลลภาไม่ส่งเสริมการบวช แต่เน้นการปรนนิบัติบูชาพระเจ้าด้วยความรักภักดี ใช้ชีวิตฆราวาสและชื่นชมยินดีกับลีลาต่างๆ ของพระเจ้า

 

เมื่อได้รับสุรัชเป็นศิษย์แล้ว วัลลภาจารย์ขอให้สุรัช ซึ่งบัดนี้คือสูรทาสแต่งบทกวีสำแดงลีลาของพระกฤษณะให้มากเท่าที่จะทำได้ บทกวีส่วนใหญ่ของนักบุญสูรทาสจึงเน้น “ลีลา” ต่างๆ ของพระเจ้า ซึ่งอ้างอิงจากตัวเรื่องในคัมภีร์ภาควัตปุราณะ โดยมีงานนิพนธ์ที่สำคัญสุดคือ “สูรสาคร” หรือห้วงน้ำแห่งเสียงหรือห้วงน้ำแห่งบทกวีของสูรทาส

ด้วยความภักดี ตลอดจนบทกวีที่งดงามและการร้องเพลงอันจับใจของสูรทาส แม้แต่พระกฤษณะยังต้องมาฟังด้วยพระองค์เอง ตำนานเล่าว่า ครั้งหนึ่งพระกฤษณะมาทำหน้าที่อาลักษณ์ช่วยจดบทกวีให้โดยที่เจ้าตัวไม่รู้ แต่อาลักษณ์ผู้นี้กลับรู้ล่วงหน้าว่าบทกวีต่อไปคืออะไร ทั้งยังร่วมขับร้องไปพร้อมสูรทาสด้วย

สูรทาสรู้สึกผิดสังเกต และเข้าใจได้ว่านั่นคือพระกฤษณะ เขาฉวยคว้าข้อมือของพระองค์ไว้ ทว่า พระกฤษณะก็หายวับไป สูรทาสเล่าเหตุการณ์นี้ไว้ว่า

“ทั้งที่รู้ว่าข้าอ่อนแอ ท่านยังสะบัดมือข้าหนีหลุดไป หากท่านแข็งแรงจริง ไหนลองหนีออกไปจากหัวใจข้าสิ!”

 

อีกครั้ง เมื่อพระกฤษณะและพระนางรุกมิณีมาช่วยสูรทาสจากอุบัติเหตุตกบ่อน้ำ พระกฤษณะได้ประทานพรให้สูรทาสมองเห็นพระองค์พร้อมกับชายาได้ และจะประทานพรให้เขาหายจากการตาบอด แต่สูรทาสกลับร้องขอที่จะตาบอดดังเดิม เขาให้เหตุผลว่า เมื่อได้เห็นพระเป็นเจ้าแล้วก็ไม่ปรารถนาจะเห็นสิ่งอื่นใดในโลกอีกต่อไป

นับตั้งแต่วันนั้น สูรทาสจดจำรายละเอียดรูปลักษณ์ของพระเจ้าได้ทั้งหมด และเมื่อปรารถนาจะเห็นรูปลักษณ์ของพระองค์ สูรทาสก็สามารถมองเห็นได้ดุจคนตาดี จำเพาะแต่รูปของพระเจ้าเท่านั้น แม้แต่เทวรูปพระกฤษณะในวิหารท่านก็สามารถมองเห็นได้

วันหนึ่งคิริธรลาล หลานของวัลลภาจารย์ต้องการทดสอบความสามารถนี้ของท่าน จึงตกแต่งเทวรูปพระกฤษณะ “ศรีนาถ” อันมีชื่อเสียงโดยไม่ให้สวมอาภรณ์และมีเพียงสร้อยไข่มุกประดับประดับ

เมื่อสูรทาสมาถึงพระวิหารและยืนอยู่ต่อหน้าเทวรูป ก็หัวเราะขบขันพลางอุทานเป็นกวีว่า “ข้าเห็นพระหริยืนเปลือยเปล่า ที่เหลืออยู่ก็แค่สร้อยมุกติดกาย แต่แม้ไร้อาภรณ์ มูรติรูปของพระองค์ก็เจิดจรัสยิ่ง!”

 

สูรทาสเกิดที่สิหิ แต่ใช้เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตในดินแดน “พรัชภูมิ” (มธุราและพฤนทาวัน) ซึ่งเป็นถิ่นในตำนานของพระกฤษณะ บทกวีของท่านจึงแต่งในภาษาแม่ของพระกฤษณะคือภาษาพรัช (ภาษาฮินดีตะวันตก) เป็นหลัก

ชื่อเสียงของสูรทาสถึงกับทำให้จักรพรรดิอักบาร์แห่งราชวงศ์มุฆัล (โมกุล) ขอดูตัว ตำนานนี้คล้ายคลึงกับตำนานคุรุแห่งวงการดนตรีอินเดียเหนือคือท่านสวามีหริทาส กระนั้นไม่ว่าตำนานนี้จะจริงหรือไม่หรือเกิดขึ้นกับใคร มันได้สะท้อนถึงความยิ่งใหญ่และความภักดีที่มีต่อพระเจ้ามากกว่าการสวามิภักดิ์ต่ออำนาจราชศักดิ์

จักรพรรดิอักบาร์แม้จะเป็นมุสลิมแต่ก็มีจิตใจกว้างขวาง ทรงรับเอาศิลปินทั้งฮินดูและมุสลิมมาอุปถัมภ์ในราชสำนัก วันหนึ่งอักบาร์ถามตานเสน ศิลปินที่เก่งกาจที่สุดในราชสำนักว่า เพลงที่เขาขับร้องนั้นมาจากไหน ช่างไพเราะเหลือเกิน ตานเสนตอบว่าเป็นเพลงของท่านสูรทาส จักรพรรดิ์จึงให้ข้าราชสำนักไปเชิญสูรทาสมายังพระราชวังของพระองค์

สูรทาสตอบแก่ผู้มาเชิญว่า ถึงจะเป็นเกียรติเหลือหลายที่พระจักรพรรด์ส่งคนมาเชิญ แต่เขาร้องเพลงเฉพาะในท้องพระโรงแห่งพระกฤษณะเท่านั้น ข้าราชสำนักนำความไปทูลแก่จักรพรรดิ พระองค์ก็มิได้พิโรธ และยังประสงค์จะเดินทางไปหาสูรทาสด้วยพระองค์เอง

เมื่อจักรพรรดิอักบาร์พร้อมด้วยตานเสนไปพบสูรทาสในกระท่อมเล็กๆ สูรทาสขับเพลงถึงพระกฤษณะด้วยความไพเราะ จักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่พอพระทัยมากและประสงค์จะตบรางวัลให้

สูรทาสตอบเพียงว่า ขออย่าให้พระองค์หรือใครมารบกวนอีก!

 

พระเจ้าของสูรทาสรักสาวกทุกคนเสมอกัน

“พระรามทรงรักสาวกโดยไม่สนพระทัย วรรณะ ตระกูล ชาติเชื้อหรือชื่อ ความรักของพระองค์เหมือนกันหมด จะยาจกหรือราชาก็เสมอหน้ากันทั้งนั้น” ในกวีเดียวกันนี้ สูรทาสถึงกับกล่าวว่า เพราะความรักและการต้องดูแลสาวกอยู่ตลอดเวลาไม่หยุดหย่อน ที่แท้แล้วพระเจ้าทรงเป็นทาสของสาวกต่างหาก มิใช่สาวกเป็นทาสของพระองค์

สูรทาสสิ้นชีพขณะมีอายุได้ 103 ปี หากพินิจชีวิตของท่าน ชีวิตของสูรทาสดูคล้ายวณิพกพิการตาบอดที่เรามักเห็นขับร้องอยู่ข้างถนนทั่วๆ ไป

ทว่า เพลงที่สูรทาสขับร้องมิใช่เพื่อหาอาหารใส่ปากท้อง แม้จะมีผู้มอบให้ด้วยความสงสารอยู่บ้าง ทว่า เพื่อหาอาหารแห่งวิญญานมาเติมในหัวใจอยู่ไม่รู้อิ่ม ทั้งเพื่อชุบชูจิตวิญญาณของผู้ฟังอยู่เป็นนิตย์

นี่คือเส้นแบ่งบางๆ เส้นเดียวระหว่างยาจกและนักบุญ นอกนั้นแล้ว ชีวิตของนักบุญส่วนมากกับยาจกวณิพกในอินเดียแทบไม่ต่างกัน

ถึงสูรทาสตาบอด แต่บทกวีของท่านก็งดงามอย่างยิ่ง งามที่สุดเท่าที่ตาใจจะมองเห็นได้ แม้บทกวีเนื้อหาวิจารณ์สังคมเฉกเช่นของเหล่านักบุญวารกรีอาจไม่มีมากนัก ทว่า ผลงานเกี่ยวกับความรัก โดยเฉพาะความรักของพระกฤษณะและราธา อันเป็นอุปลักษณ์แห่งความรักของพระเจ้าและดวงจิตวิญญาณ ก็ยังคงเปล่งประกายตราบทุกวันนี้

ผมจึงขอจบบทความด้วยบทกวีของท่าน ดังนี้

 

“พระกฤษณะมองกระจกในพระหัตถ์ พลางถามราธา

‘ระหว่างเราสอง ดวงพักตร์ใครงามกว่า?’

ราธาผู้ภักดีตอบ ‘พระองค์มิเห็นหรือ? ใบหน้าของหม่อมฉันเหมือนจันทร์เพ็ญส่วนพระองค์ก็เป็นราตรี

(ราธาผิวขาวส่วนพระกฤษณะผิวดำ สะท้อนว่าสองสิ่งนี้ขาดกันไม่ได้ ต่างทำให้อีกฝ่ายงาม – ผู้แปล’

พระเนตรพระองค์คงงามด้วยหมึกทา ทว่า ดวงตาหม่อมฉันสวยด้วยเพราะมีรูปพระองค์สะท้อนอยู่

พระองค์ยกเขาโควรธนะด้วยปลายก้อย ส่วนข้าน้อยนั้นยกพระผู้ทรงพละไว้ในหัวใจ

สูรทาสกล่าว ข้ามิอาจลืมรูปลักขณาแห่งทั้งคู่

คือพระผู้เป็นเจ้าและสาวกรวมเป็นหนึ่ง” •