คลี่ปมเพลิงวอดสำเพ็ง ดับ 2 ศพ-เสียหาย 30 ล้าน หม้อแปลงชอร์ต-ลาม ชาวบ้านฟ้องแพ่ง กฟน./อาชญากรรม อาชญา ข่าวสด

ชัชชาติรุดตรวจ

อาชญากรรม

อาชญา ข่าวสด

 

คลี่ปมเพลิงวอดสำเพ็ง

ดับ 2 ศพ-เสียหาย 30 ล้าน

หม้อแปลงชอร์ต-ลาม

ชาวบ้านฟ้องแพ่ง กฟน.

 

นับเป็นเรื่องความเสียหายที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นจริงๆ สำหรับเหตุการณ์ไฟไหม้สำเพ็ง จนมีผู้เสียชีวิตถึง 2 ราย บาดเจ็บนับสิบคน

ซึ่งยังไม่รวมกับความเสียหายของบ้านเรือน อาคารพาณิชย์ในบริเวณดังกล่าวเป็นจำนวนมาก

เนื่องจากสาเหตุของการเกิดเพลิงไหม้ครั้งนี้ ไม่ได้เกิดจากความบกพร่องผิดพลาดของเจ้าของอาคาร แต่กลับเกิดจากความผิดปกติของหม้อแปลงการไฟฟ้านครหลวง ที่เกิดปะทุประกายไฟขึ้น เมื่อเจอกับเชื้อเพลิงชั้นดีอย่างสายสื่อสารที่รกรุงรัง กลายเป็นต้นเพลิงต้นเหตุของความสูญเสียครั้งนี้

แน่นอนว่าเรื่องการชดเชยเยียวยา หรือการดำเนินคดีก็ต้องดำเนินการต่อไปตามกฎหมาย

แต่อุทาหรณ์จากเรื่องนี้ก็ยังทำให้เกิดคำถามว่าสิ่งที่ประชาชนเรียกร้องการจัดระเบียบสายสื่อสารครั้งแล้วครั้งเล่า แต่กลับไม่มีการดำเนินการใดๆ แถมยังปล่อยปละละเลยจนเกิดความเสียหายถึงขั้นมีผู้เสียชีวิต

ใครกันจะเป็นผู้รับผิดชอบ หรือจะปล่อยทิ้งไว้ รอวันที่จะเกิดอุบัติเหตุซ้ำรอยขึ้นมาอีกครั้ง

ไหว้วอด2ศพ

เพลิงวอดสำเพ็ง-สังเวย 2 ศพ

เหตุการณ์เพลิงไหม้ระทึกครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 11.30 น. ของวันที่ 26 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยเจ้าหน้าที่รับแจ้งเหตุเพลิงไหม้ตลาดสำเพ็ง เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร บริเวณแยกคิคูย่า เปลวเพลิงลุกไหม้บริเวณปากซอยอย่างรุนแรง ไฟไหม้ลามอาคารบริเวณดังกล่าวเป็นอาคารพาณิชย์ 3 ชั้น ชื่อว่า บริษัท ราชวงศ์รุ่งเรือง จํากัด เลขที่ 157 ถนนราชวงศ์ แขวงจักรวรรดิ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร ประกอบกิจการขายกระเป๋า ผ้า ถุงพลาสติก ถุงกระดาษ

จากนั้นเพลิงลุกไหม้ลามเสียหายทั้งหมด 6 คูหา ขณะที่รถยนต์ที่จอดอยู่บริเวณใกล้เคียงเสียหายเช่นกัน

หลังรับแจ้งเหตุ เจ้าหน้าที่ดับเพลิงพร้อมกำลังอาสาสมัคร เร่งระดมฉีดน้ำเพื่อสกัดเพลิงไม่ให้ลุกลาม ต่อมาเมื่อเข้าตรวจสอบอาคารที่ถูกเพลิงไหม้ พบผู้เสียชีวิต 1 ราย บริเวณชั้น 1 ของอาคารพาณิชย์ 3 ชั้น โดยขณะนั้นที่เกิดเหตุยังมีไฟปะทุเป็นระยะ มีเสียงแตกและคล้ายโครงสร้างอาคารบีบอัด ทำให้ต้องถอยเจ้าหน้าที่ออกมาฉีดน้ำต่ออย่างระมัดระวัง กระทั่งช่วงบ่ายได้รับการยืนยันจากเจ้าหน้าที่กู้ภัยว่าพบร่างผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 1 ราย บริเวณทางขึ้นชั้น 2

โดยสภาพศพถูกพลาสติกที่มีเป็นจำนวนมาก หลอมละลายห่อหุ้มร่างเอาไว้ทั้งหมด คล้ายการเลี่ยมอัดกรอบพระเครื่อง เบื้องต้นจึงมอบร่างในสภาพดังกล่าวส่งให้แพทย์นิติเวช ร.พ.จุฬาฯ ดำเนินการชันสูตรพลิกศพอย่างละเอียดอีกครั้ง จนแน่ชัดสามารถระบุชื่อผู้เสียชีวิตทั้ง 2 ราย ประกอบด้วย น.ส.จิราพัช สุ่มมาก อายุ 52 ปี พนักงานแคชเชียร์ของร้านที่เกิดเพลิงไหม้ และนายเพชร เดือม อายุ 34 ปี สัญชาติพม่า ลูกจ้างของร้าน นอกจากนี้มีผู้บาดเจ็บทั้งหมด 11 ราย ทั้งเจ้าหน้าที่และประชาชน ถูกนำส่งโรงพยาบาลหัวเฉียว และโรงพยาบาลกลาง

สำหรับความเสียหายของทรัพย์สิน จากการตรวจสอบพบต้นเพลิงที่อาคารบริษัท ราชวงศ์รุ่งเรือง และลามไปยังอาคารพาณิชย์ 3 ชั้นที่อยู่ติดกัน จำนวน 5 คูหา ได้แก่ เลขที่ 157, 151, 153, 155 และ 159 และยังมีรถยนต์ที่จอดอยู่บริเวณที่เกิดเหตุได้รับความเสียหาย 3 คัน

คิดเป็นมูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาท

ตรวจสอบหม้อแปลง

แฉเหตุจากหม้อแปลงชำรุด

สําหรับสาเหตุการเกิดเพลิงไหม้ครั้งนี้ น.ส.อาทิตยา โชคกิจมนัสชัย ผอ.เขตสัมพันธวงศ์ ระบุว่า เบื้องต้นสาเหตุเกิดจากหม้อแปลงระเบิดจึงทำให้เกิดเหตุเพลิงไหม้ และมีลมแรงจึงทำให้เพลิงพัดลุกไหม้ไปยังอาคารข้างเคียง ประกอบกับมีถังแก๊สตั้งอยู่เพราะเป็นร้านขายอาหารตามสั่ง จึงทำให้เกิดเพลิงไหม้ขึ้น

ด้าน น.ส.จิตรา อัฐใจ อายุ 34 ปี ลูกจ้างร้านขายถุงพลาสติก ซึ่งหนีตายออกจากอาคารได้อย่างหวุดหวิด ให้การว่า ก่อนเกิดเหตุเมื่อเวลาประมาณ 11.00 น. มีเจ้าหน้าที่การไฟฟ้ามาตรวจสอบและซ่อมแซมสายไฟบริเวณดังกล่าว ซึ่งพาดขนานไปกับตัวอาคารบริเวณชั้น 2 ของร้านค้าในละแวกเดียวกัน

กระทั่งเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าเดินทางกลับไป ตนและผู้ค้าอีกหลายคนสังเกตเห็นว่าบริเวณสายไฟที่หน้าร้านตนเกิดเสียงดังคล้ายไฟชอร์ตกัน ทีแรกยังวิจารณ์กันอยู่ว่าเจ้าหน้าที่ไม่พันเก็บสายไฟให้เรียบร้อยหลังจากทำงานเสร็จหรือไม่ สักพักก็มีของเหลวไหลทะลักออกจากหม้อแปลงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ที่ติดตั้งอยู่บริเวณหน้าร้าน ก่อนจะมีเสียงระเบิดดังขึ้น 2 ครั้ง ทำให้ตนต้องรีบวิ่งข้ามถนนหนีตายไปอยู่ฝั่งตรงข้าม จากนั้นแสงเพลิงก็ลุกลามจากหม้อแปลงไฟฟ้าเข้าสู่ตัวอาคารอย่างรวดเร็ว

ขณะที่นายเกียรติศักดิ์ แซ่แต๊ เจ้าของอาคารที่ได้รับความเสียหาย ระบุว่า โชคดีที่วันเกิดเหตุร้านปิดบริการ ไม่เช่นนั้นทั้งตนและลูกจ้างอีก 5-6 คนไม่รู้จะมีชะตากรรมอย่างไร พร้อมระบุว่า เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน เวลาประมาณ 19.00 น. หม้อแปลงลูกนี้ก็เพิ่งมีปัญหา มีเสียงคล้ายการชอร์ต จนชาวบ้านแจ้งการไฟฟ้ามาตรวจสอบ ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็มาแก้ไขแล้วกลับไป พอเช้าวันที่ 26 มิถุนายน ก็เกิดปัญหาอีก จนกระทั่งเกิดระเบิดเพลิงไหม้ มีทรัพย์สินเสียหาย เรื่องนี้ กฟน.ต้องรับผิดชอบ และจะเดินหน้าฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายต่อไป

“เรื่องนี้ประชาชนไม่สามารถดูแลได้ นอกจากแจ้งหน่วยงานรับผิดชอบ หม้อแปลงถ้าเก่ามาก ก็ต้องเปลี่ยน อย่าให้เกิดโศกนาฏกรรมแล้วมาแก้ทีหลัง”

เป็นข้อเรียกร้องจากประชาชนผู้สูญเสีย

 

สอบ กฟน.ประมาทหรือไม่

ขณะที่เรื่องของคดี พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผบช.น. ในฐานะโฆษก บช.น. ระบุว่า ตำรวจพิสูจน์หลักฐาน พนักงานสอบสวน สน.จักรวรรดิ และการไฟฟ้านครหลวง ยกหม้อแปลงไฟฟ้าที่คาดว่าเป็นจุดต้นเพลิงไปตรวจสอบที่การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) แล้ว อยู่ระหว่างรอผลการตรวจสอบ

ส่วนการสอบปากคำผู้ที่อยู่ในร้านค้ารวมทั้งผู้ที่เห็นควันไฟจากหม้อแปลงก่อนเกิดเหตุรวมแล้ว 5 ราย และจะเชิญเจ้าหน้าที่ กฟน. มาสอบกรณีมีควันไฟออกจากหม้อแปลงด้วย ทั้งนี้ อยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐานว่าเหตุเพลิงไหม้ครั้งนี้เกิดจากความประมาทของฝ่ายใด

พ.ต.อ.วสันต์ ธวัชชัยวิรุตษ์ ผกก.สน.จักรวรรดิ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าสาเหตุเกิดจากสิ่งใด จนกว่าจะรอผลการสอบสวนผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเสร็จสิ้น อีกทั้งยังต้องรอผลการตรวจสอบของกองพิสูจน์หลักฐาน นำมาประกอบสำนวนคดี ซึ่งต้องใช้ระยะเวลานานพอสมควร ส่วนเรื่องผู้เสียหายที่ประสงค์จะเดินทางเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับหน่วยงานใด ก็สามารถเดินทางเข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวนได้ตามสิทธิ์

ด้านนายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการ กฟน. กล่าวว่า พร้อมช่วยเหลือเยียวยาเบื้องต้นในระยะเร่งด่วนตามมาตรการฉุกเฉินที่ กฟน.กำหนดไว้อย่างเต็มที่ สำหรับสาเหตุเพลิงไหม้ที่อาจมาจากหม้อแปลงไฟฟ้านั้น ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องตรวจสอบโดยละเอียด

ทั้งนี้ พบว่าหม้อแปลงลูกดังกล่าวไม่ได้เปิดใช้งานมา 10 วันแล้ว เนื่องจากอยู่ในระหว่างขั้นตอนการตรวจสอบระบบภายในและสายไฟที่เกี่ยวข้อง และก่อนเกิดเหตุเจ้าหน้าที่เปิดสวิตช์เพื่อให้กระแสไฟเข้าสู่ระบบ แต่ในช่วงระหว่างเดินทางกลับได้รับแจ้งว่าเกิดเหตุไฟดับและเกิดเพลิงไหม้ สำหรับหม้อแปลงลูกนี้ใช้งานมาแล้วประมาณ 20 ปี ซึ่งตามมาตรฐานแล้วการไฟฟ้าจะเปลี่ยนหม้อไฟประมาณ 25 ปี จากการตรวจสอบหม้อแปลงลูกนี้ยังสามารถใช้การได้เพราะก่อนหน้านี้ส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจเมื่อปีที่แล้ว

“ต้องพิสูจน์สาเหตุก่อน หากเป็นความผิดพลาดของการไฟฟ้าฯ จริง ก็ยินดีที่จะเยียวยาผู้เสียหายที่ได้รับกระทบโดยตรงจากเหตุหม้อแปลงขัดข้อง ขณะนี้อาจจะเร็วเกินไป แต่ลำดับแรกจะพูดคุยกับผู้เสียหายเพื่อทำความเข้าใจก่อน หากตกลงกันได้จะได้ไม่ถึงขั้นตอนของการฟ้องร้องทางกฎหมาย”

 

กทม.เร่งแก้-หวั่นสลดซ้ำ

และระหว่างที่คดีกำลังรอผลพิสูจน์ คำถามถึงการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำซาก ก็เป็นเรื่องที่ต้องดูแล โดยนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ระบุว่า กฟน.ต้องควบคุมความเสี่ยงเรื่องหม้อแปลง ซึ่งภายในเขตกรุงเทพฯ ชั้นในมีหม้อแปลงอยู่ประมาณ 400 ลูก รวมถึงสายสื่อสารที่เป็นตัวไฟลุกลามมายังอาคารที่มีเชื้อเพลิงจำนวนมาก ซึ่ง กทม.จะเร่งหารือในการตัดสายไฟฟ้าและสายสื่อสารให้เร็วขึ้น

ทั้งนี้ จากการหารือการไฟฟ้านครหลวงแจ้งว่าจะปรับแผนการดูแลหม้อแปลง โดยเพิ่มความถี่ในการตรวจสอบ จากเดิมปีละ 1 ครั้ง เป็นทุก 6 เดือน ขณะเดียวกันจะปูพรมตรวจสอบหม้อแปลงเก่าทั้งหมด โดยขอความร่วมมือประชาชนหากพบเห็นหม้อแปลงมีน้ำมันไหล เสียงดัง เกิดควัน ให้แจ้งสายด่วน MEA 1130 หรือแจ้งผ่านแพลตฟอร์มทราฟฟี่ฟองดูร์ก็ได้

นอกจากนี้ กทม.พร้อมร่วมมือกับการไฟฟ้านครหลวงเต็มที่ในการกำหนดจุดเสี่ยง โดยเฉพาะปัจจัยเสี่ยงเรื่องสายสื่อสารมีตัวฉนวนติดไฟได้

รวมทั้งต้องหารือเรื่องสายสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นการตัดสายตายออก สายไหนลงดินได้ก็ต้องลงดิน และต้องดูข้อกำหนดว่าสายสื่อสารจะอยู่ห่างหม้อแปลงได้เท่าไร ถึงจะไม่มีความเสี่ยงให้เกิดไฟลาม ทั้งนี้ จะเริ่มตัดสายสื่อสารในพื้นที่เขตละ 20 ก.ม. นำร่องที่เยาวราช สำเพ็ง ราชวงศ์

ไม่ให้เกิดความเสียหายขึ้นมาซ้ำอีก!!