ไม่วังเวงกับวังวน / เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

 

ไม่วังเวงกับวังวน

 

คนที่พบความสุขอยู่ทุกที่

ไม่อยากมี ไม่อยากได้ ไม่อยากเก่ง

ไม่ต้องดูยิ่งใหญ่ให้ใครเกรง

และไม่เคยวังเวงกับวังวน ฯ

 

กลอนบทนี้ ผู้แต่งคือ ผู้ใช้นามปากกาว่า “รินศรัทธา กาญจนวตี” หรือ “น้องลูกหมู” ผู้พิการทางสายตา ผู้ “ปิดตานอก-เปิดตาใน”

เห็นใจสว่าง

ทุกวรรคในกลอนบทนี้มีค่าล้ำ อ่านบทเต็มชื่อ “เด็กน้อยจากวันวาน” ได้จากที่ขออนุญาตนำมาประกอบบทความนี้แล้ว

เป็นความบริสุทธิ์ ซื่อใสของเด็กน้อยแห่งวัยเยาว์ที่เราดูจะลืมไปแล้ว

เล่นสนุกซุกซนจนจับไม่อยู่กันนั่นแล้วต้องไม่ให้คลาดสายตากันนั่นเลย

นี่คือ “คนที่พบความสุขอยู่ทุกที่”

ไม่รู้เรื่องอะไรเลยกับค่านิยมทั้งหลายบรรดามีที่คนเขา “อยากมี อยากได้ อยากเก่ง” กันทั้งนั้น เด็กๆ ไม่เคยรู้สึกเลยจึง

“ไม่อยากมี ไม่อยากได้ ไม่อยากเก่ง”

ที่ใครๆ เขาปรารถนากันทั้งนั้น

 

ยิ่งโตขึ้นยิ่งยื้อแย่งแข่งขันกัน ต้องมีต้องได้ต้องเก่งกลายเป็นค่านิยมที่ต่างพากันสร้างพากันส่งเสริมจนเป็นกิเลสที่ทั้งสร้างทั้งทำลายกันอยู่ทุกวันนี้เข้ากับกลอนลิเกว่า

“อยากมีชื่อให้ปรากฏ อยากมียศมากำกับ”

คือต้อง “ดูยิ่งใหญ่ให้ใครเกรง” ที่เด็กน้อยคนนี้ไม่รู้ไม่เดียงสา ไร้เดียงสาแท้จริง

สำคัญคือ “และไม่เคยวังเวงกับวังวน”

วังวนนี่แหละตัวร้ายที่สุด ถามจริงเถิดว่า ใครบ้างที่ไม่ตกอยู่ในวังวน

วังวนของความรู้สึก วังวนในความรำลึกนึกถึงอยู่นั่นแล้ว และวังวนของความคิดชนิดไม่แล้วใจ

แม้เป็นวังวนที่ดี เช่น การทำหน้าที่การงาน การบริหารจัดการ การแก้ปัญหา รวมแล้วคือลักษณะ

ทำความดีให้ปรากฏ สร้างประโยชน์เพื่อส่วนรวม

ในคุณธรรมทั้งมวลก็ยังมีวังวนอยู่

หากเป็น “วังวนที่ไม่วังเวง” อย่างกลอนของน้องลูกหมูว่าคือ

“และไม่เคยวังเวงกับวังวน”

วังเวงก็คือการเอาตัวเป็นหลักเป็นศูนย์กลางอย่างสำคัญสุด

 

ตรงนี้แหละยากนัก คือความหมายของคำว่า “ยึดมั่นถือมั่น” ซึ่งไม่ได้หมายความว่า “ไม่มุ่งมั่น”

มุ่งมั่นแต่อย่ายึดมั่น

เหมือน “ปล่อยวาง” ไม่ใช่ “ปล่อยปละละเลย”

และนี่คือความหมายของคำว่า “อนัตตา” ซึ่งไม่ได้มีความหมายว่า “ไม่มีตน” หากความหมายแท้จริง อนัตตาหมายถึง “ไม่ใช่ตน”

คือมีตนแต่มันไม่ใช่ตนที่เราไปยึดมั่นถือมั่นอยู่นั้น

คนที่อยู่ในกระจกส่องหน้าเราอยู่นี่คือใครกันแน่ เป็นอาจารย์ เป็นดอกเตอร์ เป็นนายพันนายพล เป็น ส.ส. ส.ว. รัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี รวมไปถึงสมณศักดิ์นานานั่นเลย แม้ชื่อสกุลนี่ด้วย กระทั่งยกออกให้หมด หน้าที่เห็นอยู่ในกระจกที่ดังว่ามานั้นก็ล้วนสมมุติขึ้นทั้งเพ

กระทั่งที่สุดถึงจะเรียกว่าคือ “คน” มันก็สมมุติอีก เรียกว่า ยิ่งพูดยิ่งผิด

ไอ้สมมุตินี่แหละคือ “ตัวตน” ที่เราไปยึดอยู่

ความจริงก็คือความเป็นตัวตนอันปรากฏอยู่นี้คือ “ความเป็นเช่นนั้น” ภาษาอังกฤษเรียก Suchness

คือตนซึ่งไม่ใช่ตนที่เราไปยึดมั่นสำคัญหมายไว้นั้นนั่นเลย

นี่ไม่ได้หมายว่าสิ่งสมมุติดังว่ามานั้นไม่สำคัญ หากความสำคัญมันอยู่ตรง “ความดีปรากฏสร้างประโยชน์ส่วนรวม” ดังว่านั้นต่างหาก

หากไปยึดมั่นในตัวตนสมมุติจนยึดตนเป็นหลักเป็นศูนย์กลางเมื่อใด ก็จะให้รู้สึก “วังเวง” เมื่อนั้น

 

ท่านอาจารย์พุทธทาสกล่าวว่า

“ถ้าเขาว่าเราไม่จริงก็ไม่ต้องไปโกรธเขาเพราะเรื่องมันไม่จริง ถ้าเขาว่าเราจริงก็ไม่ต้องไปโกรธเขา เพราะเรื่องมันจริง แค่นี้ก็จบ”

มันเป็นเรื่องของเรื่องไง อย่าเอาคำว่า “ตัวเรา” ซึ่งเป็นตัวที่เราไปยึดไว้มารับเรื่องที่ “เขาว่า”

หลวงพ่อชาเคยตอบคำถามที่ว่า “ท่านอาจารย์มีความรู้สึกโกรธบ้างไหมในวันหนึ่งๆ นี่” หลวงพ่อชาท่านตอบสั้นๆ ว่า

“มีแต่ไม่เอา”

แค่นี้ก็จบ

 

กลอนบทนี้ของน้องลูกหมูดีนักสำคัญนักจะคอยเตือนสติเราได้เสมอ

เมื่อใดรู้สึก “วังเวง” นั่นแหล่ะเรากำลังหลงอยู่ใน “วังวน” ของสมมุติมายาที่เราเฝ้ายึดมั่นสำคัญหมายโดยเอา “ตัวตน” เป็นศูนย์กลางในทางที่เป็น “อัตตา” อยู่เสมอ

หาเด็กน้อยในตัวเราให้เจอเถิด •

 

“เด็กน้อยจากวันวาน”

ผูกเปลนอนลำพัง สวนหลังบ้าน

ริมลำธารน้ำกระเซ็นสาดเป็นฝอย

บางรู้สึก นึก มอง เห็นร่องรอย

ของเด็กน้อยอีกคนในตนเอง

คนที่พบความสุขอยู่ทุกที่

ไม่อยากมี ไม่อยากได้ ไม่อยากเก่ง

ไม่ต้องดูยิ่งใหญ่ให้ใครเกรง

และไม่เคยวังเวงกับวังวน

กับวังวนชีวีที่ซ้ำซาก

ในวันนี้ล้วนยาก หลากเหตุผล

เหนื่อยกับบางความหมาย หน่ายบางคน

และเจ็บกับความจนในความจริง

มองน้ำสาดกระเซ็นแผ่เป็นสาย

ใจเริ่มคลายทีละน้อย ค่อยหยุดนิ่ง

ความทุกข์ร้อนทั้งหมดถูกปลดทิ้ง

พบบางสิ่งที่ห่างเหินมาเนิ่นนาน

โอบเด็กน้อยในใจไว้เต็มอ้อม

ยิ้มและพร้อมเดินหน้าอย่างกล้าหาญ

ด้วยความหมายความฝันจากวันวาน

ใช้ความสุขดลดาลงานชีวิต

รินศรัทธา กาญจนวตี