เมื่ออุ๊งอิ๊งหายใจรดต้นคอประยุทธ์/ชกคาดเชือก วงค์ ตาวัน

วงค์ ตาวัน

ชกคาดเชือก

วงค์ ตาวัน

 

เมื่ออุ๊งอิ๊งหายใจรดต้นคอประยุทธ์

 

ปลายเดือนกรกฎาคมนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะต้องเผชิญมรสุมทางการเมืองครั้งใหญ่อีกครั้ง ในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ และรัฐมนตรี รวม 11 ราย ซึ่งเป็นการอภิปรายแบบมีลงมติ ที่เคยสร้างความหวาดเสียวมาแล้ว เมื่อตอนเดือนกันยายนปีที่แล้ว

ที่สำคัญเพราะการลงมติไม่ไว้วางใจหนนั้น ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ กับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ถึงจุดแตกหัก แล้วยังประสานไม่ได้จนบัดนี้ แถมยังเป็นรอยร้าวที่มีความร้อนระอุคุกรุ่นอยู่ตลอดเวลา

แล้วล่าสุด ร.อ.ธรรมนัสก็เริ่มแสดงท่าทีชัดเจนแล้วว่า ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจปลายเดือนกรกฎาคมนี้ ตนเองและพรรคเศรษฐกิจไทยน่าจะไม่สามารถยกมือให้รัฐมนตรีบางรายที่จะโดนข้อกล่าวหาเรื่องทุจริต เพราะหากไปสนับสนุนที่มีเรื่องทุจริตแล้ว ประชาชนเขาจะเลือกพวกตนกลับเข้ามาได้อย่างไรในสมัยหน้า

แถมยังบอกทำนองว่า ถ้ารัฐมนตรีบางคนไม่สามารถสอบผ่านได้ ก็จะกระทบถึงนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาล จะต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วย

เท่ากับว่า ร.อ.ธรรมนัสได้ประกาศท่าทีต่อการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ และรัฐมนตรีในปลายกรกฎาคมนี้ เสมือนสถานการณ์บ้านเมืองกำลังจะวนกลับมาใกล้เคียงกับเหตุการณ์เมื่อกันยายน 2564 นั่นเอง

โดยเหตุการณ์อภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์และ 5 รัฐมนตรี เมื่อปลายสิงหาคมต่อเนื่องถึงต้นกันยายน 2564 นั้น เป็นช่วงที่วิกฤตโควิดกำลังระบาดหนัก และรัฐบาลถูกวิจารณ์หนักในการจัดหาวัคซีนมาล่าช้า เพราะแทงม้าตัวเดียว

สถานการณ์เวลานั้น รัฐบาลใช้มาตรการล็อกดาวน์ ทำให้ธุรกิจหยุดชะงักไปทั้งหมด กระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในวงกว้าง ทั้งเห็นกันว่ารัฐบาลจัดหาวัคซีนมาล่าช้าจริงๆ จึงมองกันว่าเป็นเหตุให้บ้านเราหยุดการระบาดได้ไม่เร็วพอ ทำให้เศรษฐกิจก็ไม่สามารถฟื้นกลับมาได้

เสียงก่นด่ารัฐบาลระงมไปทั่ว ทำให้ ส.ส.พลังประชารัฐกลุ่มหนึ่งเริ่มหันหน้ามาพูดคุยกันว่า เพราะเป็นพรรคหลักของรัฐบาล แต่เอาเข้าจริงๆ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดหาวัคซีนเลย กลับโดนประชาชนวิจารณ์อย่างหนัก ทำให้ ส.ส.แทบเข้าหาชาวบ้านไม่ติด

จึงเกิดแนวคิด โหวตอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบพลิกการเมือง จะเป็นการทำให้ ส.ส.พลังประชารัฐกลุ่มนี้กลายเป็นฮีโร่ ร่วมล้มรัฐบาลเพื่อเปลี่ยนแปลงการเมือง เพื่อแก้ปัญหาวัคซีนโควิดและฟื้นเศรษฐกิจ

ยังดีที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ โดดลงมาเบรก ร.อ.ธรรมนัสด้วยตัวเอง ทำให้แผนการร่วมโหวตไม่ไว้วางใจรัฐาลต้องล้มเลิกไป

แต่แล้ว พ ล.อ.ประยุทธ์กลับไม่จบไปด้วย ทั้งที่ ร.อ.ธรรมนัสยอมจบแล้ว

โดยไปสั่งปลด ร.อ.ธรรมนัสพ้นจากรัฐบาล นั่นเองจึงเป็นจุดแตกร้าวอย่างยากจะกลับมาคุยกันได้

 

ความร้าวฉานยิ่งบานปลายไม่หยุด เมื่อต่อมา ร.อ.ธรรมนัสยกทีม ส.ส.ออกจากพลังประชารัฐ มาเข้าพรรคใหม่คือ เศรษฐกิจไทย โดยมีสถานะเป็นพรรคอิสระ ไม่ใช่ฝ่ายค้าน แต่จะสนับสนุนรัฐบาลเป็นเรื่องๆ ไป

แม้จะเกิดกระแสข่าวในเวลาต่อมาว่า พล.อ.ประวิตรได้เกลี้ยกล่อมขอให้ ร.อ.ธรรมนัสกลับคืนพลังประชารัฐอีกรอบ ในช่วงก่อนโหวตร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ และจะต่อด้วยการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพื่อให้เกิดภาพที่ดีในทางการเมือง เพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์สบายอกสบายใจ แต่สุดท้าย ร.อ.ธรรมนัสก็ไม่ยอมสลายพรรคเศรษฐกิจไทย

จนกระทั่งกำลังจะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์และรัฐมนตรี รวม 11 คน ในปลายเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งทุกฝ่ายจับตาไปยัง พล.อ.ประวิตร หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ คนเดียวที่จะหยุด ร.อ.ธรรมนัสได้

ปรากฏว่า ร.อ.ธรรมนัสประกาศโหวตสนับสนุนบิ๊กป้อมที่ตนเองเคารพรักอย่างเต็มที่ แต่คนอื่นๆ ขอฟังเหตุผลในการอภิปรายและฟังคำชี้แจงว่ามีเหตุผลเพียงพอหรือไม่ ก่อนลงเอยจะประกาศว่า รัฐมนตรีบางคนน่าจะไม่สามารถยกมือให้ได้

เป็นสัญญาณเขย่ารัฐบาลอย่างรุนแรง ซึ่งต้องติดตามกันต่อไปว่าจะสามารถเจรจาต่อรองจนคลี่คลายได้หรือไม่

อะไรจะเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมนี้ จึงต้องจับตาแบบห้ามกะพริบ

ขณะเดียวกันสำหรับ พล.อ.ประยุทธ์เอง ไม่ใช่แค่ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ก่อตัวเป็นมรสุมลูกใหญ่เท่านั้น

อีกมรสุมที่เริ่มก่อตัวรออยู่อีกลูกก็คือ การตีความวาระดำรงตำแหน่งนายกฯ ครบ 8 ปี

เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ครั้งแรกหลังการรัฐประหาร โดยได้รับโปรดเกล้าฯ เมื่อ 24 สิงหาคม 2557 จึงจะมีการยื่นตีความว่า พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นนายกฯ ครบ 8 ปี ในวันที่ 23 สิงหาคม 2565 นี้

นั่นเท่ากับว่า มรสุมอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบลงมติ จะเข้าโถมถล่มใส่ พล.อ.ประยุทธ์ในปลายเดือนกรกฎาคม แล้วจากนั้นในสิงหาคมก็จะเผชิญกับมรสุมลูกต่อไปคือ การตีความ 8 ปีนายกรัฐมนตรี

เป็นมรสุมที่เรียงหน้าเข้าใส่ ในสถานการณ์ที่ประชาชนกำลังไม่พึงพอใจรัฐบาลอย่างสูง เนื่องจากไม่สามารถแก้ไขราคาน้ำมันได้ ทำให้สินค้าราคาแพงกันไปทั้งแผ่นดิน

เป็นช่วงขาลงของรัฐบาล!

 

ขณะที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์กำลังอ่วมอรทัย ก็มีสัญญาณจากประชาชนที่แสดงออกในทำนอง ต้องการการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ไม่ว่าจะผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม ซึ่งเลือกผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ แบบแลนด์สไลด์

ในฐานะผู้ว่าฯ ที่อยู่ฝ่ายประชาธิปไตย ยืนตรงข้ามกับผู้สมัครสายตรง พล.อ.ประยุทธ์ สาย กปปส. สายพันธมิตรเสื้อเหลือง

ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อเร็วๆ นี้มีผลสำรวจความเห็นประชาชนต่อคนที่ควรเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งมาอันดับ 1 คือ อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร ซึ่งเพิ่งเปิดตัวเข้ามามีบทบาทในพรรคเพื่อไทยไม่นานนัก

เหตุผลของประชาชนที่เห็นว่าอุ๊งอิ๊งเหมาะสมก็ชัดเจนว่า ต้องการให้คนรุ่นใหม่เข้ามาบริหารประเทศ อีกทั้งเชื่อมั่นในความเป็นลูกสาวทักษิณ และเชื่อในนโยบายของพรรคเพื่อไทยว่าทำได้จริง

แถมบุคคลที่ประชาชนเลือกถัดมาก็คือ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แห่งพรรคก้าวไกล เหตุผลเดียวกันคือ ต้องการให้คนรุ่นใหม่มาบริหารประเทศ

ทั้งท่าทีของคนเมืองหลวงที่แห่กันไปเลือกผู้ว่าฯ ชัชชาติ

ทั้งท่าทีผ่านโพล ที่เลือกอุ๊งอิ๊งว่าเหมาะจะเป็นนายกรัฐมนตรีในฐานะคนรุ่นใหม่

จึงเป็นกระแสสังคมไทยที่ พล.อ.ประยุทธ์และเครือข่ายอนุรักษนิยมการเมืองควรตระหนักให้ดี!

ขณะที่กระแสของ พล.อ.ประยุทธ์เริ่มถูกปฏิเสธหนักมากขึ้น โดยเฉพาะในแง่ที่ว่า ประเทศกำลังเผชิญวิกฤตใหม่ๆ มากมาย โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ ควรหมดเวลาของคณะนายทหารที่เข้ายึดอำนาจเมื่อ 8 ปีที่แล้ว

ควรเป็นเวลาของคนทันสมัยทันโลก ฉับไวในด้านเศรษฐกิจ

ยิ่งพอเอ่ยว่าอยู่มา 8 ปีแล้ว แถมกำลังจะโดนยื่นตีความว่าเป็นนายกฯ มาครบ 8 ปีแล้ว

ยิ่งทำให้ทั้งสังคมรู้สึกว่า พล.อ.ประยุทธ์ควรหมดเวลาได้แล้ว

ช่วงขาลง ช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์เริ่มแผ่ว

กลับเป็นช่วงที่คนรุ่นใหม่อย่างอุ๊งอิ๊งมาแรง ชนิดกำลังหายใจจ่อรดต้นคอ พล.อ.ประยุทธ์อยู่นั่นเอง!