ธุรกิจพอดีคำ : “ภูเขาน้ำแข็ง”

สามสี่ปีที่ผ่านมา

ตั้งแต่กลับมาจาก “ต่างประเทศ”

ผมเองทำงานองค์กรใหญ่มาโดยตลอด

ไม่ว่าจะเป็นงานด้าน “นวัตกรรม”

หรือด้าน “กลยุทธ์ขององค์กร”

ธุรกิจจะก้าวไปทางไหน จะทำอย่างไร

ต่างๆ นานา

ยอมรับครับว่า หลายๆ ครั้งก็มีเหนื่อย มีท้อ มีคิดอยากจะ “ลาออก” ก็มี

เมื่อสำรวจตัวเองก็พบว่า ความคิดอยากจะลาออกนั้น โผล่ขึ้นมาในหัว ในบางสถานการณ์ บางสถานที่ ซ้ำๆ กันครับ

หนึ่ง เวลานั่งอยู่ในรถติด ตอนเย็นหลังเลิกงาน อยากกลับบ้านไปหาลูก แต่ทำอะไรไม่ได้

สอง เวลาคุยกับ “หัวหน้า” พยายามเสนอความคิด แล้วถูกปฏิเสธ แบบไม่มีเหตุผล

สาม เวลาไปกินข้าวกับ “เพื่อนป๋อง”

ช่วงเกือบปีที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสเข้าไปช่วยก่อตั้งหน่วยงานนวัตกรรมใหม่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

มีชื่อว่า “CU Innovation Hub”

สิ่งหนึ่งที่ผมตั้งธงเอาไว้ตั้งแต่แรกที่เข้ามาช่วยงานมหาวิทยาลัย ก็คือบอกกับตัวเองว่า ไม่ว่าระบบการบริหารจัดการจะมีปัญหามากเพียงใด ต้องสู้กับเรื่อง “ราชการ” ที่ไม่มีประสิทธิภาพ มากแค่ไหน

ผมจะผลักดันการเรียนรู้เรื่อง “ความคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking)” เข้าไปในหลักสูตรมหาวิทยาลัยให้ได้

เชื่อว่าเรื่อง “ทัศนคติของนวัตกร” เป็นเรื่องที่นิสิตและภาคธุรกิจต้องการ

เราสามารถจะปิดช่องว่างตรงนี้ได้ ไม่มากก็น้อย

แต่ด้วยตัวเองที่จบเพียงแค่ “ปริญญาโท”

ไม่สามารถจะมีคำนำหน้าว่า “ดร.” อย่างใครเขา

ก็ถือว่าเป็น “ก้างชิ้นโต” ชิ้นแรกๆ ที่ทำให้ท้อใจเสียเหลือเกิน กับความ “ตั้งใจดี” ที่อยากจะสอนอะไรใหม่ๆ ให้กับนิสิต

เกือบปีผ่านไป ด้วยการสนับสนุนของทีมงานจุฬาฯ เลือดใหม่หลายๆ ภาคส่วน

วิชา “Design Thinking for Business Innovation” ก็ได้เปิดอย่างเป็นทางการแล้วในเทอมต้น ปีการศึกษานี้

รหัสวิชา 0295125 วิชาศึกษาทั่วไป เปิดให้นิสิตทุกคณะได้ลงกัน

จากใบสมัครที่ส่งเข้ามากว่า 200 ใบ ที่ถามเพียงคำถามเดียวว่า “ทำไมถึงอยากเรียน”

ไม่สนใจ “เกรด” ใดๆ ทั้งสิ้น

คัดเลือกเหลือ 30 คน จาก 12 คณะ เรียนรวมกันตั้งแต่ปี 1 ถึงปี 4

วิศวะ บัญชี เศรษฐศาสตร์ นิเทศ นิติ ครุศาสตร์ จิตวิทยา วิทยาศาสตร์ อักษร ศิลปศาสตร์ สถาปัตย์ ฯลฯ

ตอนนี้ผมก็พูดได้เต็มปากว่า มี “นักเรียน” เป็นของตัวเองกับเขามั่งแล้ว

อย่างที่หลายท่านพอทราบกันดี หากติดตามอ่านคอลัมน์นี้มาสักพัก

“นวัตกรรม” นั้นเริ่มจากการเข้าใจผู้ใช้งานก่อน

ผมเองมีเพื่อนๆ ที่เป็น “อาจารย์รุ่นใหม่ไฟแรง” ในจุฬาฯ หลายคน

เรียนจบนอก ไปทำงานบริษัทได้เงินเยอะๆ หลักแสน ก็สามารถทำได้

แต่อยากจะ “สร้างชาติ” กัน เลือกมาเป็น “อาจารย์”

นับถือน้ำใจพวกมันมากๆ

แต่ไม่นานก็จะได้ยินเสียง “บ่น” ของพวกมันกับเรื่องของ “ระบบบริหารจัดการในมหาวิทยาลัย” อยู่บ่อยๆ

ผมเลยอยากให้ “นักเรียน” ของผมได้ทำความเข้าใจ “ชีวิต” ของอาจารย์พวกเขาดูสักที

เลยเชิญอาจารย์สองท่านมาร่วมพูดคุยกันสบายๆ ในห้องเรียนของเราเอง

ขออนุญาตไม่เอ่ยนาม เนื่องจากเนื้อหาบางส่วนค่อนข้าง “พีก” มาก

โดยสรุปคือ การเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยนั้น มีงานมากกว่า “การสอน”

มันมีเรื่องการทำ “วิจัย” เพื่อหน้าตามหาวิทยาลัย

การทำงาน “ธุรการ” ต่างๆ

เชื่อมั้ยครับ ทำ “ใบปลิว” เพื่อประชาสัมพันธ์คลาสเรียนของตัวเอง ยังต้องทำเองเลย

ยากเย็นแสนเข็ญขนาดนี้

แล้วอะไรล่ะ ทำให้พวกเขายังทำ “สิ่งนี้” อยู่

หลังจากจบคลาส ผมก็ให้การบ้านน้องๆ ไป “ติดตาม” ชีวิตอาจารย์สักหนึ่งคนเป็นเวลาหนึ่งวัน

และนี่คือ “ข้อความ” บางส่วนที่น้องๆ ได้เขียนลงไปบน Facebook ของตัวเอง

“การพูดคุยกับอาจารย์ ทำให้เราเข้าใจอะไรมากขึ้น อย่างแรกคืองานอาจารย์ไม่ได้มีแค่สอน!

อาจารย์แต่ละคนต้องมีสอน, ทำวิจัย, งานบริการวิชาการและงานบริหาร

ทุกคนเริ่มรู้สึกว่าอาชีพอาจารย์ไม่ใช่ง่ายๆ เลยใช่มั้ยครับ

งาน 4 อย่างนี้ บางวันทำให้อาจารย์ไม่มีเวลาทานข้าวด้วยซ้ำ แถมบางอย่างยังต้องใช้เวลานอกเวลาทำงานมาทำด้วย

งานพวกนี้ยังไม่รวมถึงความเหนื่อยจากการเจอระบบ ข้อบังคับในมหาวิทาลัย หรือปัญหาจากการดีลงานกับคน

ทุกคนเริ่มเห็นฐานของ Iceberg ในอาชีพอาจารย์กันมากขึ้นรึยังครับ

มันไม่ใช่แค่ยอดที่เราเห็นว่า อาจารย์=สอนอย่างเดียวแล้วใช่มั้ยครับ

ชีวิตคนคนหนึ่งไม่ได้มีแค่ด้านที่เราเห็นแค่นั้น อยากเข้าใจให้มากขึ้น ก็แค่เดินเข้าไปถาม ไม่ต้องคิดเอาเองครับ 555”

“พอได้ไปอยู่ด้วยทั้งวันก็ได้เห็นหลายๆ มุมที่ปกติไม่เคยได้เห็นที่มหา”ลัย

เช่น อาจารย์เป็นคนที่เรียบง่าย และออกแนวลุยๆ ด้วยซ้ำ

เช่น การที่สะพายเป้ใบใหญ่ๆ ขึ้น BTS เดินทางไปสอน”

“อาจารย์ที่สอนเราในห้องเรียนอยู่ทุกวี่ทุกวัน มีอีกมิติหนึ่งของชีวิตที่เราไม่เคยรู้ คนที่เราเดินผ่านมาเจอในชีวิตโดยบังเอิญ ต่างมีเรื่องราวของอดีต อนาคต ความมุ่งมั่นและความฝัน

มันเป็นเรื่องที่เราไม่เคยได้ยินได้ฟัง อาจด้วยเหตุผลอะไรก็ตามแต่ แต่ก็น่าคิดว่าหากเรายินยอมเปิดใจและมีโอกาสได้รับฟังกันมากขึ้น ให้เวลากันมากขึ้น ในหัวข้อที่โลกอาจไม่ได้ให้ความสนใจ ความเข้าใจอาจจะเกิดขึ้นได้ในทั่วทุกมุมของโลกใบนี้”

“เราเห็นว่าอาจารย์ก็คือคนธรรมดาคนหนึ่งอะ เค้าก็ไม่ได้สูงเกินกว่าเราจะเอื้อมถึง แบบเวลาสงสัยอะไรต้องปีนบันไดขึ้นไปถาม แต่เรานี่แหละคิดไปเอง อาจารย์อยากคุยกับเด็กนะ อาจารย์ไม่อยากให้มีชนชั้น เพื่อให้เวลาเด็กมีปัญหา เด็กก็จะได้กล้าเข้าหาอาจารย์”

“ทำให้รู้ว่าจริงๆ แล้วอาจารย์มีภาระหน้าที่ที่มากกว่าที่คิดไว้ซะอีก ถือได้ว่างานค่อนข้างรัดตัว เป็นอาชีพที่ความกดดันค่อนข้างสูง มองว่าอาจารย์เป็นคนธรรมดาคนหนึ่งเหมือนๆ กับเรา มีความเครียด มีปัญหาในการทำงานและมีงานอดิเรก lifestyle ที่คล้ายๆ เราเหมือนกัน”

“สิ่งหนึ่งที่เราสังเกตได้จากอาจารย์ทั้ง 3 ท่านคือ ทุกคนล้วนมีชีวิตที่ขับเคลื่อนด้วยพลังและความตั้งใจบางอย่าง ที่จะทำให้อะไรในสังคมดีขึ้นด้วยการส่งมอบความรู้ และมันมีพลังมากพอที่จะก้าวพ้นข้อจำกัดต่างๆ ซึ่งคิดว่าถ้าใครได้ฟังเรื่องราวเหล่านี้ ก็น่าจะย้อนกลับมาคิดเหมือนๆ กันว่าเราควรจะตั้งใจเรียนจริงๆ มีคนที่เสียสละอะไรบางอย่างในชีวิตเพราะอยากมาทำหน้าที่ในจุดๆ นี้จริง”

เมื่อ “นวัตกร” เริ่มทำความเข้าใจกับ “ผู้ใช้งาน” มากขึ้น

“นวัตกรรม” ต่างๆ คงจะตามมาได้ไม่ยากเย็นนัก

จบคลาสนี้

ผมเดินออกจากจุฬาฯ ออกมาขึ้น BTS

นึกถึง “ไอ้ป๋อง” ขึ้นมา ที่เจอทีไรทำให้อยาก “ลาออก” จากงานที่บริษัททุกที

ไอ้ป๋อง อาจารย์มหาวิทยาลัย ที่ตาเป็นประกาย เวลาพูดถึง “ลูกศิษย์” ที่เติบโตขึ้น

กูเข้าใจมึงละ