เสถียร โพธินันทะ : เสถียร กมลมาลย์ [ดังได้สดับมา]

กองบรรณาธิการธรรมจักษุมี “หมายเหตุ” ถึง เสถียร กมลมาลย์ เจ้าของบทความ “พระพุทธศาสนากับคนหนุ่ม” เริ่มจาก

ยุวชน เสถียร กมลมาลย์ อายุ 17 ปี

เป็นนักเรียนโรงเรียนมัธยมวัดบพิตรภิมุข สอบได้ชั้น ม.5 เป็นผู้มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ได้ประหยัดรายได้ค่าขนมที่มารดาให้ซื้อหนังสือทางพระพุทธศาสนาทุกชนิดอ่านเท่าที่จะหาได้ในประเทศไทย และได้รวบรวมแม้หนังสือทางศาสนาอื่นเพื่อศึกษาเปรียบเทียบ

ความรู้ความเข้าใจในพระพุทธศาสนาของยุวชนผู้นี้มีในขนาดไร และพระพุทธศาสนาได้ชนะหัวใจของเขาอย่างไร ท่านผู้อ่านจะพิจารณาได้จากเรื่องนี้

อนึ่ง ควรบันทึกไว้ในที่นี้ด้วยว่า เรื่องบางเรื่องที่นำลงในธรรมจักษุฉบับนี้ที่เป็นเรื่องแปลหรือแต่งก็ดี ยุวชนผู้นี้ได้มีส่วนช่วยเป็นเลขานุการ เขียนตามคำบอกแห่งเจ้าหน้าที่ของเราด้วยความสมัครใจและยินดีที่ได้รับใช้พระพุทธศาสนา

อันเราจะเว้นเสียมิได้ซึ่งความรู้สึกอนุโมทนาในกุศลเจตนาของยุวชนผู้นี้

เป็นไปได้ว่าหมายเหตุจากกองบรรณาธิการธรรมจักษุมีที่มาจาก สุชีโว ภิกขุ อย่างแน่นอน จึงได้อธิบายขยายความเกี่ยวกับ ยุวชน เสถียร กมลมาลย์ ได้อย่างทะลุปรุโปร่ง

ขอให้สัมผัส “พระพุทธศาสนากับคนหนุ่ม”

คนหนุ่มๆ ในสมัยนี้โดยมากไม่ใคร่รู้จักคุณค่าของศาสนาเพราะเขาทั้งหลายต่างมีหน้าที่ในการสะสางปัญหาภายนอกซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับศาสนา เขามีความคิดแย้งกับความคิดของปู่ย่าตายาย จิตใจของเขากำลังวุ่นเกี่ยวกับการเมือง เศรษฐกิจ ฯลฯ และเรื่องอื่นๆ อีกมากหลาย

ชายหัวใหม่หรือคนหนุ่มๆ เหล่านี้เห็นการถือศาสนาเป็นของครึล้าสมัย การไปวัดไปวาเป็นของน่าอับอาย

เห็นว่าสู้ไปอยู่ตามโรงภาพยนตร์หรือตามฮอลล์หรือสโมสรซึ่งมีพวกสาวๆ ห้อมล้อมในท่ามกลางเสียงดนตรีกับเสียงแก้วเหล้าไม่ได้ ถ้ามีใครไปพูดเรื่องธรรมะเข้า เขาเหล่านั้นก็ไม่ต้องการจะฟัง และผู้พูดอาจจะถูกยิ้มเยาะว่าหัวโบราณบ้าง งมงายบ้าง

แต่ที่พูดมาดังนี้ไม่ใช่ปรักปรำพวกหนุ่มๆ ว่าไม่ดีไปเสียหมด

ความจริงที่เขาไม่สนใจในเรื่องศาสนาอาจเนื่องด้วยเขายังไม่มีความรู้พอที่จะสาวหาความจริงจากศาสนาก็ได้ ตามที่พวกเขาเข้าใจก็เพียงรู้ว่าศาสนานั้นสอนแต่เรื่องสวรรค์-นรก หรือใช้สวรรค์มาล่อ ใช้นรกมาขู่เท่านั้น นอกนั้นไม่มีอะไรอีก

ฉะนั้น ถ้าใครไปเลื่อมใสในศาสนาเข้าก็เลยถูกหาว่าเป็นคนงมงายไป

ศาสนาทั้งหลายในโลกนี้มีอยู่ด้วยกันหลายศาสนา ที่ใหญ่มีคนนับถือมากมีอยู่ 5 ศาสนาด้วยกัน คือ พุทธศาสนา คริสต์ศาสนา อิสลามหรือมหมัดศาสนา และศาสนาขงจื่อ

ศาสนาทั้ง 5 นี้เป็นเหมือนหนึ่งบิดามารดาที่อบรมจิตใจ ตลอดจนถึงศีลธรรมจรรยาให้แก่มนุษย์

ทุกๆ ศาสนาย่อมมีจุดหมายมุ่งที่จะให้มนุษย์มีความสุข แต่วิธีที่จะบรรลุถึงซึ่งความสุขนั้นแตกต่างกัน บางศาสนามีที่คล้ายคลึงกันทางศีลธรรม ส่วนทางปรัชญาและการปฏิบัติแล้วต่างกันอย่างไกลลิบ แต่เฉพาะพระพุทธศาสนานั้นมีลักษณะแปลกประหลาดอยู่อย่างหนึ่ง คือ ธรรมะของพระพุทธเจ้าแนบสนิทกับแนวคิดอันต้องการเหตุผลของพวกหนุ่มๆ

และเหมาะสมกับจิตใจของมนุษย์ ไม่ว่าในอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคต

ฉะนั้น จึงมีคำสรรเสริญธรรมะของพระองค์ว่า “อกาลิโก” ไม่เลือกกาลเวลา ใครปฏิบัติได้เวลาไหนก็ให้ผลในเวลานั้น ไม่ต้องรอคอยชาติหน้าหรือชาติไหน

คำว่า “พุทธะ” แปลว่า “ผู้ตื่นแล้ว” เป็นนามอันพระศรีศากยมุนีทรงได้รับรู้ในฐานะที่พระองค์ได้เป็นผู้ค้นพบความจริงที่ประกอบด้วยเหตุผล และเป็นผู้ประกาศธรรมะทั้งหลายในศาสนานี้ และสรรพสัตว์ทั้งหลายก็อาจเป็น “พุทธะ” ได้ด้วยเหมือนกัน

ฉะนั้น คำว่า “พุทธะ” จึงมิใช่จำกัดแต่เฉพาะพระศรีศากยมุนีพุทธเจ้าพระองค์เดียว

เพียงบทความแรกอันปรากฏออกมาในเดือนกันยายน 2488 ของ เสถียร กมลมาลย์ ก็บ่งชี้ทิศทางในอนาคตอย่างค่อนข้างแจ่มชัด

แม้จะผ่านการฝึกปรือมาจาก สุชีโว ภิกขุ อันเจนจบในทาง “เถรวาท”

แต่การเอ่ยอ้างนามขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผ่าน “พระศรีศากยมุนีพุทธเจ้า” แต่การเอ่ยอ้างและยืนยันการดำรงอยู่ของ “พุทธะ” ในสรรพสัตว์

สะท้อนกลิ่นอายแห่ง “มหายาน” ให้ได้สัมผัส