2503 สงครามลับ สงครามลาว (88)/บทความพิเศษ พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

บทความพิเศษ

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

 

2503 สงครามลับ

สงครามลาว (88)

 

ความสำเร็จของฝ่ายเรา

เจมส์ อี. ปาร์เกอร์ จูเนียร์ บันทึกความเห็นสรุปว่า

ขณะที่เวียดนามเหนือสอบตกเพราะประเมินสถานการณ์ต่ำกว่าความเป็นจริงและไม่รอบด้าน

แต่ต้องให้เครดิตต่อแผนการตั้งรับอันชาญฉลาดของฝ่ายเรา

รวมทั้งยุทธวิธีรุกตัดหลังของนายพลวังเปาในเดือนกุมภาพันธ์ที่ทำให้เวียดนามเหนือต้องดึงกำลังหน่วยรบจากสกายไลน์ และถูกกดดันให้ต้องถอน ป.130 ม.ม. ออกไปจนล่องแจ้งพ้นระยะยิง เปิดโอกาสให้ทหารไทยนำกำลังใหม่ที่ยังสดชื่นมาเสริม

เวียดนามเหนือยังประเมินขีดความสามารถกำลังของฝ่ายเราที่ทำหน้าที่ป้องกันล่องแจ้งต่ำกว่าความเป็นจริง ซึ่งต้องให้เครดิตแก่ “คอบร้า” “ฮอก” และ “ฮาร์ดโนส” สามที่ปรึกษาซีไอเอที่ปักหลักอยู่ในล่องแจ้งกับกองพันรบระหว่างวิกฤต ทำให้หน่วยเหนือสามารถประเมินสถานการณ์ได้อย่างถูกต้อง

และยังต้องให้เครดิตกรมจีเอ็ม 30 จากสุวรรณเขต ผู้นำอากาศยานหน้าทุกนาย และผู้นำ ฉก.วีพี คือ “แสน” ซึ่งปักหลักร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับทหารใต้บังคับบัญชาที่ล่องแจ้งตลอดวิกฤตครั้งนี้

รวมทั้งทหารไทย ทหารลาว และกำลังรบนอกแบบม้ง ที่ต่อสู้อย่างกล้าหาญในการปกป้องครอบครัวของพวกเขาแบบยอมตายคาที่มั่น

ในบันทึกของซีไอเอฉบับเดียวกันนี้ยังได้กล่าวถึงการกำหนดที่ตั้งการวางกำลังของฝ่ายเราในการป้องกันสกายไลน์จากความเชี่ยวชาญภูมิประเทศของนายพลวังเปา

โดยเจตนาบีบบังคับให้รูปขบวนเข้าตีของฝ่ายเวียดนามเหนือต้องเข้าไปรวมตัวอยู่ในพื้นที่แคบๆ ระหว่างขุนเขาจนง่ายต่อการกำหนดเป้าหมายโจมตีของกองทัพอากาศสหรัฐ ซึ่งเป็นที่มาของความสูญเสียส่วนใหญ่ของฝ่ายเวียดนามเหนือในการรบครั้งนี้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการโจมตีของ B-52 ในหุบเขาหน้าสกายไลน์เมื่อคืนวันที่ 5 มกราคม และอีกหลายครั้งที่สะท้อนความสำเร็จในประเด็นนี้อย่างชัดเจนที่สุด

 

นายพลวังเปา ผู้บัญชาการที่สามารถ

เป็นที่ชัดเจนว่า ความเป็นผู้นำและประสบการณ์ในสนามรบของนายพลวังเปาก็นับเป็นปัจจัยสำคัญของความสำเร็จ

หลังจากสูญเสียพื้นที่ทุ่งไหหินแล้ว นายพลวังเปาก็ไม่ท้อถอยด้วยการรวบรวมกำลังไว้ป้องกันโดยรอบล่องแจ้ง แล้วใช้การโอบตัดหลังเพื่อดึงอำนาจการรบจากแนวรบส่วนหน้าของเวียดนามเหนือ

นายพลวังเปารู้แน่ชัดว่าฝ่ายเวียดนามเหนือจะต้องพบกับอุปสรรคสำคัญในการส่งรถถังเข้าสนับสนุนการรบที่เนิน 1800

และนายพลวังเปายังวิเคราะห์อย่างแม่นยำถึงเส้นทางที่รถถังเวียดนามเหนือจะเคลื่อนที่เข้าสู่พื้นที่การรบสกายไลน์ นำไปสู่การวางกำลังทหารเสือพรานไทยในตำบลสำคัญรอบๆ ซำทองเพื่อขัดขวางการรุกของเวียดนามเหนือ รวมทั้งการกำหนดแผนวางทุ่นระเบิดจากซำทองมาล่องแจ้งซึ่งสามารถหยุดยั้งรถถัง 2 ใน 4 คันสุดท้ายที่เข้าตีทหารไทยที่ซำทองนับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง

วีรกรรมของกองพันบีซี 603 ที่ปักหลักป้องกันด้านใต้ของสกายไลน์เพื่อยึดคืน CC เป็นอีกความสำเร็จในการเอาชนะทหารเวียดนามเหนือที่ส่งมาเพื่อแย่งยึดที่หมายนี้ให้ได้ ไม่ว่าจะต้องสูญเสียเท่าใด

 

แอร์อเมริกา

แอร์อเมริกา รวมทั้งกำลังทางอากาศทั้งของกองทัพอากาศสหรัฐ และกองทัพอากาศลาวซึ่งมีบทบาทสำคัญในการรบก็ประสบความสูญเสียไม่น้อย

เฉพาะเดือนธันวาคม พ.ศ.2514 เครื่องบินถูกยิงจากอาวุธภาคพื้นดิน 24 ลำ ตก 3 ลำ

และระหว่างธันวาคม พ.ศ.2514 ถึงเมษายน พ.ศ.2515 ซึ่งมีการสู้รบอย่างหนัก ที 28 2 ลำ ถูกยิงตก และ F-4 ของกองทัพอากาศสหรัฐ 4 ลำ หายไปในพื้นที่การรบ ลูกเรือแอร์อเมริกาเสียชีวิต 6 นาย

กล่าวสำหรับแอร์อเมริกาที่สมควรได้รับการยกย่องคือเหล่านักบินผู้ซึ่งบินออกไปทุกวันด้วย ฮ. และเครื่องบินปีกติดลำตัวซึ่งแตกต่างจากเครื่องบินรบทั่วไป เพราะมีความเร็วต่ำ มีเกราะป้องกันตัวเพียงเล็กน้อย และไม่มีอาวุธเพื่อป้องกันตนเอง

เพราะแม้ขณะที่การสู้รบได้ทวีความรุนแรงจนถึงขีดสุด แอร์อเมริกาก็ยังสามารถลำเลียงผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตออกจากสนามรบและยังช่วยลำเลียงทหารชุดใหม่เข้าไปสับเปลี่ยนให้อีกด้วย

 

เจ้าหน้าที่ซีไอเอ

บันทึกฉบับเดียวกันนี้ยังยกย่องเจ้าหน้าที่ซีไอเอบางคนเป็นพิเศษว่า การตกลงใจให้ “ฮอก” และ “ฮาร์ดโนส” ที่ปรึกษาประจำกองพันทหารเสือพราน ยังคงอยู่ในล่องแจ้งในคืนที่ข้าศึกมาเคาะประตู นับว่ามีความสำคัญเช่นกัน

ทหารทุกนายรับทราบและเสริมสร้างกำลังใจให้ปักหลักสู้ต่อไปเมื่อรู้ว่าสหรัฐไม่มีวันทอดทิ้งพวกเขา

ทูตก็อดเลย์ (Godley) ประจำกรุงเวียงจันทน์ในฐานะผู้นำสูงสุดของซีไอเอในลาว และหัวหน้าซีไอเอลาว ฮิวจ์ โทวาร์ ก็สมควรได้รับเครดิตในการอนุญาตให้ซีไอเอ 2 คนนี้อยู่ในพื้นที่การรบ

ซึ่งทำให้วอชิงตันได้รับทราบสถานการณ์ที่ถูกต้องและทันต่อเวลาจนสามารถให้การสนับสนุนได้เมื่อครั้งเกือบต้องสูญเสียพื้นที่ทุ่งไหหิน

และที่สมควรบันทึกไว้เป็นพิเศษ คือการยืนยันอย่างแข็งขันของเจ้าหน้าที่ซีไอเอนาม ฮิวจ์ โทวาร์ ประจำกองบัญชาการเวียงจันทน์ต่อแผนรุกตัดหลังเวียดนามเหนือของนายพลวังเปาที่ทำให้วอชิงตันเปลี่ยนแปลงท่าทีจากคัดค้านในตอนแรกมาให้การสนับสนุน ก็เป็นปัจจัยสำคัญชี้ขาดของชัยชนะครั้งนี้

และท้ายที่สุด เหล่านี้คือเครื่องพิสูจน์ว่านายพลวังเปาเป็นนายพลที่เยี่ยมยอดที่สุดในสนามรบลาว

สไตล์ของฮิวจ์ โทวาร์ ที่ปล่อยให้สายการบังคับบัญชาตั้งแต่จากอุดรธานี ล่องแจ้ง จนถึง “ฮอก” หัวหน้าซีไอเอล่องแจ้ง และ “ฮาร์ดโนส” หัวหน้าซีไอเอกองกำลังทหารเสือพรานไทยมีเสรีในการตัดสินตกลงใจในทุกสถานการณ์อย่างเต็มที่ทำให้เกิดความราบรื่นในการทำงานร่วมกับ “เทพ” และ “วังเปา” และสนับสนุนเต็มที่ให้วอชิงตันเกิดความเชื่อถือ นับเป็นอีกเหตุผลของความสำเร็จ

ตรงข้ามกับสายการบังคับบัญชาของสหรัฐในเวียดนามใต้ที่การตัดสินใจสำคัญทางการทหารจะกระทำที่วอชิงตันและไซ่ง่อน โดยให้ความสำคัญทาง “การเมือง” และ “ข้อจำกัด” ต่างๆ มากกว่า “เป้าหมาย” ในสนามรบ

 

ทหารไทย

จากบันทึกเดียวกันนี้

“สำหรับทางการไทย ผู้ซึ่งสร้างกองกำลังอาสาสมัครไทยขึ้นมาด้วยความยากลำบากแต่ประสบผลสำเร็จให้เข้าไปสู้รบในสงครามลับครั้งนี้ พวกเขาพยายามต่อรองเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศไทยให้มากที่สุด เช่นเดียวกับสหรัฐ

ไทยต้องการป้องกันเขตแดนของเขาซึ่งคอมมิวนิสต์แผ่อิทธิพลอยู่เต็มเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ กำลังอาสาสมัครเล่านี้อาสาเข้าทำหน้าที่โดยมีชีวิตเป็นเดิมพัน พวกเขาเป็นเพียงคนธรรมดาที่ไปกระทำเรื่องเหนือธรรมดาบนสกายไลน์ ซึ่งเป็นเหตุผลเดียวกับกองกำลังของวังเปาที่สามารถเอาชนะการรบที่สกายไลน์ได้

นั่นคือจิตวิญญาณแห่งนักสู้ของกำลังอาสาสมัครไทยผู้ซึ่งเรียกตัวเองว่าเป็น ‘นักรบนิรนามแห่งองค์พระเจ้าอยู่หัว’

ที่ ‘แม้จะถูกหยามเหยียด แม้จะมีบาดแผลทั่วกาย แต่ยังคงสู้จนลมหายใจสุดท้าย เพื่อให้ถึงดวงดาวที่ไม่อาจไปถึง เพื่อเอาชนะในสงครามที่ไม่มีทางชนะ'”

 

การรุกใหญ่วันอีสเตอร์

ขณะที่ “CAMPAING Z” กำลังประสบปัญหาการต้านทานอย่างสุดชีวิตของกำลังทหารฝ่ายรัฐบาลลาว ช่วงเวลาเดียวกันนั้น เวียดนามเหนือก็วางแผนเปิดยุทธการใหญ่ขึ้นในเวียดนามใต้อันเป็นเป้าหมายหลัก เรียกกันต่อมาว่า “Easter Offensive-การรุกใหญ่วันอีสเตอร์” โดยกำหนดแผนปฏิบัติไว้ระหว่าง 30 มีนาคม-22 ตุลาคม พ.ศ.2515

ซึ่งนับเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เวียดนามเหนือต้องถอนกำลังออกจากสมรภูมิล่องแจ้งที่ติดพันมาตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.2514 เพื่อให้มีกำลังรบมากพอสำหรับการรุกใหญ่ครั้งนี้ ส่งผลให้สถานการณ์ในทุ่งไหหินผ่อนคลายลง

เมื่อเปรียบเทียบกับการรุกใหญ่ที่ผ่านมาในเวียดนามใต้ คือ “Tet Offensive-การรุกใหญ่วันตรุษญวน” ระหว่าง 30 มกราคม-24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2511 การรุกใหญ่วันอีสเตอร์ครั้งนี้ก็นับว่ามีขนาดใหญ่กว่ามาก ทั้งนี้ เพื่อหวังผลที่แม้จะยังไม่สามารถปลดปล่อยเวียดนามใต้ได้ แต่ก็จะส่งผลอย่างสำคัญต่อการเจรจายุติสงครามที่กำลังงวดขึ้นที่ปารีส ขณะที่แรงกดดันจากมหาชนอเมริกันให้ถอนทหารออกจากเวียดนามยังคงเป็นปัจจัยหลักต่อการตัดสินใจของผู้นำทางการเมืองสหรัฐ

กองทัพเวียดนามเหนือที่จะเข้าปฏิบัติการในการรุกใหญ่วันอีสเตอร์ครั้งนี้มีจำนวนกำลังทหารระหว่าง 200,000- 300,000 นาย อยู่ในสนามรบ 140,000 นาย รถถัง 322 คัน และรถสายพานลำเลียงพลอีกจำนวนหนึ่ง

ขณะที่ฝ่ายเวียดนามใต้มีกำลังทหารเหนือกว่าคือ 758,000 นาย โดยมีการสนับสนุนจากสหรัฐ ทั้งกองทัพอากาศและกองทัพเรือที่ 7 เป็นสำคัญ

ด้วยเหตุนี้ เวียดนามเหนือซึ่งมีกำลังทหารน้อยกว่าจึงต้องระดมกำลังจากทุกพื้นที่เพื่อรวมศูนย์เข้าสู่การรุกใหญ่วันอีสเตอร์ครั้งนี้ รวมทั้งกำลังรบจากทุ่งไหหิน ซึ่งอยู่ระหว่างปฏิบัติการตาม “CAMPAING Z” มาตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ.2514 อีกด้วย

 

เวียดนามเหนือไม่ทิ้งทุ่งไหหิน

ชัยชนะที่ล่องแจ้งของทหารไทยเมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ.2515 นอกจากเกิดขึ้นจากแผนการรบที่ชาญฉลาดแล้ว ยังเกิดจากความจำเป็นเร่งด่วนของเวียดนามเหนือในการถอนกำลังจากทุ่งไหหินเพื่อร่วมรุกใหญ่วันอีสเตอร์ในวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ.2515 อีกด้วย

แต่ฝ่ายเวียดนามเหนือก็ยังคงทิ้งกำลังกรม 335 และกรม 148 ไว้ในพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของทุ่งไหหิน รวมทั้งกรม 866 ที่บ้านบ่วมลอง เพื่อระวังป้องกันเส้นทางโฮจิมินห์

การสู้รบเพื่อแย่งชิงพื้นที่ยุทธศาสตร์ทุ่งไหหินจึงยังคงดำรงอยู่ต่อไป

 

เมษายน 2515

การสู้รบที่ทุ่งไหหินระหว่างทหารไทยกับทหารเวียดนามเหนือหลังเดือนมีนาคม พ.ศ.2515 เริ่มลดระดับความรุนแรงลงเนื่องจากการรุกใหญ่ในเทศกาลอีสเตอร์ดังกล่าว

นอกจากนั้น ยังเป็นช่วงใกล้ฤดูมรสุมซึ่งจะเริ่มในเดือนพฤษภาคม อันเป็นอุปสรรคสำคัญในการเคลื่อนย้ายกำลังและอาวุธยุทโธปกรณ์ขนาดหนักเพื่อสนับสนุนการรบของฝ่ายเวียดนามเหนืออีกด้วย

บก.ผสม 333 จึงชิงความได้เปรียบนี้เปิดฉากการรุกกลับเพื่อเข้าควบคุมพื้นที่ทุ่งไหหินทันที

 

ศึกชิงเนิน CW

บนสกายไลน์ ยอดเนิน CW เป็นภูมิประเทศสำคัญเพียงแห่งเดียวที่เวียดนามเหนือยังคงใช้กำลังยึดรักษาไว้อย่างเหนียวแน่น

ดังนั้น เพื่อให้ล่องแจ้งปลอดภัย ฉก.วีพีจึงใช้ความพยายามอย่างจริงจังที่จะขับไล่กำลังของเวียดนามเหนือที่ CW นี้ออกไปให้ได้ มีการเข้าตีด้วยหน่วยขนาดต่างๆ ถึง 10 ครั้งตลอดเดือนเมษายน ส่งผลให้ฝ่ายเราต้องประสบความสูญเสียไม่น้อย เนื่องจากข้าศึกต้านทานอย่างเหนียวแน่น

แต่ในที่สุดฝ่ายเราก็สามารถยึด CW ได้อย่างเด็ดขาดเมื่อวันที่ 29 เมษายน โดยกองพัน 232 ของกองทัพภาคที่ 4 ของราชอาณาจักรลาวจากสุวรรณเขตซึ่งโยกย้ายมาเพื่อภารกิจนี้โดยเฉพาะ

เมื่อล่องแจ้งปลอดภัย ฝ่ายเราจึงเตรียมรุกเข้าสู่ซำทองซึ่งข้าศึกยังคงวางกำลังยึดครองอยู่ตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม พ.ศ.2515 ต่อไป

 

พฤษภาคม 2515 กวาดล้างทุ่งไหหิน

เมื่อฝ่ายเราสามารถยึดแนวสันเขาสกายไลน์ไว้ได้ทั้งหมดแล้วตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ.2515 จึงเตรียมการรุกโต้ตอบข้าศึกเพื่อยึดทุ่งไหหินคืน โดยจะถือโอกาสในขณะที่ข้าศึกได้ถอนกำลังออกไปแล้วประมาณ 3 กรมเมื่อเดือนเมษายน คงมีข้าศึกเหลืออยู่ในพื้นที่ประมาณ 3 กรมเท่านั้น และถือโอกาสในขณะที่จะเริ่มต้นฤดูฝนในเดือนพฤษภาคมซึ่งจะเป็นอุปสรรคสำคัญของข้าศึก

แผนการรุกเข้าสู่ทุ่งไหหินของฝ่ายเราได้มีการแบ่งที่หมายตามลำดับขั้นดังนี้

ขั้นที่หนึ่ง : กวาดล้างข้าศึกและเข้ายึดพื้นที่ซำทอง เนินซีบร้า และภูถ้ำแซ เพื่อเป็นฐานออกตีและเพื่อตั้งฐานยิงสนับสนุนการปฏิบัติในขั้นต่อไป

ขั้นที่สอง : กวาดล้างข้าศึกและเข้ายึดถ้ำตำลึง บ้านหินตั้ง และบริเวณภูผาไซ เพื่อควบคุมภูมิประเทศสำคัญและเส้นทางที่จะเข้าสู่ทุ่งไหหินจากตะวันตกเฉียงใต้