ดาราศาสตร์ในคัมภีร์กุรอาน (จบ) การขยายตัวของจักรวาล/มุมมุสลิม จรัญ มะลูลีม

จรัญ มะลูลีม

มุมมุสลิม

จรัญ มะลูลีม

 

ดาราศาสตร์ในคัมภีร์กุรอาน (จบ)

การขยายตัวของจักรวาล

 

การขยายตัวของจักรวาลเป็นการค้นพบที่น่าตื่นเต้นที่สุดของวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ทุกวันนี้ เป็นแนวความคิดที่สร้างขึ้นอย่างมั่นคงและเป็นที่ถกเถียงกันในเรื่องวิธีที่มันเกิดขึ้น

ขั้นแรก มันถูกแนะขึ้นโดยทฤษฎีสัมพันธภาพและได้รับการสนับสนุนโดยวิชาฟิสิกส์ในการตรวจตราดูเงาของกาแล็กซี่ซึ่งแยกออกเป็นสีการเคลื่อนไหวเป็นระยะๆ ไปทางส่วนที่เป็นสีแดงของสีต่างๆ ของมันนั้นอาจอธิบายได้โดยการวัดระยะทางจากหมู่ดวงดาว (กาแล็กซี่) หนึ่งไปยังอีกหมู่หนึ่ง

ดังนั้น ขนาดของจักรวาลอาจจะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ และการเพิ่มขึ้นนี้จะมากขึ้นเมื่อกาแล็กซี่อยูห่างจากเรามากขึ้น ในระยะที่มีการขยายตัวเรื่อยๆ นี้ความเร็วที่เทหวัตถุในท้องฟ้าเหล่านี้เคลื่อนไปอาจจะเพิ่มจากเศษส่วนของความเร็วของแสงไปเป็นความเร็วที่เร็วกว่านั้น

บางทีโองการต่อไปนี้ของกุรอาน (ซูเราะฮ์ที่ 51 โองการที่ 47) ซึ่งพระผู้เป็นเจ้าตรัสอาจจะเทียบได้กับความคิดสมัยใหม่ “ฟากฟ้านั้นเราได้สร้างมันขึ้นด้วยอำนาจ แน่แท้เรากำลังขยายมันออก”

คำว่า “ฟากฟ้า” คือคำแปลจากคำภาษาอาหรับว่า สะมาอ์ และนี้หมายถึงโลกที่อยู่นอกโลกของเรา

“เรากำลังขยายมันออก” คือคำแปลของคำว่ามุสิอูนะ ซึ่งเป็น present participle (คำกริยาที่เติม ing เพื่อให้เป็นคุณศัพท์) และเป็นพหูพจน์ของคำกริยาซึ่งหมายถึง “ทำให้กว้างขึ้น มีที่ว่างมากขึ้น ยึดออกขยายออก”

นักแปลบางคนที่ไม่สามารถจับความหมายนี้ได้ ได้ให้คำแปลที่ผิด เช่น แปลว่า “เราให้อย่างเอื้อเฟื้อ” (R.Blachere) คนอื่นๆ เข้าใจถึงความหมายแต่ไม่ใคร่กล้าแปล เช่น ฮามิดุลลอฮ์ในบทแปลกุรอานได้พูดถึงการขยายฟากฟ้าและอวกาศออกไป แต่ก็ใส่เครื่องหมายคำถามไว้

นอกจากนั้น ยังมีผู้ที่มีความคิดเห็นด้านวิทยาศาสตร์อย่างถูกต้องเป็นเครื่องมือในการอรรถาธิบายก็ได้ให้ความหมายที่กล่าวไว้ ณ ที่นี้ นี้เป็นความจริงในกรณีของมุนตะกั้บ (Muntakab) อันเป็นหนังสืออรรถาธิบายซึ่งรวบรวมโดยสภาสูงสุดในกิจการอิสลาม (Supreme Council for Islamic Affairs), กรุงไคโรซึ่งกล่าวถึงการขยายออกของจักรวาลด้วยคำที่ไม่คลุมเครือเลย

 

การพิชิตอวกาศ

จากทรรศนะเช่นนี้ เราจึงควรเอาใจใส่ต่อโองการกุรอาน 3 โองการอย่างเต็มที่ โองการหนึ่งกล่าวถึงสิ่งที่มนุษย์ควรทำให้สำเร็จและจะทำสำเร็จในวงการนี้โดยไม่มีร่องรอยของความคลุมเครือ อีกสองโองการนั้นพระผู้เป็นเจ้ากล่าวถึงผู้ไม่ศรัทธาในนครมักกะฮ์ว่าพวกเขาจะแปลกใจเพียงไรถ้าพวกเขาสามารถจะยกตัวเองขึ้นไปยังฟากฟ้าได้ พระองค์ตรัสพาดพิงถึงสมมุติฐานซึ่งจะไม่มีใครรู้ว่าเป็นจริงจนกระทั่งในภายหลัง

โองการแรกของโองการเหล่านี้คือซูเราะฮ์ที่ 55 โองการที่ 33 “โอ้ กลุ่มญิน และมนุษย์เอ๋ย ถ้าพวกเจ้าสามารถแทรกทะลุขอบเขตของฟากฟ้าและผืนแผ่นดินได้ก็จงแทรกทะลุไปเถิด! พวกเจ้าจะไม่แทรกทะลุมันไปได้เว้นแต่ด้วยอำนาจ”

คำแปลนี้จำเป็นต้องมีคำอธิบายบ้างดังนี้

ก) คำว่า “ถ้า” ที่ใช้ในภาษาอังกฤษแสดงสภาพที่ขึ้นอยู่กับความเป็นไปได้และเป็นได้ทั้งสมมุติที่ทำได้สำเร็จหรือทำไม่สำเร็จก็ได้ ภาษาอาหรับเป็นภาษาที่สามารถนำเอานวลภาษา (nuance) ใส่เข้าไปในสภาพที่แสดงออกมาอย่างชัดแจ้งกว่ามาก

มีคำคำหนึ่งที่แสดงถึงความเป็นไปได้คือคำว่าอิซา อีกคำหนึ่งที่แสดงถึงสมมติฐานที่สามารถทำให้บรรลุผลไม่ได้คือคำว่าเลา โองการที่เรากล่าวถึงนี้มีคำว่าอินอยู่จึงหมายถึงสันนิษฐานที่บรรลุผลได้

เพราะฉะนั้น กุรอานจึงแนะถึงความเป็นไปได้ของการทำให้เป็นจริงได้อย่างแน่นอน ความแตกต่างอันเป็นนัยๆ ในภาษานี้จะช่วยในการตีความที่มีลักษณะลึกลับอย่างแท้จริงไม่ให้แปลผิดๆ ได้อย่างที่คนบางคนแปลโองการนี้ผิดไป

ข) พระผู้เป็นเจ้าตรัสแก่ญินและมนุษย์ ไม่ได้ตรัสกับคนในนิยายเปรียบเทียบแต่อย่างใด

ค) คำว่า “แทรกทะลุ” นั้นแปลมาจากคำกริยา นะฟะซะ ซึ่งตามด้วยคำบุรพบท บิน ตามปทานุกรมของ Kazimirski นั้น วลีนี้หมายถึง “การทะลุเข้าไปและโผล่ออกมาอีกด้านหนึ่งของสิ่งหนึ่ง” (เช่น ลูกธนูแทงทะลุผ้าแล้วโผล่ออกมาอีกด้านหนึ่ง)

ดังนั้น จึงหมายถึงการทะลุไปลึกๆ และออกมาที่ปลายอีกข้างหนึ่งเข้าไปในขอบเขตที่กล่าวถึง

ง) อำนาจ (ซุลฏอน) ที่คนเหล่านี้จะมีเพื่อทำการสิ่งนี้ให้สำเร็จได้ดูเหมือนจะมาจากพระผู้ทรงอานุภาพยิ่ง โองการนี้ตามมาด้วยคำเชิญชวนให้รู้ถึงการอวยพรของพระผู้เป็นเจ้า กลายเป็นเรื่องของซูเราะฮ์ทั้งหมดซึ่งมีชื่อว่า “ผู้ทรงกรุณาปรานี”

โองการนี้ชี้ให้เห็นความเป็นไปได้ที่ในวันหนึ่งมนุษย์จะสามารถบรรลุ ถึงสิ่งที่ในปัจจุบันนี้เราเรียกว่า “การพิชิตอวกาศ” (บางทีอาจไม่ใช่คำที่เหมาะสมนัก) เราต้องจำไว้ด้วยว่าข้อความในกุรอานมิได้ทำนายถึงการทะลุไปในขอบเขตของฟากฟ้าเท่านั้น แต่ทำนายถึงการแทรกทะลุโลกไปด้วย คือการสำรวจความลึกของโลกนั่นเอง

2) โองการอื่นๆ อีกสองโองการคือโองการที่ 14 และ 15 ซูเราะฮ์ที่ 15 พระผู้เป็นเจ้ากำลังตรัสถึงผู้ไม่มีศรัทธาในนครมักกะฮ์ ดังที่ข้อความในซูเราะฮ์นี้ ตอนนี้กล่าวไว้ว่า

“ถึงแม้ว่าเราจะได้เปิดประตูสู่สวรรค์ให้แก่พวกเขาและพวกเขาต้องขึ้นต่อไปในที่นั้น พวกเขาก็จะกล่าวว่า : สายตาของเราสับสนเหมือนกำลังเมา เปล่าเลยเราคือผู้คนที่เคลิบเคลิ้มไป”

ถ้อยคำข้างบนนี้แสดงถึงความแปลกประหลาดใจในภาพที่น่าทึ่งแตกต่างจากสิ่งใดๆ ที่มนุษย์สามารถจินตนาการได้

ประโยคนี้ใช้คำว่า เรา ซึ่งแสดงถึงสมมุติฐานซึ่งไม่อาจเป็นจริงได้ตราบเท่าที่มันเกี่ยวกับผู้คนที่ถูกกล่าวถึงในโองการเหล่านี้

เพราะฉะนั้น เมื่อพูดถึงการพิชิตอวกาศ เราก็มีข้อความสองข้อความในกุรอาน ข้อความหนึ่งกล่าวถึงสิ่งที่ในวันหนึ่งจะกลายเป็นสิ่งที่เป็นจริงได้เนื่องจากพลังของสติปัญญาและความคล่องแคล่วที่พระผู้เป็นเจ้าจะประทานให้แก่มนุษย์ และอีกข้อความหนึ่งซึ่งบรรยายถึงเหตุการณ์ที่บรรดาผู้ไม่ศรัทธาในนครมักกะฮ์จะไม่มีวันได้เห็น

เนื่องจากลักษณะของเงื่อนไขที่ไม่มีวันเป็นจริงได้ของมัน อย่างไรก็ดีคนอื่นๆ อาจแลเห็นเหตุการณ์นั้นได้ดังที่กล่าวไว้ในโองการแรกที่ยกมานี้ บรรยายถึงปฏิกิริยาของมนุษย์ที่มีต่อภาพที่ไม่คาดว่าจะได้เห็นซึ่งนักท่องเที่ยวในอวกาศจะได้เห็นด้วยสายตาที่สับสนเหมือนกำลังเมามาย ด้วยความรู้สึกทีเคลิบเคลิ้ม…

นี่แหละคือสิ่งที่นักท่องเที่ยวไปในอวกาศได้ประสบในการผจญภัยที่น่าทึ่งนับตั้งแต่ยานอวกาศลำแรกของมนุษย์เคลื่อนไปในปี 1961 (พ.ศ.2504)

เป็นที่รู้กันถึงข้อเท็จจริงที่ว่าเมื่อเราไปอยู่เหนือบรรยากาศของโลกเมื่อไร ท้องฟ้าก็จะไม่มีสีสันเป็นสีฟ้าเหมือนกับที่เราแลเห็นจากโลกซึ่งเป็นผลของปรากฏการณ์แห่งการดูดซึมแสงของดวงอาทิตย์เข้ามาสู่ชั้นต่างๆ ของบรรยากาศ คนที่ไปอยู่ในอวกาศเหนือบรรยากาศของโลกจะแลเห็นท้องฟ้าเป็นสีดำและโลกดูเหมือนจะล้อมไปด้วยวงแสงที่มีสีออกฟ้าๆ อันเกิดจากปรากฏการณ์เดียวกันของการที่บรรยากาศของโลกดูดซับเอาแสงสว่างไว้

อย่างไรก็ดี ดวงจันทร์ไม่มีบรรยากาศ ดังนั้น มันจึงปรากฏในสีสันที่แท้จริงของมันเองทาบอยู่พื้นหลังสีดำของท้องฟ้า เพราะฉะนั้น มันจึงเป็นภาพที่ใหม่อย่างแท้จริงซึ่งปรากฏแก่ตาของคนที่อยู่ในอวกาศ ภาพถ่ายของภาพนี้เป็นที่รู้จักกันดีของมนุษย์ในสมัยปัจจุบันนี้

ณ ที่นี้เป็นการยากที่ใครจะไม่รู้สึกประทับใจเมื่อได้เปรียบเทียบข้อความในกุรอานกับข้อมูลของวิทยาศาสตร์สมัยใหม่โดยคำพูดที่คนที่มีชีวิตอยู่เมื่อสมัยสิบสี่ศตวรรษ (1443 ปี) ล่วงมาแล้วไม่สามารถจะให้เหตุผลได้