เครื่องเคียงข้างจอ/ละอองดาว

วัชระ แวววุฒินันท์

เครื่องเคียงข้างจอ/วัชระ แวววุฒินันท์

ละอองดาว

“ละอองดาว” เป็นชื่อนวนิยายจากปลายปากกาของนักเขียนระดับศิลปินแห่งชาติ “พนมเทียน” หรือ ฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นหนึ่งในเรื่องชุด “มัสยา” “ละอองดาว” “สกาวเดือน”

ที่ตอนนี้ได้ถูกนำมาทำเป็นละครหลังข่าวทางช่อง 7 สี โดยฝีมือการสร้างของเจเอสแอล โกลบอล มีเดีย ออกอากาศไปแล้ว 2 ตอนแรกเมื่อวันพุธที่ 27 และวันพฤหัสบดีที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา

“ละอองดาว” เป็นชื่อของนางเอกของเรื่อง ที่ชะตาชีวิตเล่นสนุกให้เธอต้องเป็นลูกกำพร้าแต่กำเนิดโดยทิ้งปริศนาไว้ว่าใครเป็นผู้ให้กำเนิดเธอ

โชคดีที่ละอองดาวได้รับการเลี้ยงดูเหมือนลูกบุญธรรมจาก ดร.ไกร เบญจรงค์ ผู้มีฐานะยศศักดิ์และชื่อเสียงที่ดีเป็นที่นับหน้าถือตาในวงสังคม เป็นผู้รอบรู้ทางด้านกฎหมายอย่างเลิศ และนั่นเป็นต้นเหตุแห่งเรื่องราวทั้งหมด

เมื่อก่อนที่ ดร.ไกร จะจากไปอย่างกะทันหัน เขาได้ทำพินัยกรรมที่รัดกุมยิ่งนัก แต่กลับ “พิเรนทร์” ในความรู้สึกของลูกชายคนเดียวของเขา คือ “กรกฏ เบญจรงค์” เพราะมันเป็นพินัยกรรมที่สั่งให้กรกฏต้องแต่งงานกับละอองดาวภายในเวลา 3 ปี จึงจะได้รับมรดกหลายหมื่นล้านของบิดาไป

เรื่องคงจะจบง่ายๆ ถ้าหากไม่เป็นที่กรกฏมีคนรักอยู่แล้ว ทั้งสองพบกันที่เมืองนอกและสัญญาว่าจะแต่งงานกัน ซ้ำร้ายในสายตาของเขาที่จำภาพน้องบุญธรรมคนนี้ได้คือ เด็กขี้เหร่ อ้วนกลม ดูอมโรคเหมือนคนพิกลพิการ ซึ่งเป็นภาพตอนเด็กที่เขาได้เคยเห็น จากนั้นก็ไม่เคยพบหน้าอีกเลย เพราะต่างไปศึกษาต่อต่างประเทศด้วยกันทั้งสองคน

เรื่องวุ่นๆ จากการปฏิเสธการแต่งงาน และในภายหลังกลับพบว่าเขารักเธอเสียเหลือเกินแล้วจึงเกิดขึ้นตามสไตล์พ่อแง่แม่งอน รักนะแต่ปากแข็ง รู้แต่ทำเหมือนไม่รู้ ไม่สนใจ

ไม่น่าเชื่อว่า “พนมเทียน” ซึ่งเป็นนักประพันธ์ชาย เคยเขียนนวนิยายผจญภัยอุดมไปด้วยปืนผาหน้าไม้และการต่อสู้แบบลูกผู้ชายจากเรื่อง “เพชรพระอุมา” จะสามารถถ่ายทอดอักษรออกมาด้วยอารมณ์แห่งความรักแบบหญิงสาวในเรื่องชุดทั้ง 3 ที่ว่านี้ได้อย่างกลมกล่อม ละมุนละม่อม รู้เข้าไปถึงจิตใจและความรู้สึกของอิสตรีได้อย่างดี

นับว่า “พนมเทียน” เป็นนักประพันธ์ผู้มีความสามารถเขียนนวนิยายได้หลายๆ แนว

และแต่ละแนวก็สามารถสร้างสรรค์ผลงานอันเป็นอมตะได้

ซึ่งหากใครที่ได้ทราบประวัติของท่านก็จะไม่แปลกใจเลย เพราะท่านได้เริ่มต้นในวงการน้ำหมึกด้วยบทประพันธ์ที่เป็นอมตะเรื่อง “จุฬาตรีคูณ” โดยตอนที่แต่งเรื่องนี้มีอายุเพียงแค่ 17 ปี

17 ปี สามารถเขียนงานที่ยืนยงมาจนถึงบัดนี้ได้นี่ไม่ใช่เล่นๆ เลยล่ะ

“ละอองดาว” เคยถูกทำเป็นละครมาแล้ว 3 ครั้ง ครั้งแรกออกอากาศทางช่อง 4 บางขุนพรหมในปี 2519 นำแสดงโดย พิศาล อัครเศรณี และ กนกวรรณ ด่านอุดม, ครั้งที่ 2 ออกอากาศทางช่อง 7 สีในปี 2534 มี โอ-วรุฒ และ แอน-สิเรียม จับคู่พระนางกัน ส่วนครั้งที่ 3 ออกอากาศช่อง 5 ในปี 2550 นำโดย ก้อง-สหรัถ และ อ้อม-พิยดา อัครเศรณี

จากประวัติน่าสนใจว่า พ่อลูกได้แสดงในเรื่องเดียวกัน พ่อคือ “พิศาล” เล่นเป็นพระเอก ส่วนลูกคือ “อ้อม-พิยดา” เล่นเป็นนางเอกโดยเวลาห่างกัน 31 ปี

จากครั้งที่ 3 มาถึงครั้งที่ 4 ในปี 2560 ที่เรากำลังพูดถึงกันอยู่นี้ เมื่อเจเอสแอลได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ถ่ายทอดตัวอักษรของ “พนมเทียน” ออกมาเป็นภาพและเสียงในเวลาของละครหลังข่าว ทีมงานก็ได้เข้าไปกราบเคารพท่านที่บ้าน และขอคำแนะนำจากท่านในฐานะเจ้าของบทประพันธ์

“พนมเทียน” หรือคุณฉัตรชัย ได้ให้ความเมตตากับทีมงาน และได้แนะนำผู้ประพันธ์บทไว้อย่างเป็นผู้ใหญ่ที่เข้าใจในงานละครอย่างดียิ่งว่า สามารถปรุงแต่งให้มีความสนุกแบบละครได้

แต่ขอให้คงแก่นของเรื่องเอาไว้ให้ได้คือ ศักดิ์ศรีของลูกผู้หญิงที่ยืนหยัดอย่างความเป็น “ผู้มีเกียรติ” ของตน แม้ว่าจะถูกผู้ชายที่ควรจะเป็นคู่แต่งงานปฏิเสธ แม้ว่าจะถูกระรานกับผู้หญิงของเขาแค่ไหน แต่เธอก็ตั้งมั่นที่จะพิสูจน์ศักดิ์ศรีของตนให้ได้

คุณฉัตรชัยยังบอกอีกว่า จะแก้ไขเพิ่มเติมดัดแปลงฉากไหนยังไงก็ตามแต่ แต่ขอให้คงไว้กับ 3 ฉากที่ว่านี้

คือ ฉากกรกฏโทรศัพท์ปฏิเสธการแต่งงานกับละอองดาว

ฉากกรกฏเมาเพราะกลุ้มใจในความรักที่ตนมีต่อละอองดาว จนละอองดาวต้องพาขับรถกลับบ้าน และกรกฏก็ขอหนุนตักละอองดาวในระหว่างที่เธอขับรถ

และฉากตอนท้ายเรื่อง ที่ละอองดาวขับรถไปขวางไม่ให้กรกฏไปบวชตามที่ตั้งใจไว้

และทั้งสามฉากนี้ก็มีอย่างครบถ้วนในละคร ตามความประสงค์ของผู้เขียน

ผู้รับบทกรกฏคือ “อ๋อม-อรรคพันธ์ นะมาตร์” และผู้รับบทละอองดาวก็คือ “นาว-ทิสานาฏ ศรศึก” ซึ่งนักแสดงทั้งสองก็ได้ไปกราบคุณฉัตรชัย เพื่อให้ท่านดูตัว ซึ่งคุณฉัตรชัยก็มีความพอใจในรูปลักษณ์ของทั้งสองว่าเหมาะสม

โดยบอกเน้นกับนาวว่า ละอองดาวนั้นต้องมีความเป็นผู้ดีนะ อย่าให้กิริยาการแสดงออกเป็นนางร้ายไม่ได้ เพราะโดยเนื้อแท้แล้วละอองดาวมีเชื้อสายของหญิงสูงศักดิ์ในระดับเจ้าหญิงเลยทีเดียว

ส่วนกับอ๋อม คุณฉัตรชัยได้บอกว่า ตัวกรกฏเป็นผู้ชายที่เย่อหยิ่ง จองหอง ไว้ท่า ถือดี แม้ลึกๆ จะรู้ว่าตนเองตกหลุมรักละอองดาว แต่เมื่อเป็นผู้หญิงที่ตนเคยปฏิเสธ ก็จำเก็บงำความรู้สึกนั้นไว้ให้มันกลัดหนองอยู่ข้างใน

เมื่อทั้งสองต้องมาอยู่ต่อหน้ากล้อง และสวมบทบาทตัวละครที่ว่าก็สามารถทำได้ดี อ๋อมนั้นเคยแสดงมาหลายบทบาท แต่ครั้งนี้จะได้เห็นพัฒนาการทางการแสดงของเขาไปอีกขั้นหนึ่ง ที่เล่นได้เนียนและลึกขึ้น โดยเฉพาะแววตาที่ต้องแสดงออกถึงคนที่แบกทุกข์ไว้เต็มอก จะมีสุขบ้างก็สุขบนความทุกข์

ส่วนนาวนั้น สวยและสง่าเหลือเกิน ยิ่งเมื่ออยู่ในชุดราตรีทันสมัยงามสง่าในฉากที่ตนต้องเป็นตัวแทนของพระองค์เจ้าหญิงพราวนภางค์นภดลมาในงานวันเกิดของท่านชายสดายุ ก็ทำเอาทุกคนตกตะลึงในความงาม ที่งามสมกับความเป็นหญิงสูงศักดิ์ในเวลาต่อมา

ส่วนเรื่องการแสดงนั้นไม่ต้องห่วง นาวแบกรับไหวอยู่แล้ว โดยเฉพาะเมื่อต้องมีน้ำตาออกมาฉากใด ก็ราวกับกดปุ่ม มันจะไหลพรากออกมาเสริมสร้างอารมณ์ได้อย่างง่ายดาย

การถ่ายละครจะไม่ได้ถ่ายเรียงตามเรื่องอยู่แล้ว นักแสดงจึงต้องแม่นยำกับอารมณ์และความรู้สึกของตัวละครว่าพัฒนาการของตัวละครตอนที่จะถ่ายนั้นมันไปถึงไหนแล้ว “ชัชวาลย์ คล้องช้าง” รับหน้าที่เป็นผู้กำกับเรื่องนี้ จะคอยช่วยแนะนำนักแสดงให้มีความเข้าใจ ไม่ตกหล่น

ส่วนคนเขียนบทมี 2 คนคือ “คุณชาย” และ “สรรพชัย เกิดอุทัย” ซึ่งทั้งสองต่างก็เคยฝากผลงานการเขียนละครมาแล้วหลายเรื่อง สำหรับเรื่องนี้ความยากอยู่ที่จะทำให้เรื่องราวที่สวยงามคลาสสิค มีรสชาติของความสนุกตามแบบละครหลังข่าวช่อง 7 สีได้อย่างกลมกลืนได้อย่างไร โดยยังเคารพในบทประพันธ์และคงแคแร็กเตอร์ของตัวละครนำไว้ได้

นอกจากนักแสดงนำอย่างอ๋อมและนาวแล้ว ยังมีนักแสดงระดับท็อปของช่องคือ “เคลลี่-ธนะพัฒน์” มารับทตัวละครสำคัญ “ท่านชายสดายุ” ซึ่งเป็นคนช่วยคลี่คลายปมหัวใจของพระนาง รวมทั้งรุ่นใหญ่อย่าง “เดือนเต็ม สาลิตุล” ในบทอดีตราชินีผู้สูงศักดิ์ ที่ต้องรับกรรมจากความยึดติดในราชประเพณีมากกว่าความรักที่แท้จริงของผู้เป็นลูก

สมทบด้วย เบนซ์-ปุณยาพร, แอนดรู-กรเศก, แมกกี้-อาภา, แดน-ดนัย ,เนย-ประภาดา และนักแสดงอีกมาก

เรื่องนี้เป็นละครย้อนยุค ย้อนไปในราวปี 2520 จึงต้องมีรายละเอียดของเสื้อผ้า เครื่องประดับ ข้าวของเครื่องใช้ สถานที่ และองค์ประกอบอื่นๆ อีกมากให้ทีมงานได้ทำการบ้านตลอด

เอาล่ะครับ ฝากให้กำลังใจกับละคร “ละอองดาว” ด้วยนะครับ บอกกันตรงๆ อย่างนี้แหละ ใครจะทำไม