การ์ตูนที่รัก/โฮะคุไซ (2)

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

การ์ตูนที่รัก/นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

โฮะคุไซ (2)

โฮะคุไซเกิดและมีชีวิตในยุคสมัยที่ญี่ปุ่นปิดประเทศ และถึงแก่กรรมไปเมื่อสี่ปีก่อนที่กองเรือของพลเรือจัตวาแมตธิว เพอร์รี่ จะปิดปากอ่าวโตเกียวในปี 1853 เพื่อกดดันรัฐบาลโตกุงาวะ

ก่อนหน้านั้นมีเพียงชาวดัตช์เท่านั้นที่สามารถเข้าประเทศและทำการค้าได้โดยถูกจำกัดบริเวณไว้เฉพาะที่นางาซากิ โดยห้ามเผยแผ่คริสต์ศาสนาอย่างเด็ดขาดด้วยโทษร้ายแรงถึงประหารชีวิต

ด้วยสินค้าต่างชาติที่มีจำกัด แต่โฮะคุไซให้ความสนใจพิเศษกับสินค้าที่เกี่ยวข้องการ “มอง” ได้แก่ เลนส์ แว่นตา กล้องจุลทรรศน์ กล้องดูดาว รวมทั้งเครื่องไม้เครื่องมือด้านการคำนวณ

หากเป็นสมัยนี้อาจจะพูดได้ว่าโฮะคุไซเข้าสู่ไอทีเร็วกว่าผู้อื่น

ผลจากการนี้ทำให้เขาเป็นคนแรกๆ อีกเช่นกันที่เปลี่ยนมุมมองของภาพวาดญี่ปุ่นแต่โบราณ จากที่ภาพวาดส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นสองมิติบนสองมิติโดยไม่มีความชัดลึกและสัมพัทธภาพด้านขนาด

โฮะคุไซได้ใช้เทคนิคสร้างจุดรวมสายตาขึ้นมาในภาพวาดทำให้ภาพเขียนของเขามีสัดส่วนของทิวทัศน์ ภูเขา ต้นไม้ น้ำตก สะพาน บ้านเรือน และผู้คนเป็นไปอย่างถูกต้องและน่าตื่นตาตื่นใจ

เทียบกับภาพเขียนของตะวันออกดั้งเดิมที่วัตถุที่อยู่ไกลกว่าจะมีขนาดใหญ่ และอยู่ด้านบนของภาพ ทำให้พื้นดินคล้ายจะเล็กลงแล้วถูกถ่วงให้เผยอขึ้น ยกตัวอย่างภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังในอุโบสถบ้านเราทั่วไป

โฮะคุไซสามารถวาดรูปบนผิวสามมิติได้ดีเท่ากับสองมิติ เช่น การวาดรูปบนผิวของโคมไฟกระดาษ

นอกจากนี้ เขายังชอบวาดรูปผู้คนและฉากหลังเป็นคัตเอาต์สำเร็จรูปเพื่อตัดตามรอยปะแล้วทากาวมาตั้งเป็นโรงละครหุ่นกระดาษ โดยคะเนระยะชัดลึก ระยะใกล้ไกล ระยะโฟกัส และมุมมองเสมือนการส่องกล้องดูได้อย่างแม่นยำ

ในปีที่โฮะคุไซเกิด คือปี 1760 โตเกียวหรือเอโดะเวลานั้นมีประชากรหนึ่งล้านคนโดยประมาณและอาจจะเป็นเมืองที่มีประชากรมากที่สุดในโลก มีสัดส่วนเพศชายต่อเพศหญิงสูงถึงสามต่อหนึ่ง

เอโดะเป็นที่ตั้งของรัฐบาลโตกุงาวะภายใต้อำนาจของโชกุนซึ่งอยู่เหนือจักรพรรดิที่เกียวโต

โชกุนโตกุงาวะครองอำนาจเหนือญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 1615 แล้วปิดประเทศนานสองร้อยปี เหลือไว้แต่ชาวดัตช์ที่นางาซากิโดยอนุญาตให้ผู้แทนชาวดัตช์เดินทางไปเอโดะปีละหนึ่งครั้งเพื่อรายงานความเป็นไปของโลกให้ฟัง

แม้กระทั่งชาวเกาหลีและจีนก็ถูกจำกัดบริเวณไว้ที่นางาซากิด้วย

โชกุนโตกุงาวะมีคำสั่งให้ไดเมียวตามแคว้นต่างๆ เดินทางเข้าเอโดะตามกำหนดเวลาในแต่ละปี และบังคับให้ครอบครัวของไดเมียวต่างๆ ต้องอาศัยอยู่ที่เอโดะเท่านั้นเท่ากับเป็นตัวประกันไปโดยปริยาย

นโยบายเช่นนี้ทำให้ไดเมียวต่างๆ มีค่าใช้จ่ายส่วนตัวสูงขึ้นและไม่สามารถสะสมกำลังได้เท่าไรนัก การระดมอาวุธจากต่างชาติก็กระทำไม่ได้ด้วย

ผลจากการที่ไดเมียวและซามูไรผู้ติดตามจำนวนมากต้องเดินทางเข้าออกเอโดะอยู่ตลอดทั้งปีทำให้ถนนเส้นหลักจากภาคต่างๆ สู่เอโดะคึกคักตามไปด้วย มีผู้คนเดินทางสัญจรมากขึ้น มีโรงแรม ร้านอาหาร ร้านเหล้า โรงน้ำชา โรงละคร โรงซูโม่ และร้านขายของ รวมทั้งร้านขายของที่ระลึกเพิ่มมากขึ้น

ด้วยสัดส่วนเพศชายต่อเพศหญิงที่แตกต่างกันอย่างมากในเวลานั้น รัฐบาลอนุญาตให้มีสถานให้บริการทางเพศถูกกฎหมายตามเมืองใหญ่ที่มีซามูไรพำนัก ความบันเทิงหลากหลายรูปแบบเผื่อแผ่มาถึงชนชั้นพ่อค้าและช่างฝีมือ

ชนชั้นพ่อค้าและช่างฝีมือก็มีรายได้เพิ่มขึ้นแต่ไม่มีที่ทางจับจ่ายมากเท่าไรนักนอกจากหาความสำราญบนถนนสู่เอโดะเหล่านี้

คือช่วงเวลาที่งานเขียนรูปวิวทิวทัศน์ ดอกไม้ น้ำตก ภูเขา แม่น้ำ หรือชีวิตผู้คนในชีวิตประจำวันรวมทั้งสถานบันเทิงต่างๆ สามารถขายได้

มีคำเรียกภาพเขียนเหล่านี้ว่าอุคิโยะเอะ (Ukiyo-e) แปลว่าภาพของโลกที่ล่องลอย จากงานเขียนสู่งานพิมพ์ แม้กระทั่งหนังสือรวมรูปภาพ

โฮะคุไซเติบโต ฝึกงาน เรียนศิลปะและขายงานได้ในวันเวลาเหล่านี้

แต่เขาได้ขยายงานของเขากว้างขวางออกไปครอบคลุมนิทานพื้นบ้าน วรรณกรรมโบราณ เรื่องเล่าผีปิศาจและเทพยดา ตำนานนักรบและวีรบุรุษ รวมทั้งสิงสาราสัตว์ต่างๆ ทั้ง นก ปลา เสือ สิงห์ มังกร หรือกิเลน

โฮะคุไซเริ่มเขียนหนังสือและเขียนรูปตั้งแต่ 6 ขวบ

สำหรับสมองของเขาการเขียนและการวาดไม่ต่างกัน ใช้พู่กันเหมือนกัน หมึกเหมือนกัน และปาดลงไปด้วยจินตนาการอันเปี่ยมล้นเท่าๆ กัน

เขาอาศัยฝึกฝนด้วยตนเองมาตลอดกว่าจะได้เรียนการเขียนรูปอุคิโยะเอะอย่างจริงจังจากคัทสึคะวะ ชุนโช (Katsukawa Shunsho:1726-1793) เมื่ออายุ 19 ปี สมัยใหม่จะว่าเขาเป็นตัวอย่างหนึ่งของเด็กที่เริ่มเรียนช้ากว่าประสบความสำเร็จใจการงานและชีวิตมากกว่า

ก่อนหน้านั้นโฮะคุไซมีโอกาสทำงานเป็นช่างแกะบล๊อกและได้เรียนรู้จักวิธีการพิมพ์รูปภาพและหนังสือด้วยบล๊อกไม้ คือช่วงเวลาที่หนังสืออ่านขยายตัวทั้งที่เป็นนวนิยายและไม่ใช่นวนิยาย

โดยที่หนังสือทั้งสองประเภทต้องการรูปประกอบจำนวนมาก โฮะคุไซจึงทำงานเป็นศิลปินอาชีพตั้งแต่ปี 1779 ด้วยชื่อต่างๆ กัน

ว่ากันว่าตลอดชีวิตเขาย้ายบ้าน 93 ครั้งและไม่เคยดูแลบ้านให้สะอาดแต่อย่างใด วันหนึ่งๆ ตื่นมาเพื่อการวาดรูปมากกว่าอย่างอื่น

เขาแต่งงานสองครั้ง มีบุตรรวม 5 คน เป็นชายสองหญิงสาม ว่ากันว่าเขามีบุตรีคนที่สี่ที่ตายตั้งแต่อายุยังน้อยมากด้วย

บุตรีคนที่สามคือคัทสึชิคะ โอเออิ (Katsushika Oe-i) เป็นนักเขียนรูปเช่นเดียวกับบิดา อาศัยอยู่กับบิดาและได้ช่วยวาดรูปเอาไว้จำนวนมาก

เรื่องราวของโอเออิมีปรากฏในมังงะปี 1983-1987 ของ Hinako Sugiura และสร้างเป็นอะนิเมะปี 2015 โดยผู้กำกับฯ Keiichi Hara ซึ่งการ์ตูนที่รักเคยเขียนถึงแล้ว

เราจะได้เห็นรูปภาพของโฮะคุไซในอะนิเมะเรื่องนี้หลายรูปรวมทั้งจินตนากรรมถึงต้นกำเนิดของคลื่นใหญ่หรือใต้เกลียวคลื่นนอกคะนะงะวะ (The Great Wave/Under a Wave off Kanagawa) อันเป็นผลงานในชุดภูขาฟูจิจากสามสิบหกมุมมอง (Thirty-Six Views of Mount Fuji)

ผลงานสร้างชื่อเสียงให้แก่โฮะคุไซในโลกตะวันตกคือภาพชุด Hokusai Manga (Hokusai Sketchbooks)

Hokusai Manga ตีพิมพ์ 10 เล่มระหว่างปี 1814-1819 และอีก 5 เล่มระหว่างปี 1834-1878 หลังการตายของเขา กลายเป็นหนังสือรวมรูปภาพที่มีจำนวนมากกว่า 4,000 ภาพ ภาพคน สัตว์ ดอกไม้ บ้านเรือนและทิวทัศน์

ภาพจากเรื่องเล่า นิทาน ตำนาน วรรณกรรมและประวัติศาสตร์จำนวนมากมายมหาศาลนี้ช่วยให้คนนอกญี่ปุ่นเข้าถึงชีวิตความเป็นอยู่ของชาวญี่ปุ่นและเข้าถึงประเทศญี่ปุ่นได้โดยง่าย

คําว่า มังงะ ในสมัยเอโดะหมายถึงภาพร่างหรือภาพสเก๊ตช์

“มัง” แปลว่า หลากหลายไม่มีแบบแผน กระจัดกระจายไร้ทิศทาง ตามอำเภอใจ

“กะ” แปลว่า ภาพลายเส้น ภาพวาด

ดังนั้น มังงะในตอนต้นจึงเป็น “ภาพร่างที่ไม่มีแบบแผน” (Random Sketches) อ้างอิงจากสูจิบัตรประกอบนิทรรศการมังงะ โฮะคุไซ มังงะ โดยเจแปนฟาวน์เดชั่น กรุงเทพฯ ปี 2017

นายแพทย์ชาวเยอรมัน Philipp Franz von Siebold : 1796-1866 เดินทางมาประเทศญี่ปุ่นและนำหนังสือชุดนี้กลับไปยุโรป ศิลปินชาวฝรั่งเศสพบเห็นเข้าแล้วเผยแพร่ต่อไป เกิดเป็นกระแสสนใจความเป็นญี่ปุ่นขึ้นในยุโรปและอเมริกาเหนือในเวลาต่อมา

โฮะคุไซตายในปี 1949 เมื่ออายุ 89 ปี ว่ากันว่าคำพูดสุดท้ายก่อนตายคือตนเองน่าจะอยู่ได้อีก 5-10 ปีเพื่อวาดรูปต่อไป

ภาพประกอบเรียงตามลำดับเวลา

1830-1831 The Great Wave หรือ Under a Wave off Kanagawa คลื่นใหญ่หรือใต้เกลียวคลื่นนอกคะนะงะวะ เป็นผลงานในชุดภูเขาฟูจิจากสามสิบหกมุมมอง (Thirty-Six Views of Mount Fuji) และอาจจะเป็นภาพที่มีชื่อเสียงที่สุดของญี่ปุ่นในตะวันตก ภาพคลื่นยักษ์ลงสีปรัสเซียนบลูส์และฟองสีขาวประหนึ่งมือที่พร้อมจะตะปบเรือหาปลาที่กำลังนำปลาไปเอโดะ เบื้องหน้าไกลโพ้นนั้นคือภูเขาฟูจิ

1831-1832 The Mansion of the Plates เป็นหนึ่งในชุดร้อยเล่าเรื่องผีซึ่งแม้ว่าโฮะคุไซจะมิได้วาดมังงะแบบในปัจจุบันแต่ภาพภาพเดียวก็สามารถเล่าเรื่องได้ทั้งหมด ภาพนี้จากบทละครคาบูกิเล่าเรื่องสาวใช้นามโอคิคุทำจานกระเบื้องของเจ้านายแตกจึงกระโดดบ่อน้ำฆ่าตัวตาย บ้างดัดแปลงให้เจ้านายฆ่าสาวใช้แล้วโยนศพลงบ่อน้ำ และบ้างดัดแปลงให้เจ้านายทำจานแตกเองเพื่อโยนความผิดให้สาวใช้ วิญญาณของสาวใช้จะขึ้นมาจากบ่อในยามค่ำคืนพร้อมเสียงนับจานที่แตก หนึ่งใบ สองใบ สามใบ อย่างโหยหวน โฮะคุไซเขียนภาพนี้โดยใช้จานประกอบเป็นลำตัวเสมือนงูของสาวใช้ปิศาจ

1832 The Falling Mist Waterfall at Mount Kurokami in Shimotsuke Province เป็นหนึ่งในภาพชุดน้ำตกตามจังหวัดต่างๆ อันเป็นผลงานสร้างชื่อเสียงอีกชุดหนึ่งของโฮะคุไซพอๆ กับชุดภูเขาฟูจิ เราจะได้เห็นเทคนิคการใช้สีปรัสเซียนบลูส์ในการขับให้น้ำลอยขึ้นมา โดยที่ยังคงสัดส่วนและมุมมองที่ถูกต้องของคนที่อยู่เหนือน้ำตกและใต้น้ำตก

1833-1835 แสดงภาพนักรบปราบปิศาจ นอกจากลายเส้นที่คมชัดลงรายละเอียดและสีสันมากมายแล้ว ขอให้สังเกตวิธีเขียนให้ตัวละครเต็มกรอบทุกด้านชวนให้รู้สึกอึดอัด คับขัน และเป็นอันตราย

1814-1878 ภาพบางส่วนจาก Hokusai Manga แสดงอิริยาบถต่างๆ ของตัวการ์ตูน!