ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 8 - 14 กรกฎาคม 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | จ๋าจ๊ะ วรรณคดี |
ผู้เขียน | ญาดา อารัมภีร |
เผยแพร่ |
จ๋าจ๊ะ วรรณคดี
ญาดา อารัมภีร
เสน่หาพญาแร้ง (3)
ความแค้นมีราคาต้องแลก แม้พญาแร้งก็หนีไม่พ้น
สำเภาท่องทะเลหลายวันจนมาถึงหาดแก้วพยัคฆี พญาแร้งแปลงจึง ‘ให้ทอดสมอลดใบลงที่นี้ ท่าเราเคยจอดอยู่ทุกที ที่นี่ยังไกลพระนคร’ พญาแร้งให้นางพิกุลทองรออยู่ที่สำเภา จะรีบไปทูลพระบิดามารดาว่ามีลูกสะใภ้แล้ว
“แม้นท้าวรู้ข่าวจะดีใจ จะเอาม้ารถคชไกรมารับเจ้า”
การกระทำและคำพูดสวนทางกันโดยสิ้นเชิง พอลับตาผู้คน หนุ่มน้อยก็คืนร่างเป็นพญาแร้งบินไปป่าวประกาศร้องเรียกบริวารแร้งให้รีบมากินบุฟเฟ่ต์รสเด็ด
“สำเภากูไว้ที่เคยกิน
แต่บรรดาสาวสรรทั้งนั้น สูชักชวนกันกินให้สิ้น”
มีข้อแม้อย่างเดียวให้ยกเว้นนางพิกุลทอง
“เหลือแต่เจ้ามันกูจะกิน ต้นลิ้นของมันอร่อยดี”
ก่อนเกิดเหตุสยองสังหารหมู่ ตัวช่วยล่าสุดของนางพิกุลทองคือ ‘แม่ย่านาง’ ผู้รักษาเรือสำเภา สงสารนางจึงแสดงร่างให้ปรากฏ และเล่าความจริงเกี่ยวกับพญาแร้ง
“บัดนี้ผัวเจ้าคือปักษา
มันจะแกล้งฆ่าเจ้าให้มรณา อย่าช้ามาหนีไปเร็วพลัน”
แม่ย่านางได้เนรมิตที่ลับเฉพาะให้เป็นที่ซ่อนตัว
“จึงเนรมิตแยกเสากระโดงกลาง ให้โฉมนวลนางขมีขมัน
ในนั้นดั่งวิมานเทวัญ ให้นางจอมขวัญอยู่สำราญ”
สถานที่อันตรายที่สุดมักปลอดภัยที่สุด พญาแร้งคาดไม่ถึงว่าคนที่ตามหาจะซ่อนตัวอยู่ภายในเสากระโดงเรือนั่นเอง ภาพของบริวารแร้งที่จัดการกับผู้คนบนเรือ ‘กินเป็นอาหารเสียหมดแล้ว’ ทำให้พญาแร้งสะใจนัก ปราดไปยังนางพิกุลทองทันที
“เข้าไปที่ท้ายเภตรา ค้นหาจะกินอียอดแก้ว
ดูดู๋มันไปข้างไหนแล้ว คลาดแคล้วหนีกูไปอย่างไร”
หานางไม่เจอก็เดาว่า
“ฤๅอ้ายบริวารมันกินเสีย สั่งแล้วกินเมียกูเสียได้
ทุ่มเถียงโทษกันสนั่นไป ไม่ได้เห็นแล้วก็จรลี”
เมื่อไม่ได้แก้แค้นกินนางพิกุลทองให้สมอยาก พญาแร้งก็บินกลับเขานิลกาฬาที่พำนัก
นางพิกุลทองซ่อนอยู่ในเสากระโดงเรือนานถึง 7 วัน ความหวั่นกลัวทำให้นางรำพันร่ำไห้ราวใจจะขาด
“โอ้อนิจจาในครานี้ น่าที่จะม้วยตักษัย
ใครเลยจะนำเอาข่าวไป ให้ถึงบิตุเรศชนนี
ว่าลูกน้อยนี้เป็นกำพร้า พ่างเพียงชีวาจะเป็นผี
จะอาสัญบรรลัยอยู่ในนี้ มิได้พบชนนีกับบิดา”
แม่ย่านางไม่ปล่อยให้นางพิกุลทองจมอยู่กับความรันทดท้อ ได้มาปลอบประโลมเช็ดน้ำตาว่าปลอดภัยแล้ว ไม่ช้าคู่ครองจะมาเกื้อกูล
“เจ้าอย่าร่ำไรเจ้าแม่อา
เจ้าออกไปสระสรงให้ผ่องแผ้ว มันไม่มาแล้วฟังแม่ว่า
เจ้าจะพบคู่ครองของกัลยา จะกลับคืนพาราอย่าร้อนใจ”
นางพิกุลทองค่อยใจชื้น เมื่อออกจากที่ซ่อน ภาพเบื้องหน้าทำให้ใจที่เพิ่งแช่มชื่นกลับหดหู่เมื่อตระหนักว่าตนเองเป็นเพียงหนึ่งเดียวที่ยังมีลมหายใจ
“มาเห็นซากศพที่วอดวาย กระดูกกองก่ายอยู่นักหนา
สังเวชพระทัยนางไฉยา ชลนาคลอเนตรอยู่ฟูมฟอง
มานั่งบันไดที่เคยสรง โฉมยงเปล่าใจให้เศร้าหมอง
โอ้กรรมอะไรมาให้น้อง จองเวรแต่หลังติดตามมา”
ขณะอาบน้ำสระผม เผอิญมีผมเส้นหนึ่งติดมือ นางจึงเอาเส้นผมใส่ผอบ พร้อมทั้งจารึกข้อความเสี่ยงทายไว้ในฝาผอบ จากนั้นก็ยกผอบขึ้นจบเหนือศีรษะ อธิษฐานว่า
“แม้นบุญของข้าไม่บรรลัย
ขอให้ผอบใบนี้ ลอยรี่ไปเหนือทะเลใหญ่
เทพเจ้าเบื้องบนเข้าดลใจ ให้เห็นประจักษ์กับนัยนา”
นางลอยผอบเสี่ยงทายไปตามน้ำ พระพิไชยมงกุฎ (โอรสท้าวสังข์ศิลป์ไชยกับนางสุพรรณ) เห็นผอบลอยน้ำมาวนที่ท่าฉนวนใน เมื่อเปิดผอบก็พบผมหนึ่งเส้นพร้อมข้อความจารึกในฝาผอบว่า
“ใครได้ผอบข้าเร่งตามไป
อยู่ในเภตราผู้เดียวนี้ ปักษีมันกินเสียม้วยไหม้
แม้นเป็นคู่ครองของน้องไซร้ ท้าวไทจงเร่งติดตามมา”
ข้อความกระทบใจและกลิ่นผมหอมกรุ่นทำให้พระพิไชยมงกุฎหลงรักเจ้าของเส้นผมทั้งๆ ที่ไม่เคยเห็นหน้า รุ่งเช้าจึงทูลพระบิดาถึงเรื่องราวทั้งหมดและขอทูลลาไปตามหานาง พระบิดาไม่ทรงขัดข้อง ทั้งยังสั่งข้าราชบริพารเร่งสร้างสำเภาทองให้พระโอรส แม้จะมีอุปสรรคระหว่างการเดินทาง พระพิไชยมงกุฎก็ผ่านพ้นได้ ในที่สุดสำเภาทอง
“แล่นมา ถึงแดนปักษาที่หาดใหญ่
เห็นสำเภาห้าร้อยเรียงกันไป ประหลาดใจไม่เห็นหมู่โยธา”
ทหารเข้าค้นทุกลำเรือ ไม่พบผู้ใด
“เห็นแต่กระดูกกองก่าย มากมายกว่าหมื่นอสงไขย
จะเป็นโจรปล้นก็ผิดไป เหตุไรข้าวของเต็มเภตรา
ผิดแล้วชาวเราอย่าไว้ใจ ดีร้ายบรรลัยด้วยยักษา”
แม้บรรดาทหารพยายามทัดทานเจ้านายให้ตระหนักถึงภยันตรายใหญ่หลวง แต่พระพิไชยมงกุฎไม่ทรงหวั่น เมื่อพบนางพิกุลทองเจ้าของเส้นผมหอมในผอบทองคำ ได้ทราบเหตุการณ์เลวร้ายที่เกิดจากแร้งพยาบาท ก็ตรัสแก่นางว่า
“พี่จะพาเจ้าไปเป็นศรีเมือง ให้รุ่งเรืองเฟื่องฟุ้งในนครา”
นางพิกุลทองยังไม่ยินยอม ทูลเตือนพระพิไชยมงกุฎด้วยความกังวลว่า
“พระองค์จงได้ปรานี ใช่ที่จะพ้นไปเมื่อไร
ขอพระองค์จงฆ่าอ้ายปักษา ให้ม้วยมรณาเสียให้ได้
เสร็จแล้วข้าน้อยจะยอมไป ท้าวไทจงทรงพระเมตตา”
พระพิไชยมงกุฎรับปากจะจัดการให้ เมื่อครบเจ็ดวันพญาแร้งก็พาบริวารบินมากินคนเช่นเคย
“ออกจากเขานิลกาฬา บดบังสุริยาแสงใส
สุรเสียงครืนครั่นสนั่นไป มืดคลุ้มกลุ้มในธรณี”
ทันทีที่พญาแร้งเห็นสำเภาทองของพระพิไชยมงกุฎ ก็ร้องถามเสียงดังกึกก้อง
“สำเภาทองของใครลำนี้ คนมีมากน้อยสักเท่าไร”
พระพิไชยมงกุฎยืนรอที่หัวสำเภา ด่าสวนไปทันที
“อันแร้งอื่นไซร้ไม่เหมือนมึง ถึงตายจึงกินเป็นอาหาร
มึงแร้งตายห่าอ้ายสาธารณ์ สามานย์กินคนเสียทั้งเป็น
มึงเคยไปลวงมากินได้ บัดเดี๋ยวนี้ไซร้จะได้เห็น
มึงจะบรรลัยไม่ทันเย็น หัวมึงจะกระเด็นจากกายา”
คำท้าทายไม่กลัวเกรงจากมนุษย์ที่พญาแร้งเคยกินมานับไม่ถ้วน จุดไฟโทสะให้ลุกโพลง ความประมาทขาดสติทำให้พญาแร้ง
“โผผินบินลงไปด้วยฤทธา กับหมู่ปักษาเข้าโจมตี”
นาทีนี้ ‘เหยื่อ’ มิใช่ ‘เหยื่อ’ แต่เป็น ‘ผู้ล่า’ ที่มีฝีมือทั้ง ‘ต้านรับ’ และ ‘โต้กลับ’ ฉับพลัน
“พระมงกุฎรับหวดด้วยพระขรรค์ หัวขาดสะบั้นลงกับที่
ตายกลาดดาษไปในชลธี ด้วยฤทธิ์จักรีอันเกรียงไกร”
กรรมติดจรวดทั้งเจ้านายและลูกน้อง •