นิธิ เอียวศรีวงศ์ | เกลียดและทำลายล้าง

นิธิ เอียวศรีวงศ์

ในคำประกาศรับชัยชนะ เมื่อได้รับโทรศัพท์แสดงความยินดีจากคู่แข่งสำคัญหลายคนแล้ว คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ พูดถึงเหตุการณ์ที่ตนต้องเผชิญในคืนเดียวกันเมื่อ 8 ปีมาแล้วว่า ในฐานะรัฐมนตรีของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ทหารรัฐประหารได้มัดมือเขาไพล่หลัง แล้วเอาผ้าปิดตา พาขึ้นรถไปที่ใดไม่ทราบได้ เพื่อขังเขาไว้ในที่นั้นต่อเนื่องกัน 7 วัน

แต่เขาก็ลงท้ายด้วยการเตือนสติว่า เราอาจมีความเห็นไม่ลงรอยกันและขัดแย้งกันได้ แต่เราไม่ควรเกลียดกัน เพราะความเกลียดนำไปสู่การทำลายล้างอีกฝ่ายหนึ่ง (โดยไม่เลือกวิธีการ ดังที่เขาได้ประสบมาแล้ว) และทำให้ประเทศเดินต่อไปไม่ได้

แน่นอน ในทางการเมืองย่อมมีประโยชน์อย่างยิ่งแก่นักการเมืองซึ่งประสบความสำเร็จจากจุดยืนไม่เข้าข้างฝ่ายใดจะพูดเช่นนี้ แต่เป็นไปได้เช่นกันว่าคุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เชื่อเช่นนี้จริงๆ ด้วย (เพราะเชื่อจริงจึงประสบความสำเร็จขนาดนั้น ถ้าตั้งใจกะล่อนอาจสำเร็จเหมือนกัน แต่ไม่ใช่ด้วยขนาดที่ไพศาลเช่นนั้น)

ในพุทธศาสนาไทย อารมณ์ความรู้สึกไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติธรรม แต่ในทุกศาสนาเท่าที่ผมนึกออก รวมทั้งบางนิกายในพุทธศาสนาเองด้วย ตัวอารมณ์ความรู้สึกนี่แหละ หากใช้ให้ถูก อาจเป็นวิถีทางที่ดียิ่งสำหรับการบรรลุธรรม

เพราะฉะนั้น คำเตือนของคุณชัชชาติจึงไม่แต่เพียง “ถูก” ในการเมืองไทยเท่านั้น แต่ยัง “ถูก” ในศาสนาพุทธไทยด้วย

อย่างไรก็ตาม เราปล่อยเรื่องนี้ให้เป็นข้อถกเถียงกันของนักปรัชญาที่สนใจเรื่องศาสนาแล้วกัน สิ่งที่ผมสงสัยง่ายกว่านั้นแยะ นั่นคือ สมมุติว่าเราไม่ “เกลียด” คนที่มีประวัติล้มกระดานประชาธิปไตยมาแล้ว เราพึงวางใจคนเหล่านี้ในการร่วมงานกับเขาหรือไม่ และเพียงไร

ตําแหน่งสาธารณะที่คุณชัชชาติดำรงอยู่ มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย และด้วยวิถีทางประชาธิปไตยยิ่งขึ้นไปอีกต่างหาก (เช่น เปิดช่องทางให้เกิดการมีส่วนร่วมจากประชาชนอย่างจริงจัง) ที่จะทำให้การทำงานตามตำแหน่งจะมีประโยชน์แก่ประชาชนได้อย่างแท้จริงที่สุด (ตามคำหาเสียงของคุณชัชชาติ)

นอกจากผมแล้ว เชื่อว่าส่วนใหญ่ของผู้ลงคะแนนให้คุณชัชชาติก็เห็นพ้องด้วย

แต่จำนวนไม่น้อยที่คุณชัชชาติหวังจะร่วมงานโดยไม่เลือกฝ่ายคือนักล้มกระดานประชาธิปไตย เราไม่มีทางจะเดาได้เลยว่าภายใต้เงื่อนไขอะไรที่พวกเขาเลือกจะล้มหรือไม่ล้มกระดาน ระหว่างสิ่งที่ฟังดูเหมือนเป็นประโยชน์ส่วนรวม กับที่เป็นประโยชน์ส่วนตน แยกออกจากกันไม่ได้เลย เช่น ระหว่างการยอมขาดทุนเพื่อรับจำนำข้าว กับการลดงบประมาณทหารลงอย่างรวดเร็ว ล้วนเกี่ยวข้องกับประโยชน์ส่วนรวมและส่วนตัวอย่างแยกไม่ออกทั้งคู่

แม้ปฏิบัติธรรมตามแบบพุทธไทยได้ถึงขนาดไม่ “เกลียด” นักล้มกระดาน แม้ไม่เห็นด้วยเลยก็ตาม แต่สิ่งที่นิยายจีนกำลังภายในใช้สำนวนว่า “ต้องรู้จักแยกแยะ” ยังจำเป็นอยู่หรือไม่

แยกแยะน่าจะหมายถึง discriminate คือมีสำนึกในความต่าง (ของแต่ละคน, แต่ละวิธีการ, แต่ละสิ่ง ฯลฯ) แต่เรามักไปสร้างความต่างซึ่งไม่มีจริง เพื่อให้คนแยกแยะหรือเลือกปฏิบัติต่อสีผิว, เพศสภาพ, สูงต่ำดำขาว, สถานภาพทางสังคม ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นความต่างที่ไม่มีนัยะใดๆ มากกว่ารูปภายนอก แม้กระนั้นเราก็ยัง “ต้องรู้จักแยกแยะ” ระหว่างคนที่มีประวัติการทุจริตมาอย่างโชกโชน, คนที่ขาดประมุขศิลป์อย่างสิ้นเชิง ฯลฯ และแน่นอน ระหว่างคนล้มกระดานประชาธิปไตย ไม่ใช่หรือ

ถ้าคิดว่าวิถีประชาธิปไตยคือหนทางการทำงานที่มีประสิทธิภาพที่สุด

ผมขอยกตัวอย่างการทำงานตามวิถีประชาธิปไตยและตามวิถีอำนาจนิยมสักเรื่องหนึ่งให้เห็น ว่า “ต้องรู้จักแยกแยะ” มีความสำคัญอย่างไร

ในประเทศที่เต็มไปด้วยคอร์รัปชั่นสาธารณะเช่นประเทศไทย ย่อมมีคนหลากหลายกลุ่มหาประโยชน์จากการปราบปรามคอร์รัปชั่น ประโยชน์ที่แสวงหามีได้หลายอย่าง เช่น เป็นหนทางหนึ่งที่จะเข้ากินตำแหน่งสาธารณะ, เป็นทางมาของเงินอุดหนุนจากภาครัฐ, สังคม หรือองค์กรระหว่างประเทศ, นำมาซึ่งการยอมรับหรือเกียรติยศภายในหรือต่างประเทศ, สร้างสถานะอภิมนุษย์ให้แก่ตนเองเหนือนักธุรกิจด้วยกัน (ซึ่งมิได้ปลอดพ้นจากคำครหาเรื่องคอร์รัปชั่น) ฯลฯ เป็นต้น

เราอาจจำแนกวิธีปราบคอร์รัปชั่นได้เป็นสองแนวทางกว้างๆ คือแนวทางอำนาจนิยม และแนวทางประชาธิปไตย

แนวทางแรก เน้นการทำงานของกลุ่มเลือกสรร (ไม่มีใครเลือกก็เลือกตัวเองก็ได้ครับ) ที่คอยจับจ้องกิจกรรมในภาครัฐและภาคสังคมที่อาจเป็นช่องทางให้เกิดการยักยอกทรัพย์สินสาธารณะได้ แล้วก็อาจกดดันให้เกิดการสอบสวนโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าการกระทำนั้นๆ ว่าเป็นไปโดยสุจริตตามกฎหมายหรือไม่

ดังนั้น ตัวเลขสถิติ, กฎหมายป้องปรามต่างๆ และความหมั่นเพียรที่จะสื่อสารกับสังคม และเป็นที่ยอมรับของสังคม (คนอ่านหนังสือพิมพ์เป็นอย่างน้อย) จึงเป็นบทบาทที่กลุ่มปราบคอร์รัปชั่นแบบอำนาจนิยมต้องแสดงอยู่เสมอ คนกลุ่มนี้มักเสนอกฏหมายปราบปราบคอร์รัปชั่นให้รุนแรงขึ้น แทบไม่ต่างจากการประหารเจ็ดชั่วโคตรในสมัยโบราณ เช่น ไม่มีอายุความ, ริบทรัพย์ได้หมดแทบทั้งตระกูล, ประหารชีวิต ฯลฯ

แต่พวกเขาไม่เคยสำนึกเลยว่า ในประเทศที่เห็นได้จะจะว่ากฎหมายไม่ได้ถูกบังคับใช้แก่ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ดังนั้น กฎหมายไม่ว่าจะเด็ดขาดรุนแรงสักเพียงไร ก็ไม่เคยมีอานุภาพได้จริงเลย

ที่ตลกไปกว่านั้นก็คือ นักต่อต้านคอร์รัปชั่นแนวอำนาจนิยมเหล่านี้ ต่างดาหน้ากันออกมารับตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติบ้าง, สภาร่างรัฐธรรมนูญบ้าง, วุฒิสภาบ้าง หลังการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลที่ชอบด้วยกฎหมาย โดยไม่สนใจเลยว่าตนได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการฉ้อฉลอำนาจ หรือคอร์รัปชั่นทางอำนาจที่อุจาดที่สุด

โตไปไม่โกง หรือโกงให้โตๆ ไปเลย เพราะจะไม่เหลืออำนาจชอบธรรมใดๆ ที่จะจับคนโกงเข้าคุกได้อีกแล้ว

ตรงกันข้าม การป้องปรามคอร์รัปชั่นตามแนวทางประชาธิปไตยอาจแบ่งออกได้เป็นสองแนวทาง หนึ่งก็คือ การทำให้ข้อมูลสาธารณะทุกชนิด “โปร่งใส” หรือเปิดเผยตรวจสอบได้โดยสะดวก และสอง การทำให้ประชาชนมีอำนาจใกล้มือที่จะบังคับให้หน่วยงานตรวจสอบและลงโทษการคอร์รัปชั่น ต้องทำงานอย่างมีประสิทธิภาพในเวลาอันรวดเร็วและยุติธรรม

(กล่าวสั้นๆ เพื่อบรรลุจุดหมายนี้ อาจต้องถอดอำนาจ “ปลูกฝัง” ออกจากบุคคลหรือกลุ่มบุคคลลงเสีย เช่น กรรมการ ป.ป.ช.ไม่มีอำนาจในการสืบสวนสอบสวนเอง เหลือแต่อำนาจที่จะตั้งอนุกรรมการจากผู้เชี่ยวชาญสาขาที่เกี่ยวข้องลงไปสอบสวนแล้วรายงานเท่านั้น เช่น คนจากสาขาต่างๆ ที่น่าจะเข้าใจเส้นสนกลในการยืมนาฬิกาเพื่อนได้ดีที่สุด จะมีอำนาจสืบสวนสอบสวน เรียกพยานบุคคลหรือเอกสาร บุคคลที่ให้การเท็จมีโทษทางอาญา สั่งยึดหรือจับกุม ฯลฯ ได้เฉพาะกรณีนี้ เสร็จภารกิจแล้วอนุกรรมการก็กลายเป็นคนธรรมดา กลับไปอยู่กับเมียหรือผัวตามเดิม)

วิธีปราบคอร์รัปชั่นของผู้ว่าฯ ชัชชาติ ใช้ประโยชน์ทั้งแนวอำนาจนิยมและแนวประชาธิปไตย นอกจากใช้เทคโนโลยีออนไลน์ทำให้การดำเนินงานทุกด้านของ กทม.โปร่งใสแก่สาธารณชนแล้ว แม้แต่โครงการที่อยากจะทำในอนาคตก็นำขึ้นเสนอให้ประชาชนพิจารณารวมทั้งออกความเห็น ยังไม่พูดถึงการสื่อสารระหว่างผู้บริหารกับประชาชนในรูปอื่นๆ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ในลักษณะอย่างไม่ป็นทางการได้ง่ายๆ

แต่อีกด้านหนึ่ง คุณชัชชาติก็เชิญกลุ่มต่อต้านคอร์รัปชั่น ซึ่งเริ่มเคลื่อนไหวมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และได้รับแต่งตั้งจากคณะรัฐประหารของทหารให้ได้ดำรงตำแหน่ง สนช. (เพราะฉะนั้น เราจึงไม่อาจแน่ใจได้ด้วยซ้ำว่า การเริ่มเคลื่อนไหวในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์นั้นเป็นส่วนหนึ่งของ “การเมือง” ต่อต้านประชาธิปไตยของชนชั้นนำไทยหรือไม่) คนกลุ่มนี้ถูกเชิญไปร่วมประชุมกับนักธุรกิจ เป็นสักขีพยานให้แก่เจตนารมณ์ของ กทม.ที่จะทำสัญญา “คุณธรรม” ในการจ้างเหมากับเอกชน

(อย่าลืมนะครับว่า “คุณธรรม” ต้องมีอภิมนุษย์คอยตีตราว่าอันไหนใช่หรือไม่ใช่ แต่การเปิดเผยอย่างโปร่งใส คือทำให้สัญญานั้นๆ กลายเป็นของข้างถนนที่มนุษย์ขี้เหม็นทั่วไปสามารถเอาเท้าเขี่ยดูหรือก้มลงพิจารณาได้ และโวยวายได้ ไม่ว่าจะมีตราคุณธรรมกำกับอยู่หรือไม่)

ผมเชื่อว่ากว่า 99% ของผู้ลงคะแนนเสียงให้คุณชัชชาติล้วนเห็นด้วยกับการใช้เครื่องมือทุกชนิด ไม่ว่ามันจะถูกสร้างขึ้นมาด้วยเป้าประสงค์ที่ดีงามหรือไม่ เพื่อขจัดสิ่งชั่วร้ายเช่นการฉ้อราษฎร์บังหลวงให้ได้ ล้านกว่าคะแนนของเสียงคุณชัชชาติ คือเสียงของคนไม่เลือกข้าง อันเป็นพื้นเวทีหาเสียง (platform) ของคุณชัชชาติมาตั้งแต่ต้นแล้วไง

แต่ปัญหาของ กทม.มาจากคอร์รัปชั่นอย่างเดียวหรือ หาบเร่แผงลอยริมทางเท้ามาจากการเรียกหรือกินสินบนของเจ้าพนักงานเท่านั้นหรือ หรือโดยระดับพื้นฐานเลย กรุงเทพฯ ไม่สามารถพัฒนาคนจนเมืองให้มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีพอประมาณ หรือยิ่งไปกว่านั้นกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ต่างๆ ต้องการแรงงานของคนจนเมืองหลายระดับ แต่ผู้ดีกรุงเทพฯ ต่างจากนิวยอร์กที่ถูกปกป้องมิให้ต้องจ่ายค่าบริการที่เป็นธรรมแก่คนจนเมืองที่ตนซื้อบริการ (เช่น ล้างแอร์) จึงจำเป็นต้องมีคนจนเมืองระดับต่ำลงไปอีกหลายระดับ เพื่อหล่อเลี้ยงความไม่เป็นธรรมด้านรายได้ให้หล่อเลี้ยงชีวิตของผู้ดีกรุงเทพฯ ให้มั่นคงต่อไป

ไม่มีข้าวเหนียวไก่ย่างถูกๆ ริมถนน คนล้างแอร์จะกินอะไรล่ะครับ

จัดระเบียบทางเท้านั้นดีแน่ แต่ระเบียบจะเกิดขึ้นได้เพียงด้านกายภาพอย่างไร ท่ามกลางความปั่นป่วนวุ่นวายแทบจะเป็นจลาจลของความเป็นธรรมทางสังคม

แทนที่จะเอาที่ดินไปปลูกกล้วยปลูกมะนาว หลบเลี่ยงภาษีด้วยการให้ กทม.นำไปทำพื้นที่สีเขียว รอเวลากว่าที่ดินนั้นจะมีศักยภาพทางธุรกิจมากขึ้น แล้วค่อยเอาคืนมาลงทุนเอง ดูเหมือนเป็นวิธีวิน-วิน ได้ประโยชน์ด้วยกันทุกฝ่าย

แต่นี่ไม่ได้หยุดหรือชะลอ land speculation หรือการเก็งกำไรที่ดิน ซึ่งทำให้เศรษฐกิจเป็นอัมพาตเสียยิ่งกว่าอะไร แต่เรื่องนี้อาจไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของ กทม. แต่ในระยะยาวแล้ว คนจนเมืองจะอยู่ตรงไหนในกรุงเทพฯ เล่าครับ พ้นชานเมืองออกไปอีก ซึ่งไกลแหล่งงานและทำให้ต้องเสียค่าเดินทางสูง การเตรียมที่ดินชั้นในเป็นเขตอยู่อาศัย (อาจจะชั่วคราวแต่ต้องมั่นคง) ของคนจนเมือง จึงมีความจำเป็นแก่เมืองน่าอยู่ไม่น้อยไปกว่าพื้นที่สีเขียว

แต่การกันหรือสะสมที่ดินในเขตชั้นในท่ามกลางกฎหมายที่ดิน ที่เอื้อและตั้งใจจะจรรโลง land speculation ของไทย อันเป็นอาชีพเสริมของชนชั้นนำไทยทุกตระกูล เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้แก่ กทม.หรือมหานครใดๆ จะทำได้ นอกจากนำทัพล้านสาม (เสียง) ออกมาผลักดันให้ยุติการเก็งกำไรที่ดินให้ได้

น้ำไม่ได้ท่วมกรุงเทพฯ เพียงเพราะกรุงเทพฯ อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลางเพียง 1 เมตร อัมสเตอร์ดัมอยู่ต่ำกว่าเสียอีก ยังไม่ท่วมเลย จริงอยู่หรอกท่อระบายน้ำกรุงเทพฯ เล็กเกินไป อุดตันบ่อยไป เพราะเราไม่ได้แยกท่อระบายน้ำฝนกับระบายสิ่งปฏิกูลออกจากกัน ขาดพื้นที่แก้มลิงสำหรับพักน้ำ และอาจมีปัญหาอื่นๆ อีกมากที่คนจบเอ็มไอทีอาจบรรยายได้สามวันสามคืนไม่จบ

น้ำท่วมกรุงเทพฯ กลายเป็นปัญหาทางวิศวกรรมที่ยังไม่ได้แก้หรือแก้มาผิดๆ

แค่นั้นเองหรือ?

ผมคิดว่าไม่น่าจะใช่ อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญกว่าปัญหาเชิงวิศวกรรมก็คือโครงสร้างทางการเมืองและสังคมที่ยังไม่ได้สร้างหรือสร้างมาผิดๆ และส่วนนี้น่าจะสำคัญเสียยิ่งกว่าปัญหาทางวิศวกรรม

เช่น การแก้ปัญหาทางวิศวกรรมต้องมีเงินจำนวนมหึมา เงินจำนวนนี้จะเอามาจากไหน ตราบเท่าที่คนกรุงเทพฯ ซึ่งมีโอกาสทางเศรษฐกิจมากที่สุด ได้รับบริการที่รัฐลงทุนสูงสุด เข้าถึงโอกาสทางการศึกษาทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการได้อย่างสะดวก หายใจอยู่ท่ามกลางระบบสื่อสารคมนาคมที่ทรงประสิทธิภาพระดับโลก ฯลฯ ต้องเสียภาษีเท่ากับคนเมืองแม่ฮ่องสอน ตราบนั้นกรุงเทพฯ ก็ไม่มีวันจะมีเงินทุนเพียงพอมาแก้ปัญหาทางวิศวกรรมใดๆ อย่างได้ผล

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เราตั้งใจสร้างความไม่เป็นธรรมขึ้นในเขตเมืองมาตั้งแต่ต้น เพราะกรุงเทพฯ เป็นที่ตั้งของวัดพระแก้ว คนกรุงเทพฯ จึงได้อภิสิทธิ์เหนือคนในเมืองอื่นๆ ทั้งหมด อย่าลืมนะครับว่า ตลอดประวัติศาสตร์ไทย “ราชธานี” คือแหล่งดึงดูดทรัพยากรทั้งหมดภายใต้พระราชอำนาจมาสั่งสมเอาไว้ เราเริ่มคิดถึงกรุงเทพฯ ในฐานะเมืองหลวงของรัฐสมัยใหม่กันหรือยัง

ปัญหาของกรุงเทพฯ (ก็คล้ายปัญหาของประเทศไทย) มักถูกดึงมาล้อมขังไว้ในมิติปฏิบัตินิยม จนทำให้เรามักลืมไปว่ามีมิติด้านสังคม, การเมือง, วัฒธรรม, ที่กำหนดลักษณะของปัญหาเสียยิ่งกว่ามิติปฏิบัตินิยม เมื่อไรที่ใครไปเน้นด้านที่สอง เขาก็จะกลายเป็นคน “หัวรุนแรง” และต่างพากันรู้สึกว่าวิธีนั้นถึงจะถูกก็ไม่ “สัมฤทธิคตินิยม” (pragmatism ตามบัญญัติของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช) และทำให้เรา “เดินต่อไปไม่ได้”

แต่ขอโทษเถิดครับ ปฏิบัตินิยมที่มุ่งผลสัมฤทธิ์เพียงอย่างเดียว ซึ่งเราใช้แก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ, การเมือง, สังคม ฯลฯ ตลอดมาจนทุกวันนี้ ได้ทำให้เรา “เดินต่อไป” ได้แค่ไหน? ผมเห็นก็เดินวนซ้ำเก่าอยู่อย่างนั้น พูดด้วยสำนวนที่คุ้นหูคนไทยกว่าคือ ก็พายเรือในอ่างมาตั้งแต่ 2490 จนบัดนี้ไม่ใช่หรือ?

ตรงกันข้ามกับการไม่เลือกฝ่ายเพื่อ “เดินต่อไป” ผมกลับคิดว่าถึงเวลาที่เราต้องเลือกฝ่ายให้ชัด เพื่อจะหลุดจากการเดินวนเวียนซ้ำเก่าอย่างนี้ ไปสู่การก้าวไปข้างหน้าอย่างแท้จริง

ถ้าคนไทยไม่โกรธจนตัวสั่นกับสิ่งที่ผ่านมาแล้ว หวังจะประนีประนอมสิ่งเก่าสิ่งใหม่เพื่อ “ไปต่อ” เราจะไม่ได้ออกไปไหนเลย แต่เราต้องโกรธสิ่งที่ขัดขวางพัฒนาการทางการเมืองในระยะเกือบสองทศวรรษที่ผ่านมา โกรธจนตัวสั่นชนิดที่ไม่ปล่อยให้มันมีที่ยืนในสังคมของเราได้อีกเท่านั้น ที่ไทยจะ “เดินต่อไป” ได้จริง