พฤษภารำลึก (8) คำตอบปลิวอยู่ในสายลม!/ยุทธบทความ สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ

สุรชาติ บำรุงสุข

 

พฤษภารำลึก (8)

คำตอบปลิวอยู่ในสายลม!

 

“ความมีอภิสิทธิ์อย่างมากของทหารจะดำรงอยู่ต่อไปได้ ถ้าผู้นำทางการเมืองของระบอบประชาธิปไตยใหม่ไม่กล้าท้าทาย”

Alfred Stepan (1988)

ผู้เชี่ยวชาญด้านทหารกับการเมืองในละตินอเมริกา

 

แม้ระยะเวลาจะผ่านไปนานถึง 30 ปีแล้ว แต่จนถึงทุกวันนี้ ผมยังจำได้ดีถึงบรรยากาศของการคุยและการถกเถียงเรื่องการปฏิรูปกองทัพหลังจากชัยชนะของ “พฤษภาประชาธิปไตย”…

เวทีนี้เกิดขึ้นที่ห้องประชุมคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ตึกเก่าถูกรื้อไปแล้ว) จำได้ดีถึงข้อเสนอของนักเคลื่อนไหว ปัญญาชน สื่อมวลชน และผู้นำเอ็นจีโอ ที่ล้วนเป็นจักรกลของการขับเคลื่อนการต่อสู้บนถนน จนนำไปสู่ชัยชนะ และปิดฉากระบอบสืบทอดอำนาจของผู้นำทหารรุ่น 5

ผมจำได้ดีเสมอถึงความกระตือรือร้นของทุกคนที่เข้าร่วมประชุม เป็นความใฝ่ฝันในวันแห่งชัยชนะอย่างแท้จริง เพราะในสภาวะที่กองทัพต้องถอยออกจากการเมืองบนเงื่อนไขของการ “แพ้สงครามประชาชนบนถนน” นั้น บรรยากาศการเมืองใหม่จึงเป็นดัง “ความฝันในฤดูใบไม้ผลิ” เป็นความฝันร่วมกันของฝ่ายประชาธิปไตยทุกคนในวันที่ “บางกอกสปริง” เกิดขึ้นอีกครั้งในปี 2535

การเมืองในภาวะเช่นนี้จะไม่ชวนให้ฝันได้อย่างไร แม้หลายคนพยายามที่จะผลักดันให้ความฝันเป็นจริง แต่ก็เป็นที่รับรู้กันดีว่า การจะทำให้การปฏิรูปกองทัพเกิดขึ้นได้นั้น อาจจะยิ่งกว่า “เข็นครกขึ้นภูเขา”

อีกทั้งชนชั้นนำและผู้นำทหารขวาจัดจะยอมให้ฝ่ายประชาธิปไตยเข้าไปปฏิรูปกองทัพหรือ…

หรือว่าสุดท้ายแล้ว เรื่องนี้ตอบด้วยชื่อของเพลงโฟล์กอเมริกันของบ๊อบ ดีแลน ว่า “คำตอบนั้นปลิวอยู่ในสายลม” (Blowin’ in the Wind)

[เพลงนี้เป็นเพลงที่เป็นตัวแทนแห่งการประท้วงของคนหนุ่มสาวทั่วโลกในยุค 60 หรือยุคสงครามเวียดนาม และอยากจะถือว่าเป็นเพลงหนึ่งของยุคสมัยแห่งเดือนตุลาฯ ของไทยด้วย]

ฤดูใบไม้ผลิ 2516

ชัยชนะของประชาชนใน “สปริง 2516” มีความเปราะบางในตัวเองอย่างมาก เพราะมีประเด็นด้านความมั่นคงทับซ้อนอยู่อย่างชัดเจน ชัยชนะดังกล่าวเกิดขึ้นขนานไปกับความผันผวนของสงคราม 2 ชุด คือสงครามก่อความไม่สงบของพรรคคอมมิวนิสต์ไทย และสงครามเวียดนามที่ขับเคลื่อนโดยพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม

ชัยชนะทางการเมืองที่กรุงเทพฯ ย่อมต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยเกิดขึ้นโดยมีสองสงครามเป็นฉากหลัง

ระบอบประชาธิปไตยใหม่ (The New Democracy) หลัง 14 ตุลาฯ มีความเปราะบางในตัวเองอีกด้าน เป็นผลจากการประกอบสร้างทัศนคติของยุคสงครามเย็น กล่าวคือ มีความเชื่อว่าประชาธิปไตยเป็นความอ่อนแอในการรับมือกับภัยคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์ และระบอบทหารมีความเข้มแข็งที่จะต่อสู้กับพวกคอมมิวนิสต์ได้ดีกว่าระบอบพลเรือน

ชุดความคิดเช่นนี้กระจายตัวอยู่ในหมู่ชนชั้นนำ ผู้นำทหาร และบรรดาปีกขวาจัดในสังคมไทย

ฉะนั้น ประชาธิปไตยหลัง 14 ตุลาฯ จึงเสมือนกับการรอเวลาที่กลุ่มขวาจัดจะกลับมาทวงอำนาจคืนจากประชาชน ซึ่งทุกฝ่ายดูจะรู้ดีว่า ฤดูใบไม้ผลิครั้งนี้อาจจะสั้น และอาจสั้นกว่าที่คิด

ว่าที่จริงแล้วความคิดในการสนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาลทหารในประเทศกำลังประเทศเป็น “วาทกรรมความมั่นคง” ที่สำคัญของยุคสงครามเย็น ซึ่งไทยเป็นตัวอย่างหนึ่งในกรณีนี้ ไม่ต่างจากตัวแบบในละตินอเมริกา หรือในเอเชีย และการล้มรัฐบาลทหารลงได้ในยุคสงครามเย็น จึงมิใช่หลักประกันว่า รัฐบาลทหารจะไม่กลับคืนมาอีก เพราะความ “กลัวคอมมิวนิสต์” ที่มีอยู่ในสังคม

ในสถานการณ์เช่นนี้ ข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปกองทัพในยุคหลังปี 2516 จึงเป็นไปไม่ได้เลย

ขบวนนักศึกษาประชาชนอาจจะสามารถผลักดันให้กองทัพต้องถอยออกจากการเมืองไปได้บ้าง แต่ขบวนการเองไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจมากพอที่จะนำเสนอประเด็นการปฏิรูปทหารให้แก่สังคมไทย

ในอีกด้าน ต้องยอมรับความจริงของขบวนนักศึกษาในขณะนั้นว่า เราไม่เคยคุยเรื่องดังกล่าว ประเด็นการปฏิรูปใหญ่ที่สุดที่เราเคยคุยกันมักจะเป็นเรื่องของการปฏิรูปที่ดินให้แก่ชาวนา ไม่ใช่เรื่องการปฏิรูปทหาร…

การปฏิรูปกองทัพไม่ได้เป็น “หัวข้อวาระ” ของขบวนนักศึกษาขณะนั้น ว่าที่จริงแล้วเราอยาก “ปฏิรูปประเทศ” มากกว่า!

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์สงครามทั้งในบ้านและในเวียดนามทวีความเข้มข้นอย่างมาก จนในที่สุด “โดมิโนอินโดจีน” ทั้งสามล้มลงในปี 2518 ขณะเดียวกันสหรัฐเองซึ่งมีสถานะเป็น “ผู้ค้ำประกันความมั่นคงไทย” ต้องถอยออกจากเวียดนาม และเตรียมที่จะขยับตัวออกจากไทย

อีกทั้งสงครามภายในของไทยขยายตัวมากขึ้น ผลจากความผันผวนของสงครามเช่นนี้เป็น “ความกลัว” ทางการเมืองอย่างมีนัยสำคัญ และไทยอาจเป็น “โดมิโนตัวที่ 4” ได้ไม่ยาก

คำตอบจึงเหลือแต่เพียงประการเดียวคือ ต้องหยุดการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยให้ได้

และการหยุดนี้จำเป็นต้องเปิด “ปฏิบัติการล้อมปราบ” ด้วยการใช้กำลังอาวุธ พร้อมกับทำรัฐประหารจัดตั้งรัฐบาลอำนาจนิยม เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความมั่นคงแห่งรัฐ

ผลที่เกิดขึ้นคือการปราบปรามครั้งใหญ่ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519… ฤดูใบไม้ผลิจบลง พร้อมกับการเริ่มของ “ฤดูหนาวทางการเมือง”

ซึ่งในทางทฤษฎีก็คือ การสิ้นสุดของการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย และกองทัพพลิกฟื้นจัดตั้งระบอบอำนาจนิยมอีกครั้ง

 

ฤดูใบไม้ผลิ 2535

ฤดูกาลทางการเมืองผันเวียนเปลี่ยนไป… จากฤดูใบไม้ผลิในปี 2516 เข้าสู่ฤดูหนาวในปี 2519 แล้วอากาศเริ่มอบอุ่นขึ้นบ้างหลังจากปี 2520-2521 และอบอุ่นมากขึ้นในปี 2531 แล้วฤดูหนาวก็กลับมาใหม่ในปี 2534 แต่เป็นฤดูหนาวสั้นๆ

และในปี 2535 ฤดูใบไม้ผลิกลับหวนคืนมาอย่างไม่น่าเชื่อ

บางกอกสปริงในปี 2535 ไม่มีสภาวะแวดล้อมด้านความมั่นคงที่ล่อแหลมเช่นในปี 2516 การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยไม่ได้เกิดโดยมีสงครามเป็นฉากหลังเช่นครั้งนั้น

ในทางตรงกันข้าม การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในไทยสอดรับกลับบริบทของเวทีโลกอย่างยิ่ง

ขบวนประชาธิปไตยจีนหรือที่เรียกอีกอย่างว่า “ขบวนประชาธิปไตยปี 89” เปิดการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องจาก 15 เมษายน จนถึง “การสังหารหมู่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน” ในวันที่ 4 มิถุนายน 2532

แม้จะดูเหมือนเป็นความพ่ายแพ้ของขบวนนักศึกษาประชาชนจีน แต่ก็สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนถึงกระแสเสรีนิยมที่เกิดขึ้นในสังคมที่แม้จะมีการควบคุมอย่างเข้มงวดของพรรคคอมมิวนิสต์จีน แม้พรรคจีนจะเข้มแข็ง แต่ก็ไม่อาจขวางกั้นการไหล่บ่าของกระแสเสรีนิยมเข้าสู่สังคมจีนได้ และจบลงในแบบของพรรคคอมมิวนิสต์คือ การปราบปรามผู้เห็นต่าง

ในปี 2532 เกิดการปฏิวัติทางการเมืองในยุโรปตะวันออก ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงกระแสเสรีนิยมที่กำลังขับเคลื่อนภายใน จนเห็นถึงหนึ่งในจุดสูงสุดของกระแสนี้คือ การประกาศรวมชาติของเยอรมนี อันนำไปสู่การสิ้นสุดอิทธิพลของสหภาพโซเวียตในการควบคุมยุโรปตะวันออก

และสัญลักษณ์สำคัญที่กำลังบ่งบอกถึงการมาของภูมิทัศน์ใหม่ คือการทุบกำแพงเบอร์ลินในปลายปีดังกล่าว

กำแพงเบอร์ลินเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ที่เป็นตัวแทนของสงครามเย็น

การทุบกำแพงของคนหนุ่มสาวเยอรมันจึงเป็น “ภาพแทนของยุคสมัย” ที่บ่งบอกถึงระเบียบโลกเก่าของยุคสงครามเย็นที่กำลังเดินไปสู่จุดสุดท้าย พร้อมกับการล่มสลายสหภาพโซเวียตในเดือนกันยายน 2534… โลกเสรีนิยมเป็นผู้ชนะ

หลังจากการสิ้นสุดของสงครามเย็นอย่างเป็นทางการในปลายปี 2534 กระแสลมของโลกเป็น “โลกาภิวัตน์” และมีความหมายของการเป็นกระแสเสรีนิยมทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ ซึ่งก็ยิ่งทำให้การเปลี่ยนผ่านของไทยในปี 2535 เดินไปในกระแสโลกที่สอดรับกันเป็นอย่างยิ่ง

จึงไม่แปลกที่พวกเราหลายคนจะมีความฝันว่า ระบอบทหารน่าจะเป็น “สมบัติเก่า” ในพิพิธภัณฑ์การเมืองไทยไปแล้ว

ว่าที่จริงก็ไม่ต่างจากความฝันว่า หลังสงครามเย็นจะเป็นโลกของสันติภาพที่ยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม ความต่างระหว่าง 2535 และ 2516 ที่มีนัยสำคัญประการหนึ่งคือ เกิดข้อเสนอที่จะปฏิรูปกองทัพ และครั้งนี้มีการถกกันลงไปรายละเอียด ซึ่งวันนั้นในห้องประชุมที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ มีข้อเสนออย่างเป็นรูปธรรม 3 ประเด็นจากฝ่ายประชาธิปไตย ได้แก่

– ผู้เข้าร่วมประชุมในวันดังกล่าวมีความเห็นตรงกันอย่างมากถึงการลดบทบาททางการเมืองของทหาร และเสนอเป็นหลักการสำคัญว่า ถึงเวลาแล้วที่กองทัพไทยจะต้องลดบทบาททางการเมืองลง และ “ทหารต้องกลับเข้ากรมกอง” การกลับเข้าสู่ภารกิจที่แท้จริงของทหาร จะเป็นปัจจัยที่ทำให้ทหารต้องหันกลับมาสนใจเรื่องของวิชาชีพทหาร มากกว่าจะสนใจการมีบทบาททางการเมือง

– เพื่อให้การลดบทบาททางการเมืองของทหารเกิดขึ้นได้จริง จะต้องมีการปฏิรูปหลักสูตรของโรงเรียนทหาร โดยเฉพาะในระดับของโรงเรียนนายร้อยของสามเหล่าทัพ ที่นักเรียนนายร้อยควรจะมีความรู้ในเรื่องของประชาธิปไตย และมีความรู้ในเรื่องของการเมืองอย่างถูกต้อง โดยจะต้องมีการจัดหลักสูตรใหม่ให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยที่กำลังจะเกิดขึ้น และความรู้ความเข้าใจทางการเมืองจะเป็นปัจจัยที่ทำให้กองทัพไม่แทรกแซงทางการเมืองในอนาคต

– ผลสืบเนื่องจากการใช้กำลังทหารในการปราบปรามประชาชนที่ถนนราชดำเนินและโรงแรมรัตนโกสินทร์นั้น ทำให้เกิดข้อสรุปว่า ทหารจะไม่ใช่เป็นกำลังหลักในการควบคุมฝูงชน และรัฐบาลในอนาคตจะต้องไม่ใช้ทหารในภารกิจเช่นนี้ หากจะต้องทำให้ตำรวจมีขีดความสามารถมากเพียงพอในการรับมือกับการชุมนุมของฝูงชน หรือกล่าวในเชิงภารกิจคือ

รัฐบาลจะไม่ใช้ทหารในการควบคุมจลาจล (riot control) และหน้าที่นี้จะต้องเป็นของตำรวจ เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียเช่นในปี 2516 และ2535 อีกทั้ง การไม่ทำภารกิจควบคุมฝูงชนจะทำให้ทหารไม่ต้องเผชิญหน้ากับผู้ชุมนุมทางการเมือง และไม่นำไปสู่การใช้อาวุธสงครามในการปราบปรามประชาชน

 

ฝันสลาย

แต่หลังจากการเปลี่ยนผ่านเกิดพร้อมกับการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ และการปรับเปลี่ยนตัวผู้นำทหารแล้ว ผมเริ่มรู้สึกว่าความฝันที่จะเห็นการปฏิรูปกองทัพไทยจากฤดูใบไม้ผลิครั้งนี้ คงเป็นเพียง “คำตอบในสายลม”

เพราะเอาเข้าจริงๆ แล้ว ผู้นำทหารชุดใหม่ที่ก้าวขึ้นมาแทนชุดเก่าที่ถูกย้ายออก ไม่ได้มีความคิดในการปฏิรูปกองทัพแต่อย่างใด

และรัฐบาลประชาธิปัตย์ที่ขึ้นสู่อำนาจหลังการเลือกตั้งกันยายน 2535 อาจมองว่า การปฏิรูปกองทัพจะนำไปสู่ความขัดแย้งกับทหารอีก จึงไม่ใช่ประเด็นที่รัฐบาลใหม่ต้องการผลักดัน

ในที่สุดแล้ว กระแสการปฏิรูปกองทัพหลังพฤษภาคม 2535 จึงค่อยๆ จางลงไปกับเวลา และถูกกลบด้วยความผันแปรในการเมืองไทย จนอยากจะขอจบด้วยสำนวนเพลงของดีแลนว่า “เพื่อนเอ๋ย คำตอบนั้นปลิวอยู่ในสายลม มันปลิวอยู่ในสายลม”… แล้วความฝันในฤดูใบไม้ผลิก็ค่อยๆ ปลิวลอยจากเราไป!

“…The answer, my friend, is blowin’ in the wind, the answer is blowin’ in the wind.”